Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

9 พฤศจิกายน 2564

ผู้ถึงกระแสพระนิพพาน


 พระนิพพานคืออะไร ?






     พระนิพพานเป็นปรมัตถ์อย่างหนึ่งซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประจักษ์แล้ว จะได้นำมาบอกกล่าวให้คนทั้งหลายรู้ตามพระองค์ ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประการมี จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานก็คือ "นิโรธสัจจะ" นิพพานเป็นจุดสุดยอดซึ่งเป็นหลักแท้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพื่อให้ทุกคนประจักษ์แล้วเดินทางที่จะทำให้แจ้งด้วยตัวของตัวเอง






     คำว่า “นิพพาน” แปลว่า พ้นจากเครื่องร้อยรัดพันธนาการ คือ พ้นจากตัณหานั่นเอง ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมจะมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฎอันไม่รู้จักจบ เมื่อเกิดมาแล้วไม่มีใครไม่ตาย ไม่ว่าจะเกิด ณ แห่งหนตำบลใด เป็นคนหรือเป็นเทวดา นับตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี พรหม หรือ อรูปพรหม ซึ่งไม่มีรูปแล้วก็ต้องเจอความตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อไม่เข้าใจชีวิตอย่างแท้จริงแล้วจะเลือกที่เกิดไม่ได้ จึงไม่สามารถจะเดินทางไปให้ถึงจุดสุดยอดคือพระนิพพานได้


พระนิพพานเป็นอย่างไร ?




     พ่อจะเปรียบความเข้าใจของลูกว่าในบ้านของเรา ห้องนอนเป็นห้องที่สบายที่สุดจริงหรือไม่ห้องนอนเป็นห้องที่บรมสุขที่สุดในบ้าน ทำงานมาเหนื่อยก็ได้นอนแล้ว ทนอยู่ได้ยากและไปได้ยาก ห้องนอนเป็นสุขแท้แล้วนอนได้นานไหมลูก ทำไมลุกออกมาล่ะ ถ้าห้องนอนมันสุขแท้ต้องอยู่ได้ตลอด เช่นเดียวกัน ถ้านิพพานมีสถานที่มันก็ต้องมีที่ออกมา ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ คำว่าพระนิพพานจึงพ้นจากสภาพความเป็นทุกข์ คือไม่ต้องเกิด





     ดังนั้น คำว่า “พระนิพพาน” จึงไม่มีแดน ไม่มีที่ไปถึงไม่มีใครพาใครไปได้ พระนิพพานเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนามธรรมต่างกับรูปธรรมคือ

รูปธรรม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ทางตา สามารถจับต้องได้ เช่น ร่างกายของเราทุกส่วน อวัยวะน้อยใหญ่นี่เป็นรูปธรรม ภูเขาก็เป็นรูป ต้นไม้ก็เป็นรูป รูปคือสิ่งที่บ่งบอกลักษณะรูปพรรณสัณฐานให้เกิดการเห็นขึ้นมาได้ว่า อ้วน ขาว ดำ ใหญ่ สูง เตี้ย อย่างไร และ ลักษณะรูปต้องย่อยยับเสื่อมไป ด้วยความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อนตึง อยู่ตลอดเวลา รูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่มิได้รับรู้อะไรทั้งสิ้น มีการเสื่อมไปด้วยการเสื่อมของธาตุต่าง ๆ เท่านั้นเอง





     นามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปปรากฏแต่เป็นของที่มีอยู่จริง เช่น ความรู้สึกเห็นได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ รู้รสต่าง ๆ ได้ รู้สึกเมื่อยได้ รู้สึกหิว รู้สึกเบื่อ รู้สึกท้อแท้ ฯลฯ ความรู้สึกต่าง ๆ นี้เป็นนามธรรม ฉะนั้น คำว่ารู้สึกหิว รู้สึกเมื่อย รู้สึกเบื่อ ถูกปรุงแต่งแล้วเรียกว่าสังขารขันธ์ปรุงแต่งด้วยกิเลสต่าง ๆ กิเลสมีมากมายหลายชนิด เมื่อสงเคราะห์แล้วมี ๓ ต้นตระกูลใหญ่ ๆ คือ ตระกูลโลภะ ตระกูลโทสะ และตระกูลโมหะ


โลภะ คือ สภาวะของความอยากได้

โทสะ คือ สภาวะของการประทุษร้ายในอารมณ์ ประสบอารมณ์ที่ไม่พอใจ ไม่พึงปรารถนา

โมหะ คือ สภาวะของความมืดบอดต่อการรับรู้อารมณ์อันแท้จริง




     ทุกคนเกิดขึ้นมา ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น จะต้องมีอารมณ์อันเจือปนไปด้วยกิเลสตลอดเวลา ไม่โลภะ ก็โทสะ หรือโมหะ เข้าออกหมุนผ่านมากับอารมณ์ เช่น พอรู้สึกเมื่อยอารมณ์ตอนนี้ก็ถูกปรุงแต่งด้วยโทสะ ได้เคยอธิบายว่าความทุกข์ต่างกับความรู้สึกเมื่อย ปวด เจ็บ การที่เรารู้สึกเมื่อย รู้สึกเบื่อ รู้สึกหิว รู้สึกไม่พอใจ อันนี้มิได้เรียกว่าทุกขัง 


ทุกขังแปลว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทนอยู่ในอารมณ์นั้นไม่ได้ แต่ความเมื่อยเป็นอารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งด้วยโทสเจตสิก ทุกวันนี้เรารับอารมณ์เจือปนด้วยโลภะ จิตถูกปรุงแต่งด้วยโลภะ โลภะเข้าไปรู้ โทสะเข้าไปรู้ โมหะเข้าไปรู้ แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีสติและสัมปชัญญะเข้าควบคุม สติและสัมปชัญญะก็เป็นเจตสิก คือ ตัวปรุงแต่งจิตเหมือนกัน จึงสามารถป้องกัน สกัดกั้นกิเลสมิให้เข้ามาในอารมณ์ได้ นั่นเรียกว่า "กระแสพระนิพพาน"






     ตามธรรมดาแล้วสัตว์ทั้งหลายต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฎนับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะอาศัยตัณหา ความยินดีติดใจในอารมณ์ ความยินดีติดใจอัตภาพที่ได้มีชีวิตไปในโลกเพราะอาศัยตัวนี้เองเป็นเครื่องร้อยรัดเอาไว้ 

ส่วนพระนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากตัณหา พ้นจากเครื่องร้อยรัดพ้นธนาการ คือ พ้นจากความเป็นขันธ์ พ้นจากขันธ์ ๕ พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ต้องมีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ คือไม่มีชีวิต ไม่ต้องมีเกิดมา


ความหมายของพระนิพพานมี ๕ ประการคือ




๑. เป็นพระปรมัตถ์เข้าถึงได้ และมีอยู่โดยเฉพาะ

๒. เป็นธรรมที่ไม่ตาย คือ ไม่มีทั้งความเกิดและความตาย

๓. เป็นธรรมที่เที่ยง พ้นจากความเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต

๔. เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ ทั้งสิ้น

๕. เป็นธรรมที่ประเสริฐยิ่ง หาธรรมอื่นประเสริฐกว่าไม่มี



คุณลักษณะของพระนิพพานมี ๓ ประการ คือ




๑. มีความสงบจากกิเลสและขันธ์ เป็นลักษณะ
๒. ไม่มีความแตกดับ คือ มีความเที่ยง เป็นกิจ
๓. ไม่มีนิมิตเครื่องหมายใด ๆ เป็นผลปรากฏ


"พระนิพพานเป็นสันติสุข" คือ สุขอันเกิดขึ้นจากความสงบ จากกิเลส สงบจากขันธ์ ไม่ใช่ความสุขชนิดที่ได้จากการเสวยอารมณ์ที่สบายกาย สบายใจในกามเทพ หรือในภพต่างๆ ซึ่งยังมีที่ไป เพราะเมื่อมีสถานที่ไปก็ต้องมีการเกิด เมื่อมีการเกิดแล้วไม่มีใครปฏิเสธความทุกข์ที่จะต้องพ่วงติดมาด้วยได้ 




ฉะนั้นเมื่อยังเกิดอยู่ ต้องมีทุกข์อย่างแท้จริง จึงไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเพียง “สะพาน” ยืนอยู่ตรงนี้นึกว่ามีความสุข เกิดความชอบแล้วมันก็ไม่เที่ยง ยืนนาน ๆ ก็ทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้คือพระนิพพานพ้นจากกิเลส พ้นจากการเกิด พ้นจากสังสารวัฎ


ความสุขของพระนิพพานจึงเรียกว่า “สันติสุข” เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการพ้นจากกิเลสและพ้นจากขันธ์ ๕ โดยการรื้อสัญญาและล้างสังโยชน์ คือไม่มีสักกายทิฎฐิ ไม่มีความเข้าใจผิดว่าเป็น “ฉัน” เป็น “ของฉัน” ไม่มีความลังเลสงสัย ไม่มีความประมาท ไม่มีการยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่มีการกระทบกระทั่งของจิต ไม่มีการติดอยู่ในรูป ไม่มีการติดอยู่ในนาม ไม่มีมานะ ไม่มีอุทธัจจะ ไม่มีอวิชชา นั่นคืออรหัตตมรรค อรหัตตผล คือสิ้นสุดการเกิด




     พระอริยบุคคลมีถึง ๔ ขั้น ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ได้ยินบ่อยใช่ไหม พวกนี้อยู่ที่ไหน มนุษย์ส่วนมากเข้าใจว่าพวกนี้อยู่บนสวรรค์ทั้งหมด


พระอริยบุคคลขั้นแรก คือ พระโสดาบัน เป็นธัมมานุวัตรบุคคล หมายถึง เป็นผู้มีชีวิตประกอบด้วยธรรมะเป็นใหญ่ มีการกระทำไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และการกระทำนั้นประกอบด้วยปัญญา 

ผู้ประพฤติตนตามธรรมเป็นผู้บรรลุถึงความสูงสุดของความสุขได้อย่างแท้จริงเป็นขั้นแรกเท่านั้นเอง จุดมุ่งหมายของท่านเหล่านั้นก็คือพระนิพพาน การกระทำหมายเอานิพพานเป็นที่พึ่ง คือความดับตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง


มาทำความเข้าใจกันว่าอะไรเรียกว่าโสดา จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด




     คำว่า “โสดา” แปลว่า กระแสเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน คำว่า “พระนิพพาน” หมายถึง อารมณ์อันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง หมดจดจากกิเลสโดยที่กิเลสไม่สามารถผ่านเข้ามาในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รู้รส ได้สัมผัสถูกต้อง การนึกคิดอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์ที่เข้าออกนั้นบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส นั่นเรียกว่าอารมณ์พระนิพพาน


ดังนั้น กระแสอันเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน จึงหมายถึง อำนาจชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากอำนาจ ของญาณ ปัญญา  ทำให้มีความรู้เท่าทันอารมณ์นั่นเอง  เมื่อรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว   อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็มีสติและสัมปชัญญะอยู่กับอารมณ์นั้น ก็จะทำให้รับรู้อารมณ์โดยบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส พอเข้าใจไหมลูก




กระแสพระนิพพานก็ได้แก่ มรรคอันมีองค์ ๘ ประกอบด้วย


๑. สัมมาทิฎฐิ                 ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา                ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ              ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ                   ๘. สัมมาสมาธิ


ผู้ถึงกระแสพระนิพพานก็คือผู้ปฏิบัติตามมรรค ๘ จนกระทั่งมรรค ๘ มาประชุมกันเป็นมรรคสามัคคี ฉะนั้น การนั่งสมาธิ หลับตาภาวนา ไม่มีการกระทำอันดำเนินไปด้วยมรรคอันมีองค์ ๘ ก็ไม่สามารถถึงซึ่งพระนิพพานได้ จะทำอย่างไรจึงจะได้เป็นพระโสดา ใครอยากเป็นบ้าง


ผู้ที่อยากเป็นพระโสดาเรียกว่ายังอยากเกิดอยู่ ผู้ที่เรียนธรรมะแล้วต้องอยากเป็นทุกคน พระโสดาบันไม่ได้หมายถึงเฉพาะพระสงฆ์ ที่ห่มผ้าเหลืองอยู่ในป่าบวชนาน ๆ สวดมนต์เก่ง เทศน์เก่ง ผู้ชาย ผู้หญิงก็เป็นโสดาได้พวกชีก็เป็นโสดาได้ เด็กในครรภ์มารดายังเป็นโสดาได้เลย




     พระโสดาบันเป็นเพียงนักปฏิบัติขั้นแรกที่สามารถจะยืนยันอย่างมั่นคงได้ว่าพระนิพพานมีจริง แต่พระโสดาบันเป็นผู้รู้โดยปฏิบัติ มีความเชื่อและเห็นจริงเมื่อสังโยชน์ทั้ง ๓ ถูกทำลายลงด้วยกำลังแห่งมรรคสามัคคี ดังนั้น ทัวร์สวรรค์ ทัวร์นิพพานจึงไม่มี จะต้องไปเอง ใครพาใครไปไม่ได้ และผู้ที่พาไปก็ยังติดในกายตนจึงไม่รู้จักพระนิพพานแท้จริง


บุคคลที่จะบรรลุโสดาบันได้มี ๒ ประเภท คือ

๑. สัทธานุสารี เป็นผู้ที่มีความเชื่อด้วยความจริงใจว่าสังขารทั้งหมดไม่เที่ยง สังขารทั้งหมดเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา แต่เป็นความเชื่อโดยปริยัติ สัทธานุสารีนี้เป็นผู้แก่กล้าด้วยกำลังจิต

๒. ธัมมานุสารี เป็นผู้มีความเชื่อด้วยกำลังปัญญาพิจารณาเห็นความเป็นจริงของการเชื่อ เป็นการเชื่อโดยการปฏิบัติ ธัมมานุสารีนี้เป็นผู้แก่กล้าด้วยกำลังของปัญญา ในเรื่องของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ




พระโสดาบันมี ๓ ประเภท คือ


๑. เอกพีชี มีความเกิดอีกครั้งเดียว ภายในหนึ่งครั้งนี้ก็จะได้สกทาคามี อนาคามีและอรหันต์เลย


๒. โกลังโกละ มีความเกิดอีกไม่ถึง ๖ ครั้ง สามารถกระทำสู่สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์


๓. สัตตักขัตตุงปรมะ มีความเกิดอีก ๗ ครั้งเป็นอย่างมาก


พระโสดาบันทั้ง ๓ ประเภทสามารถละสังโยชน์ ๑๐ ได้ ๓ ตัว "สังโยชน์ แปลว่า" เครื่องร้อยรัด เครื่องพันธนาการจิตใจ มิให้บรรลุถึงความดี ความบริสุทธิ์ได้ และไม่สามารถทำให้ลุล่วงสังสารวัฎได้ มี ๑๐ ประการ คือ





๑. สักกายทิฏฐิ    ความเข้าใจผิดในกายตน
๒. วิจิกิจฉา         ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย
๓. สีลัพพตปรามาส ความประมาทในศีลในพรต
๔. กามราคะ    ความกำหนัดในกามารมณ์
๕. ปฏิฆะ         ความกระทบกระทั่งแห่งจิต
๖. รูปราคะ      ความพอใจในการเพ่งรูป
๗. อรูปราคะ   ความพอใจในการเพ่งอรูป

๘. มานะ        ความถือตัวด้วยอำนาจยศศักด์ิ
๙. อุทธัจจะ    ความฟุ้งซ่าน
๑๐. อวิชชา    ความไม่รู้แจ้ง


ข้อ ๑ – ๕ เรียกว่า "โอรัมภาคิยสังโยชน์" แปลว่า สังโยชน์ที่มีผลในเบื้องต่ำ ให้ผลในการเวียนว่ายตายเกิด    สู่ภูมิที่ต่ำ  คือไม่สามารถหลุดรอดไปจากปุถุชนภูมิได้


ข้อ ๖ – ๑๐ เรียกว่า "อุทธัมภาคิยสังโยชน์"  แปลว่า  สังโยชน์ที่มีผลในเบื้องสูง   เป็นอย่างละเอียด    แต่ก็ยังให้ผลในการเวียนว่ายตายเกิดมิรู้จักจบอาจเป็น   มนุษย์   หรือ  เทวดา     เพราะยังไม่สิ้นกิเลสตัณหานั่นเอง




๑. สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความเข้าใจผิดในกายตน มีความสำคัญผิดว่ารูปนามเป็นฉัน เป็นของฉัน
เป็นของสวย เป็นของดี เป็นของเที่ยง เป็นตัวตน 

เข้าใจผิด หลงผิด คิดผิด นึกผิดอยู่ตลอดเวลาว่าตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า อวัยวะน้อยใหญ่ที่ประกอบขึ้นมานี้ฉันเป็นเจ้าของ 





     ลองหันกลับไปดูตัวเองซิลูก มีใครไม่รู้สึกอย่างนี้บ้าง รู้สึกทุกคน นี่ตัวของฉันใครอย่ามาตีนะ ถ้าไม่มีคำว่า “ของฉัน” ใครสะกิดเราต้องไม่รู้ เรื่อง เพราะนามเข้าไปพัวพันกับรูปว่านี่รูปของฉัน จิตเข้าไปยึดมั่นรูป หลงผิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นฉัน เป็นของของฉัน

พอเห็นปุ๊บ ใครเห็นสุนัขเป็นคนบ้าง ก็เป็นสุนัข หลงผิดว่านี่คือ  สัตว์
หลงผิดว่าเขาเรียกว่า คน เพราะมีอวิชชาเข้าร่วมที่จริงแล้วไม่มีคนสัตว์ หญิงชาย 




     ฟังนะ คนไม่มี สัตว์ก็ไม่มี ไม่มีผู้หญิงมาเป็นผู้เดิน ไม่มีผู้ชายมาเป็นผู้นั่ง นั่งอยู่นี่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย เป็นรูปธรรมและนามธรรม คน สัตว์ หญิง ชาย เป็นสมมุติ เป็นชื่อเรียกในภาษาเดียวกัน 


แท้ที่จริง คน สัตว์ หญิง ชาย หมู หมา เป็น ไก่ ล้วนประกอบด้วยขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร  และ  วิญญาณ


ชีวิตต้องมีรูป ได้แก่ อวัยวะตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หูก็เป็นรูป จมูกก็เป็นรูป ตาก็เป็นรูป คิ้วก็เป็นรูป แขนก็เป็นรูป มือก็เป็นรูป มีชื่อต่างกันเพื่อให้เรียกถูกท่านั้นเอง


ชีวิตต้องมีเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาไว้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัสถูกต้องทำให้เกิดเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉย ๆ เป็นโสมนัส เป็นโทมนัส




     ชีวิตต้องมีสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ จำหน้าพ่อ จำหน้าแม่ จำเสียงที่เพราะ  เสียงที่ไม่พอใจไว้ได้


ชีวิตต้องมีสังขาร คือ ธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่เจตสิกต่าง ๆ นั่นเอง เข้าร่วมกับจิตตลอดเวลา


ชีวิตต้องมีวิญญาณ คือ จิต เป็นตัวรู้อารมณ์ได้ เจ็บได้ หิวได้ เมื่อยได้ เดินได้ คนกับสุนัขไม่ต่างกันเลย   ตีก็เจ็บ  เพราะมีจิตความหลงผิด

มาจากไหน ก็มาจากอดีตชาตินั่นเอง เหตุอดีต เพราะเหตุอดีต คือ ความไม่รู้ เมื่อมาปัจจุบันจึงไม่รู้ เหมือนเราหุงข้าวที่บ้านของเราไม่เป็น เราไปนอนบ้านอื่นเราก็หุงไม่เป็น เราถูบ้านเราไม่เป็น ไปบ้านอื่นก็ถูไม่เป็น 

 

 
     ฉะนั้น ความไม่รู้มาจากไหน ก็เพราะอดีตไม่รู้ มันสืบเนื่องกันมาเป็นลูกโซ่


การที่เรายึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าเป็นเรา เป็นของเราก็จะทำให้เกิดความงมงาย ความวิปลาสเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเราไม่สามารถทำความเข้าใจถูกได้ เราก็จะมีความวิตกฟุ้งซ่าน เกิดทุกขเวทนาอย่างหาที่
สิ้นสุดไม่ได้ 

เมื่อของของเราหายไป ของของเราต้องจากไป เราเป็นผู้ยึดมั่นในตัวเรา เราจะต้องทุรนทุราย แก้ไข เดือดร้อนใจอยู่นั่นเอง 




และเมื่อเรายังยึดมั่นในรูปขันธ์ เมื่อกายเราเสื่อม หรือเกิดอุบัติเหตุ พิกลพิการไป ความทุกข์ทรมานจากอวัยวะที่สูญเสียไปแล้ว และความเศร้าหมองในจิตใจก็จะเกิดขึ้น 

นี่คือความหลงผิด เข้าใจผิดในกายตนอันเกิดขึ้นจากความไม่รู้จริง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว ความรู้อย่างนี้จะไม่มีในโลก ความจริงจะไม่ประจักษ์ 

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงดำรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาธิคุณ และพระบริสุทธิ์คุณ พระองค์ตรัสรู้ว่า ภายใต้คำว่าชีวิตประกอบด้วยเบญจขันธ์ คือ ขันธ์ ๕ 

เพราะการไม่เรียนจึงทำให้เกิดสักกายทิฏฐิ ความหลงผิดว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย เมื่อมีความหลงผิดเช่นนี้ แล้วอำนาจของสักกายทิฏฐิตัวนี้จึงเป็นบ่อเกิดของสังโยชน์ตัวต่อไป




๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในอารมณ์ อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ได้แก่


วิจิกิจฉานิวรณ์ เป็นอย่างเบา


วิจิกิจฉาสังโยชน์ เป็นอย่างหนัก เป็นความสงสัยในคุณงามความดีของพระรัตนตรัย เช่น สงสัย


ในพระปัญญาว่าจะจริงแค่ไหน แต่งขึ้นมาหรือเปล่า พระโมคคัลลานะมีจริงหรือเป็น นวนิยายกระมัง


สงสัยในพระธรรมคำสอนว่าปฏิบัติจะพ้นทุกข์จริงหรือ ตายแล้วเกิดจริงหรือ ทำดีแล้วไม่เห็นได้มี ประเภททำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป 

สงสัยในพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ว่า
จะทำได้จริงหรือ พระสุปฏิปันโน คือพระอรหันต์ทั้งหลายที่ดับขันธ์ นิพพานไปแล้วมากมายมีจริงหรือ


สงสัยไปหมดในอารมณ์ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาทำกับเรา ทำไมเขาพูดอย่างนี้ ตั้งคำถามให้กับชีวิตตลอดเวลา




     ความลังเลสงสัยนี้เกิดมาได้อย่างไร เพราะความที่เรายึดมั่นตนเองเป็นประธาน เราจึงเอาตนเองมาตัดสินทุกอย่าง เราหลงผิดว่าเป็นตัวเรา เราจึงเป็นผู้ชี้ขาดเสมอ ทั้ง ๆ ที่เราก็ยังไม่ประจักษ์ในอารมณ์นั้นเลยว่ามันคืออะไรแน่ เช่น คิดว่าเราไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยขอเงินใคร ใช้แต่เงินของเรา จะเป็นกิเลสได้อย่างไร


ฉันทำดียังไม่ได้ดีเลย แล้วจะทำไปทำไม ความยึดมั่นตนเองทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่มั่นคง เกิดการกระทำที่
ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะไม่ตรงต่อสภาพที่จะเจริญได้ มัวแต่เคลือบแคลงสงสัย 

การตัดสินด้วยตนเองอันเกิดจาก
ความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของของเรา จึงดำเนินอยู่ด้วยความประมาทในศีลพรต




๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความประมาทในการปฏิบัติโดยสักแต่ว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย
หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ 

เมื่ออำนาจของสักกายทิฏฐิประกอบกับวิจิกิจฉาเป็นปัจจัย จึง
เอาตัวเอง เอาความคิดของตัวเองเป็นประธาน มีความยึดมั่นอย่างงมงาย 

พระพุทธองค์ทรงสอนแล้วว่า การพ้นทุกข์ได้ต้องรู้จักทุกข์ และมีทางสายเดียวเท่านั้นคือการเจริญมหาสติปัฏฐาน ในพระสูตร พระอภิธรรมสอนไว้หมด 

เหตุผลมี แต่ฉันรักษาศีลอย่างเดียวก็พอแล้ว ฉันไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้โกงใคร นิพพานแน่ ประมาทหรือยัง ประมาทแล้ว บริจาคทานมาก ๆ ก็
นิพพานได้ นิพพานไม่ได้ไปด้วยการบริจาคทานอย่างเดียว 

การถือศีลไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ไม่ปรุงน้ำหอม ไม่นอนที่นอนสูง กิเลสไม่มีแล้ว 






     คำพูดที่บอกว่ากิเลสไม่มีแล้ว ขณะนั้นกิเลสพูด เพราะผู้ที่ไม่มีกิเลสจะไม่ประกาศตนเองว่าไม่มีแล้ว เพราะรู้ว่ากล้าเสี่ยงประมาทแล้ว อะไรทำให้พูดว่าฉันไม่มีกิเลส โลภะหรือมานะ

เมื่อมีความยึดมั่นตนเองเป็นประธานเหนือกว่าอย่างอื่น และมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนตรัยที่ควรจะเห็นจริงหรือไม่ จึงเกิดความประมาทไม่เชื่อเรื่องของกรรม หยุด
การกระทำดีที่ตน ประมาทที่จะอยู่ในความปกติคือศีล ประมาทที่จะเจริญภาวนาต่อไป 

คิดว่าตอนนี้ฉันก็ทำดีอยู่แล้ว ประมาทในการกระทำดีใช่ไหมลูก เพราะเรายังไม่มีสติตั้งมั่น จึงทำให้ติดในรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัสได้





๔. กามราคะ คือ ความกำหนัด ความยินดีในกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และ  สัมผัส เมื่อคนเราไม่มีสติควบคุม มันก็เพลิดเพลินในอารมณ์ที่มีรูปมากระทบมีเสียงมากระทบ มีกลิ่นมากระทบ มีรสมากระทบ เย็น ร้อน อ่อน แข็งมากระทบ 

อุปาทานยึดมั่นเข้าไป ทำให้เกิดความยินดีติดใจในรสชาติของกามารมณ์ที่ตอบสนอง เนื่องจากการมีคู่ครอง เพราะความร้อยรัดฝังแน่นในสัญญาวิปลาส 

ทำให้ยินดีติดใจในความใคร่ที่มีต่อกันและกัน จนไม่สามารถปลีกเวลาไปศึกษาหาความจริงได้ เพราะความวิตกกังวลว่าเขาจะไป เขาจะหนีไปเขาจะทิ้ง




     เมื่อมีความยินดีติดใจในอารมณ์ทางทวารต่าง ๆ แล้ว ในโลกนี้มีใครสมความปรารถนาเสมอไปไหม ไม่มี 

อายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก หนีไม่พ้น ต้องเห็น ต้องได้ยิน ถ้าวิบากส่งมาดีก็เห็นดีถูกใจ ถ้าวิบากส่งมาชั่วก็เห็นชั่ว ไม่ถูกใจ เกิดความกระทบกระทั่งแห่งจิต

 


๕. ปฏิฆะ คือ ความประทบกระทั่งของจิต ความยินดีติดใจในกามคุณทั้ง ๕ จนเกิดความเพลิดเพลินมาก เพราะเราเป็นประธานตัดสินอยู่ตลอดเวลานั้น ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติทั้งหลาย


บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อเรามีความเพลิดเพลิน หมายถึงความชอบ ก็ย่อมต้องมีไม่ชอบ ธรรมชาติมันเป็นอย่างหนึ่ง แต่เรายึดมั่นอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยไม่ตรงกัน จึงเกิดการกระทบกระทั่งขึ้นมา


เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นตนเองแล้ว ทำให้เกิดความไม่เชื่อ ทำให้เกิดความประมาท และติดใจในกามราคะ ต้องมีการกระทบ กระทบกับอะไร กระทบกับรูปต่าง ๆ เสมอ




6.รูปราคะ คือ ความยินดี ความพอใจในการเพ่งรูปคิดว่าเป็นที่พึ่งได้ เช่น เพ่งอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อหาความสงบหรือยินดีกับรูปที่ดี รูปที่สวย เมื่อจิตจับอารมณ์พอใจก็จะเกิดตัณหาอุปาทานยึดมั่นถือมั่น

ซึ่งหาความจริงแท้แน่นอนไม่ได้




๗. อรูปราคะ คือ ความพอใจในการเพ่งอรูป เช่น การสร้างมโนภาพขึ้นมาในจิตใจว่าเห็นพระพุทธรูปลอยมา เมื่อลืมตาแล้วมีไหม นั่นคือความเห็นที่วิปลาส นอกจากนั้น เมื่อเรามีความยึดมั่นใน

รูปก็ต้องมีความหลงผิด ชอบฟังถ้อยคำหวาน ๆ ประเภท “เธอนี่สวยจัง” “เธอนี่เป็นแมน” รู้สึกมันชื่นใจพอลงนอนหายเมื่อยเลย สบายใจ ความรู้สึกที่ได้ยินเรามองไม่เห็น เป็นนามธรรม เป็นอรูป คือไม่มีรูป


ชีวิตจึงพัวพันอยู่กับรูปธรรมกับนามธรรมตลอดเวลา มิสามารถถ่ายถอนได้รวมถึงการยึดมั่นติดในความเชื่อโชคลางของขลัง ติดอยู่ในคำถาวนาซึ่งไม่สามารถจับได้ มองเห็นไม่ได้ คิดว่าฉันนี่สงบแล้วมีความพิเศษ


เหนือกว่าคนอื่น ชีวิตอันมีสักกายทิฏฐิเป็นพื้นฐานจึงสร้างความหลงผิดมากขึ้น เกิดความมานะลำพองขึ้นว่า ฉันนี่เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว





. มานะ คือ ความลำพอง อวดดื้อ ถือดี มานะเกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาเพราะความเห็นผิดความยึดมั่นตนเอง ความประมาท การกระทบของจิต ความลำพองนี้เป็นอนุสัยกิเลส 

ทุกวันนี้ตอนเรียนธรรมะก็เอาธรรมะมาปลง แต่ถ้าลูกนั่งทำงานอยู่เป็นหัวหน้ากอง คนที่ไม่เคยรู้จักเราเดินผ่านมาบอกให้เอาของไปให้คนโน้นที   ใช้หัวหน้ากอง ลูกโกรธแน่ใช่ไหม  

หรือไม่เราอยู่ในฐานะดี   ทำงานดี ๆ เผอิญไปเจออีกคนหนึ่งเขาไม่รู้จักเรา ไม่เคยรู้ฐานะการเงินของเรา เขาอยากจะทำบุญขึ้นมาก็บอกเราว่า  ฉันทำบุญกับคุณ  ลองดูซิ ลูกต้องโกรธขึ้นมาในใจ เพราะอนุสัยมานะอวดดื้อถือดี    ยึดตนเองเอาไว้ว่าอย่างฉันนี่  เป็นฉันแล้ว นี่ฉันนะ อย่าทำอะไรฉันนะ อย่าพูดให้ฉันไม่พอใจนะ 




แค่ไหว้กันนี่มานะยังมีเลย ครูรับไหว้ลูกศิษย์อันนี้เคยตั้งคำถามมาแล้ว ถามว่ามีลูกศิษย์เดินมาไหว้ครู แล้วครูไหว้ตอบ ครูมีมานะไหม ตอบว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ 

แต่ส่วนมากมี เพราะอะไร เพราะการไหว้ตอบของเรายังไม่วิสุทธิทางจิต เขาไหว้ฉันก่อน ฉันจึงต้องรับไหว้ ถ้าเขาไม่ไหว้ฉัน ฉันก็ไม่รับไหว้ หรือไม่ก็ไหว้เพื่อให้คนเขาเห็นว่าขนาดเป็นครูยังไหว้ได้เลย




เห็นไหม มานะเป็นตัวสั่งทำงาน ถ้าจิตไม่วิสุทธ์ิ พวกนี้ก็ยังอยู่ ต้องได้อนาคามีจึงจะค่อย ๆ หมดไปฉะนั้น การไหว้กัน ลองดูซิลูก ทุกวันนี้แม่ไหว้ลูกหรือไม่ เคยไหม ไม่เคย เพราะว่า “ฉันเป็นแม่” ใช่ไหม ความรู้สึกนี้ไม่ต้องบอก มันอยู่ในความรู้สึกที่ทำออกมาไม่ได้ ยอมรับไหม มีมานะกันทุกคน

แล้วอย่ามาตอบว่าผู้ใหญ่ไหว้เด็กแล้วอายุสั้น เพราะผู้ใหญ่คนที่คิดคำพูดนี้มีมานะ เป็นคำพังเพยจากผู้ใหญ่ที่มีมานะ ลูกขอเงิน พ่อให้แล้ว ลูกไม่ไหว้ ก็ต้องนึกในใจว่า ให้แล้วไม่รู้จักไหว้ มือแข็ง ใช่ไหมลูก





จะต้องนึกไปในทางที่ว่า ฉันต้องได้ความเคารพ พ่อกลับเข้าบ้านพบลูกเคยไหว้ลูกไหม แล้วพอลูกไหว้เออดี ผู้ใหญ่ทุกคนพอให้เงินให้อะไร เด็กไม่ไหว้ก็ต้องนึกว่า ดูมันซิ ไม่ขอบคุณสักคำ 

เพราะอะไรทำให้คิดอย่างนั้น มานะ นี่พ่อเปรียบเทียบให้ฟัง ไม่ได้สอนให้ไปไหว้ลูกนะ เพียงแต่จะอธิบายว่า มานะมันอยู่ในอนุสัยกิเลส ให้ลูกยอมรับเท่านั้น

มานะจึงเป็นเครื่องพันธนาการที่สำคัญที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ที่ที่มีแสงสว่างและสงบไม่ได้ เพราะยัง

มีอำนาจ เพราะยังมียศศักดิ์ ยังติดการทำงานว่าด้วยเรื่องอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญอยู่ และเป็นเหตุให้มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นด้วย




๙. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านคือ การที่จิตระลึกนึกถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ต้องกำหนดที่อารมณ์ปัจจุบันและปราศจากสัญญาวิปลาส ดังนั้น ความฟุ้ง แปลตรงตัวว่า คิดในสิ่ง

ที่ผ่านมาแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัจจุบัน จึงไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะอดีตคือความปด อนาคตคือความผัน แต่ปัจจุบันคือความจริง

เมื่อมีอำนาจของสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ ทำให้ฟ้ งุ ซ่านเลยมีความรู้สึกว่า “ทำไมเขาทำกับฉันอย่างนี้ ฉันดีกับเขา ฉันพูด เขาต้องเชื่อฉันบ้างทำไมเขาไม่ยอมเชื่
อ” 




ฟุ้งซ่านรำคาญใจไปทุกเรื่อง อย่างที่อธิบายเรื่องให้เงินลูก แล้วลูกไม่ไหว้ การให้ผ่านไปแล้ว เรายังกลับคิดว่าลูกทำไมไม่แสดงความเคารพให้มันแล้วมันยังมือแข็งอีก ตรงนี้ละฟุ้งเข้าแล้ว

ใครก็แล้วแต่มีความหลงตัวเองมาก คนนั้นมีความฟุ้งซ่านมาก เพราะจะต้องคอยกลัวอด กลัวหมด กลัวเสื่อม กลัวสารพัด คือวิปลาสเข้ามาเป็นปัจจัยทำให้อวิชชาเนืองนองอยู่ในขันธสันดาน





๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง พอความฟุ้งซ่านรำคาญใจมีอิทธิพลขึ้นมา มันก็จะหมักดองเข้าไปในอนุสัยทันทีเป็นความไม่รู้จักในอารมณ์ ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริงว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

เป็นความโง่ของชีวิตนั่นเอง จิตไม่มีศูนย์รวมแห่งความเป็นตัวเองเพราะอำนาจทั้งหมดนี้ร้อยรัดไว้ทำให้เกิด

อวิชชา คือไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักสิ้นสุดทุกข์ ไม่รู้จักหนทางพ้นทุกข์

 


ทั้ง ๑๐ ตัวนี้ จึงเป็นเครื่องร้อยรัดทำให้ชีวิตยังมีการเกิดอยู่ เมื่อมีการเกิด เราก็ต้องใช้กาย วาจา ใจกระทำกรรมอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีกาย วาจา ใจ ในปัจจุบันชาติแล้ว ผลที่ได้มาก็คือ วิบากในอดีตชาติส่งผล


มาทางกายบ้าง วาจาบ้าง ใจบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง วนเวียนอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอวิบากเข้าออก กิเลสก็เข้าออกเช่นกัน มีการสนองตอบ พันธนาการความมีอวิชชา อวิชชาตัวนี้ก็ไปส่งผลให้แก่ความ




หลงผิดในตนเองอีก หลงผิดตนเองก็ประมาทต่อ ๆ มา เก็บเข้าในอนุสัย พอเห็นอีกอวิชชาก็มาป้อนอีก ดึงกลับเข้าอนุสัยเป็นวัฎจักรนะลูก ทุกอย่างถ้าเรารื้อทิ้งมันก็หมด แต่สำหรับลูกทิ้งออกไปแล้วสาวกลับเข้ามา


ทำอะไรแล้วจะต้องดึงกลับนั่นเอง หลักที่จะแก้ก็คือทำแล้วหวังผลตอบแทน ผลักออกไปเลย ทำแล้วอย่ารอผลว่าจะดีหรือจะชั่ว จะชอบหรือจะชัง ใครจะทำให้เรา เราต้องทำออกไป





อนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่นองเนืองอยู่ในขันธสันดานอันฝังแน่นอยู่กับการเกิดมาแล้วโดยนับภพนับชาติไม่
ถ้วน กิเลสกับอนุสัยกิเลสต่างกันอย่างไร กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิต อนุสัยกิเลสคือเครื่องเศร้า


หมองของจิตที่ฝังแน่นอยู่กับการมีชีวิตนั่นเอง เหมือนกับของขุ่นอยู่ในกมลสันดาน ถ้าเราไม่เคยมีความโกรธอยู่ ปัจจุบันเราจะโกรธไม่เป็น ต้องมีกิเลสอยู่เดิมอนุสัยกิเลสคือกิเลสเดิม และสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลสใหม่ก็มี



กิเลสใหม่ได้แก่โลภ โกรธ หลง แต่ก็จะต้องออกมาจากกิเลสเก่าต้องมีของเดิม ฉะนั้น อนุสัยกิเลสคือกิเลสดั้งเดิม แล้วใครให้มาล่ะ ไม่มีพ่อแม่ผู้ใดอยากจะให้ เราเอามาเอง จึงเป็นข้อพิสูจน์ของการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้




สังโยชน์ทั้ง ๑๐ นี้เป็นเครื่องร้อยรัดทำให้คนและสัตว์ไม่สามารถแจ้งและรู้จริงในภัยของสังสารวัฏและไม่สามารถทำให้หลุดรอดไปจากสังสารวัฏได้ ไม่ใช่ว่าใครมีตัวใดตัวหนึ่งแต่มีทุกตัว ยกเว้นพระอรหันต์ หรือจะมีน้อยก็คือ พระโสดาบัน ทุกคนมีทั้ง ๑๐ ตัว หลวงพ่อเสือก็ยังมีทั้ง ๑๐ ตัว


 เพราะพ่อยังไม่ได้สำเร็จสักอย่างเดียว แม้แต่โสดาก็ยังไม่ได้เลย ถ้าได้โสดาก็หมดไปแล้ว ๓ ตัว ฉะนั้น ลูกกับพ่อตรงนี้มีมาเหมือนกันแต่ปัจจุบันอาจจะไม่เท่ากัน วิธีที่จะทำให้ปัจจุบันน้อยลง แต่ยังไม่หมดไปก็คือหมั่นเจริญสติ  ก็จะน้อยไปเองใช่ไหมลูก นี่เป็นการทำให้ลูกต้องยอมรับว่า ชีวิตของเรานี้มีสังโยชน์อยู่ตลอดเวลา



พระโสดาบันเป็นผู้ที่เจริญอยู่ในมรรค ๘ คือ มีความประพฤติทั้งกาย วาจา และใจชอบ ประกอบไปด้วยสติและสัมปชัญญะ เว้นกั้นทุจริตทั้งปวงออกไปได้ จนกระทั่งมรรค ๘ มาประชุมกันเป็นมรรค


สามัคคี มีกำลังของการกระทำที่สามารถประหัตประหารสังโยชน์ได้ ๓ ตัว ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีสัพพตปรามาส ทำลายได้อย่างไร



๑. สักกายทิฎฐิ แปลวาความสำคัญผิดในกายตน คำว่า “กายตน” มีความหมายกว้างขวางและ ลึกซึ้งมาก เรียกว่า เบญจขันธ์ ได้แก่


รูปขันธ์ คือ รูปกายที่สามารถมองดูด้วยตาเห็นได้


เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์


สัญญาขันธ์ คือ ความสำคัญหมายว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เก็บกับเอาไว้ แล้วออกมาตีความ


สังขารขันธ์ คือ ความคิดปรุงแต่ง


วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้อารมณ์ทั่วสกนธ์กาย เช่น ลมพัดมาถูกผมเบามากก็รู้ได้ การเต้นของหัวใจก็รับรู้ได้ เรียกว่ารูปที่เราสามารถเข้าไปพิจารณาได้


ลักษณะของขันธ์ ๕ ย่นและย่อลงมาก็ได้แก่รูปและนาม

รูปคือสิ่งที่สามารถมองเห็นด้วยตาได้


ส่วนนาม คือ สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้แต่เป็นของมีจริง เช่น ความเย็นเรามองไม่เห็นแต่รู้ได้ด้วยนามทางใจ รูปนามนี้แหละเป็นสิ่งประชุมกันของขัน ๕ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประกอบทำให้คนเป็นคน  ทำให้สัตว์เป็นสัตว์ และมีสมมุติสัจจะเรียกกันว่าเป็นสัตว์ เป็นคนเป็นสัตว์ประเภทใด คนชนิดไหน ฐานะต่างกันอย่างไร


ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ ความเป็นคนก็ไม่เป็น เป็นสัตว์ก็ไม่เป็น เราตัดอะไรออกไปส่วนหนึ่งเรียกว่าคนไหม (จับแขน) ก็เรียกว่าแขน เรามองเห็นแขน เราเรียกว่าคนไหม ต้องประชุมกันเป็นรูป



สามารถมองเห็นได้จึงจะเรียกว่าคน ชีวิตทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่บนท้องถนน สัตว์เดรัจฉานทุกประเภท เทวดาทุกชั้น แม้กระทั่งพรหม อรูปพรหม เปรต อสุรกายเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น เมื่อพระโสดาบันมีปัญญาเข้าใจถึงขนาดนี้ ก็จะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในกายตน เพราะสิ่งใดมีความเกิดเป็นของธรรมดา สิ่งนั้นก็ย่อมมี  ความดับไปเป็นของธรรมดา




แม้ในเรื่องของขันธ์ ๕ เอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พระโสดาบันเป็นผู้พิจารณาจนเห็นได้ว่าขันธ์ ๕ คือร่างและโครงของเรือนที่มาประกอบกัน ติดต่อกันเข้าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่าง ๆ ให้มีรูปลักษณะ ด้วยอำนาจของตัณหา ด้วยอำนาจของอวิชชา แล้วก็ต้องมีความพินาศไปในที่สุด




เช่นเดียวกัน พระโสดาบันได้เห็นความจริงของขันธ์ ๕ ด้วยกระแสวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เห็นด้วยการนึกคิดไม่ได้เห็นด้วยสมาธิ สมาธิจะเห็นพระนิพพานไม่ได้ สมาธิจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่ได้


ต้องเห็นด้วยญาณปัญญาที่เข้าไปรู้นามรูปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อความรู้จริงเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่มีความสำคัญผิดว่าเบญจขันธ์เป็นตัวตนหรือเป็นของของตน และก็ไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะสามารถทำให้เบญจขันธ์เป็น
โครงร่างอยู่ได้ตลอดเวลา


ต้องมีการแตกหักย่อยยับไปจากกันเป็นของธรรมดา นอกจากมีการแตกจากกันและดับจากกันแล้วก็ยังสามารถเข้ามาเกาะกุมกันใหม่ได้ด้วยอำนาจของตัณหาและอวิชชา คือ ก่อภพก่อชาติขึ้นมาใหม่เพราะมีตัณหาและอวิชชาความแยกออกจากกันและเข้ายึดเกาะกุมกันใหม่จะมีอยู่ตลอดกาล


ที่อวิชชาและตัณหาเป็นเจ้าของจิตใจของคนและสัตว์อยู่ ไม่มีวันหมดไปได้ แล้วก็ต้องพินาศไปในที่สุด ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทุกข์แปลว่าทนได้ยาก และบังคับบัญชาไม่ได้ เห็นการเกิดดับ เช่น


เมื่อมองเห็นรูป เกิดมีเวทนา รูปดับมีเวทนา เวทนาดับ สัญญาเข้ามาใช้ สัญญาดับ ปรุงแต่งทันที ปรุงแต่งเสร็จ จิตก็ต้องรู้ ดับที่ตรงนั้นเกิดที่ตรงนั้น




พระโสดาบันได้รู้เรื่องการก่อนและการทำลาย สามารถเข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาถึงเรื่องการก่อขึ้น และการทำลายของเบญจขันธ์


หรือจะพูดได้ว่าพระโสดาบันได้เรียนรู้ต้นทางแห่งชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหมดว่า ชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมจึงต้องเกิด และถ้าจะไม่เกิดจะทำได้หรือไม่


รู้แค่ว่าจะไม่เกิดได้ไหม แค่นั้นนะ รู้ว่าได้แต่ไม่รู้ว่าทางไหน หรือเรียนรู้ว่าปลายทางของชีวิตเป็นอย่างไร สุดท้ายของชีวิตเป็นอย่างไร มีความจริงแค่ไหน และยิ่งกว่านั้น


พระโสดาบันยังรู้เงื่อนต่อระหว่างความเกิดและความตายว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ในความตายแล้วมีเกิด และเกิดแล้วมีความตาย


รวมความได้ว่าพระโสดาบันเป็นผู้รู้จักชีวะเป็นอย่างดี ชีวะแปลว่าชีวิต ความรู้เหล่านี้เรียกว่าภูมิธรรม




ภูมิแปลว่าพื้นฐาน  พื้นฐานที่มีธรรมเข้าร่วม เป็นภูมิธรรมของพระโสดาบันในเรื่องราวของมนุษย์ ของสัตว์เดรัจฉาน ของเปรตอสุรกาย แม้กระทั่งเทวดา จึงหมดความยึดมั่นถือมั่นสามารถทำลายสักกายทิฎฐิได้




๒. วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเลสงสัย มี ๒ อย่างคือ



- วิจิกิจฉาสังโยชน์ หมายถึง ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีจริงหรือไม่ และ  มีความจริงแค่ไหน   ต้องตัดด้วยอริยมรรค



- วิจิกิจฉานิวรณ์ หมายถึง ความลังเลสงสัยเล็กน้อย ซึ่งจุหายไปด้วยการมีวิจาร



ความลังเลสงสัยที่เป็นสังโยชน์ เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานจริงหรือ พระพุทธดำรัสที่ว่า




ทุกอย่างมีเกิดขึ้นเป็นของธรรมดา สิ่งเหล่านั้นย่อมต้องดับไปเป็นของธรรมดา สิ่งใดเกิดขึ้นตั้งอยู่ไม่ได้ตั้งดับทันที เรายังไม่เห็นความดับ ยังเห็นต่อกันอย่างนี้ แต่พระโสดาบันเห็นความเกิดและความดับเท่าทันในอารมณ์


จึงทำลายความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยออกหมด เชื่อมั่นในพระปัญญาธิคุณ เชื่อมั่นในคำสั่งสอน และเชื่อมั่นในการปฏิบัติดี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้อยู่ไกล


พระพุทธรูป พระธรรมไม่ใช่หนังสือ พระสงฆ์ไม่ใช่ห่มผ้าเหลือง ที่เลิกสงสัยก็เพราะตัวเองได้เข้าถึง พุทธะซึ่งแปลว่าปัญญา เนื่องจากมี




ธรรมะคือธรรมชาติที่รู้จักเป็นคำสั่งสอนที่ประเสริฐ และตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติให้ตัวเองปราศจากกิเลสตัณหา ไม่ใช่ว่าจะถึงพระพุทธเจ้าได้พระธรรมเจ้าได้จะต้องไปบวช


อย่างนั้นเรียกว่าเข้าถึงตัวเอง ตัวเองต้องเป็นผู้รู้ว่าความบริสุทธ์ิกาย วาจา ใจ สำรวมอินทรีย์อยู่กับความจริงในปัจจุบัน จึงจะมี




ปัญญาเข้าร่วมตัดสินที่ปัญหาชีวิตได้ ทำลายวิจิกิจฉาที่ความคิดตนเอง เป็นทางเดินเดียวกับพระศาสนา คือ




ปฏิบัติเพียบพร้อมด้วยความสำรวมอินทรีย์ มีสติอยู่กับปัจจุบัน ตั้งมั่นอยู่กับความจริงตามธรรมชาติ นี่เป็นรูป นี่เป็นนาม แล้วจึงจะมีปัญญาทำลายวิจิกิจฉาได้หมด





พระรัตนตรัยที่พูดถึงในที่นี้หมายถึง วิสุทธิธรรม คือ ธรรมชาติที่บริสุทธ์ิหมดจดจากกิเลส เมื่อ




สักกายทิฏฐิซึ่งเป็นตัวปิดบังวิสุทธิธรรมโดยตรงดับไป วิสุทธิธรรมคือธรรมชาติต่าง ๆ ที่เป็นรูป เป็นนามเป็นปรมัตถ์ทั้งหมดก็จะปรากฏขึ้น ทำให้วิจิกิจฉาไปด้วย วิสุทธิธรรมเป็นความบริสุทธ์ิ หรือที่เรียกว่าเป็น



ความดับโดยไม่เหลือมลทิน พระโสดาบันเป็นผู้ถึงซึ่งพระรัตนตรัย ที่เราบูชากันว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ,



ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ แปลว่าขอถึง แต่ พระโสดาบันเป็นผู้ถึงแล้ว ต่างกันเห็นไหม เราอยู่ในระหว่างขอถึง กำลังเดินทางอยู่ กับเดินทางถึงแล้ว




๓. สีลัพพตปรามาส แปลว่า ความประมาทในการประพฤติปฏิบัติในศีลในพรตต่าง ๆ อย่างที่เรา



รักษาศีลกันอยู่ทุกวันนี้เป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีความลังเลสงสัยในศีล ไม่มีความมั่นคงและยังไม่รู้จักคำว่าศีลดี

ทำให้เดี๋ยวขาดศีล เดี๋ยวมีศีล เดี๋ยวถูก เดี๋ยวผิด สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะมีโมหะปิดบัง



พระโสดาบัน สามารถกำจัดความวิปลาสในเรื่องนี้ได้เด็ดขาด มีความสามารถรู้ว่าการปฏิบัติเช่นใดถูก เช่นใดผิด


มีการปฏิบัติโดยไม่ลังเลสงสัย เป็นไปโดยอำนาจซึ่งเราสั่งสมไว้ตอนนี้เราพยายามใช้ศีลเข้าควบคุม เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ระลึกได้ว่าการฆ่าเป็นบาป ตอนหลังศีลมีอำนาจมากขึ้น ศีลรักษาให้ไม่ฆ่าเองโดยไม่ต้องตั้งใจ




สีลัพพตปรามาสเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ ถ่วงความเจริญของศาสนา ถ่วงความเจริญของการกระทำดีทุก ๆ อย่าง  เพราะการขาดความเชื่อมั่นยึดมั่นอย่างมีปัญญา




พระโสดาบันสามารถละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสในขณะที่       ญาณทัสสนะ แก่กล้าเต็มที่เป็นองค์มรรค ความเข้าใจในเรื่องชีวิตก็แจ่มแจ้งขึ้น ความสงสัยในวิสุทธิธรรมก็หมดไป


และความประมาทในการปฏิบัติก็หมดไปด้วย พร้อมกับการประชุมลงครั้งแรกของมรรคสามัคคีทั้ง ๘ องค์   สัมมาทิฏฐิจึงเกิดขึ้น     เห็นถูกต้องทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง
 
 


 
คุณลักษณะของพระโสดาบัน

เราเรียนเรื่องชีวิตของพระโสดาบันแล้ว เราจะต้องศึกษาด้วยว่าคุณลักษณะของพระโสดาบันมีอะไรบ้าง

จะได้เทียบเคียงถูกและพิสูจน์ได้ว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระโสดาบันหรือไม่ เราจะได้ไม่ใช้


ใครโดยสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่กล่าวประณามใครโดยสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ควรล่วงเกินใครเลย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้นั้นได้กระแสพระนิพพานหรือยัง คุณลักษณะของพระโสดาบันมี ๔ ประการ คือ



๑. มีความศรัทธาเชื่อมันในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระปัญญาว่า เมื่อมีปัญญาเท่านั้นจะพาพ้นทุกข์ได้



๒. มีความศรัทธาเชื่อมันในพระธรรมเจ้า ศรัทธาที่พิสูจน์แล้วว่าที่เห็น เราไม่ได้เป็นผู้เห็น แต่นามเห็น นี่คือรูป นี่คือนาม



๓. มีความศรัทธาเชื่อมั่นในพระสังฆเจ้า เชื่อมั่นว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเท่านั้นจึงจะสิ้นทุกข์ หมดการเกิด ไม่ใช่บวชเป็นพระ นุ่งเหลือง หุ่มเหลือง เดินไปเดินมา ขอโน่น ขอนี่ มีนั่นมีนี่ เชื่อมั่นว่าตัวเอง


จะต้องเป็นสังฆะให้ได้ คือตรงต่อทางมรรคผล นิพพาน ทำลายอภิชฌา โทมนัส



๔. มีศีล ๕ เป็นข้อปฏิบัติประจำชีวิตจิตใจของตัวเองโดยไม่มีการมัวหมองด่างพร้อยเลยทุกขณะจิต


นอกจากทั้ง ๕ ข้อนี้แล้ว พระโสดาบันยังมีคุณลักษณะ
พิเศษอีก ๒ ประการคือ


- มีจิตประกอบด้วยกุศล ยินดีที่จะบริจาคทุกเมื่อเพราะรู้ว่าการละออกเท่ากับรื้อสัญญาเพื่อละสังโยชน์ และรู้เห็นเป็นจริงว่า ทรัพย์ภายนอกแม้แต่กายของเรามีแต่เสื่อมไปเป็นของธรรมดา

การรับไม่ดีการให้ดี การรับคือกิเลส การให้เป็นทาน จึงมีความยินดี สละได้ทุกอย่าง กำลังก้าวเข้าสู่กระแสเท่านั้นเอง


ยังสละได้แม้กระทั่งชีวิต ทรัพย์สมบัติเพราะรู้ว่าต่างคนต่างมา ประสบกันแค่ชาตินี้ชาติเดียว แล้วก็หายไป


เมื่อเราตาย ความรักก็ไม่จีรังยั่งยืน แต่เราไม่เคยลืมรักตัวเองผู้เป็นพระโสดาบัน รู้ว่าเมื่อเราไม่เคยลืมรักตัวเองต้องหาของดีให้กับชีวิต คือไม่หาของปลอมนั่นเอง


- มีปัญญาแก่กล้าเป็นสัมมาทิฏฐิ หมายถึง รู้เหตุ รู้ผลอยู่ตลอดเวลา ไม่ตกอยู่ใต้ความประมาท มีการกระทำทุกอย่างด้วยความมั่นคง ตรงต่อความบริสุทธ์ิ ไม่ขอ  ไม่เรียกร้อง  ไม่ตำหนิผู้อื่น  ไม่ตำหนิตนเอง  ไม่มีบริวารมาก  ไม่มีเครื่องอัฐบริขารมาก  ถือสันโดษเป็นนิจ

จะทำให้ชีวิตไม่ตกในอบายภูมิเด็ดขาด จำไว้นะลูก ขณะใดลูกโมโหมาก ๆ ทุบโต๊ะ ขณะนั้นลูกกำลังกระชากประตูนรกอย่างแรง


เมื่อได้รู้จักคุณลักษณะของพระโสดาบันแล้ว เราจะประพฤติอย่างไรจึงจะบรรลุโสดาบันได้ ไม่ยากเลย


๑. หมั่นสมาคมกับผู้ฉลาด ผู้ฉลาดในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีความสงบกาย สงบวาจา สงบใจเป็นคุณลักษณะ  ไม่ใช่ดอกเตอร์  ศาสตราจารย์  นั่นเก่งทางโลก  ไม่ได้เก่งทางธรรม


การสงบอย่างไร ไม่ลุกลี้ลุกลน แสดงออกซึ่งการทนไม่ไหว ตบอกชกหัว หัวเราะลั่น นอนชักดิ้นชักงอ หัวเราไม่พอยังพูดด้วย หัวเราจนขาดใจตาย คนกายสงบก็หัวเราะได้ แต่รู้ว่าขีดจำกักอยู่ตรงไหน


คนเราห้ามหัวเราได้ไหม ใครไม่หัวเราะแล้วยกมือขึ้นซิ ยิ้มได้ หัวเราได้ แต่พยายามหัดตนเอง หักบุคลิก


อย่าลุกลี้ลุกลน วิธีสงบมือจะสอนให้ คือคนเราชอบแสดงออกเหมือนพวกคนป่า พูดเป็นแล้วก็ยังโบกมือไปมา ต้องหัด ไม่มีใครอยู่ดีๆ ทำได้เลย ต้องค่อย ๆทำ พอนั่งลงก็เอามือประสานกันไว้ หรือไม่ นั่งแล้วชอบ


เขย่าขา เป็นสันนิบาต ก็กดเอาไว้ เริ่มหัด การเราจะไม่สง่าผ่าเผยเลยที่มานั่งสั่น เดี๋ยวเขานึกว่าเจ้าเข้า เอาข้อเท้าเหยียบเอาไว้ถ้ามันจะออกไป ระลึกได้ก็เอากลับมาที่เก่า นึกได้ตอนไหนเริ่มต้นตอนนั้น

อย่างกำลังพูดโทรศัพท์อยู่นะบอกว่า ไม่มาน่าดู (เอามือตีขาตนเอง) อย่างนี้ใครเจ็บ พอนึกได้ก็เอามือไว้ ไม่ได้ก็หัดวางไว้ที่หนึ่ง นี่พอมือไปแล้ว เขาบอกอย่างนี้ลูก ลูกศิษย์ใกล้ ๆ ด้วย

“วันนี้ผิดไปแล้ว หลวงพ่อ พรุ่งนี้เริ่มต้นใหม่เอาให้เต็มที่เลย ไหน ๆ มันผิดไปแล้ว”

อย่างนี้ไม่มีทางดีได้ เจริญไม่ได้ เพราะคำว่าเจริญคือกระทำได้เดี๋ยวนั้น

บางคนปวดท้อง แล้วลูกไปกดตรงเอวอีกมันหายไหม ทำลายมหาภูตรูป ปวดท้องไม่ต้องกด ไม่ต้องทำท่างอก่องอขิง ไม่ต้องแสดงบุคลิกออกมา ปวดท้องก็กินยาแล้วนอนเลย บางคนยังบอกว่า

 “ป้าจะตายแล้ว ป้าแน่นเชียว ป้ าจะแย่แล้ว ไม่ไหวแล้ว”

เป็นพ่อนะจะบอกว่ายังไหวอยู่นี่ พูดจ้อเลย เรานั่งดูยังไม่พูดเลย ฉะนั้น อิริยาบถต่าง ๆ พยายามสำรวมไว้เพราะอิริยาบถฟ้องขันติ


ทางวาจา สงบอย่างไร หมั่นท่องไว้ “พูดน้อยผิดน้อย ไม่พูดเลย ไม่ผิดเลย” ผู้ที่ช่างพูดคุยเก่ง


สันทัดในการพูดขอให้เปลี่ยนจากพุทโธ, สัมมาอรหัง, โอมหังวันโท นโมพุทธายะ เวลานั่งสมาธิให้ท่องไป


พูดน้อยผิดน้อย ไม่พูดเลยไม่ผิดเลย ได้สมาธิและสอนตนด้วย ๕๐๐ จบ ได้สมาธิพอสมควรก็เจริญวิปัสสนาต่อเลย นามรู้ ใครทำขอให้เจริญ


ทางใจทำอย่างไร ใจเป็นประธานทำให้งานต่าง ๆ สำเร็จกิจขึ้นมา พยายามรู้กระทบ รู้กระทำ จะนึกจะคิดอะไร จะพูดออกมาให้รู้ที่ใจก่อน ทำกรรมใหม่ให้ดีนะ นี่มันวิบากนะ


ผู้ที่สมาคมกับผู้ฉลาด แล้วทำตัวเองฉลาด เขาเรียกว่าตั้งตนไว้ชอบในปัจจุบันชาติ เพราะรู้ว่าการใช้กายทุจริตจะเป็นพิษต่อตนเอง ใช้วาจาโดยไม่จำเป็น พูดมากก็ผิดมาก ใช้ใจคิดพยาบาทก็สร้างความเศร้าหมอง

เราอยากเป็นพระโสดาบัน แต่คบกับคนพูดมาก ผิดมาก วุ่นวาย ไร้สาระ ลูกไม่ได้เป็นโสดาแต่เป็นการชักพาให้ลูกเป็นโซดา คือผสมกับเขาไปเรื่อย ๆ



๒. หมั่นฟังธรรม หมั่นศึกษาหาความรู้ ไม่ใช่ให้ต้องมาหาพ่อนะ อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นหลักปฏิบัติถูกต้อง เรื่องราวที่มีเหตุและมีผล เมื่อเรารู้ว่าเป็นข้อปฏิบัติตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


เราก็ปฏิบัติของเราไป เวลาเข้าไปในสถานที่อื่น รู้ว่าถูกเราก็เอามาใช้ รู้ว่าผิดไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับใครหยุดอยู่กับที่ แล้วทำที่ตัวเอง หรือไม่ ใคร ๆ เขาว่าอันนี้ดี ฉันไป อันนี้ดีก็ไป ศรัทธาไปหมด โดยไม่รู้ว่าอะไรดีแท้


สิ่งที่เอามารกตัวเอง ปวดหัว ไม่รู้จะปฏิบัติอันไหนก่อน จึงต้องมีปัญญาเรียนเรื่องปฏิบัติที่ถูกต้อง



หมั่นฟังธรรม ที่รวมถึงการพูดคุยกับคนที่พูดมีเหตุมีผล ประเภทที่ถามว่า “คุณใส่แว่นตาทำไม ฉันไม่เห็นอยากใส่เลย”  “ไม่เห็นชอบเลยสายตาสั้น”


ใครบ้างอยากใส่แว่นตา ถ้าสายตามดีจะใส่แว่นไหม เคยถามคนสายตาสั้นหรือเปล่าว่าเขาชอบไหม พวกที่ถามอะไรไม่เข้าเรื่อง พูดอะไรไม่มีเหตุมีผล อย่าไปสมาคมด้วย


แล้วตนเองก็ต้องพยายามพูดอย่างเข้าเรื่องและมีเหตุมีผล คือพูดสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและตนเองให้ได้




๓. หมั่นมีใจดำริตริตรองให้ถี่ถ้วน หลักของพ่อก็คือ ก่อนจะทำอะไร ก่อนจะไปไหน รู้สึกว่าจะทำไปทำไม คิดพิจารณา ทบทวน ใคร่ครวญ แล้วค่อยตัดสิน ใช้ใจดำริตามและไตร่ตรองทุกคำพูด


ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยปัญญา เช่น เราถูกกล่าวหา ถูกว่ามา ก็ตีโพยตีพายท้าตีท้าต่อยกัน เราทำดีขนาดนี้แล้ว เราให้เงินเขายืมแล้ว ทำไมเขายังโกงเราอีก นี่หรือทำดีได้ดีมีที่ไหน เราดำริไม่ถูกต้อง คิดไม่ถูกต้อง


ที่ถูกโกงเพราะเคยโกงเขามา แต่ที่ให้เขายืมเงินเราได้บุญ มันคนละเรื่องกัน หมั่นมองเหตุมองผลให้ถูกต้อง



๔. พยายามปฏิบัติตามแนวทางพ้นทุกข์สุดความสามารถ เรามีความสามารถเท่าใด พยายามให้เต็มที่ เมื่อยังไม่ได้อย่าน้อยใจ เกิดความลังเลว่าจะได้จริงหรือเปล่า

พอคนอื่นเขาบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกนะก็หวั่นไหว เราจะเป็นคนที่มีวิจิกิจฉาอยู่เรื่อย ๆ ไม่สำเร็จอะไรสักอย่าง ของที่ฟังมาเก่าอย่าเอามาอ้างอีกว่า



ทำไมตรงนั้นเขาบอกว่าอย่างนี้ล่ะหลวงพ่อ ตัดอาลัยไม่ขาด พระโสดาบันท่านตัดอาลัยขาด ลูกตัดไม่ขาดลูกก็ไม่ได้เป็น เช่น เราถามว่าทำไมจึงมีโรคภัยไข้เจ็บมาก ทำไมเราจึงถูกยิง ไปฟังคนอื่นเขาบอกว่า


เพราะเราไปยังคนนั้นไว้เขาเลยตามมายิง นี่เขาเรียกจองเวร จองกรรม ผิด เหตุผลไม่ตรงกัน เพราะเราเคยทำร้ายร่างกายผู้อื่นทั้งคนและสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน


จึงมีโรคภัยไข้เจ็บ เคยฆ่าเขาจึงถูกฆ่าตอบ แต่เขานี้ไม่ใช่คนเดิม เพราะเขาคนนั้นถูกเราฆ่าแล้วเขาไม่ได้มาเกิดเป็นคน ต้องตกนรก คนที่ถูกฆ่าจิตจะมีอารมณ์โทสะ



แต่กรรมของคนฆ่ามากกว่ากรรมของคนตาย คนฆ่าก็ต้องตกนรก เมื่อมีโอกาสดีได้มาเกิดเป็นคน ก็ต้องถูกคนอื่นที่มีนิสัยคล้ายกันมาฆ่าต่อ เมื่อยอมรับแล้วไม่ต้องถามว่า แล้วทำไมเขาถึงสอนอย่างนั้นเสียเวลา


ถ้ายังไม่เชื่อของใหม่ก็อย่าเพิ่งตัดสิน เอาไปคิดให้รอบคอบเมื่อตัดสินว่าเชื่ออันนี้แน่ มีเหตุมีผลก็ทิ้งของเก่าทันที



เพราะจะทำให้เศร้าหมองเปล่า ๆเวลาจะมีค่า เวลานั้นย่อมต้องประกอบด้วยปัญญาทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นหลักสำคัญมาก ถ้าเรามีความเพียรประพฤติอย่างนี้เต็มความสามารถ ความเจริญ



นับตั้งแต่ปุถุชนก็จะหมุนสู่ความเป็นกัลยาณชน  จากกัลยาณชนก็จะสู่ความเป็นอริยชน  จากอริยชน ก็จะสู่ความเป็น สกทาคามี  จากสกทาคามี ก็จะสู่อนาคามี และ จากอนาคามี ก็จะสู่อรหันต์ แล้วก็จะได้ไม่ต้องเกิดอีก


เมื่อได้รู้คุณลักษณะของพระโสดาบันแล้วก็คงจะจินตนาการได้ว่า ท่านคงจะหมดจดจากกิเลส ชีวิตคงราบรื่นไม่มีความทุกข์ เพราะปุถุชนเป็ นผู้มีทุกข์ประจำคือขันธ์ ๕ แล้วก็แส่หาทุกข์


ส่วนพระโสดาบันเป็นผู้เอาคำว่า “แส่หาทุกข์” ออกไปแล้ว ชีวิตจึงมีแต่การแก้ไขทุกข์ที่เป็นทุกข์ประจำซึ่งก็ยังแก้ได้ไม่หมดเลย นี่คือหน้าที่และเป็นคุณสมบัติพิเศษ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้อย่างไร เพราะมีวิบาก

จึงพยายามดูแลสอนตนเองว่านี่วิบากนะ แล้วตั้งใจทำกรรมใหม่ พอกระทบก็รู้เท่าทันไม่แส่หากรรมใหม่และทุกข์ใหม่



ส่วนลักษณะของพระโสดาบันตามคำจำกัดความของพ่อยังมีเพิ่มเติมอีกดังนี้


๑. ไม่บ้าหอบ เวลาเราไปตลาดหรือซื้อของพะรุงพะรังนี่ บอกตนเองเลยว่ายังไกลจากพระโสดา


สองมือสิบนิ้วหิ้วมันยสีิ่บถุง พระโสดาไม่มีความบ้าเช่นนี้ เพราะคนหอบคือคนบ้าใช่ไหม คนหอบนี่วิปลาส



๒. ไม่บ้าคุย คนที่คุยเป็นคุ้งเป็นแคว กำลังพูดอะไรที่ไม่รู้เรื่อง บ้าไหม อยู่ดี ๆ ก็ตะโกนโหวกเหวก



๓. ไม่บ้าขอ เช่น ขอบ้างซิ ฉันอยากได้ เธอให้ฉันหน่อยซิ เป็นพระโสดาไม่ได้แล้ว พกมากเป็นทุกข์ มีมากเป็นทุกข์



๔. ไม่รอใคร คือ การไม่มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น เดี๋ยวรอเขาก่อนถึงค่อยตัดสินใจ ไม่เป็นตัวของตัวเองพระโสดาไม่เป็นอย่างนั้น


แล้วเท่าที่ผ่านสายตาของพ่อเอง พระโสดาบันถ้าเป็นพระจะมีจีวรเพียง ๒ ชุดเท่านั้น ถ้าได้รับมากกว่านั้นจะรีบบริจาคไม่สะสมสมบัติสังโยชน์


และส่วนมากที่สัมผัสมาจะรับประทานอาหารคลุกเคล้ากันอยู่ตลอดเวลา ไม่ทีละคำ ปนกันกินได้ทุกอย่าง นอกจากนี้ที่พบมากับตัวเองคือมองไม่ไกล เดินสุภาพ พูดน้อย ยิ้มรับ ตอบน้อยแต่มีประโยชน์ ไม่ได้เดินมองโน่นมองนี่ แล้วไม่ทำกิจโดยไม่จำเป็น


กิจของพระโสดา  ไม่จำเป็น ต้องก่อสร้าง ทาสี ไม่มีการเป็นเจ้าของทุน ออกรถทัวร์ ไม่เป็นหมอดูให้ใครแล้ว เพราะต้องดูแลตัวเองสำคัญกว่า มัวแต่ดูคนอื่น ตัวเราแย่ แล้วลักษณะจะเดินอย่างสง่าผ่าเผย


การบิณฑบาต ของพระโสดาบันจะมองบาตรของตัวเอง ไม่มองอาหารของผู้ใส่ เห็นว่าพอสมควรแล้วปิดบาตรกลับทันที ไม่รับจนล้นบาตร


มีชีวิตไม่พึ่ง ผู้อื่น ไม่ต้องมีลูกศิษย์ถือปิ่นโตตาม เพราะมีความประมาณในโภชนา บาตรก็แค่นี้ ยังใส่ปิ่นโตอีก





ส่วนพระโสดาบันที่เป็นฆราวาส

บุคคลนั้นจะมีความสง่าผ่าเผย หน้าตาชื่นบานอยู่เป็นนิจ มีความคิดที่รอบคอบประกอบไปด้วยการกระทำที่มีเหตุผล มีความสำรวม เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่โต้แย้งใคร


มีใจสงบ เวลาประสบปัญหาก็จะมีสติคอยเตือนตนเอง และมีการดำเนินชีวิตอย่างง่ายและสะดวก คือ ไม่วุ่นวาย ไม่คัดเลือกอะไรทั้งสิ้น อาภรณ์จะสะอาดสะอ้าน ไม่สกปรกแต่ไม่มีมาก


การประดับตกแต่งเรือนกายแทบไม่เหลือเลย ถ้าบุคคลนั้นเกิดสายตาสั้นก็จำเป็นต้องใส่แว่นตา ไม่ถือของพะรุงพะรัง เพราะไม่ซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น ไม่ชอบหอบ ไม่ชอบขน ไม่ชอบบ่น ไม่ชอบคิด ไม่ชอบติด ไม่ชอบยิ่ง มุ่งแต่ทางเดินต่อไปไม่เกิน ๗ ชาติ


ทุกคนมีสิทธ์ิเป็น และขอให้เป็นทุกคนด้วย โดยเริ่มหัดสำรวมกาย วาจา ใจ พูดให้น้อย พูดน้อย ไม่พูดเลย ไม่ผิดเลย



พ่อก็ขอภาวนา อธิษฐาน แผ่เมตตาจิต ที่พ่อได้เคยปฏิบัติมา พร้อมทั้งมีกำลังกาย วาจา และใจ ตั้งมั่นในการสอนให้ลูกเป็นพระโสดาบัน ขอให้สัมฤทธ์ิผลที่ตัวลูกทุก ๆคน แต่พ่อยังไม่ปรารถนา


ผู้ที่เข้าฟังการบรรยายธรรมของหลวงพ่อเสือได้กราบเรียนถามข้อสงสัย และหลวงพ่อได้กรุณาตอบให้อย่างละเอียด จึงได้คัดเลือกคำถามคำตอบที่น่าสนใจมาพิมพ์ไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจใคร่ศึกษาต่อไป


คำถาม: ได้ฟังหลวงพ่ออธิบายเรื่องสังโยชน์แล้วสงสัยว่า บางอาจารย์บอกว่า เรามีศีล ๕ บริสุทธ์ิเว้นอบายมุขได้อย่านี้เป็นพระโสดาบันได้แล้ว เพราะศีลนำไปสู่สุคติได้ ศีลเป็นที่มาของโภคทรัพย์ได้

ศีลสามารถนำไปสู่พระนิพพานได้ แต่บางท่านก็ว่าพระโสดาบันต้องละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว แล้วค่อย ๆ ละไปเรื่อย ๆ อีก ๗ ตัว พอหมดก็เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงอธิบายไม่เหมือนกัน?




คำตอบ: ใช่ พระอรหันต์ท่านสามารถตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้เด็ดขาด ไม่มีพืชเชื้อเหลือเลยสักอย่างเดียว พ่อพยายามให้ทุกคนดูสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ให้มีสีต่างกัน (กรุณาดูสีของสังโยชน์ที่ปกหลังประกอบด้วย)


สีดำน่ากลัวที่สุด อันไหนสีดำบ้าง วิจิกิจฉา อรูปราคะ อวิชชา น่ากลัวมาก อะไร ล่ะที่ทำให้การเรียนของเราไม่เจริญเสียที เพราะเรียนมากเลยเกิดวจิกิจฉา แล้วสิ่งที่เราเรียนมานั้น

เราเอาความรู้สึกเก็บไว้เป็นนาม อรูปราคะเข้า เพราะอะไรล่ะ จึงมีความลังเลและมีความยึดมั่นในคำพูดในคำสอนเพราะอวิชชา



เพราะฉะนั้น พระโสดาบันตัดได้ขาด ๓ ตัวแน่นอนอย่างที่อธิบาย แต่การอธิบายของพ่อนั้นเพื่อจะให้เห็นว่า อย่าไปเรียนที่ละท่อน วันนี้เรียนอันนี้ พรุ่งนี้เรียนอันนี้ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน ตัดได้ทีละน้อย แต่ตัดได้เด็ดขาดคือพระโสดาบัน ไม่หลงผิดว่าเป็นตัวตน ไม่มีความลังเลสงสัย


ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ประมาทแล้วอย่างเด็ดขาด ทุกคนไม่มี ๑๐ ตัวนี้เกิดขึ้น ในขณะปฏิบัติ แต่เลิกปฏิบัติมาแล้ว มี ๑๐ ครบ พระโสดาบันไม่มาอีกแล้ว ๓ พอ

เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ไม่มาอีกแล้ว ๑๐ ส่วนเราไม่มาแค่ชั่วคราว


พ่อพยายามสอนว่าการเรียนธรรมะหรือการสอนธรรมะนี้เพื่อให้ลูกศิษย์เข้าใจว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงนะ เพราะความยึดมั่นทำให้ตัดสินที่ตัวเองว่าฉันใหญ่คนอื่นพูดไม่ถูกต้อง ฉันเอา ฉันเป็นประธาน พอฉันเป็นใหญ่ประมาทจึงเกิดขึ้น แล้วเมื่อฉันยึดมั่นแล้วมันก็ยินดีในชีวิต

มีรูป มีรสมีกลิ่น มีเสียง มีสัมผัส ความยินดีนี้เป็นตัวการทำให้กระทบกับจิตให้จิตรู้เสมอ กระทบในเรื่องรูปก็เป็นราคะตามมา กระทบในเรื่องนาม ราคะก็ตามมา พอราคะมีมากมานะก็ตามมา มานะมาก็ก็ฟุ้งมาก ฟุ้งมากก็เป็นบ่อเชื้อ เป็นอาหารของอวิชชา ทุกคนมีหมด

แต่พระโสดาบันตัดได้เด็ดขาดแล้ว ๓ ส่วน  ที่ยังเหลือนี่จะสลับกันเข้ามาเรื่อย ๆ 

ฉะนั้น สีดำน่ากลัวนะ อย่างที่บอกไปแล้วในเรื่องวิจิกิจฉา อรูปราคะ และอวิชชา


สีแดงร้อนแรง เหมือนไฟ คนประมาทนี่เวลาทำไม่ได้ดังใจ มันร้อน คือสีลัพพตปรามาส  มานะ นี่ก็ทำให้ร้อนนะ จิตใจเร่าร้อน


สีเขียวเทียวไปเทียวมา สักกายทิฏฐิทำให้เทียวไปเทียวมา เมื่อเรายึดมั่นในชีวิตแล้วมันก็เวียนว่ายตายเกิด ปฏิฆะก็กระทบไปกระทบมาอยู่นั่นแหละ เทียวไปเทียวมากับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้


สีนํ้าเงินเพลิดเพลิน กามราคะกับอุทธัจจะทำให้เพลิดเพลินยินดีไม่รู้จบ


สีม่วงหวงแหน รูปราคะ หวงเหลือเกินรูปงาม ๆ พยายามดูแลชีวิต


เพราะฉะนั้นที่ตั้งกันว่า สีเขียวเหนี่ยวทรัพย์ สีฟ้ าคว้าทรัพย์ สีเหลืองเฟื่องทรัพย์ สีม่วงทวงทรัพย์ มีแต่เรื่องงกทั้งนั้นเลย เอาออกบ้างซิ




คำถาม: ผู้ที่ได้กระแสพระนิพพาน คือพระโสดาบันนี้จะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส ได้พร้อมกันหรือไม่?


คำตอบ: พ่อบอกว่าไม่พร้อมกัน เพราะจิตเกิดดับทีละขณะแต่มันไวมาก มันไหลเรื่อยไป เมื่อทำลายสักกายทิฏฐิได้เท่ากับทำลายเหตุได้ ส่งผลมาก็คือไม่ลังเลสงสัยความไม่ลังเลก็เป็นเหตุใหม่ ทำให้ไม่ประมาท เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน


คำถาม: หมายความว่าเกิดผลต่อเนื่องกันใช่หรือไม่?
คำตอบ: เกิดผลต่อเนื่องกัน
 
 


คำถาม: สังโยชน์ ๑๐ นี้ รวมหมดทั้งมนุษย์และเทวดาใช่หรือไม่?
คำตอบ: รวมหมด


คำถาม: อยากทราบว่า เทวดาซึ่งเป็นโอปปาติกะจะติดในอรูปราคะได้อย่างไร?
คำตอบ: เป็นเทวดาเนรมิตอะไรแล้วพอใจ พอใจเป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นนาม


คำถาม: อย่างพวกที่ฝึกสมาธิได้ฌานขั้นสูง ๆ เป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหมจะติดอยู่กับอะไร?
คำตอบ: ติดในอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนา เป็นสังโยชน์


คำถาม: จะเป็นบาป หรือไม่ถ้าอวด อุติมนุสสธรรม ว่าตนได้เป็นพระอริยบุคคล?
คำตอบ: ผู้ที่ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ อวดอุตริมนุสสธรรมจัดว่าเป็นบาป แม้กระทั่งกล่าวตู่พุทธพจน์แค่นี้ก็บาปแล้ว การสอนธรรมะนี้กล้าเสี่ยง ในชีวิตคนเรา

โลภ โกรธ หลง เป็นการกล้าเสี่ยงอยู่แล้ว กล้าเสี่ยงทั้งสามบวกกันเข้ายังไม่เท่ากับการกล้าเสี่ยงกล่าวพุทธพจน์ออกไปให้เพี้ยน ถ้าเป็นเทวดานับตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงปรนิมมิตวสวตดี

อวดว่าเป็นพระโสดาบันทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็น อำนาจแห่งการเนรมิตได้จะหมดไปทันที รังสีที่มีห่อหุ้มเป็นกายทิพย์หมดไปทันทีเช่นกัน


ถ้าเป็นพรหมจะตกลงมาอยู่ชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นอย่างต่ำ ถ้าเป็นอรูปพรหมจะมีรูปปรากฏขึ้นทันที


พวกเทวดาถ้ากล้าอวดเช่นนี้ แล้วอำนาจการเนรมิตหมดไปก็ไม่ผิดอะไรกับยาจกของมนุษย์ ความทุรนทุรายเร่าร้อนในความหิว เพราะไม่สามารถเนรมิตได้ ก็จะเกิดอำนาจโทสะ ที่ไปก็คือนรก


คำถาม: ถ้าเราคิดว่าพระองค์นี้เป็น


พระอรหันต์ จะเป็นบาปหรือไม่?

คำตอบ: ไม่บาป








คำถาม: แล้วถ้าท่านเป็นพระอริยบุคคลจริง ๆ ท่านพูดอวดตนเองจะมีความผิดหรือไม่?

คำตอบ: ถ้าเป็นพระโสดาบันจริง ไม่มีเลยที่จะพูดอวดตนเองเพราะพระโสดาบันเป็นผู้รู้ชีววิทยาอย่างมาก


แล้วสามารถทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสตัวฉมังที่สุดคือสักกายทิฏฐิเหมือนเราเดินเข้าไปในกองไฟ ต่างคนต่างเดินหาทางหนี เวลาเราเอามือจับถ่านเราจะต้องทำอะไร วิ่งเข้าไปจับถ่านแล้วร้อง หรือ


นั่นคนบ้า เด็กปัญญาอ่อน พระโสดาบันก็คือผู้ที่จับถ่านแล้วไม่พยายามจับอีก แต่พวกเราที่ยังไม่รู้ก็ยับจับกันต่อไป เหมือนเด็กเล็ก ๆ ไม่เคยรู้ พ่อแม่ไม่เคยสอน คลายไปจับถ่าน ยิ่งกลัวยิ่งร้อนยิ่งกำแน่น แต่ผู้ใหญ่โดนนิดเอามือหนีได้ ฉันใดฉันนั้น พระโสดาบันก็เช่นเดียวกัน



คำถาม: ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วยังมีโอกาสที่จะถอยหลังเข้าคลองอีกหรือไม่?

คำตอบ: มีซิลูก ยังตกนรกได้



คำถาม: แต่ในตำราเรียนบอกว่า พระโสดาบันไม่มีการตกอบายภูมิ เป็นอย่างไรกันแน่?

คำตอบ: นั่นพูดตามสระพยัญชนะเป็นปริยัติ แต่พ่อสอนจากที่เห็น ได้บอกแล้วว่าพระโสดาบันแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือ เกิดอีกครั้งเดียว เกิดอีกไม่ถึง ๖ ครั้ง และเกิดอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมาก จัดอยู่ในพวก

ธัมมานุสารี มีปัญญาแก่กล้า ไม่ตกนรกอีก แต่มีพระโสดาบันที่ทำด้วยศรัทธา ศรัทธาย่อมต้องมีเสื่อมศรัทธา พวกนี้เกิน ๗ ครั้งได้ แม้กระทั่งตกนรกได้เพราะโทสะยังอยู่ เป็นพวกเทวดาเยอะ กำลังปริ่มกระแส กำลังเข้าข่าย


ยังไม่ได้กระแสเต็มที่ ระดับจิตถึงกระแสพระนิพพาน แต่ยังไม่เข้าเต็มที่ ยังมีปฏิฆะอยู่ เมื่อโกรธก็ตายเลย


มนุษย์ตายช้า ส่วนเทวดาตายไว แต่สติของพระโสดาบันมีความแก่กล้าจะมาเป็นกรรมตัดรอน ตกลงไป


เพียงชั่วแว่บหนึ่งของจิต ยังไม่ทันเสวยทุกขเวทนาก็กลับขึ้นมาปฏิสนธิใหม่ แต่ก็ล้านคนของพระโสดาบัน มีประมาณ ๒ องค์เท่านั้นที่มีโอกาสตกนรก


หมายหตุ : หลวงพ่อได้เคยอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า พระโสดาบันที่ตกนรกได้นี้มิใช่มนุษย์ แต่เป็นเทวดาเหตุที่ตกนรกได้ก็เพราะเกิดโทสะแล้วจุติ การจุติปฏิสนธิของเทวดา


นั้นรวดเร็วยิ่งนักเพราะกายละเอียดจึงทำให้ตกนรกได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้เป็น พระโสดาบัน ย่อมมีสติเกิดขึ้นได้อย่างว่องไวมาก ทันที่ที่สติเกิดก็ตัดรอนภพชาติที่นรกเสียได้ และกลับมาเกิดในสุคติภูมิได้ดังเดิม กรณีเช่นนี้ในพระไตรปิฎกมิได้กล่าวไว้

แต่หลวงพ่อยืนยันว่าเคยเห็นมาแล้วด้วยตนเอง




คำถาม: การที่จะเป็นพระโสดาบันได้ต้องไม่มีวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย แล้วทำไมอวิชชาในสังโยชน์๑๐ ยังมีอยู่?


คำตอบ: สังโยชน์ ๑๐ คือ เครื่องร้อยรัดพันธนาการมิให้สามารถลุล่วงไปจากสังสารวัฏได้ หมายถึงไม่พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ พระโสดาบัน คือ ผู้ที่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ รู้จักชีวิต



อันแท้จริงว่า ต้องมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ฉัน ไม่ใช่เป็นคนมาเดิน มายืน มานั่ง มานอน รู้สภาวธรรมตามเป็นจริงว่ามีรูปธรรมและนามธรรม มีเหตุปัจจัยในรูปในนามที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว รับรู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ไม่ใช่คน สัตว์มาเป็นผู้เดิน ยืน นั่ง นอน หรือ รับรู้ได้เอง


เมื่อทำลายความเข้าใจผิดคือสักกายทิฏฐิได้แล้ว ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะหมดไปด้วย เช่น สงสัยว่าพระพุทธะคือปัญญานี่จะสามารถ ทำให้หลุดพ้นได้จริงหรือ

เมื่อเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนจะลุล่วงจากสังสารวัฏได้จริงหรือ และเมื่อทำตนก้าวสู่ทางพ้นทุกข์ มีการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง จะมีผลจริงหรือ วิจิกิจฉาจะทำลายสีลัพพตปรามาสออกไปด้วย

มีการกระทำกายก็สุจริต วจีก็สุจริตและมโนก็สุจริต ข้อสำคัญต้องอย่าลืมว่า พระโสดาบันทำลายสังโยชน์ ๓ เท่านั้น เป็นผู้แจ้งในอริยสัจ คือ


รู้ว่าอะไรคือทุกข์ รู้ว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ว่าความสิ้นสุดทุกข์เป็นฉันใด และรู้ว่าเมื่อจะถึงพระนิพพานนี่ต้องดำเนินตามมรรคอันมีองค์ ๘ เมื่อรู้แล้วกำลังดำเนินตาม อวิชชายังไม่ถูกทำลาย

จนกระทั่งโอนโคตรปุถุชนทิ้งใน โคตรภูญาณ คือญาณที่ข้ามพ้นโคตรปุถุชน ตรงนี้แหละ สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ไดมรรคผล


อนุโลมญาณ ยังเพียงแค่อนุโลมให้เห็นความจริงของอริยสัจ ๔ เท่านั้น




คำถาม: พระโสดาบัน เห็นแล้วแต่ยังข้ามไม่พ้น?
คำตอบ: อวิชชาไม่ได้เป็นรูปเป็นนาม อวิชชาคือสิ่งที่นองเนืองอยู่ในขันธสันดาน ทำให้ยินดีติดใจ ทำให้เกิดการเห็นอันคลาดเคลื่อนได้แก่วิปลาส ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจเป็นบ่อเกิดของความไม่ดีสารพัด


เพราะปิดบังความจริง แต่พระโสดาบันหมายถึงผู้ที่ข้ามจากปุถุชนมาสู่อริยชน คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน


รู้จักธรรม รู้จักวิบากกรรม รู้จักวางเฉยในเรื่องความรู้สึกของปุถุชนต่าง ๆ และเชื่อมันในคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธาอย่างเต็มที่อันประกอบด้วยวิริยะ กำลังเร่งวิริยะด้วยจิตที่ตั้งมั่น ผู้ที่เป็นพระโสดาบันกำลังเริ่มผลิต วิชชา




คำถาม: หมายความว่าอวิชชาของปุถุชนกับของอริยชนไม่เหมือนกัน?
คำตอบ: เบาบางกว่ากัน



คำถาม: พระโสดาบันเลือกเกิดได้หรือไม่?
คำตอบ: ตอนนี้ถ้าลูกเรียนวิปัสสนาก็เลือกเกิดได้ แต่ผู้ที่ไม่เรียนรู้เรื่องชีวิตเลยจะเลือกเกิดไม่ได้ ชีวิตต้องเป็นไปตามยถากรรม เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วกำลังจิตแรงกว่านะ มนุษย์นี่ ดีมีโอกาสที่ดีที่ได้ปฏิบัติ คำว่า


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่เทวดาไม่ได้ เป็นที่พรหมไม่ได้ ต้องเป็นที่มนุษย์ แล้วผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

ก็ไม่ได้เป็นพระโสดาบันอยู่บนสวรรค์มาก่อน ยังไม่ได้อะไรเลย ต้องมาไต่เต้าในมนุษย์ มีแต่ปัญญา กับสติอันแก่กล้าเท่านั้น ฉะนั้น “เรา” หมายถึง ลูกกับพ่อต้องพยายาม




คำถาม: ปฏิบัติชาตินี้ชาติเดียวไม่ได้ใช่หรือไม่ ต้องปฏิบัติติดต่อกันหลายชาติ?

คำตอบ: ชาติเดียวไม่ได้ ถ้าลูกเริ่มปฏิบัติวันนี้ วันนี้สำเร็จพระอรหันต์ไม่ได้ ไม่ใช่ปัจจุบันชาติ ต้องเคยทำมาแล้ว เคยสั่งสมมาเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น รีบปฏิบัติสะสมต่อไป




คำถาม: ฆราวาสได้เป็นพระอรหันต์ต้องตายในวันนั้นถ้าไม่ได้บวชถูกหรือไม่?

คำตอบ: เป็นคำพูดที่ถูก เป็นคำสั่งสอนและเล่าต่อจากพระอริยบุคคลสู่ผู้รู้และผู้รู้สู่อนุชนรุ่นต่อมา

ถูกต้องว่าผู้ที่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ทนอยู่ในชีวิตฆราวาสไม่ได้ ต้องอกแตกตายภายใน ๗ วัน ถ้าไม่บวช

เราก็ฟังๆ มา จึงต้องขอติว่าเป็นคนไทยเสียเปล่าทุกคนเราทั้งพ่อด้วยในอดีต เป็นคนไทย ใช้ภาษาไทยแต่ไม่รู้จักภาษาไทย


คำว่า “บวช” คืออะไร พอบวชแล้วเราไม่เคยรู้เลยว่าบวชแปลว่าอะไร ภาษาไทยไม่แตกฉานก็เป็นอย่างนี้ พูดผิดๆ ถูก ๆ

เพราะการที่เราบอกว่าบวชเราจะนึกถึงการ โห่ฮิ้วแล้วก็เข้าโบสถ์ เข้าสีมาแล้วก็โปรยทาน โกนหัวใส่ผ้าเหลือง ไม่ต้องนุ่งของข้างใน ถือบาตรออกบิณฑบาต ห้ามกินข้าวเย็น เราฝังหัวเอาไว้ว่า


นี่เขาเรียกว่าการบวช เป็นเด็กหน่อยก็เรียกว่าเณร แก่หน่อยก็พระ รู้แค่นี้ เพราะไม่แตกฉานในภาษาไทย


เป็นผู้ไม่รู้และไม่ยอมรับรู้ไม่แสวงหา จึงรู้แต่ว่าเข้าไปยืนหน้าเสมา ปวารณาตนเองตาม อุปัชฌาย์หรือพี่เลี้ยงแล้วก็เดินเข้าโบสถ์ไปมีคู่สวด โกนหัวโกนคิ้ว บิณฑบาต อย่าใส่สีอื่นนะ ต้องสีเหลือง ๆ หรือสีกรัก


รู้อยู่แค่นี้ เพราะไม่รู้ว่าการบวชตามหลักชองพระพุทธศาสนาคืออะไรกันแน่


บวช มาจากคำว่า ปวช (ปะ-วะ-ชะ) แปลว่า ออกจาก ไม่ได้แปลว่าโกนหัวเลย ไม่ได้แปลว่าห่มเหลืองเลย ไม่ได้แปลว่าเที่ยวขอเลย แล้วชีวิตของเราถ้าไม่ออกจาก จะคลุกคลีอยู่กับอะไร อยู่กับ โลภ โกรธหลง อยากได้ อุปาทาน ยึดมั่นแสวงหาที่เกิด แต่ผู้ออกจาก คือออกจากโลภ โกรธ หลง และการเสวงหา


การเกิด แล้วอะไรที่เป็นตัวการให้อยู่กับพวกนี้ ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผู้ที่ออกบวชจึงเป็นผู้ปวารณาตัว ออกจากกามตัณหา ความยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ปวารณาออกจากความยึดมั่นในเรื่องไร้สาระ เช่น ลาภยศต่าง ๆ ออกจากความยึดมั่นในอารมณ์อันเป็นสุขเป็นทุกข์




ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนามีกิจอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือกิจที่ต้องพยายามออกจากการพัวพันชีวิต ไว้กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่มีชิวิตเนื่องด้วยตัณหา อุปาทาน จึงจะเป็นนักบวชที่แท้จริง ดังนั้น



พระอรหันต์จึงครองชีวิตอยู่ในความยึดมั่นหรือครองเรือนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะรู้ว่าเป็นภัยเป็นโทษ เปรียบเสมือนไฟกำลังไหม้บ้าน ควันก็เข้าตา ร้อนก็ร้อน ใครจะทน มีใครทนไหม ร้องหาทางหนี


อยู่ไปก็ตายแน่ เพราะรู้ว่านี่ก็เป็นกิเลส ทำให้ต้องมีการเกิด นี่ก็เป็นโทษ นี่ก็เป็นภัย เมื่อเป็นผู้กลัวภัย จึงต้องพาตนเองออกจากภัยนั้น บวชจึงเท่ากับออกจาก ไม่ใช่ว่าจะต้องโกนหัว เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ได้สำเร็จในเพศชาย ผู้หญิงก็สำเร็จได้



คำถาม: เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เราแล้ว จะไปห่วงใยทำไม ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา มันจะขึ้นสวรรค์ลงนรกก็ปล่อยเขา การนึกคิดเช่นนี้ผิดหรือถูกอย่างไร?


คำตอบ: ผิด เพราะอุปทานแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน คือ สักกายทิฏฐินี่เอง ยึดว่าเป็นฉัน เป็นของของฉัน และการเรียนรู้ก็มี ๓ อย่าง ได้แก่

สุตามยปัญญา คือปัญญาที่รู้ด้วยการศึกษาเล่าเรียนฟังเขามา
จินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดขึ้นจากการนึกคิดทบทวน
ภาวนายปัญญา คือปัญญาที่เข้าไปเห็นของจริงเนื่องจากการปฏิบัติ


ตามที่ได้ศึกษามาแล้ว มีการพิสูจน์ทบทวนดูจึงจะรู้แจ้ง เมื่อเราปฏิเสธว่าไม่ใช่ของเรา มันค้านกับความจริง เพราะเรายังมีความรู้สึกอยู่ไหม ยังมีความรู้สึกสำนึกว่า ฉันเดิน ฉันนั่งอยู่ ฉันนอนอยู่ แม้จะรู้ รูปนั่งและ รูปนอนอย่างเดียวกันไหม

ทำไมมันไม่เป็นอย่างเดียวกัน ถ้าไม่ใช่ของเราเลยอย่างที่จะต้องตัด มันจะไม่รู้สึกเลยว่า ยืน เดิน นั่ง นอน แต่นี่ยังรู้สึกว่า ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ ก็เพราะว่าตัณหายังอยู่ ตัณหาคือความต้องการ การปฏิเสธนี่มีหลายอย่าง ปฏิเสธเมื่อมีปัญหาจากสุตาแล้วนี่จะรู้ด้วยปัญญารู้ กับปฏิเสธ


เพราะโทสะรู้ก็ได้ โทสะปฏิเสธ กับ โลภะปฏิเสธ มีได้ทั้งนั้น เมื่อเรารู้ว่า เราไปยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ โทสะก็เข้าปรุงแต่จิตว่าอย่าไปยึดมันแต่มันบงการต่อได้ เราจะต้องถูกตัดจากเครื่องร้อยรัด เครื่องพันธนาการ คือ


๑. สักกายทิฏฐิ  ความเข้าใจผิดในกายตน
๒. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส  ความประมาทในศีลในพรต
๔. กามราคะ  ความยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
๕. ปฏิฆะ   ความประทบกระทั่งแห่งจิต
๖. รูปราคะ    ความติดอยู่ในรูป
๗. อรูปราคะ  ความติดอยู่ในนาม
๘. มานะ   ความถือตัว
๙. อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
๑๐. อวิชชา   ความไม่รู้จริง คือความไม่รู้อริยสัจธรรม ๔ ประการ


จึงจะหมดได้ การที่เราปฏิเสธว่าไม่ใช่ของฉัน แค่กระทบอารมณ์ต้องเข้าห้องน้ำ เพราะกินเข้าไป ต้องขับถ่ายก็เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาว่า ทำไมจะต้องทำ ทำไมฉันต้องทำ มันไม่ หมดไปจาก “ฉัน” ได้


เพราะมีตัณหาและอวิชชาเกิดขึ้นอยู่ในจิต เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ของฉันแล้วก็จะต้องหาตัวการที่ทำให้ฉันต้องทำกำจัดออกให้หมดนั่นเอง



คำถาม: จิตของพระอรหันต์ที่ว่าท่านตายแล้วไม่เกิดอีก จิตดวงนั้นไปอยู่ที่ไหน?

คำตอบ: จิตเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต จิตของพระอรหันต์คือจิตอันบริสุทธ์ิ บริสุทธ์ิหมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จิตไม่มีคตินำไปด้วยกิเลสตัณหา สิ้นสุดจากกิเลสตัณหาก็ไม่มี

ทุกอย่างย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของพลังงานและในพลังงานนั้นย่อมไม่เที่ยง ลูกเคยศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วคงเข้าใจ  จิตเป็นพลังงาน พลังงานเมื่อไม่ใช้ก็เสื่อมไป



คำถาม: แปลว่าแตกสลายใช่หรือไม่?

คำตอบ: ไม่ได้บอกว่าแตกสลายเลย ไม่ได้พูดเลย ไม่ใช่แตกสลายหายตัว ทุกวันนี้เรายื่น มือออกไปได้นี่


เราต้องมีพลังงานจิตสั่ง ใช่หรือไม่ ฉะนั้น การสั่งงานของพระอรหันต์ก็ต้องมี เพราะยังมีรูปอยู่ สั่งงานไป


ด้วยการกระทำแก้ไขทุกข์ จิตไม่สร้างสังสารวัฏ คือไม่สร้างชาติสร้างภพแล้ว หยุดการสร้างภพสร้างชาติ


ไม่มีโอกาสที่จะมีกรรมชรูป นี่คือทฤษฎี การตายแล้วไปเกิดได้เพราะก่อนตายมีจิตเป็นตัวรู้ เจตสิกเป็นตัวปรุงแต่ง เก็บสะสมกรรม สร้างกรรมชรูป เกิดในครรภ์มารดา เกิดในฟองไข่ เกิดในของโสโครกและเกิดแล้วเติบโตทันที


 


ทีนี้ผู้ที่เป็น พระอรหันต์  รู้เหตุผลว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่
สามารถบังคับบัญชาได้สรรพสิ่งทั้งหลายไร้สาระ ไร้แก่นสาร จึงหยุดการดิ้นรนแสวงหาโดยไม่เข้าเรื่อง


การสร้างภพสร้างชาติจึงไม่มี จิตตอนนั้นครองความเป็นใหญ่ด้วยมหาสติ การดำเนินกาย วาจา ใจ ของพระอรหันต์เป็นไปด้วยกิริยาจิต คืออาการที่มีเหตุปัจจัยบังคับให้ทำด้วยความทุกข์   ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ


ทุกอย่างสำหรับ พระอรหันต์ แล้วจะเป็นการถูกบังคับให้ทำ เมื่อมีเหตุปัจจัยมีรูปมาแล้วจำเป็นต้องเห็น เห็นแล้วมีความไม่เที่ยงเข้าร่วม มีปัญญารู้ทันความไม่เที่ยง ไม่มีความชอบ ความชัง อภิชฌาโทมนัสไม่เกิด


ไม่มีความยินดีติดใจที่จะทำให้จิตสร้างอำนาจกรรมชรูป เก็บไว้เสียแล้ว จิตก็ถ่ายถอนจากการสร้างกรรมชรูป แต่จิตเจตสิกยังทำงานอยู่ เจตสิกตัวนี้เป็นสติเจตสิกและปัญญาเจตสิก


พระอรหันต์มีหน้าที่ทำลายกรรมชรูปที่จะมีในอนาคต ในขณะที่จิตเกิดเองตามลำพังไม่ได้ จิตต้องอาศัยรูป เมื่อไม่มีภพชาติที่เป็นกรรมชรูปรองรับแล้ว



จิตจะไปเกิดที่ไหน เพราะไม่มีที่รองรับ จิตเป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นพลังงานที่สามารถบังคับบัญชาให้รูปทำงาน แต่เมื่อไม่มีรูปจะบังคับแล้ว จิตเองก็ไม่เที่ยง พลังงานทุกอย่างเมื่อไม่มีการใช้ก็ย่อมเสื่อมพลังงานของจิตจึงเสื่อมลง ออสโมซิส แค่นี้เอง



ผู้ที่กำลังเป็นพระอรหันต์อยู่ตอนนี้ ยังไม่เคยถามว่าเมื่อฉันตายแล้ว จิตฉันจะไปไหน เพราะไม่ใช่ เรื่องที่จะต้องไปอยากรู้ ความอยากรู้นั้นเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราหลงเหลืออะไรไว้บ้าง



 ลองหันไปดู หลงเหลือแต่ความทรงจำที่ไร้สาระแก่นสาร ไม่เป็นประโยชน์แท้กับชีวิตเลยเพราะสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องร้อยรัด ทำให้  สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  กามราคะ  ปฏิฆะ  รูปราคะ  อรูปราคะ  มานะ อุทธัจจะ    เป็นอาหารของอวิชชา   อาหารเป็นตัวส่งเลี้ยงให้ชีวิตใช่ไหมลูก ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส จนตายส่งเลี้ยงอวิชชาทั้งนั้นเลย ฉะนั้น จะ “ขอ” กันไปทำไม



เรามีเงินในกระเป๋าหมื่นบาท กับมีเงินในกระเป๋ า ๑๐ บาท เวลาหิวข้าวพร้อมกันทั้ง ๒คน ก็กินข้าวราดแกงจานเดียวอิ่มได้เหมือนกัน แต่เป็นเพราะเราติดในความยึดมั่น หวงแหนอรูป


ติดใน ตำแหน่งหน้าที่ สารพัด ใครที่มาขอพรกับพ่อ ขอให้มีสติ ปัญญา พ่อโสมนัสที่สุด แต่ถ้าขอให้ลูกนั้นมี ชื่อเสียงดี ร่ำรวย มีเงินมีทอง ขอให้ตำแหน่งดี ลูกกำลังขอความทุกข์ พ่อให้ไม่ได้หรอกลูก


เพราะพ่อรู้จักทุกข์ พ่อไม่ต้องการให้ลูกรับทุกข์นั้นต่อไป มันผิดกับเจตนาของพ่อ ฉะนั้น ถ้าขอสติปัญญา พ่อจะอนุโมทนาและให้พรแก่ลูก


ถ้าขอให้ลูกมั่งมีศรีสุข หน้าที่การงานของลูกนั้นได้เลื่อนยศ ได้ ๒ ขั้น พ่อฟังดูแล้วเดินมาตะกายหาทุกข์แท้ ๆ ขนาดยังไม่เจอเลยยังไขว่คว้าแม้กระทั่งคำพูด ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วหยุดแค่นั้น



กินเพื่ออยู่ อย่าอยู่เพื่อกิน ทำเพื่อแก้ทุกข์ อย่าให้ทุกข์ทำให้เกิดการทำ เดี๋ยวก็ตายแล้ว คนเรามี ๒วัน ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ตาย


ไม่เบื่อกันบ้างหรือ ขอตำแหน่งเลื่อนขั้น เช้าก็เข้าประตูนั้น เย็นก็ออกประตูนั้น ถึงเลื่อนเก้าอี้ไปก็ประตูเดียวกันนั่นแหละ ตึกรามบ้านช่องคนรอบข้างก็เหมือนกัน แล้วภาระที่มากขึ้นล่ะ ไม่เคยดูกันบ้าง



หลวงพ่อ ลูกขอลูกผู้ชายอีกคนเดียว ลูกจะพอแล้ว ทุกวันนี้แค่ ๓ ยังจับไม่อยู่เลย จะขอคนที่ ๔


เพราะฉะนั้น การเข้าไม่ถึงความจริงทำให้ขอโดยไม่รู้จักว่าการขอนั้นคืออะไร เราทำมาดีก็เป็นของเราแน่ ๆ



ปลงเสียเถอะ อะไรที่เป็นสมบัติของเราแท้จริงที่เราเคยกระทำมาในอดีต ถึงเราไม่เดินไปหา มันก็ต้องมาหาแน่นอน เราเคยให้ทานไว้ นั่งเฉย ๆ เดี๋ยวก็มีคนมาหาเอาเงินมาให้เอง อยู่กับบ้านเยอะแยะไป


เขาเอาล้อตเตอรี่มาบังคับให้ซื้อก็ถูก กับเที่ยงได้เดินไปทุกร้านไปหาเลขนั้น เลขนี้ขับรถไปต่างจังหวัด เสร็จแล้วเป็นอย่างไร เสียค่าน้ำมัน เสียเวลาต้องนอนหงายก่ายหน้าผาก อะไรมันเป็นของเรา มันก็ต้องอยู่กับเรา เมื่อ



ไม่ใช่ของเรา ถึงจะอยู่กับเรามันก็ต้องไปจากเรา เพราะฉะนั้น อย่าหวงสมบัติภายนอกเลย อันตรธานฉิบหายสิ้น เขาไม่ตายจากเรา เราก็ต้องตายจากเขา เราขอให้หลวงพ่อช่วยอย่าให้คนโน้นคนนี้เบื่อเรา


พ่อก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ระหว่างนั้นเราเคยเบื่อเขาบ้างไหม ตอบว่าเคย เพราะฉะนั้น พ่อช่วยไม่ได้เรายังเคยเบื่อเขานี่



คนโบราณเขาว่า คนที่ทำความผิดติดตัวอยู่ชอบอยู่ในที่มืด ไม่กล้าสบตา มันจึงเป็นวิบากของพ่อที่ถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง ถูกกล่าวหาว่า

“หลวงพ่อไม่สนใจลูกแล้ว ไม่มองลูกเลย หลวงพ่อไม่ได้หันมาทางนี้เลย”

พอพ่อหันมา ลูกก็ก้มหน้า แล้วลูกจะเห็นพ่อได้อย่างไร พุทโธ่ พุทถังเอ๊ย ทำเองแล้วก็ว่าเอง วิบากพ่อต้องถูกกล่าวหา พ่อหรือจะไม่มองใคร เพราะพ่อมีความปรารถนาดีต่อลูกทุกคนทั้งต่อหน้า และ ลับหลัง


ไม่เคยต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง ยิ่งลับหลังพ่อยิ่งตามดูทุกคน ด้วยความรัก ห่วงและหวง กลัวลูกจะตกนรกไป แก้ไขได้ก็รีบแก้ไข พูดได้ก็พูด พูดไม่ได้ก็เพราะเวลาไม่พร้อมก็จะรอไว้ให้ ถึงโอกาส จะนานด้วยชีวิตพ่อ พ่อก็จะรอ พ่อมองไปลูกก็หลับ แล้วตาพ่อจะเจอกับตาลูกได้อย่างไร


บางครั้งว่าตาพ่อเฆี่ยนลูก ตาพ่อเป็นแส้หรือ
 
 
 
 
 
 
ทุกชีวิตต้องพยายามที่ตนเอง ใครทำ ใครได้ ทำมาก ได้มาก ทั้งดีทั้งชั่ว ด้วยพุทธวิธีเพียรกำจัด





ความฟุ้ง  พยุงวิริยะ  ทำลายมานะ  แล้วรีบละกิเลส อย่าพอใจจนเอาความพอใจทำลายตนเอง  และพาตนไปในที่  ที่ไม่มีโอกาสช่วยตนเองได้อีกต่อไป ในอนาคตชาติจะลำบากกว่านี้มาก เราจะต้องเดินทางไกลในป่าอัน รกทึบ


ท่านผู้หนึ่งเปรียบไว้ว่า เราจะต้องหาไฟฉาย แม้จะริบหรี่ดวงเดียวก็ยังเดินเข้าไปในป่าได้   พยายามถือไว้เถิดแสงประทีปนี้จะสาดส่องให้เราไม่ตกหลุม   ไม่ปักตนเองลงไปในหนาม และทำให้เรานั้นเลวทรามต่ำไป




วันนี้ก็ทุกข์มากแล้ว อย่าคำนึงถึงวันพรุ่งนี้ให้มากเกินไป จงทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้วหยุดแค่นั้น



ตั้งเป้าหมายไว้ในวันพรุ่งนี้ว่า เราจะมีความสุจริตต่อไปทั้งกาย วาจา และใจ เราจะเพียรพยายามทำวันพรุ่งนี้




ให้เป็นวันที่มีแต่กุศลให้มากที่สุด  เราจะมีวันพรุ่งนี้เพื่อหลีกออกจากกิเลสให้มากที่สุด  จนกว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกต่อไป   คือสิ้นสุดจากการเกิด นั่นคือเป้าหมายที่ถูกต้อง



ชีวิตนั้นมีแต่ของปลอมทั้งสิ้น  อยู่กันชั่วคราว  เจอกันชั่วคราวแล้วก็พลัดพรากกันหมด  แต่ชีวิตของพวกเราทุกวันนี้ เรามีชีวิตเพียรผูก พบเพ้อ แล้วก็พลัดพรากอยู่ตลอดเวลา  เราก็ต้องถอนตัวออกมาจากการ



เพียรผูก แล้วพบอะไรก็อย่าไปเพ้อคลั่ง ไม่หนีความจริง จะได้ไม่ต้องพลัดพรากจากอารมณ์ที่ตนเอง   ปรารถนาจงอย่าท้อแท้  จงอย่าหวั่นไหว นำกาย วาจา ใจ มาตั้งอยู่ในกุศล   แม้กระทั่งกุศลที่จำเจก็ยังดีกว่า   เพลิดเพลินในอกุศลครั้งเดียว


เราอย่าใช้คำพูดที่ว่า  เอาไว้ในรากฐานมั่นคงก่อนแล้วจะเลิกทำ  ฉันมีพอแล้วฉันจะเลิก  อย่าเป็นคนพูดพล่อย  เพราะเราไม่แน่ใจว่าอะไรคือความพร้อมที่เรามี  แต่จงประกาศอย่างเดียวว่า 


“ขึ้นชื่อว่าบาปแล้วตลอดชีวิตฉันจะไม่ทำ”

ฉันจะไม่ท้อแท้ต่อการดูแลชีวิตของตนเองให้ถูกต้อง  ฉันจะขยันขันแข็งจะไม่ท้อถอยที่จะพาตัวไปสู่ความเจริญ   ฉันจะไม่น้อยใจต่อวิบากของตนเอง ในสิ่งที่ฉันทำมาเอง   ฉันจะไม่ไหวตาม  ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์  บุคลิกก็จะสง่าผ่าเผย    เป็นที่รักของคนหมู่มาก มีมิตรสหายดี  มีบริวารดี  เป็นผู้มีคนเลื่อมใส



ชีวิตก็แค่นี้เอง เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวก็ตาย ชาตินี้สั้นนัก ความดีที่ทำก็เพียงนิดเดียว   ความชั่วที่ทำก็เพียงนิดเดียว   แต่ก็อย่าประมาทเวรกรรมว่าทำน้อย เพราะผลที่จะมีต่อไปในระยะทางนั้นมากมายมหาศาล


จงเริ่มต้นเป็นคนดีให้ถึงพร้อม   คนดีที่ถึงพร้อม คือ ดีทั้งกาย  วาจา  และใจ เงินทองข้าวของอัฐบริขาร  ซื้อความสนิทจากพ่อไม่ได้   แต่ความดีแม้แต่ปลายเล็บของลูกศิษย์ใหม่เพียงคนเดียว  หรือใครก็แล้วแต่ ความดีของลูก
เพียงครั้งหนึ่ง    ซื้อไปเลยชีวิตพ่อเสือ ไม่หวงเลย  ให้ทุกอย่าง ทั้งรูปธรรมและ นามธรรม    บอกแล้วว่าจะเป็น
คนสุดท้ายในสังสารวัฎยอมแลกเพื่อความเป็นอิสระของลูก
 
 

 
ด้วยเจตนาของพ่อที่ตั้งมั่น ขออธิษฐานมั่นคงว่า แม้พระศรีอริยเมตไตรย์ท่านจะสำเร็จเป็นพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสประกาศสัจธรรม น้อมนำปุถุชนสู่อริยชนได้มากเท่าไร


พ่อขอหยุดการเดินทางถึงมรรคผลนิพพานไว้  พร้อมกาย วาจา ใน ที่ตั้งมั่น น้อมนำความตั้งใจของพ่อ  สู่การพ้นทุกข์ด้วยการ  ช่วยเหลือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มากที่สุด  โดยเฉพาะลูกหญิง  ลูกชายที่เข้ามาสู่อ้อมอก “เสื่อพิทักษ์”  จงพ้นภัยพิบัตินานาประการสามารถนำพาชีวิตพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย   พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดกันไป



พ่อจะพยายามดูแลลูก เคี่ยวเข็ญลูกสุดความสามารถ เวลานี้ยังไม่เหลือความสามารถ สิ่งที่พ่อตั้งใจกระทำ  ขอให้เป็นพรอันวิเศษประดับอยู่ในกาย วาจา ใจ   ของลูกให้ตั้งมั้น  ด้วยความมั้นคง  ของพรหมวิหาร ๔


สู่ทางพ้นทุกข์ได้โดยปราศจากอุปสรรคนานาประการ  ความตั้งใจของพ่อสวมไว้ในกาย วาจา  ใจแทนรองเท้าของลูกที่จะใสเดินเหยียบ  ไปตลอดทางแห่งสังสารวัฎ ทำงานก็พยายามให้มีสติ เดินและคิด ก็ให้มีปัญญา คิด



อะไรก็ให้ห่างจากกิเลส พยายามกำจัดความฟุ้ง พยุงวิริยะ ทำลายมานะ รีบละจากกิเลส เงินทุกบาทที่ทำบุญมาแล้ว พ่ออนุโมทนาด้วยใจ จงกลับไปเป็นของลูกร้อยเท่าทวีคูณทุกคน



ด้วยอำนาจแห่งความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่พ่อเพียรสะสมอยู่ในตนจนกระทั่ง ทุกวันนี้



ขอจงเป็นบารมีไว้อุ่นใจของลูกทุกคน ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จงทำให้ได้ ความชั่วเลิกให้หมด



และขอให้ทุกคนเลิกได้ให้มีจิตอันเข้มแข็งมั่น คงในการหลีกออกจากความชั่วทั้งปวง ขอความดีจงบังเกิดขึ้น ในจิตใจของลูกตลอดไป จงมีความก้าวหน้าทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว


สามารถดูแลกันเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ เลี้ยงผู้มีพระคุณและเลี้ยงตัวเองให้รอด ปลอดจากภัยพิบัติได้สมมาดปรารถนา





ขอให้ทุกคนมีการสร้างเหตุและตั้งมั่นที่จะเอาชนะอารมณ์ ข่มนิสัย ทำลายมานะ ขอให้ความร่มเย็นทั้งหมดที่พ่อมีต่อลูก จงเป็นความร่มเย็นในจิตใจ ทำให้ลูกไกลจากความร้อนรุ่ม


กลุ้มไปด้วยอกุศลทั้งหลาย ขอจงหมดไปซึ่งความชั่วทั้งปวง ขอจงหมดไปจากความครุ่นคิดวิตกสารพัดของจงมีแต่ความร่มรื่น มีความกล้าแข็ง และมีความมั่นคงที่จะใช้ชีวิตดำรงอยู่ในความตั้งมั่นจะเป็นคนดี มีคุณภาพ


สามารถนำพาชิวิตเป็นพระอรหันต์ได้สมความปรารถนาโดยไวชาติทุกคนนะลูกนะ ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

ให้ตั้งใจทำมาหากินด้วยความสุจริต มีสติชอบประกอบด้วยสัมปชัญญะ สู่ชัยชนะพระนิพพานด้วยกันทุกคน

เทวาอารักษ์พิทักษ์รักษา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจงคุ้มครอง จงมีมงคลกับชีวิต

จงมีทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์ในคุณงามความดีทั้งปวง
 
..................................................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม