Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

2 พฤศจิกายน 2564

เห็นพระไตรลักษณ์ด้วยการเพิกสันตติ



 
     ผู้ที่กำหนดเสียงทางหู เช่น กำหนด  ได้ยินหนอ ยินหนอ ยินหนอ เวลาพระเทศน์ เวลาเจริญวิปัสสนานานเข้า มันขาดวุบ เขาเรียกสันตติขาด สันตติขาดเมื่อใด เมื่อนั้นชื่อว่าเห็นพระไตรลักษณ์ บาลีวิสุทธิมรรคเรียกว่า สันตตินี่มันบังไม่ให้เราเห็นอนิจจัง จะเห็นได้ต้องเพิกสันตติ

      วิธีเพิกสันตติก็คือการเจริญวิปัสสนานั่นเอง กำหนด “ พองหนอ ยุบหนอ  ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี่แหละเขาเรียกว่าเพิกสันตติ สันตติคือ ความสืบต่อของอนุสัยกิเลส พร้อมทั้งรูปและนาม มันสืบต่อกันทั้งวันทั้งคืน นอนหลับก็ยังทำงานอยู่อย่างนี้ทั้งนั้น เขาสืบต่อกันอย่างนี้ตลอด

       เหมือนเมล็ดผลไม้ เช่น โยมมีเมล็ดมะม่วง มันสืบต่อกันไว้ในพันธุ์ของเขา ในเมล็ดนั้นแหละ เอาไปปลูกเมื่อไรมันก็งอกขึ้นมาได้ เพราะมันสืบต่อทีละนิดทีละนิด นี่แหละเขาเรียกว่าสันตติ ถ้าอุปมาหยาบๆก็เหมือนเล็บมือโยม โยมตัดเล็บมือแล้ว พอเจ็ดวันมาดูมันยาวออกมาได้ ถ้าโยมจะมานั่งดูทั้งคืนทั้งวันก็ไม่เห็น ผมที่ตัดไปแล้วก็เหมือนกัน ที่มันยาวออกมาได้เขาเรียกว่าสันตติความสืบต่อกันของรูป
         
    ที่นี้มนุษย์เราก็มีสันตติสืบต่อกันอย่างนี้ทั้งรูปและนาม ตัวนี้มันบังไม่ให้เราเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเที่ยง เป็นของสวย เป็นของงาม ถ้าอยากจะเห็นก็ต้องเพิก เพิกก็คือกำหนดรู้ โดยตั้งใจคอยจับคอยจ้องอยู่ แล้วก็จะเห็น บาลีท่านว่า สันตติยา วิโก ปิตายะ เมื่อผู้ปฏิบัติเพิกสันตติเสียได้แล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะปรากฎตามความเป็นจริง

 
...........................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม