Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

30 มีนาคม 2554

สังโยชน์ ๑๐ กิเลสเครื่องร้อยรัด ให้เวียนตายเวียนเกิด



สังโยชน์ หมายถึง กิเลสเครื่องร้อยรัด ให้สัตว์เวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร มี ๑๐ ประการ

     ๑. สักกายทิฐิ เมื่อก่อนนั้นก็มีความยึดถือ ในร่างกายนี้ว่ามันเป็นเรา เราเป็นมัน เดินก็เป็นเรา นั่งก็เป็นเรา นอนก็เป็นเรา สุขก็เป็นเรา ทุกข์ก็เป็นเรา เห็นว่ามันสวย มันงาม รักมัน ถนอมมัน เอาใจมันทุกอย่าง มันหิวก็ไปหามาให้มันอิ่ม มันเจ็บมันป่วยก็พามันไปรักษา มันอยากกามก็ไปหา ไปชม ไปดู ให้มันหายอยากทุกอย่าง เอาใจมันทุกอย่าง แต่ลืมไปว่า มันไม่ได้ทำอะไรให้เราเลย มีแต่เราที่เป็นทาสของมัน มาหลายภพหลายชาติเหมือนคนติดคุก ถูกขังอยู่ในร่างกายอันมีแต่จะเสื่อมไป อันมีแต่ความสกปรก เหมือนส้วมเคลื่อนที่ก็ว่าได้ ลองไม่อาบน้ำสักวันดู ทั้งกลิ่นตัวเอย อะไรเอยออกมาหมด ใส่เสื้อผ้ายังต้องซักเลย เพราะอะไรก็เพราะตัวเรามันสกปรกไง เสื้อมันได้สกปรก ได้เหม็น เพราะของสกปรกที่ออกมาจากร่างกายของเรานี่ คือไม่เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง

พระอริยเจ้านั้นท่านเห็นตามความเป็นจริงว่าร่างกายอันนี้เกิดมาได้เพราะเราไปหลง ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของมาหลายภพ หลายชาติ จึงมาเกิด มาเป็น กับเนื้อหนังเอ็นกระดูกอันนี้อีก เห็นความจริงว่ามันก็มีแต่ความเสื่อมไป เสื่อมไป (ทุกข์ คือ สภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ ) คือเห็นพระไตรลักษณ์นั่นเอง ถ้ามันจะตายก็ตายไป ก็เป็นธรรมชาติ เราห้ามไม่ได้ ถ้ามันเจ็บมันป่วยเราก็รักษาไปตามเหตุปัจจัยให้ขันธ์ห้านั้นทรงอยู่ได้เพื่อการทำให้แจ้งยิ่งๆขึ้นไปในพระนิพพาน คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้มันก็คลายไป เพราะได้ส่งคืนไปสู่ความเป็นเจ้าของในร่างกาย ที่เป็นธาตุต่างๆ ของธรรมชาตินั่นเอง

     ๒.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ปุถุชนคนทั่วไปยังมีความไม่แน่ใจ ไม่เชื่อ เพราะขาดปัญญาเห็นแจ้ง เช่น บาป-บุญมีจริงหรือ ตายแล้วเกิดอีกจริงหรือ กรรมมีจริงหรือ ความลังเลสงสัยในคำสอน แนวทางปฏิบัติที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานว่า เป็นไปได้จริงหรือ ในปัจจุบันนี้ยังทำอยู่ได้จริงหรือ ทำแล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร สุขยังไง ถ้าได้แล้วจะแตกต่างจากคนทั่วไปยังไง

นิพพานสำหรับคนทั่วๆไปค่อยข้างจะเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ ยากเหลือเกิน พระเท่านั้นที่ทำได้ฆราวาสเป็นได้หรือ เป็นต้น

แต่พระอริยเจ้านั้นตัดความลังเลสงสัยในเรื่องนี้ได้แน่นอน มีจิตตั้งมั่นต่อพระนิพพาน กระทำความเพียรให้ได้เข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้วในระดับภูมิธรรม ภูมิจิตของตน ท่านย่อมไม่หวั่นไหว ย่อมไม่หวนกลับ ย่อมไม่ละที่จะสร้างเหตุปัจจัยอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น คือจะกระทำประโยชน์ให้สูงยิ่งๆขึ้นไป เพราะเห็นภัยในวัฏสงสารที่น่าเบื่อหน่าย ที่มีแต่ทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่สิ้นสุด





     ๓. สีลัพพตปรามาส ความไม่เข้าใจในศีลที่ถูกต้อง ศีลเป็นการควบคุมกาย ควบคุมวาจา ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นหลัก แต่เมื่อเรามีสติระลึกอยู่กับปัจจุบัน ก็คือมีศีลอยู่แล้ว

     ๔. กามราคะ ความติดอกติดใจ หลงใหลในกามคุณ ๕ ในเรื่องของกามคุณ พระอริยเจ้านั้นเห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ( กามทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ) เช่น กินก็กินเพื่ออิ่ม ถ้ามันอร่อยก็อร่อยแต่ไม่ยึดติด เห็นทุกข์ เห็นโทษของมันที่เราเคยตกเป็นทาสมันมาหลายภพ หลายชาติ เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆที่มากระทบกาย-ใจอันนี้ ทำให้ต้องดิ้นรนไขว่คว้ามาปรนเปรอให้มันไม่สิ้นสุด เพราะขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันไม่มีคำว่าอิ่ม

     ๕.ปฏิฆะ ความพอใจ ไม่พอใจ ความโกรธ ความพยาบาท พระอริยเจ้านั้นเป็นผู้ไม่ต่อเวร ต่อกรรมกับผู้ใดอีก เห็นทุกคนทุกอย่างในวัฏฏะสงสารนี้เป็นผู้ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตาย

     ๖.รูปราคะ ความหลงใหลยึดถือในรูปที่เป็นวัตถุ หรือ รูปฌาน

     ๗.อรูปราคะ ความหลงใหลยึดถือในสิ่งที่ไม่มีรูป หรือ อรูปฌาน


ในส่วนของ รูปราคะ อรูปราคะ จะเรียกว่าเป็นการสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งก็ได้ เป็นสิ่งที่ละ ที่ตัดได้ยากของผู้ที่มีกำลังของฌาน มีกำลังของอรูปฌานก็ได้ เพราะว่ามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นสุขที่ประณีตกว่า ยิ่งกว่าคนธรรมดามาก เพราะมิใช่เพียงแค่ติดอกติดใจเหมือนวัตถุกาม แต่มันกอด มันรัด มันผูกซ้อนทับจิตเจ้าของอีกหลายต่อหลายชั้น ขนาดว่าเจ้าตัวเองแทบจะมองไม่เห็นเลย บางทีเข้าใจว่าตัวเองหลุดพ้นแล้ว ปล่อยวางแล้ว บริสุทธิ์แล้ว เลิศแล้ว เข้าสู่พระนิพพานแล้วก็มี สร้างกิเลสซ้อนกิเลส หรือจะเรียกว่าดีกั้นดีที่สูงกว่าก็ได้




อย่างเช่น ลามะที่คนฮือฮากันว่าเป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิดที่เนปาล แห่กันไปกราบไปไหว้ ตื่นตูมกันไปว่าวิเศษ ว่าเลิศ อดข้าว อดน้ำ เป็นปีได้ จริงๆคือว่าเขาเคยสะสมตัวนั่นมามาก บารมีของตัวกำลังของฌาน ของอรูปฌาน ของการถืออดอาหาร สะสมมามากหลายภพ หลายชาติจนแก่กล้ามีกำลังมาก ถ้าใครไปบอกไปสอนให้ไปเจริญวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ เขาก็ไม่รับ ไม่เอาหรอก เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่ มีอยู่ มันนิ่ง มันละเอียด มันประณีตมาก เธอเองยังเข้าถึงไม่ได้ ทำไม่ได้ อดอาหารไม่ได้เหมือนฉัน คือมันเป็นกิเลสที่ละเอียดที่ประณีต แต่ตัวอุปทานความยึดมั่นถือมั่น มันหนักกว่ากิเลสธรรมดามาก จึงมีพวกที่ฝึกสมาธิ ที่ได้ฌาน ได้อรูปฌานไปค้างอยู่ชั้นพรหม ชั้นอรูปพรหมต่างๆมากมาย ในหลายต่อหลายชั้น ที่เรียกว่าสิ่งเสพติดเพราะพอเสพตัวฌาน-อรูปฌาน แล้ว เมื่อหมดกำลังของฌาน-อรูปฌาน ก็ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะกิเลสไม่ได้หายไปเลยแค่เสพตัวฌาน ตัวอรูปฌานหลบมันเท่านั้น


คือต้องระดับพระอรหันต์ ที่จะเห็น จะละกิเลสตัวนี้ได้อย่างสิ้นเชิง และคนพวกนี้ก็ต้องระดับพระพุทธเจ้าถึงจะโปรดได้ จริงๆก็มีอยู่หลายคนที่อดข้าว อดน้ำได้เป็นปี เช่น แม่ชีคนหนึ่งเหมือนกันเป็นคนฝรั่ง เป็นคริสต์ แต่แค่ว่าไม่ได้มีใครมาสร้างกระแส มาโฆษณาเท่านั้นเอง ในสมัยก่อนพุทธกาล หรือในสมัยพระพุทธเจ้า ก็มีมากมายพวกนี้


แต่คนใหญ่ก็สนใจเรื่องเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากกว่า แนวทางสู่ความหลุดพ้นมีให้ทำ ก็ไม่อยากเอากัน ชอบอะไรแบบนั้น เพราะมันกระตุ้นกิเลสดี


     ๘. มานะ ทิฐิมานะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกันเอามาก เพราะยึดรูปแบบ ยึดคำสอน ยึดตัวหนังสือ แบกหามเอาความเป็นเจ้าของกันอยู่ตลอด พระอริยะเจ้าบางท่านที่มีฤทธิ์ต่างๆ มีฌานสูงๆ หรือมีความรู้ทางปริยัติมามาก ได้อ่านมามาก จะติดตัวนี้ หลงตัวนี้กันมาก เพราะความขัดเกลาทางปัญญายังไม่ถึงขั้นสูงสุด เพราะความรู้กับความเข้าถึงมันคนละอย่างกัน บางคนอธิบายได้ ฌานนั้นเป็นอย่างนั้น ญาณนั้นเป็นอย่างนั้น สภาวะนั้นเป็นเพราะอย่างนั้น รู้อย่างเดียว แต่ไม่เคยเข้าถึงด้วยความบริสุทธิ์ ตัวรู้เลยกลายเป็นกิเลสขวางกั้น ตัวเข้าถึงนั่นเอง




     ๙.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน พระอริยะเจ้านั้นท่านมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่มีความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินไปกับที่ที่เข้ามากระทบอายตนะ ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือรับรู้อารมณ์ของสิ่งต่างๆที่มากระทบ รู้หนาว รู้ร้อน รู้อร่อย รู้ปวด รู้ถึงสภาวะอารมณ์ที่มากระทบใจ รู้สึก หรือ รับรู้อะไรที่มากระทบแล้วตัดทันทีเลย ไม่ต่อยอด ไม่ปรุงแต่ง คือ รับรู้ รู้สึกทุกอย่าง แต่รู้แล้วไม่ยึดนั่นเอง

     ๑๐.อวิชชา ( ความไม่รู้แจ้ง ) ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวะ ไม่รู้ในอริยสัจ ๔ คือ


ไม่รู้ใน ทุกข์
ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์
ไม่รู้ในสภาวะแห่งความดับทุกข์ ( นิพพาน )
ไม่รู้ทางแห่งความดับทุกข์
ไม่รู้ใน อดีต ไม่รู้เหตุการณ์ ไม่รู้ใน อนาคต
ไม่รู้ทั้ง อดีต ทั้ง อนาคต ไม่รู้ ปฏิจจสมุปบาท ( การสืบต่อแห่งภพ ที่ทำให้เกิด ให้แก่ ให้ตาย ในวัฏฏะทุกข์)

เช่น คิดว่าแดนพรมเป็นแดนสูงสุดแล้ว คิดว่านิพพานแล้ว มองไม่เห็นพระนิพาน ไม่รู้ว่าพระนิพพานจริงๆเป็นอย่างไร เพราะกิเลสเครื่องเศร้าหมองยังละไม่หมด เป็นต้น

รวมความว่าสังโยชน์ 10 ประการ เป็นเครื่องดึงเหล่าสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายไปเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอะไรก็แล้วแต่ความดีความชั่ว ไม่มีที่สิ้นสุด




ถ้าบรรดาผู้ปฏิบัติธรรมสามารถตัดสังโยชน์ได้ 3 ประการ จะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ( เกิดอีกเพียง 7 ชาติ ) กับ สกิทาคามี ( เกิดอีกเพียง 3-4ชาติ )

ตัดสังโยชน์ได้ 5 ประการ จะเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี เกิดอีกเพียงแค่ชาติเดียว โดยไม่ลงมาในภพภูมิมนุษย์อีก อยู่บำเพ็ญเพียรต่อ บนสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้นสุดท้าย
ตัดสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 ประการ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะสามารถละกิเลสได้ เป็นสมุจเฉทปหานะ ไม่มีเชื้อแห่งการสืบต่อภพอีก เข้าสู่พระนิพพาน อันไม่มีการเกิด การตาย สงบสุขอย่างยิ่ง



.....................................


จากประสบการณ์การฝึกวิปัสสนากับพระวิปัสสนาจารย์

โดย..นาคเสน55



3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10.2.56

    ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน เป็นการอธิบายสังโยชน์ 10 ลองอ่านดูเผื่จะถูกกับจริจริตค่ะ

    ตอบลบ
  2. ใครทำได้ ทั้ง 10 ข้อ ก็เป็นพระอรหัตผลได้เลย
    http://howtoloveworld.blogspot.com

    ตอบลบ
  3. สังโยชน์ ๑๐แตกต่างกับกิเลสยังไงครับ ขอบคุณ (keeratipong75@hotmail.co.th

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม