Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

26 กันยายน 2554

ธรรมบรรยายสติปัฏฐาน ๔ เล่ม ๒


สารบัญ

ธรรมที่มีการระลึกถึง 
พระเถระที่สมบูรณ์
ยาอายุวัฒนะ
ความสัจ
การพิจารณาปัจจเวกขณะ
การบูชา
ความเจริญ และความเสื่อมของพระสัทธรรม
๑๑
การกำจัดความบ้าของมนุษย์
๑๓
กำลังใจ
๑๗
สมาธิในองค์มรรค 
๑๙
วิธีอยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้า
๒๐
โอวาทวันมาฆบูชา
๒๒
ประโยชน์ในการเจริญเมตตา
๒๕
การบริโภคโดยไม่เป็นหนี้
๒๗
ผู้ไม่จน
๒๘
องค์    อย่างแห่งความสำเร็จ
๓๐
ธุระในพระพุทธศาสนา
๓๒
ทางของมนุษย์ และวิธีแห่งการหลุดพ้น
๓๓
โอวาทวันสำคัญ
๓๙
การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย
๔๒
อปัณณกปฏิปทา
๔๓
จันโทปมสูตร
๔๔
อานุภาพแห่งศีล
๔๕
การเวียนว่ายตายเกิด
๔๗
ศีล
๔๘
ยา
๔๙
สางความวุ่นวาย
๕๐
ทรัพย์ภายใน  และภายนอก
๕๑
สติ
๕๓





ธรรมที่มีการระลึก




วันนี้จะได้กล่าวถึง สาราณียธรรม  สาราณียธรรมแปลว่า ธรรมที่มีการระลึกอยู่เสมอ ซึ่งพระมหากัสสปะได้สังคายนาไว้มีอยู่ ๖ ประการ เพื่อจะได้มีการปฏิบัติ

๑. ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
๒. ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
๓. ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
๔. แบ่งลาภ ซึ่งตนเองได้มาโดยชอบธรรม ระลึกแล้วแบ่งให้เพื่อนพระภิกษุ สามเณรด้วยกัน
๕.   รักษาศีลให้เสมอกับเพื่อนพระภิกษุ ซึ่งไม่มีการรังเกียจแก่สงฆ์
๖. รู้จักสามัคคีกัน

๖ ประการนี้ ถ้าพระภิกษุสามเณร ทำให้แก่กันแล้ว จะรู้สึกประทับใจ และบันทึกไว้ในใจ จะไม่ลืมกันแม้จะอยู่ห่างไกลก็จะไม่ลืมกัน นี่สำหรับพระภิกษุสามเณร    สำหรับอุบาสกมีธรรมบทหนึ่งที่ควรทราบ ซึ่งใช้ได้กับอุบาสก และใช้ได้กับพระ มีอยู่ ๔ อย่างคือ

๑. ความปรารถนาที่ได้ทรัพย์สมบัติมา โดยชอบธรรม
๒. ขอให้ยศหรือเกียรติคุณเกิดขึ้นกับพวกพ้อง
๓. ขอให้อายุยืน
๔. ขอให้เกิดบนสวรรค์

เป็นความปรารถนาที่จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้ามีการปฏิบัติตัวให้สมควร ความปรารถนานั้นก็จะเกิดขึ้น เช่น ปรารถนาจะได้ทรัพย์สินมาโดยชอบธรรม ก็ควรจะมีความใจเย็น การที่จะมียศ หรือเกียรติคุณนั้น ก็จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ แก่ส่วนรวมมีวาจาที่สุภาพอ่อนหวาน มีไมตรีจิตไม่ถือตัว มีธรรมมีการปฏิบัติด้วย การที่จะอายุยืนจะปรารถนาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีจิตที่เมตตา ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น การไปสวรรค์ก็เช่นกัน ปรารถนาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปฏิบัติธรรมด้วย คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างสม่ำเสมอ.
                                               


                                                                                                         

พระเถระที่สมบูรณ์





วัดวาศาสนาของเรา จะมีศักดิ์ศรีก็เพราะ พระเถระที่มาบวชในพระพุทธศาสนา ที่อุตสาห์มาอยู่ในพรหมจรรย์ อยู่ในเพศของภิกษุ ถ้าไม่มีพระเถระที่มาบวชวัดเรา หรือวัดต่างๆก็จะไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญ ผู้ที่จะมาบวชมาอยู่ในวัดมีความสำคัญมาก ต้องเสียสละทุกอย่างเป็น เนกขัมมะบารมี ต้องอดทนทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออยู่ในเพศเป็นพระขึ้นมา เป็นผู้มั่นคงเป็นหลักของศาสนา พระเถระที่มาบวชตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปเป็นเป็นหลักของศาสนา  ถ้าไม่มีหลักศาสนา  ศาสนาก็จะเสื่อมไป

พระเถระนั้นมี ๓ ประเภท

๑. จาติเถระ คือ พระเถระที่มาบวชตั้งแต่เด็ก โดยไม่ลาสิกขาเลยอยู่ไปจนแก่ อย่างวัดเราถ้ามีหลักอยู่หลายหลักวัดจะตั้งอยู่ได้
๒. ธัมมะเถระ คือ เถระที่มีธรรม  แล้วเอาเผยแพร่สั่งสอน อาจเป็นพระหนุ่มที่มีพรรษา ๗ - ๘ พรรษาไม่ถึง ๑๐ พรรษาแล้วมีธรรมะ
๓. สมมติเถระ คือ พระที่มาบวชตอนแก่ก็จัดเป็นเถระที่เป็นหลักของศาสนาเหมือนกัน  ฉะนั้นเราต้องเอาใจใส่ เป็นหลายหลักของศาสนาที่ช่วยค้ำศาสนา บางครั้งจะต้องปรับตัวเขาหากันบ้างความมั่นคงของศาสนาก็จะมีขึ้น

  ในส่วนของหลักภายในนั้นจะเป็น จาติเถระ ธัมมะเถระ สมมติเถระ ก็ตามจะต้องมีหลักใจก็คือ การปฏิบัติธรรม จะทำให้ศาสนามั่นคงจะเป็นเถระประเภทใดก็ตามจะต้องมีการปฏิบัติ เพราะจุดมุ่งหมายก็คือ การหลุดพ้น คือ นิพพาน คือ ทำที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมาในโลกแล้วบอก ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ สิ่งที่หย่อนเกินไป สิ่งที่ตึงเกินไปไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ทางพ้นทุกข์ คือ มัชฌิมาปฏิปทา พอดี พอดี ก็จะยังพวกเราทั้งหลายไปสู่ทางพ้นทุกข์ ก็คือ ปัจจุบัน การเดินจงกรมการนั่งสมาธิ ก็ดีต้องมี ปัจจุบันธรรม อดีตและอนาคตไม่ต้องไปคิดถึง  เอาแต่ปัจจุบันธรรมอย่างเดียว

ภาคการปฏิบัติก็คือว่า การเดินนั้นจิตใจต้องมีสติให้พร้อมๆกัน การเดินไม่ว่าจะมากน้อยอย่างไรก็มีประโยชน์ การเดินต้องมีปัจจุบันธรรมด้วย ถ้าไม่มีปัจจุบันธรรมเดินเป็นชั่วโมง ก็ไม่มีประโยชน์

การเดินนั้นมีความสำคัญเดินแล้ว ก็มานั่งสมาธิ นั่งแล้วก็ให้ระลึกอารมณ์ ๔ อย่าง พองยุบเป็นกาย การปวดสบายเฉยๆเป็นเวทนา การคิด ดีหรือไม่ดีเป็นจิต ธรรมนิวรณ์ ๕ ปรากฏขึ้นมาเป็นธรรม ถ้าไม่มีก็แปลว่า จิตของเรานั้น สะอาดสว่างสงบ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตของเราสะอาดสว่างสงบ ก็เพราะว่าจิตไม่มีนิวรณ์ ๕ แล้วก็ต้องระวังอารมณ์นิมิตที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น แสงสี ต้นไม้ ภูเขา พระพุทธรูป หรืออะไรก็ตามอย่าไปเอา ให้กำหนดทันทีว่า เห็นหนอๆ แล้วก็พองหนอ ยุบหนอต่อไป แล้วญาณทั้งหลายก็จะขึ้นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นพระเถระที่มีการปฏิบัติก็จะเป็นยอดของเถระ เป็นพระเถระอย่างสมบูรณ์. 


                                      

ยาอายุวัฒนะ




วันนี้จะบอก ยาอายุวัฒนะ ได้ยาอายุวัฒนะมา สำหรับบรรพชิตหรือ อุบาสก อุบาสิกา ควรที่ได้รู้ไว้เพื่ออายุวัฒนะ คำว่าอายุวัฒนะแปลว่า การเจริญด้วยความเป็นอยู่ในชีวิต ด้วยสุขภาพจิตใจ

๑. ทำตนเองให้สบาย  คืออย่าไปเครียดมากเกินไป

๒. ให้รู้จักประมาณในความสบาย  ให้รู้ประมาณในความสบาย เช่น อย่าไปนอนมากเกินไป อย่าไปตื่นสายเกินไป สรุปอย่าสบายเกินไป

๓. ในการกินอาหารที่ย่อยง่ายให้ถูกกับธาตุของตัว ให้เลือกอาหารเหมาะสำหรับตัวเอง เราเป็นเด็ก เป็นวัยกลางคน เป็นวัยชรา ก็ควรเลือกอาหารที่เหมาะแก่วัยของตนเอง และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย

๔. มีการรักษาพรหมจรรย์ ให้มีความรู้จักพรหมจรรย์ รักษาพรหมจรรย์ รักษาอุโบสถ

๕. ให้ปฏิบัติธรรม  เที่ยวให้เป็นเวลา เช่น ไปนมัสการไปไหว้พระเจดีย์ ไปไหว้พระบาท ให้มีการเปลี่ยนอารมณ์ และมีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วภาวนา เป็นยาอายุวัฒนะที่ปฏิบัติไปแล้ว มีการไล่โรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่เทวดาถ้าได้เจริญ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็จะได้อยู่ในเทวโลกต่อไป  เพราะฉะนั้นคนที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็จะเป็นคนที่มีความสุขภาพดี และอายุยืนยาว ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมกัน.  

                                 

ความสัจ




วันนี้จะกล่าวถึง  ความสัจ
๑. สัจจะวาจา
๒. ญาณสัจจะ คือ ญาณจริงสภาวะที่เกิดขึ้นจริง
๓. มรรคสัจจะ คือ ทางแห่งความพ้นทุกข์

สัจจะ  นั้นมีความสำคัญมาก สำหรับนักปฏิบัติธรรมคือ สัจจะวาจานั้นควรจะมีคือ เห็นก็บอกว่าเห็น บอกว่าไม่เห็นไม่ได้   การหลีกก็มีอยู่    เช่น การเห็นตะวันออกเราก็หันไปทางตะวันตก เช่นนี้เป็นการหลีกอาบัติ       เมื่อก่อนมีภิกษุรูปหนึ่ง เห็นมีคนไล่โจรมาแล้ว พวกเจ้าหน้าที่ก็ถามภิกษุว่า ท่านเห็นโจรมาทางนี้ไหม ภิกษุก็หันหน้าไปทางทิศอื่น แล้วก็ตอบว่าเราไม่เห็น นี่เป็นการหลีกอาบัติ แล้วไม่ทำให้เจ้าหน้าที่กับโจร ไม่มีเวรมีกรรมต่อกันด้วย

ญาณสัจจะ เวลาปฏิบัตินั้นให้มีความจริงเกิดขึ้นมา สัจจะความจริงนั้นคือ อนิจจังความไม่แน่นอน ทุกขังความเป็นทุกข์ อนัตตาความไม่อยู่ในอำนาจ เป็นตัวสภาวะที่แท้จริงให้เห็นตามความเป็นจริง เรียกว่า ยถาภูตญาณ ให้รู้ตามความเป็นจริง ให้รู้อย่างไรตามความเป็นจริง

เมื่อเวลานักปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิเกิดเจ็บปวดขึ้นมา เป็นเวทนาให้กำหนดรู้ตามความเป็นจริง ตัวเจ็บ ตัวปวดเมื่อย เป็นตัวสภาวะตามความเป็นจริง เป็นอนิจจัง เมื่อตัวปวดตัวเจ็บนั้นเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข นั่นเรียกทุกขัง แล้วเราห้ามมันได้ไหม เราห้ามมันไม่ได้ นั่นเป็นอนัตตา ให้รู้ตามความเป็นจริงตามนี้ ตัวเวทนาตัวนี้จะมีได้ถึง เมื่อปฏิบัติไปก็จะเห็น  เมื่อจับสติปัฏฐาน ๔ ไปตั้งอยู่ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วจะเห็นตามสภาวะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดไป

เมื่ออารมณ์นิมิตเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ดับไปเป็นอนิจจัง เมื่อเห็นแล้วไม่สบายเป็น ทุกขัง บางครั้งกำหนดก็หาย บางครั้งกำหนดก็ไม่หายเป็นอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ จะคลุมรูปนามไปตลอดจนถึง สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ แล้วก่อนที่จะเข้าถึง โคตรภูญาณ และมรรคญาณนั้น ต้องเข้าทั้ง ๓ ทาง ทางหนึ่งเป็นอนิจจัง ทางหนึ่งเป็นทุกขัง ทางหนึ่งเป็นอนัตตา  อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ และสุญญตะ เรียกว่าวิโมกข์คือความหลุดพ้น

คนใดที่เห็นอนิจจังบ่อยๆ  เป็น  นิมิตตะวิโมกข์ คนนั้นจะเข้ามรรคญาณโดยอนิจจัง    การเห็นทุกข์มากๆ ความเจ็บ ความปวด จะเป็นอัปปณิหิตะวิโมกข์ จะเข้าโดยทุกขัง     กำหนด พองหนอ ยุบหนอ ได้ชัดเจนอันนี้เป็น สุญญตะวิโมกข์ จะเข้าโดยอนัตตาความหลุดพ้นมี ๓ อย่างนี้ และก็เป็น ญาณสัจจะ  ให้นักปฏิบัติได้รู้ไว้

มรรคสัจจะ  คือ ทางแห่งความพ้นทุกข์   จะเข้าได้โดยเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเข้าทางไหนนั้น แล้วแต่ตามบารมีที่สะสมมา ถ้ามีศีลบารมีมา เข้าทาง อนิจจัง   ถ้ามีทานบารมีมา เข้าทาง ทุกขัง   ถ้ามีการปฏิบัติธรรมวิปัสสนามา เข้าทาง อนัตตา.




การพิจารณาปัจจเวกขณะ 




การพิจารณาปัจจเวกขณะ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ให้ภิกษุจำไว้ เช่น การพิจารณาจีวร การนุ่ง การนุ่งห่มเพื่อไม่ให้เกิดความละอาย พิจารณาเสนาสนะก็เพื่อหลบร้อนและเย็น และเพื่อกันแมลง การกินยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด การกินก็กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน ทั้งหมดเพื่อยังตนเองให้ยืนอยู่ เพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อหลุดพ้น ไม่ได้เป็นเพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มความอยาก

มหาปัจจเวกขณะ เวลาเมื่อเราบิณฑบาต เห็นก้อนข้าวก็กำหนด เห็นหนอๆ เวลากินก็ เคี้ยวหนอๆ เวลารับรสก็กำหนดว่า รสหนอๆ  อย่าไปกำหนอหวานมันเค็ม เวลาเข้าสู่ห้องที่นอน เวลานอนก็นอนหนอ นั่งก็ นั่งหนอ ยืนก็ ยืนหนอ เวลาห่มจีวรก็ห่มหนอ เวลากินยาก็กำหนดว่าฉันหนอ 

ที่พระพุทธเจ้าให้กำหนดปัจจัย ๔ นี้ เพราะถ้าจิตติดอยู่ในปัจจัย ๔ นี้ จะทำให้เป็นทุกข์ แทนที่จะหลุดพ้น  สิ่งใดมีการยึดถือสิ่งนั้นเป็นทุกข์  สัพเพ  ธัมมา  นาลัง อภินิเวสายะ   การเข้าไปยึดสิ่งนั้นเป็นทุกข์ อย่าไปยึดถือต้องปล่อยวาง ให้สักแต่ว่า  สักแต่ว่ากิน สักแต่ว่านุ่งห่ม นี่เป็นการปฏิบัติแบบ          มหาปัจจเวกขณะ ไม่ให้ติดอะไรต่างๆ ในโลกนี้  จตุปปัจยะสะวะโร  คือการพิจารณาปัจจัย ๔ .




การบูชา




เราได้เรียนแล้วว่า การบูชามี ๒ อย่าง หนึ่งปฏิบัติบูชา สองอามิสบูชา  อามิสบูชา คือ สักการะบูชา ได้แก่ ดอกไม้ธูปเทียน และปัจจัย ๔        คุรุการะบูชา ได้แก่การเคารพด้วย กาย วาจา ไม่ดูหมิ่น มานานะบูชาคือ ให้เกียรติยกย่อง วันทานะบูชา คือการกราบไหว้  ผู้ที่ควรบูชาคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูอุปัชฌายอาจารย์ พ่อแม่  ผู้มีพระคุณ ควรมีทั้ง  อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา  อามิสบูชามีอานิสงส์ คือ ให้เกิดในมนุษย์               และสวรรค์ แต่ปฏิบัติบูชานั้นเหนือไปอีกก้าวหนึ่ง

การปฏิบัติบูชา  นั้นนับตั้งแต่บวช เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกา ตั้งอยู่ในศีล และมีการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญในการปฏิบัติธรรม การออกบวช และปฏิบัติธรรมนั้นก็เป็นการบูชาทั้ง ๒ อย่างโดยตลอดมา  โดยเฉพาะในวันนี้ได้มีการจัด เป็นระเบียบ เป็นหน้าที่ของลูกศิษย์โดยอาจารย์ไม่ได้สั่ง เกิดมาจาก อะสังขาริกะจิต เป็นจิตดวงที่หนึ่ง ไม่ได้มีใครชักชวน คณะศิษย์ได้เกิดขึ้นเอง ทำเพื่อให้มีมงคลแก่ชีวิต ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เราอยู่ร่วมกันต้องมีการเคารพซึ่งกันและกัน บางครั้งอาจจะล่วงเกินกัน ต่อเณร ต่อพระ ต่อพระอริยะเจ้า ก็มีกรรม มีนิวรณ์ ต้องมีการขอขมา

ถ้าภิกษุมีการล่วงเกินต้องมีการขอขมาที่เชิงตะกอน หากรูปนั้นมรณะไปแล้ว จึงจะพ้น หรืออุบาสก อุบาสิกาล่วงเกิน พ่อแม่ ก็ต้องขอขมา ถ้าพ่อแม่ไม่มีก็ขอขมาด้วยจิตของตัวเอง ถ้าท่านอยู่ไกลอยู่ในทิศใด ก็ขอขมาในทิศนั้น นิวรณ์ ๕ จึงจะลบออกไป

ทำไมจึงต้องลบนิวรณ์ เพราะมันเป็นอุปสรรค ถ้าได้ล่วงเกินแก่เณร พระภิกษุ พระอริยะเจ้า ผู้มีศีล มีธรรม ผู้มีพระคุณ มันจะมีนิวรณ์ มันจะฟุ้งรวมจิตไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขอขมาเสีย ยกมือขึ้นแล้วว่าขอขมา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ กรรมฐาน แล้วกราบ ๓ ครั้ง จิตใจขอเราจะสงบลง  นี่ก็เป็นลบนิวรณ์เหมือนกัน 

กรรมทั้งหลายมีกรรมหนึ่งชื่อ อโหสิกรรม จะลบนิวรณ์ธรรมได้ นอกจากนี้การขอขมาเป็นการบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ บูชาผู้มีพระคุณ ซึ่งละนิวรณ์ธรรม และมีพรทั้ง ๔ ย้อนคืนมา แก่ผู้บูชาคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ .



ความเจริญ และความเสื่อมของพระสัทธรรม




ศาสนาพุทธ จะเจริญเพราะเหตุใด จะเสื่อมเพราะเหตุใด  พระอานนท์ กับพระภัททิยะได้สนทนาปรึกษากัน พระภัททิยะ กล่าวกับแก่พระอานนท์ว่า  ดูกรอานนท์ พระสัทธรรมจะเสื่อม จะเจริญ เพราะอันใดหนอ มาเป็นเหตุ เป็นปัจจัย    พระอานนท์ได้ตอบพระภัททิยะว่า

 จุตุนนัง  โข   อาวุโส   สติปัฏฐานานัง  อะภาวิตัตตา  อะพะหุลีกะตัตตา  สัทธัมมะปริหานัง  โหติ แปลว่า ดูก่อนท่าน พระสัทธรรมจะเสื่อม เพราะพุทธบริษัทไม่เจริญ         ไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ ให้มาก

ทางตรงกันข้าม  จุตุนนัง  โข   อาวุโส    สติปัฏฐานานัง    ภาวิตัตตา  พะหุลีกะตัตตา  สัทธัมมะปริหานัง  โหติ    พระสัทธรรมจะเจริญได้ เพราะพุทธบริษัททั้งหลาย อบรมให้มาก ทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ 

พระสัทธรรมได้แก่ ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม  ปฏิเวธสัทธรรม  . ปริยัติสัทธรรม ได้แก่การศึกษาธรรม  . ปฏิบัติสัทธรรม ได้แก่ ปฏิบัติธรรม  . ปฏิเวธสัทธรรม ได้แก่ ผลแห่งการปฏิบัติธรรมคือ อริยะมรรค อริยะผล 

เราปรารถนา อยากให้พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งมั่นต้องมีการศึกษา มีการปฏิบัติ ผลแห่งการปฏิบัติธรรมย่อมเกิดขึ้นแน่นอน  ผู้ที่มาบวชเริ่มต้นเราต้องเรียนปริยัติด้วยคือ เรียนกาย เวทนา จิต ธรรม ลงมือปฏิบัติ กายปฏิบัติอย่างไร เวทนาปฏิบัติอย่างไร จิตปฏิบัติอย่างไร ธรรมปฏิบัติอย่างไร แล้วได้ปฏิบัติ เรากราบ และมาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ แล้วนั่งลงกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นี่เป็นกายานุปัสสนา เวลามีเวทนาให้ไปกำหนด คือ การเพ่ง การเพ่งนั้นคือสติไปรู้ว่า มันเจ็บ มันปวดที่ไหน มันสบาย หรือไม่สบาย หรือเฉยๆ เป็นเวทนานุปัสสนา  จิตตานุปัสสนา เมื่อนั่งสมาธิ มันคิดถึงอดีต อนาคต ต้องกำหนดปัจจุบัน อดีตมันผ่านไปแล้ว ก็ไม่ต้องไปคิดถึง

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  โย  จะ   ปุพเพ   ปะมัชชิตะวา  ปัจฉา  โส  นัปปะมัชชะติ   เมื่อก่อนเราประมาท แต่เดี๋ยวนี้ เราไม่ประมาทเรามีสติ ได้ชื่อว่ายังตน และโลกนี้ให้สว่างได้ เหมือนพระจันทร์ที่ออกจากเมฆ ไม่ว่าเราจะเป็นฆราวาส สามเณร หรือพระที่เมื่อก่อนประมาท แต่       เดี๋ยวนี้ไม่ประมาท มีสติอยู่ในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า เปรียบเสมือน พระจันทร์ที่ออกจากเมฆ   จิตของเราก็กำหนดเสียอย่าไปคิดถึง อดีต อนาคต กำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้น ผลแห่งการปฏิบัติ จะเกิดขึ้นเองเป็นปฏิเวธสัทธรรม.



การกำจัดความบ้าของมนุษย์





การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติวิปัสสนา ก็เพื่อกำจัดซึ่งความเป็นบ้า ของสัตว์ทั้งหลาย ความบ้าของสัตว์ทั้งหลาย ความเป็นบ้าของสัตว์ทั้งหลายนี้มี ๔ อย่าง

๑. สำคัญสิ่งที่ไม่งามว่างาม
๒. สำคัญสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
๓. สำคัญสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
๔. สำคัญสิ่งที่พระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นเรา เป็นเขา

การเจริญวิปัสสนา  การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็เพื่อกำจัดความเป็นบ้าทั้ง ๔ นี้ กายานุปัสสนา แก้ความเป็นบ้า ในข้อแรกคือ พิจารณากายจะเห็นกามคุณทั้งหลาย รวมทั้งเทวโลก พรหมโลก ว่าเป็นของไม่งาม ในร่างกายของเรานี้ เป็นความไม่งามเห็นใน ๓๒ ประการ  จิต จะไม่ติดอยู่ จะถึงซึ่งความหลุดพ้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้ เจริญกายานุปัสสนา ซึ่งกำจัดความเป็นบ้า ความเห็นผิด ที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่งามว่า งาม ถ้าปฏิบัติไปจะรู้จะเห็นเอง ความจริงจะบอกแก่ผู้ปฏิบัติเอง 

การเจริญวิปัสสนา  เวทนานุปัสสนาแก้ความเห็นผิด ในข้อสอง พระพุทธเจ้าว่า โลกนี้มีความทุกข์ ตัวเรานี้เป็นทุกข์ แต่เราเห็นว่าเวทนาเป็นสุขไปเสีย มีรูปนามก็เป็นทุกข์ และไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงเห็นว่าเป็นความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงให้มีการกำหนดในความทุกข์ ความสุข และอุเบกขาความวางเฉยเหล่านี้

สิ่งเหล่านี้เป็นเวทนา เป็นพาหนะ เป็นเรือที่จะไปสู่ฝั่ง  มันจะต้องมีความทุกข์ ความสุข ความวางเฉย เป็นผลของมนุษย์ ดังนั้นเราต้องมี สติ มากำหนดเวทนาต่างๆ  แล้วจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เวทนานั้นไม่เป็นความสุขเลย เต็มไปด้วยความทุกข์  คนใดเห็นทุกข์ได้ชื่อว่า เห็นธรรมของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นจึงต้องกำหนดเวทนา จิตไม่ติดเวทนา ก็เพื่อที่จะพ้นจากทุกข์

แม้แต่ปฏิบัติธรรมในขั้นสูงๆ มันก็ยังมีเวทนา ถึงสังขารุเปกขาญาณก็ยังมีเวทนาอยู่ แม้แต่อุเบกขาเวทนาก็ยังมี ถ้าปฏิบัติไปขั้นสูงกว่านี้เวทนาก็มีอยู่ แต่จิตไม่ได้เสวยเวทนา ไม่ว่าจะทุกข์เวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา จิตพ้นจากเวทนา ตัวที่จะไปทุกข์ไม่มี การที่จะไปกำหนดปวดหนอ เจ็บหนอ ก็เพื่อที่จะให้จิตไปรู้จักทุกข์  จิตจะได้ไม่ไปยึดติด  จิตหลุดออกจากทุกข์

บางคนที่ยึดถือว่า วิญญาณ เป็นของที่จะเกิดแล้ว เกิดอีก ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นของแน่นอน เกิดเป็นคนก็จะเกิดเป็นคนไปเรื่อยๆ เป็นเทวดาก็เป็นเทวดาต่อไป เป็นพรหมก็จะเป็นพรหมต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิญญาณเป็นของไม่แน่นอนเดรัจฉานยังเป็นเทพได้ พระยังเป็น ตัวไร ได้  วิญญาณเป็นของไม่แน่นอน ถ้าเรายึดวิญาณว่าเป็นของเที่ยง แล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้

เมื่อจิตคิดขึ้นมา พระพุทธองค์ท่านสอนว่า ให้กำหนดคิดหนอๆ มันจะไม่ติดอยู่ในจิตนี้  วิญญาณัง  อนิจจัง  วิญญาณนั้นไม่แน่นอน วิญญาณทำให้เกิดแล้วเกิดเล่า

วิญญาณนี้เหมือนพืช  กัมมัง  เขตตัง  กรรมเหมือนเนื้อนา  วิญญาณัง  พีชัง  วิญญาณเป็นพืช เป็นข้าวกล้า  ตัณหา  สิเนหัง  ตัณหาเป็นเชื้อในข้าว  เมื่อทำนาแล้วต้องมีข้าวกล้าปลูกในนา ข้าวกล้านั้นจะต้องมี ข้าวเชื้อ ข้าวเชื้อนั้นก็ต้องมียาง แล้วนำไปหว่าน แล้วก็ออกมาเป็นข้าวกล้า พอเป็นข้าวกล้าก็เอาไปปลูกในนา ก็เป็นขึ้นมา วิญญาณมันก็วนอยู่อย่างนี้

แต่วิญญาณนี้ไม่ใช่จะเกิดเป็นคนอย่างเดียว บางทีมันก็วนไปเป็น เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก อสุรกาย เปรต  แต่ถ้าหากเจริญสติปัฏฐาน ๔ เว้นอบายภูมิ ๔ ไม่ไปแล้วจะไปแต่สุคติ เป็นมนุษย์ชั้นสูง ไปเทวโลก       จิตตานุปัสสนานี้ต้องกำหนดเวลาคิด ก็กำหนดคิดหนอๆ เพื่อกำจัดการเข้าไปยึด ไปถือวิญญาณนี้ เป็นของเที่ยง ดีก็ตามไม่ดีก็ตาม ให้กำหนดเสีย เมื่อกำหนดอยู่ จิตก็จะบริสุทธิ์

ธัมมานุปัสสนา เพื่อกำจัดสักกายทิฐิ ความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวเป็นตน ตัวตนมีรูปกับนามเท่านั้น นอกนั้นเป็นสมมุติ เป็นเจ้าคุณ เป็นพระครู  เป็นอะไรต่างเป็นสมมุติเท่านั้น อย่าไปยึดไปถือ มีแต่รูปนาม เอาสติไปกำหนด พองหนอ ยุบหนอ

พองก็เป็นรูป ยุบก็เป็นรูป ตัวที่ไปรู้เป็นนาม ธัมมานุปัสสนา มีขันธ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เรากำหนดอย่างไร ให้รู้จักขันธ์ ๕ ในเวลาปฏิบัติก็กำหนดที่ พองหนอ ยุบหนอ นี้ ขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณ ย่อขันธ์ ๕ มี ๒ อย่าง รูปก็เป็นรูป  เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณก็เป็นนาม ย่อลงเหลือ รูปกับนาม การกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ได้ชื่อว่าเราเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ พอง ยุบเป็นรูป ตัวที่เข้าไปรู้เป็น นาม รูปนามอยู่ที่ใด ขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ที่นั่น  

นิวรณ์ ๕ ประกอบด้วย ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย  มีความชอบใจองค์ธรรมได้แก่ โลภะ  ไม่ชอบใจ มีองค์ธรรมได้แก่ โทสะ  เมื่อมีความท้อถอยตัวง่วงเริ่มเข้ามา ฉะนั้นอย่าไปท้อถอย ให้มีความยินดี ในการปฏิบัติธรรม ถ้ารังเกียจในการปฏิบัติธรรมตัวท้อถอยตัวง่วงแทรกเข้ามาทันที ต้องให้จิตมีปีติมีความพอใจ ในการปฏิบัติธรรม

ตัวฟุ้งเปรียบเหมือนว่าเราเป็น  ขี้ข้าของอารมณ์เรา เป็นขี้ข้าของอารมณ์มาหลายชาติแล้ว ในชาตินี้กูจะเป็นอิสระ จะไม่ยอมให้มันมาอยู่เหนือเรา  เราต้องพยายามไม่ให้มันฟุ้ง จะนึกก็แต่คำสอนของพระพุทธองค์ และมีสติไปอยู่ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไปไว้ที่อินทรีย์ ต้องพยายามแล้วก็จะสามารถปราบ สักกายทิฐิได้ คือ องค์ของโสดาบัน ความเป็นตัวเรา ตัวเขาก็จะลดลง

สงสัยมี ๒ อย่าง ๑. สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปอบายภูมิสถานเดียว ไม่มีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ๒. สงสัยที่อยู่ในนิวรณ์ ๕ เช่น หลงหนทาง สงสัยว่าทางนี้ไปไหน สงสัยอย่างนี้ไม่ไปอบาย แต่เป็นสิ่งที่กั้นไม่เห็นธรรม. 


กำลังใจ




ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในโลกนี้ด้วยพลัง เช่น เครื่องยนต์ต่างๆ ไฟฟ้าต่างๆ ก็เกิดมาจากพลังงาน แต่บุคคลอยู่ด้วยพลังอันใด พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  มะโนปุพพังคะมา  ธัมมา  มะโนเสฏฐา มะโนมะยา  บุคคลมีใจเป็นหัวหน้า มีเป็นประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ

บุคคลอยู่ได้ด้วย พลังจิต พลังเกิดจากพลัง ๕ คือ พลังศรัทธา พลังปัญญา พลังวิริยะ พลังสมาธิ   พลังสติ คนที่ออดๆ แอดๆ ขาดกำลังใจ ขาดกำลังภายใน เราควรปลุกตัวศรัทธาเกิดขึ้น ศรัทธาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการปฏิบัติ สร้างวิริยะ  ควรหวัง ควรมอง ที่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือ ความหลุดพ้นทุกข์ และมองมหากรุณาของพระพุทธเจ้า และความเพียรของพระพุทธเจ้า เราทุกคนที่อยู่ในวัดที่ มีกินทุกวันเพราะความเพียรของพระพุทธเจ้า ขอให้ให้เราทุกคนนึกถึงอย่างนี้ 

ต่อไปคือ สติ การสร้างก็คือ การเก็บทีละเล็ก ทีละน้อย จากการกำหนดอริยาบถ ๔ อินทรีย์ ๖ การเหลียวซ้ายแลขวา การเข้าห้องน้ำ หรือในการทำธุระต่างๆ ให้มีความเพียรทำทุกอย่างต่อเนื่อง สติจึงจะมีกำลังขึ้นมา  สมาธิพลัง คือ ผู้ใดใจเบาไม่หนักแน่นอยู่ ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีประโยชน์  สู้คนที่มีปัญญารู้จักเพ่งกำหนด  แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า  ฉะนั้นจะต้องรวบรวมสมาธิมีอารมณ์อันเดียว และมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอด  

และปัญญาพลังจะเกิด จากการฟัง การคิด การภาวนา จากการสร้างกำลังใจในการปฏิบัติ การคิดเป็นการไตร่ตรองด้วยเหตุผล ให้การปฏิบัติเป็นไปตามเหตุผล เข้าใจความจริงได้อย่างมีเหตุผล ภาวนามะยะปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เป็นความจริงที่จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ  ฉะนั้นนักปฏิบัติควรสร้าง  กำลังภายใน ๕ พลัง เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมจนได้ผล คือ มรรค ผล นิพพานความหลุดพ้น.



สมาธิในองค์มรรค ๘ 




มรรคมีองค์ ๘ เราต้องเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นมาอารมณ์ สัมมาสติก็จะมีแก่เรา สัมมาสติมีแก่เราแล้วสัมมาสมาธิย่อยเกิดขึ้นแก่เรา แล้วเราจะได้เห็นตามความเป็นจริง จะได้เห็นธรรมะ เห็นอริยสัจ ๔ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า  สมาธิง  ภิกขะเว  ภาเวถะ  สมาหิโต  ยถาภูตัง  ปะชานาติ   เมื่อจิตเธอเป็นสมาธิแล้ว ย่อยรู้เห็นตามความเป็นจริง ขอให้นักปฏิบัติเพียรทำไป กำหนดไป เอาสติไปกำหนด  การกำหนดเป็นการเพ่งอย่างหนึ่ง เป็นฌาน เป็นการเผากิเลส เมื่อโกรธ ก็กำหนดโกรธหนอๆ เป็นการเผากิเลส  กุศลก็ดี อกุศลก็ดี ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย นิมิตก็ดี ให้กำหนดอย่าไปติด ให้เอาพองหนอ ยุบหนอเป็นที่ตั้ง ถึงบางครั้งพองหนอ ยุบหนอหายไปเป็นครั้งๆ ก็ให้กำหนอรู้หนอๆ ให้จิตอยู่ที่ตัวนี้อย่าให้ไปไหน.



วิธีอยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้า 




เมื่อพระพุทธเจ้าของเราได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พุทธบริษัททั้งหลาย จะเป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา  ตอนที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธ์ปรินิพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  โย  โว  อานันทะ  มะยา    ธัมโม  จะ  วินะโย  จะ  เทสิโต  ปัญญัตโต  โส  โว  มะมัจจะเยนะ  สัตถา    เมื่อตถาคตปรินิพานไปแล้ว ธรรม และพระวินัยจะเป็นศาสดาแทนเรา เวลานี้ถือว่าพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เพราะพระธรรม พระวินัย ยังคงอยู่ 

ธรรมะ คือ อันใด ธรรมะแปลว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมจะรักษาผู้ปฏิบัติขึ้น ไม่ให้ตกไปทางชั่ว คือ อบายภูมิ ๔ ถ้าหากยังอยู่ในโลกนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะมีธรรมะอยู่ในจิต มีความเที่ยงธรรม อย่างพระภิกษุ สามเณร ตั้งอยู่ใน อปริหานิยธรรม ๗ ประการ ฆราวาสตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีลอุโบสถ และตั้งในธรรมคือ  สัจธรรม ความจริงใจทางกาย ความจริงทางวาจา ความจริงทางใจ  ขันติคือ อดทน  อดทนต่อการงาน อดทนต่อแรงกดดันทางใจ เพราะต้องทนกับ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา   เสียสละภายในวัดก็ให้ภิกษุ สามเณร อย่าเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่วัด แก่พระพุทธศาสนา ภายนอกวัดหมู่ฆราวาส ก็ต้องมีการเสียสละให้กับศาสนา 

สิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่า จริยธรรม เพื่อทำให้อยู่ร่วมกับคนกับโลกได้อย่างมีความสุข และการปฏิบัติธรรมจะยกตัวพ้นจากทุกข์ ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็จะวนเวียนเกิดแล้วเกิดเล่า วนเวียนอยู่อย่างนี้ ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ความสุขที่เป็นนิรันดรมีอยู่ คือ สุขที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมีอยู่ ผู้ที่คิดอย่างนี้จะอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ได้พบพระพุทธเจ้า

วินะโยจะ คือ ศีล พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ เราพยายามอย่าไปผิดศีล ของพระพุทธเจ้า หมู่ฆราวาสก็ควรจะรักษาศีล ที่ตนถืออยู่อย่าไปผิดศีล รักษาศีลโดยสม่ำเสมอก็เหมือนกับ ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า  การปฏิบัติธรรม และการรักษาศีล ของพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าทำอยู่ตลอดเวลาสม่ำเสมอ ทำอยู่ตลอดชีวิตก็เรียกได้ว่า  เราได้อยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต.




โอวาทวันมาฆบูชา 




วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรง แสดงพระปาฏิโมกข์ หัวข้อที่พระองค์แสดงมานี้มี ๑๑ ข้อคือ

๑.     สัพพะปาปัสสะ  อะกะระณัง แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒.     กุสลัสสูปะสัมปะทา แปลว่า ทำความดีให้ถึงพร้อม

๓.     สะจิตตะปะริโยทะปะนัง แปลว่า ทำจิตให้ผ่องใส คือ ให้เจริญวิปัสสนา ให้ภาวนานั่งสมาธิ


๔.     ขันตี  ปะระมัง  ตะโป  ตีติกขา แปลว่า ให้มีความอดทน เพราะเราอยู่ท่ามกลางกิเลส และบุคคลทั้งหลาย เราอยู่ในป่าของกิเลส เราต้องอดทนอยู่ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า ใครที่มีความอดทนชื่อว่า เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างสูง

๕.     นิพพานัง  ปะระมัง วะทันติ  พุทธา  ในอดีตมีพระพุทธเจ้าได้เกิดมาแล้ว เป็นล้านๆองค์ แล้วก็สอนพุทธบริษัททั้งหลาย ทำทาน รักษาศีล และภาวนา เพื่อที่จะให้พ้นทุกข์ คือ พระนิพพานเป็นดินแดน อันเกษม และถาวร

๖.     นะ  หิ  ปัพพะชิโต  ปะรูปะฆาตี  แปลว่า ผู้ที่ยังทำร้ายสัตว์อื่นอยู่ ไม่เรียกว่าเป็นสมณะ เป็นผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นคนมีธรรม

๗.     สะมะโณ  โหติ  ปะรัง  วิเหฐะยันโต  แปลว่า ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สงบเลย คือเบียดเบียนคนอื่น ไม่ว่าสัตว์หรือคน ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย

๘.     อนูปะวาโท คือ การไม่กล่าวภัยให้คนอื่น เราควรจะพูดวาจาที่ดี วาจาสุภาษิต ไม่ถากถางจิตใจคนอื่น พูดจาถนอมน้ำใจกัน ในหมู่ภิกษุก็ควรพูดจากันดีๆ ไม่ควรพูดจาให้แตกร้าวกัน


๙.     อนูปะฆาโต  การไม่ประหัตประหารกัน  คือไม่ฆ่ากันไม่ทำร้ายกัน ถ้ายังทำร้ายกันอยู่ ก็ไม่เรียกว่าเป็นสมณะ

๑๐.              ปาฏิโมกเข  จะ  สังวะโร  หมู่ภิกษุทั้งหลาย ควรจะสังวรในข้อปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น คือ ปาฏิโมกข์สังวร  อินทรีย์สังวร ปัจจุบันสังวร อาชีวะสังวร

มัตตัญญุตา  จะ  ภัตตัสะมิง  คือ ให้รู้จักประมาณในการกิน กินอย่างมากไม่เกิน ๒ คาบ เลยเที่ยงก็ไม่ควรกินแล้ว มีโยมคนหนึ่งจากกรุงเทพฯ มาเข้ากรรมฐานที่นี้ พอจบออกไปก็ไม่กินข้าวเย็นเลย  นั้นเป็น  มัตตัญญุตา  จะ  ภัตตัสะมิง  ส่วนพระควรฉันอย่างมาก ๒ คาบ ถ้า ๓ คาบอย่าไปให้มี

สันตัญจะ  เสนาสนัง  หมายความว่า เราต้องยินดีในที่วิเวก ในเสนาสนะอันสงัด คือจิตวิเวก กิเลสวิเวก อุปธิวิเวก กายวิเวก คือ อย่าคลุกคลีกันเกินไป เรียกว่ากายวิเวก  จิตวิเวกคือ อย่าให้จิตมีราคะ โทสะ โมหะ พยายามกำจัดด้วยสติ  อุปธิวิเวกคือ อย่าไปยึดถือภพชาติ ในภิกษุไม่ควรอยากจะไป เป็นเทวดา เป็นพรหม ควรปรารถนานิพพานไปเลย ส่วนอุบาสก อุบาสิกา อินทรีย์ยังอ่อน ควรเอาสวรรค์ไปก่อน ทั้งหมดนี้เรียกว่า  สันตัญจะ  เสนาสนัง

๑๑.              อะธิจิตเต  จะ  อาโยโค  การหมั่นประกอบจิตให้ยิ่ง อธิสีลสิกขา ในการเดินจงกรม ให้เราระวังเท้า การนั่งให้ระวังพองยุบ  อธิจิตตสิกขา ในการเดินจงกรม ให้เราระวังเท้าให้จิตตั้งมั่นแนบแน่นกับเท้า การนั่งจิตตั้งมั่นแนบแน่นกับพองยุบ  อธิปัญญาสิกขา คือ รู้ เมื่อเดินจงกรม ขวาก็ให้จิตรู้ว่าขวา ซ้ายก็ให้จิตรู้ว่าซ้าย เวลานั่งสมาธิ พองก็ให้จิตรู้ว่าพอง ยุบก็ให้จิตรู้ว่ายุบ เรียกว่าตัวปัญญา

ผู้ที่กระทำตนอยู่ใน ๑๑ ประการนี้ ได้ชื่อว่าอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า .


ประโยชน์ในการเจริญเมตตา







ธรรมกถา กล่าวถึงเมตตาธรรม เรื่องเมตตานี้ปรากฏอยู่ใน มหาปรินิพพานสูตร มีภิกษุรูปหนึ่งไปเจริญกรรมฐานเมตตาธรรมอยู่ในป่า วันพรุ่งนี้ก็จะลาไปที่อื่น พวกเทวดาทั้งหลายที่อยู่บริเวณนั้น ก็มาร้องไห้ มาขอพระคุณเจ้าให้หยุด และให้เจริญกรรมฐาน แผ่เมตตาให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความสบาย ภิกษุนั้นก็รับนิมนต์จากเทวดา ภิกษุนั้นได้ฌานแล้วยกองค์ฌาน ขึ้นเป็นวิปัสสนาแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  

การหลุดพ้นนั้นมี สองอย่าง


๑. เจโตวิมุติ 
๒. ปัญญาวิมุติ

เจโตวิมุติ คือ โยคีบุคคลได้เจริญสมถะจนได้ฌาน และยกองค์ฌานขึ้นวิปัสสนา โยคีบุคคลนั้นได้เจโตวิมุติ  ส่วนผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ ก็ต้องเอารูปนามเป็นอารมณ์  อารัมมณูปนิชฌาน  เอาบัญญัติ ๔๐ เป็นอารมณ์แล้วยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นสู่วิปัสสนา จนได้อริยะมรรค อริยะผล นี่เรียกว่า เจโตวิมุติ หลุดพ้นด้วยสมถะ และวิปัสสนา

ปัญญาวิมุตินั้น คือ เอารูปนาม เป็น ลักขณูปนิชฌาน  พองเป็นรูป ยุบเป็นรูป ตัวเข้าไปรู้เป็นนาม แล้วเอารูปนามเป็นอารมณ์ นอกจากนั้นก็ เดินเป็นรูป รู้เป็นนาม นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม เห็นเป็น รูปรู้เป็นนาม เมื่อขณิกสมาธิมีกำลังแล้วสามารถไป อริยะมรรค อริยะผลได้   

อย่างไรก็ตาม เมตตาธรรมมีความจำเป็น ไม่ว่าจะไปทาง เจโตวิมุติ หรือปัญญาวิมุติ เหมือนต้นไม้ที่เราปลูกไว้ ถ้าฝนแล้งแล้ว พวกต้นไม้ที่เราปลูกไว้ ก็จะเหี่ยวแห้งไม่ชุ่มชื่นฉันใด หมู่นักปฏิบัติ ถ้ามีการเจริญเมตตาธรรมก็จะ มีความสุขไม่เหี้ยมโหดต่อกัน จะรักกันเหมือนพี่ เหมือนน้อง  เรากลัวตายอย่างไร สัตว์ก็กลัวตายเหมือนกัน เราเอาตัวมาเป็นอุปมา 

ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมให้ร่มรื่นชุ่มชื่น เหมือนเราปลูกต้นไม้ที่เรารดน้ำทุกวันๆ      ต้นไม้ก็เขียวชุ่มชื่น ฉันใดก็ดี จิต ของนักปฏิบัติธรรมก็จะชุ่มชื่น ถ้าหากได้ฌานเป็นอารมณ์ของสมถะ ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน  ถ้าหากได้ ขณิกสมาธิกำลังมาก ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานเหมือนกัน  ส่วนเมตตานี้ก็เหมือน ปุ๋ยกับน้ำทำให้ชุ่มชื่น มีความจำเป็นที่จะต้องมีเมตตาให้แก่ตัวเอง และผู้อื่น  ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จดจำคำสั่งสอนที่ได้ฟัง เพื่อการปฏิบัติวิปัสสนาจะได้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น.        


การบริโภคโดยไม่เป็นหนี้





ตัวการปฏิบัติที่แท้จริง คือ มีการกราบสติปัฏฐาน เดินจงกรมให้ได้ปัจจุบัน แล้วนั่งสมาธิกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นี่เป็นตัวปฏิปัตติศาสนา เราทำวัตรสวดมนต์เท่าที่จะสวดได้ ไม่ใช่เอามันทั้งหมด มันเสียเวลาในการปฏิบัติ แต่ข้อสำคัญ ขอให้ผู้ปฏิบัติทำวัตรพร้อมๆ กันทุกวัน แต่ไม่ต้องร่วมกันก็ได้ ยกเว้นวันพระ

 ก่อนพระจะฉันก็ควรพิจารณาอาหาร ปะฏิสังขา  โยนิโส  ปิณฑะปาตัง  เสียก่อน ถ้าไม่ได้พิจารณาเหมือนเป็นหนี้เขา การเป็นหนี้ เราจะแก้หนี้ด้วยการปฏิบัติบริโภคปัจจัย ๔ เวลาเมื่อจะฉันยา  บิณฑบาต ห่มจีวร เสนาสนะ ให้พิจารณาก่อนเราบริโภคด้วย 

ความเป็นหนี้ของ อุบาสก อุบาสิกา แม้ไม่ได้เป็นบรรพชิต ก็ให้พิจารณาก่อน เวลากินก็ให้นึกว่า เรากินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน รูปนามถึงจะยั่งยืนอยู่ได้  ให้เราพิจารณาอยู่ได้ก็เพราะ มีอาหารไปหล่อเลี้ยง แต่ถ้าไม่พิจารณาก่อน เราก็บริโภคด้วยความเป็นหนี้  เราจะเห็นบาปกรรมที่เป็นหนี้ เราจะเห็นวัว ควาย ที่เขาเอาไปฆ่า พวกวัว ควาย ช้าง ม้า ก็ดี พวกนี้หนี้ของโลก

เราทำอะไรไม่นึกถึงบุญคุณของโลก  อย่างเช่นสะพาน อย่านึกว่าไม่ใช่ของเรา เวลาเราทำลายสะพานเราก็เป็นหนี้โลก ทำลายของสาธารณะก็เป็นหนี้โลก เราบริโภคสิ่งต่างๆ แล้วไม่ได้ทำอะไร ไม่ปฏิบัติ กินแล้วนอน ก็เป็นหนี้ พวกนี้เมื่อตายไป ถ้าไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็เป็นวัว เป็นควาย เป็นม้า.


ผู้ไม่จน

เรามาบวชในพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งอันเป็นวัตถุ พวกเราไม่มีอันใดนอกจากบิณฑบาตเท่านั้นที่ จะเลี้ยงชีพพวกเราได้  ถ้าหากว่าเรามีชีวิตอยู่เป็นเพศสมณะนี้ แม้จะจนสักเพียงใด หากเรามีศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และมีศีล  และมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง และเป็นผู้เห็นธรรม  ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่จน

ความจนมี ๒ อย่าง คือ ความจนในคุณธรรม เป็นความจนอย่างที่สุด และความจนภายนอก คือไม่มีเงินไม่มีทองเป็นต้น ความจนอันนี้ ยังเป็นความจนที่ไม่สำคัญ ขออย่าจนคุณธรรม ขอให้มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า   อย่างไม่หวั่นไหว และมีศีล และเคารพพระสงฆ์  สังฆะคาระวะตา และ       ธัมมะทัสสะนัง เป็นผู้เห็นธรรม ขอให้ตั้งทรัพย์เหล่านี้ไว้ในใจ 

การเป็นผู้เห็นธรรมะ เริ่มเห็นธรรมะ เมื่อเราเข้าปฏิบัติเห็นสภาวะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อไปก็จะเห็นญาณ  ญาณทั้งหลายก็จะเห็น เมื่อไปถึงมรรคญาณ นั่นแหละก็จะเรียกว่าผู้เห็นธรรมจริงๆ เป็นผู้รู้ธรรมนั้น

ธัมมะทัสสะนัง  เป็นผู้บรรลุมรรคผล ถ้าคนใดได้ผ่านญาณ ๑๖ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่จน เป็นผู้มีที่พึ่งแล้ว ซึ่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เห็นธรรมเราก็ควรจะปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อจะได้สัมมาสติ แล้วสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้น

เมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะรู้เห็นในญาณทั้งหลาย เห็นรูป เห็นนาม เป็นคนละอัน และจะเห็นปัจจัยของรูปนาม และจะเห็นความไม่แน่นอน เห็นพระไตรลักษณ์ในตัวของเรา และโลกทั้งหมด จะเห็นตัวของเราเป็นทุกข์ โลกของเราเป็นทุกข์ เห็นตัวของเราและโลกของเราไม่ใช่ของเราทั้งหมด จะเห็นอย่างนี้เป็นอารมณ์  อารมณ์วิปัสสนาก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ.


องค์ ๔ อย่างแห่งความสำเร็จ





องค์ ๔ อย่างที่ทำให้นักปฏิบัติธรรมประสบความสำเร็จ 

๑. ฉันทะ  อย่าไปรังเกียจในการปฏิบัติ ให้มีความพอใจในการปฏิบัติ มีความอิสระ เป็นของตัวเองให้มีความพอใจในการปฏิบัติ ให้เห็นว่านี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ในชีวิตของกูที่ได้เกิดมาถึงทุกวันนี้ เพราะบุญของกูที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เพราะบุญของกูที่เกิดมาเป็นคนที่ดี มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสุขภาพอันดี ให้เกิดความพอใจขึ้นมา

๒. วิริยะ  อาตาปี  สัมปะชาโน  วินะยะโลเก  อวิชชาโทมนัสสัง  คือความเพียร ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทดลองทุกอย่าง ไม่หายใจก็มี ไม่กินข้าวก็มี พระพุทธเจ้าเพียรทำทุกอย่างเลย เพื่อให้ได้พบวิถีทางที่เหมาะสม เรามีตัวอย่างแล้ว เราเห็นเราลงต่อสู้ อย่าเกียจคร้านจงใช้ความเพียรก้าวต่อไป 

วิธีพ้นโลก ขณิกสมาธิก็สามารถไปได้ คือ เอาสติมาตั้งที่ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วขณิกสมาธิก็เกิดขึ้นมา เมื่อขณิกสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง  ฉะนั้นคนมีวิริยะ จะพบความสำเร็จ หากก้าวถอยแล้วปล่อยจิตของเราลอยละล่อง ก็จะเป็นเช่นเดียวกับปลาตาย ไม่ยอมว่ายทวนกระแสเลย

๓. จิตตะ  เอาใจฝักใฝ่ คือ ต้องกำหนด คนใดมีการกำหนดหนอ   พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญมาก โย  จะ  วัสสะสะตัง  ชีเว  ทุปปัญโญญ  อะสะมาหิโต   คนที่มีปัญญาทราม มีจิตใจหวั่นไหว บุคคลนั้นอยู่ ๑๐๐ ปี  ก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีการกำหนด และพระพุทธองค์ทรงตรัสต่อไปว่า          

เอกาหัง  ชีวิตัง  เสยโย  ปัญญวันตัสสะ  ฌายิโน    บุคคลผู้กำหนด คือ มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นก็กำหนดทันที  บุคคลที่มีการกำหนด แม้มีชีวิตเพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า คนที่มีอายุ ๑๐๐ ปี แล้วไม่มีการกำหนดเลย ผู้ใดกำหนดผู้นั้นมีชีวิตที่มีค่ามาก

๔. วิมังสา  คือ ตัวปัญญา คือตัวรู้เท่าทันกำหนดปัจจุบันเลย เมื่อโยคีได้ปัจจุบันทันอารมณ์โยคีนั้น ก็จะปฏิบัติสำเร็จทุกคน


องค์แห่งการปฏิบัติให้สำเร็จ ๔ อย่าง พอใจ ไม่ท้อถอย เอาใจใส่ ปัญญา  เบื้องต้นอาจารย์ขอให้มีความพอใจเสียก่อน อย่าไปรังเกียจในการปฏิบัติ ทำใจให้ดีให้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติ.



ธุระในพระพุทธศาสนา





กิจอื่นใดจะเสมอศาสนกิจ ธุระใดจะเสมอ ธุระของพระพุทธเจ้าไม่มี อย่างดังที่พระองค์ตรัสว่า เทวมานิ  ภิกขะเว  ธุรานิ   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธุระมี ๒ อย่าง  คือ  คันถธุระ  และวิปัสสนาธุระ

คันถธุระ   เป็นการเล่าเรียน เป็นต้นว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒           สติปัฏฐาน ๔ และธรรมศึกษา นักธรรมตรี

วิปัสสนาธุระ ได้แก่ การเห็นสภาวะธรรมในตัว ตัวของเรา วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง  วิ แปลว่า แจ้ง  ปัสสนา แปลว่า ความเห็น มาต่อกันเป็นวิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้ง ผู้ที่จะเห็นแจ้งในตัวเรา จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เรียกว่า อนิจจัง ในตัวเรานี้เต็มไปด้วยทุกข์ เรียกว่าทุกขัง ในตัวเรานี้เองเป็น อนัตตา คืออย่าไปยึดถือตัวเราเอง เป็นสักกายทิฐิ เป็นแต่เพียงรูปนามเท่านั้น เป็นสมมุติ เมื่อเรารู้ว่าเป็นสิ่งสมมุติ เรียกว่าอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

เมื่อเราปฏิบัตินั้น เป็นภาวนามะยะปัญญาที่เกิดขึ้น เมื่อเราปฏิบัตินั้นร่างกายของเรา จะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เจ็บปวด เมื่อย สบาย ไม่สบายเป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง เจ็บปวดเมื่อยเป็นทุกขัง บางครั้งกำหนดหาย บางครั้งกำหนดไม่หาย มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา เมื่อเข้าสัมผัสอย่านี้แล้วเอาเป็นอารมณ์ วิปัสสนาย่อมเกิดในขันธสันดานของเรา นักปฏิบัติสัมผัสอย่างนี้บ่อยๆ กิเลสทั้งหลายในขันธสันดาน เราก็จะลดน้อยลงเหมือนเรากินยา ยานั้นย่อมปราบกับโรค โรคนั้นจะค่อยๆ หายไป.



ทางเดินของมนุษย์ และวิธีแห่งการหลุดพ้น





งานปฏิบัติธรรม เป็นงานสำคัญของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นการปลุกคนที่หลับอยู่ให้ตื่น ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ไม่ปลุกเราก็ตื่นกันอยู่ เป็นนโยบายของโลก ของนักปราชญ์ บัณฑิต ที่จะชักจูงคนเข้าสู่กระแสธรรม อันเป็นการชักจูงคนที่มี ปัญญาน้อยอยู่ พวกเราที่ปฏิบัติกันอยู่ ถึงแม้เขาไม่ได้มาปลุก เราก็ตื่นอยู่พวกเราเข้ามาปฏิบัติกัน ก็นับว่าเราตื่นอยู่นั่นเอง

การฟังธรรมก็ได้อานิสงส์ ๕ ประการ

๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดเคยฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็จะเข้าใจมากขึ้น
๓. บรรเทาความสงสัย
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้อง
๕. จิตผู้นั้นย่อมผ่องใส

ฉะนั้นการฟังธรรมนั้น เบื้องต้นก็จะเป็นมหากุศล และได้ความรู้ เพื่อนักปฏิบัติจะได้หนทางที่ พระพุทธองค์ชี้ทางคือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเส้นเดียวสายเอก เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า


เยเนว  ยันติ  นิพพานัง      พุทธา   เตสัญจะ  สาวะกา
เอกายะเนนะ  มัคเคนะ      สติปัฏฐานะสัญญินา






พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์พระอรหันต์ทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้ว สู่มรรค ผล พระนิพพาน ด้วยทางเส้นใด ทางเส้นนั้นคือสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นทางสายเอก  คำว่าทางมี ๒ อย่าง ปกติมัคโค  ปฏิปทามัคโค

ปกติมัคโค คือทางธรรมดา คือทางรถ ทางน้ำเป็นต้น แต่ทางปฏิบัตินั้นพระพุทธองค์ทรงชี้แนวทางให้ มี ๕ ทางด้วยกัน คือ ไปนรก ไปมนุษย์ ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปมรรคผลนิพพาน พระพุทธองค์ทรงชี้ทาง     ให้ว่าเราจะไปทางไหน การที่จะไปนรกนั้นก็คือ อบายภูมิทั้ง ๔ คือดินแดนที่หาความเจริญไม่ได้ เรียกว่าอบายภูมิ ๔ คือ สัตว์นรก เปรต อสูรกาย เดรัจฉาน หากมนุษย์ได้เกิดมาแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่เจริญวิปัสสนาแล้ว จะไปอยู่อบายภูมิ และบุคคลที่ไม่มีศีล ๕ ข้อ ก็จะไปอยู่อบายภูมิ เมื่อเรารู้เช่นนี้ เราก็ควรจะปฏิบัติเพื่อเว้นจากอบายภูมิ ๔ นี้

การที่เราจะเกิดเป็นมนุษย์นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ใดอยู่ในศีล ๕ และจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์นี้ ก็เพราะเรามีศีล ๕ มาก่อน ฉะนั้นเราจงภาคภูมิใจว่าเรามีคุณธรรม บำเพ็ญมาแล้วในชาติก่อน ชาตินี้จึงได้เกิดมาเป็นคน  บันไดที่จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์คือ เรามี ทาน ศีล วิปัสสนาภาวนา

ถ้าหากเราไม่ได้นิพพานในชาตินี้ อินทรีย์เรายังอ่อน อย่างน้อยเราก็จะได้ไปพักบนสวรรค์  ถ้าเรามีการปฏิบัติกัน จะได้ทั้งขึ้น ทั้งล่อง หมายความว่า ทั้งขึ้นก็คือว่าเราจะได้ไปพระนิพพาน ทั้งล่องคือเราจะได้อยู่บนสวรรค์อย่างแน่นอน นี้เป็นบันไดที่เราจะปีนจากมนุษย์ไปสวรรค์  อีกทางหนึ่งไปพรหมโลก บุคคลใดที่ได้เจริญสมถะกรรมฐาน อย่างหนึ่งอย่าใดใน ๔๐ ทำให้ได้ฌานแล้ว เมื่อจุติแล้วจะได้ไปเกิดในพรหมโลก แล้วอายุจะยืนยาวกว่าพวกที่อยู่บนสวรรค์ แต่เมื่อเป็นพรหมแล้ว ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็ยังปิดอบายภูมิ ๔ ไม่ได้

การหลุดพ้นมี ๒ อย่างคือ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ  เจริญวิปัสสนา เมื่อเจริญสมาธิมาแล้ว ต่อมายกจิตขึ้นวิปัสสนา แล้วบรรลุมรรคผล ก็จะหลุดพ้นแบบเจโตวิมุตติ  โยคีที่ไม่ได้เจริญสมถะการก่อน เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ถ้าได้บรรลุมรรคญาณ ก็จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นแบบปัญญาวิมุตติ 





ถึงแม้เป็นพรหม แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ยังมีโอกาสมาเกิดอบายภูมิ ๔ ได้อยู่ ดังเรื่องในพระไตรปิฎก ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้า กับพระอานนท์ได้ไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์เห็นลูกหมูตัวหนึ่งอยู่ใต้นา พระพุทธองค์ทรงยิ้ม พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ทรงยิ้ม พอกลับถึงที่พักก็ถามว่า ทรงยิ้มด้วยเหตุใด

พระพุทธองค์ทรงก็ตรัสตอบว่า เรายิ้มนั้นเพราะเหตุว่า เห็นไหมอานนท์ภัยแห่งสังสารวัฏน่ากลัวเหลือเกิน ลูกหมูตัวนี้หมดบุญจากพรหมโลก ได้มาเกิดเป็นลูกหมู นี่แหละภัยแห่งสังสารวัฏ ที่เรายิ้มนั้นเพราะเราพบแล้ว ภัยแห่งสังสารวัฏ ภัยอันนี้จะไม่เกิดแก่เราแล้ว 

ฉะนั้นจงอย่าวางใจ มันไม่แน่นอนให้พวกเราทั้งหลายอย่าประมาท ให้มีการเจริญวิปัสสนาให้ได้มรรคญาณ แล้วเราจะได้พ้นจากอบายภูมิ ๔

ทางสายสุดท้ายคือ สติปัฏฐาน ๔ คือเส้นเอก พระพุทธองค์ทรงบอกว่า ทางเส้นเอก เป็นทางสายเดียว และเป็นหนทางที่บุคคล คนๆเดียวจะมาปฏิบัติ จะปฏิบัติแทนกันไม่ได้ นี่เรียกว่าหนทางเส้นเอก ทางเส้นนี้เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบทฤษฎีนี้ ไม่ได้เป็นของสาวก แต่เป็นของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และเป็นหนทางที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแห่งเดียว และนำผู้ปฏิบัติไปสู่มรรค ผล นิพพาน  ทางเส้นนี้พระพุทธเจ้าในอดีต องค์ปัจจุบัน และพระพุทธเจ้าที่จะลงมาตรัสรู้ในอนาคต พร้อมกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ใช้เดินทางสู่ มรรค ผล นิพพาน เราทั้งหลายได้ตั้งอยู่ในเส้นทางอันประเสริฐ คือ สติปัฏฐาน ๔

คนจะพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ บุคคลผู้ใดจะสามารถบรรลุธรรมนั้น จะอยู่ในองค์ทั้ง ๔

๑. คนใดเป็นโรคก็กำหนด คนนั้นก็จะสามารถถึงมรรคผลได้

๒. บางคนมีเวทนา ปวด เจ็บ เมื่อย แล้วก็กำหนดเวทนานี้ ก็สามารถเข้าถึงมรรคผลได้


๓. บางคนก็เอาอริยาบถ ๔ การยืนก็กำหนด การนั่งก็กำหนด การนอนก็กำหนด อันนี้ก็สามารถเข้าถึงมรรค ผลได้  อย่างไรเรียกว่า การปฏิบัติธรรม ก็คือการกำหนดนั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรม คือ กำหนดสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นนี้ คือ การปฏิบัติธรรม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน  แม้แต่ชีวิตบางคน เอาชีวิตเข้าแลก เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติธรรม แล้วบางคนบางคนก็ได้เลย บางคนยอมเสียสละชีวิตเพื่อได้ มรรคผล เพื่อธรรมะแล้วก็ได้ธรรมะ ได้มรรคผล

๔. กำหนดอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนมีรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่าหนีให้ต่อสู้กับมัน เสียงเป็นรูป ตัวที่เข้าไปรู้เป็นนาม เสียงมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมันเอง ที่มันไปเอานั้นคือจิตของเราเองต่างหากที่ไปเอา  ฉะนั้นเมื่อได้ยินเสียง ก็กำหนดได้ยินหนอ หมดเรื่องเลย

เหตุใดพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าจึงให้กำหนด เพราะว่า เราได้ยินเสียง ถ้าชอบใจเกิดโลภะ ถึงไม่ชอบเกิดโทสะ ถ้าไม่กำหนดก็เป็นโมหะ

อาจารย์ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์คือ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันอยู่ด้วยกันมานาน เหมือนปลาอยู่ในน้ำ แหวกว่ายด้วยกามสุข ทีนี้ถ้าเอาปลาออกจากน้ำ มันก็ดิ้นรนฉันใด จิตของเราถ้าเอามาอยู่ในกรรมฐาน มันไม่ค่อยอยู่ มันจะพยายามดิ้นรน เหมือนปลาดิ้นรนไปหาน้ำ

คนใดได้ปฏิบัติเอาเสียงเป็นอารมณ์ กำหนดตัวเสียงก็จะเข้ามรรค ผล นิพพานได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมแก่ อุบาสกคนหนึ่งตอนไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี อุบาสกคนนั้นชื่อ พาหิยะ เขาต้องการฟังธรรมมาก ขอพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แต่พระพุทธเจ้า บอกว่าเรากำลังบิณฑบาต เขาก็กราบที่เท้าของพระพุทธองค์  พระพุทธองค์ทรงใช้ญาณของพระองค์ก็ทรงรู้ว่า ถ้าเราได้แสดงธรรมให้เขาฟัง เขาก็จะได้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือเขาจะต้องตายวันนี้

พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมว่า เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้รส ได้กลิ่น ได้สัมผัส ได้คิด เธอต้องพิจารณาอย่างมีสติ อย่าไปยินดียินร้าย เมื่อเขาได้ฟังเพียงเท่านี้ จิตของเขาดิ่งลงได้มรรคญาณ จิตดับไปพร้อมกิเลสดับไป  แม้แต่อินทรีย์ทั้ง ๖ ก็สามารถเข้าถึงมรรค ผล นิพพานได้ อย่าไปกังวลกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว อย่าคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้เอาปัจจุบันทำให้ดีที่สุด ถ้าคิดถึงอดีต หรืออนาคตให้กำหนดคิดหนอ คิดหนอ เอาปัจจุบันเข้าไว้ ถ้าเราตั้งจิตไว้ในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ย่อมแน่นอนแล้วว่า เราย่อมได้มรรค ผล นิพพานแน่นอน ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในโลกนี้ และโลกหน้า ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า    ธัมมะจารี   สุขัง  เสติ  อัสะมิง  โลเก  ปรัมหิ  จะ   

เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรม แล้วก็มีความสุขในชาตินี้ ถ้าลาจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปสวรรค์ ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ที่มีอยู่ ถ้าอินทรีย์อ่อนอยู่ก็จะไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าอินทรีย์แก่กล้ามากพอ ก็จะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ถ้าได้เป็นพระโสดาบันแน่นอนแล้วว่า จะไม่มีชาติที่ ๘ อีก.



โอวาทวันสำคัญ





วันนี้เป็นวันสำคัญ วันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัทได้พร้อมกัน เพื่อจะให้ทาน รักษาศีล และภาวนา ตามเวลาและโอกาส เราศรัทธาทั้งหลายรู้จักวันสำคัญ ทางพุทธศาสนาว่ามีวันอะไรบ้าง สำหรับทางโลกมีวันสำคัญต่างๆ เช่น วันชาติ วันพืชมงคลเป็นต้น ซึ่งเป็นวันที่เขามีกันอยู่ วันสำคัญของพระพุทธศาสนาก็มี เช่น วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมกันเป็นวันที่ดวงดาวมาฆฤกษ์ ผ่านดวงพระจันทร์ และมีพระอรหันต์ทั้งหลายมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยพระองค์เอง และพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

วันวิสาขะบูชา เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่ พระองค์ได้ไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้กรุงพาราณสี เป็นวันเข้าพรรษาพอดี พระองค์ได้แสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้มีดวงตาเห็นธรรม มีพระพุทธ พระธรรม พระอริยะสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ตรัสรู้อนุตระสัมโพธิญาณ และได้มีการเทศนาสั่งสอนแก่ สัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็เสด็จไปสอน เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

คำว่าอิสิปตน แปลว่า ฤาษีตก คือว่าเวลาฤาษีจะมรณะนั้น ร่างกายจะลอยไปในป่านี้ แล้วร่างจะตกลง  คำว่ามฤคทายวันเป็นป่าที่มีกวางจำนวนมาก แต่ราชามีอภัยทาน ไม่ให้ใครฆ่ากวางเหล่านั้น เรียกว่ามฤคทายวัน

ในป่านี้พระพุทธองค์ได้เทศนาสั่งสอนแก่ปัญจวัคคีย์ จนได้ดวงตาเห็นธรรม สังฆรัตนะได้เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังคำเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาพระพุทธองค์ก็ได้เทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อกล่าวโดยหลักของคำสอน ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ศรัทธาทั้งหลายควรจำไว้ว่า  สัพพะปาปัสสะ  อะกะระณัง  กุสลัสสูปะสัมปะทา  สะจิตตะปะริโยทะปะนัง   แปลว่าการไม่ทำชั่วทั้งหลาย การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตให้ผ่องใส ทำจิตให้บริสุทธิ์ อย่ามีโลภะ โทสะ โมหะ ในจิตใจ

พระองค์ทรงสั่งสอนโดยใช้หลัก ๓ อย่างนี้ สั่งสอนตอลดมาจนพระองค์มีอายุได้ ๘๐ พรรษา จึงเสด็จไปกุสินารา ในขณะที่พระองค์ปรินิพพานนั้น หมู่เทพทั้งหลายที่มาจาก ๑๐,๐๐๐ จักรวาล เอาดอกไม้ทิพย์มาบูชาพระพุทธองค์  พระพุทธองค์ทรงพิจารณาการที่ เอาดอกไม้ซึ่งเป็นอามิสมาบูชา ก็ได้อานิสงส์มากนักแล แต่ยังน้อยกว่าการปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมนี้ จึงจะเป็นการบูชา เราตถาคตอย่างสมบูรณ์

ดังนั้นเราควรมีการบูชาทั้ง ๒ อย่าง คือ อามิสบูชาคือมีปัจจัย ๔ มีจีวร มีเภสัช มีเสนาสนะ มีบิณฑบาต ดอกไม้ธูปเทียน อีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิบัติบูชาทั้งในด้าน สมถะ หรือวิปัสสนา จึงเป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเป็นห่วงพุทธบริษัท อยากให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติธรรมกัน พระพุทธองค์จึงเรียกพระอานนท์มาแล้วตรัสว่า

 โย  โข  อานันท  ภิกขุ  วา  ภิกขุนี  วา  อุปาสะโก  วา  อุปาสิกา  วา  ธัมมานุธัมมะปะฏิปันโน   แปลว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหล่าใด ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม ได้ชื่อว่าสักการะเคารพนับถือ เราตถาคตด้วยการบูชาอย่างสูง  เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายต้องมีการบูชา การบูชาพระพุทธองค์ด้วยการปฏิบัติธรรม เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด  เบื้องต้นคือ ให้ท่านรักษาศีล ท่ามกลางคือ เจริญสมถะกรรมฐาน เบื้องสูงคือ วิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔

ก่อนที่พระองค์จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพานนั้น พระพุทธองค์ก็สรุป ๔๕ ปีนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสเทศนา  สั่งสอนมา ก็คือความไม่ประมาท พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า  อัปปะมาเทนะ  สัมปาเทถะ   แปลว่าท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม แล้วพระองค์ก็ทรงดับขันธปรินิพพาน ปิด พระโอษฐ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ฉะนั้นในอรรถกถานั้นแก้ว่า ความไม่ประมาณนั้นคืออะไร ก็คือการมีสติ ขอให้หมู่ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะคิด ขอให้มีสติไว้ นอกจากนี้ก็เอาสติไปตั้งไว้ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม คือให้เจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้วสมาธิญาณก็จะเกิดขึ้น แล้วญาณทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นไปจนถึงมรรคญาณ แล้วจะเป็นอริยะในที่สุด.



    การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย




องค์พระสัมมาสัมพุทธะเจ้า พระองค์ได้ตรัสว่า  อักขาตาโร  ตะถาคะตา   เราตถาคตเป็นผู้บอกเท่านั้น การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายเอง  คำว่าปฏิบัตินั้น คืออย่างไร การปฏิบัติก็คือการกำหนด เช่น การกำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เรียกว่ากายานุปัสสนา

เวทนามีกันทุกคนในโลกนี้ สุขเวทนา ทุกข์เวทนา กับเฉยๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องดู เวทนาในตัวเรา จิตก็มีในตัวของเรา สภาวะที่รู้อารมณ์จิตนี้ รู้อย่างเดียว อารมณ์ได้แก่ อารมณ์เวทนา อารมณ์กาย จิตก็เป็นอารมณ์ของจิต จิตคิดอารมณ์ใดจิตก็ต้องรู้ ธรรมได้แก่ นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย ถ้ามีกับผู้ปฏิบัติใดแล้ว ยากที่ผู้นั้นจะมีคุณธรรมจะเกิดขึ้นมา

ตัวนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้มันจะมีตอนนั่งสมาธิ มันจะคิด ฉะนั้นต้องกำหนด ชอบ ไม่ชอบ ความรัก ความชังนี้บังนิพพาน บังคุณงามความดีไม่ให้เกิดขึ้นมา ฉะนั้นให้กำหนดเสีย ให้มันลบเลยไป ลบแล้วตัวกุศลก็จะเกิดขึ้น  ตัวท้อถอยคนเรามีทุกคน ความง่วงมีทุกคน เราต้องกำหนด เพราะเป็นอุปสรรค และตัวฟุ้งคือคิดมากเป็นทาสของอารมณ์ ให้มานึกถึง พระพุทธ     พระธรรม พระสงฆ์ดีกว่าอย่าไปนึกถึงเรื่องอื่นๆ เพราะมันเสียเวลา และทำให้ชีวิตของเราไม่มีประโยชน์ และความสงสัยก็ไม่ต้องสงสัย เพราะทางนี้พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้เดินไปแล้วไปถึง มรรค ผล นิพพาน ไม่ควรจะสงสัยอะไร เมื่อเราหนุ่มๆ นี้ให้รีบทำ ถ้าแก่ตัวไปแล้วจะเดินก็ไม่ไหว นั่งก็ไม่ไหว รอวันตาย ถ้าตายไม่มีธรรมะติดตัว เกิดมาก็เสียเวลาเปล่า.




อปัณณกปฏิปทา




จะอยู่อย่างไร จะกินอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะตรงกับที่พระพุทธองค์สอนไว้  เราอยู่ด้วย อปัณณกปฏิปทา คือ ปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง    . คือระวังอินทรีย์  . โภชเนมัตตัญญุตา  . ชาคริยานุโยค นี่คือการอยู่ การปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า

๑.     อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ รูปทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ตา เสียงทั้งหลายขึ้นอยู่ที่หู กลิ่นทั้งหลายขึ้นอยู่ที่จมูก รสทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ลิ้น สัมผัสทั้งหลายขึ้นอยู่ที่กาย ความคิดทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ใจ พระพุทธองค์จึงสอนว่าต้องสำรวม คือต้องมีการกำหนดด้วย และอาทิตตปริยายสูตร อินทรีย์เป็นของร้อนเป็นไฟ แล้วต้องกำหนดด้วยสติ เวลาได้เห็น ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้คิด ต้องสำรวม และกำหนดอยู่เสมอ

๒.     โภชเนมัตตัญญุตา คือ ต้องรู้จักประมาทในการกิน ไม่ควรกินมาก เกินไปจนขี้เกียจปฏิบัติ


๓.     ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียร  การประกอบความเพียรนี้ ในการปฏิบัติธรรมเป็นที่สรรเสริญ ของพระพุทธเจ้า .
    


จันโทปมสูตร




พระพุทธองค์ให้กำลังใจแก่เราด้วย พุทธภาษิต  วิริเยน  ทุกขะมัจเจติ   คนจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความเพียรในที่นี้ คือ เรามีความระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติ มีสติสำรวม เมื่อมีความระมัดระวังตัวที่ดี บาปย่อมไหลออกไป แล้วทำมันเสมอเรียกว่าภาวนา และรักษาความดีนี้ไว้ รักษาความบริสุทธิ์ของใจเราไว้ ทำอย่างนี้ทุกวันๆ สุดท้ายจิตของเราก็จะบริสุทธิ์

ใน จันโทปมสูตร ท่านได้แสดงการปฏิบัติธรรม ของโยคีที่ประกอบความเพียร เหมือนพระจันทร์ที่ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ไม่ใช้พระจันทร์จะดับไปในวันเดียว ย่อมเริ่มตั้งแต่ ๑ ค่ำ แสงก็ลดน้อยลงจนถึงเดือนดับ เวลาเราทำความดีก็เหมือนพระจันทร์ เมื่อเดือนออก ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ แสงกำลังก็จะสว่างขึ้นมาเป็นลำดับ เหมือนเราทำความดี ทำทุกวันมีความเพียรความดี แสงสว่างของจิตใจก็จะสว่างขึ้นตามลำดับ เหมือนแสงจันทร์สว่างขึ้นเรื่อยจาก ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ จนถึงเดือนเพ็ญ

ขอนักปฏิบัติดูพระจันทร์เป็นตัวอย่าง วันเพ็ญจะเกิดเลยไม่ได้ มันจะค่อยๆ สว่างขึ้นสว่างขึ้น จนเป็นจันทร์เต็มดวง ก็เหมือนกับดวงจิตของเรา มีความเพียรละบาปทั้งปวง ทำความดีและทำจิตของเราให้บริสุทธิ์ผ่องใส จิตของเราจะค่อยๆ บริสุทธิ์ มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นพวกเราอย่าไปท้อถอยให้ทำความเพียรต่อไป. 


อานุภาพแห่งศีล 




อานุภาพของศีล ถ้าหากเราตั้งใจรักษาศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุศีล ๒๒๗ จะตุปปาริสุทสีล ๔ อินทรียสังวร ปัจจะยะสังวร ถ้าหากว่าเราได้ตั้งใจรักษาดีแล้ว หากว่าเราอาจจะต้องขออานุภาพของศีลเป็นที่พึ่ง เราต้องนึกถึงว่าเราทำจริง สัจจะจริงมีอยู่ ก็ขออธิษฐานความจริงอันนี้ให้ช่วย

เช่น ภิกษุรูปหนึ่งมีแม่กับพี่สาว เมื่อภิกษุรูปนี้ออกบวชแล้วตั้ง อยู่ในศีลแล้ว ต่อมาแม่ออกตุ่มพี่สาวดูแลไม่ไหว ก็ไปว่ากระแทกแดกดันให้ภิกษุว่า ไม่รักแม่ทิ้งแม่เอาตัวรอดไม่นึกถึงแม่ เมื่อเป็นอย่างนี่ภิกษุรูปนี้จึงไปเยี่ยมแม่ แล้วภิกษุรูปนี้ก็นึกถึงสัจจะอันหนึ่ง ก็คิดในใจว่าเราตั้งใจมาบวช แล้วก็สำรวมในศีล เช่นแม้พรากของเขียว เราก็รักษาศีลมาตลอด หญ้าเส้นหนึ่งเราก็ไม่เคยดึง

อันว่าสัจจะความจริงนี้ ขอให้แม่ของข้าพเจ้าหายจากโรคด้วยอานุภาพแห่งศีลที่ข้าพเจ้ารักษาศีลนี้ แล้วเอามือลูบหลังแม่ แล้วตุ่มนั้นก็แห้งทันที แล้วแม่ก็หายทันที นี่แหละอานุภาพแห่งศีลของเราทั้งหลายที่มีความสัจจริง ในการรักษาศีลทั้งต่อหน้าและลับหลัง เรามีทุกข์อันใดขอสัจจะอานุภาพแห่งศีลจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ 

ต่อไปจะกล่าวถึงศีลในองค์มรรค อันเป็นศีลในองค์มรรค ก็คือว่า สมาธิปัญญา การที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธินั้น เป็นศีลอันยอด ศีลใกล้พระนิพพาน  สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ  สีเลนะ  โภคะสัมปะทา  สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  การที่จะไปสวรรค์ไม่ต้องพูดถึง โภคสมบัตินั้นไม่ต้องพูดถึง  สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  เราจะเอาเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ ความระมัดระวัง ในขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอนี้เป็นศีล จิตของเราตั้งอยู่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นสมาธิ จิตเข้าไปรู้ในขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นปัญญา นี่คือศีลในองค์มรรค 

มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นตัวปัญญา สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ เป็นตัวศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นตัวสมาธิ  เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นที่ใดมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นที่นั้น ที่พวกเราปฏิบัติทุกวันนี้ เป็นศีลในองค์มรรค ฉะนั้นศีลในที่นี้จะทำให้เราอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ใกล้พระนิพพาน ฉะนั้นขอให้เห็นความสำคัญในศีล.


                                 

การเวียนว่ายตายเกิด 




การเวียนว่ายตายเกิดนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มันมีความทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้เราจะไม่เวียนว่ายตายเกิดนี้ เราจะต้องทำอย่างไร ต้องมีศรัทธา  สัทธา  ตะระติ  โอฆัง   ผู้มีศรัทธาย่อมพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากโอฆะสงสาร คือ ห้วงกาโมฆะ โอฆะคือ ความใคร่ความยึดถือ ความพอใจในโลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก      

ภะโวฆะ คือ อยากเกิดปรารถนาภพชาติ ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทิฏโฐฆะ คือ ความเห็นไม่ตรง เห็นว่าขาดสูญ เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีเหตุเป็นต้น ซึ่งเป็นโอฆะผูกมัดตัวเองในการเวียนว่ายตายเกิดนี้ อวิชโชฆะ โอฆะคือ อวิชชา คือ ไม่รู้ทางแห่งความพ้นทุกข์ ไม่รู้ว่านิพพานไปทางใด

ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพราะเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ กำจัดอวิชชา หนทางของท่านสว่างไสว และท่านมีชีวิตสว่างไสวแล้วขอให้ภูมิใจไว้.



ศีล 




การรักษาศีลมีอยู่หลายขั้นตอน เบื้องต้นเรียกว่า หานะภาคิยะสีล ขั้นที่สองเรียกว่า ฐิติภาคิยะสีล ขั้นที่สามเรียกว่า วิเสสะภาคิยะสีล ขั้นที่สี่เรียกว่า นิพเพธะภาคิยสีล

๑. หานะภาคิยะสีล ได้แก่ ผู้ที่รักษาศีล ๘ และอุโบสถ  มีความบกพร่องในบางข้อ
๒. ฐิติภาคิยะสีล คือ ศีลที่ตั้งอยู่บริบูรณ์ในศีล ๘ และศีลอุโบสถ
๓. วิเสสะภาคิยะสีล คือ ศีลที่ตั้งอยู่บริบูรณ์ในศีล ๘ และศีลอุโบสถ มีเมตตาภาวนา
๔. นิพเพธะภาคิยะสีล คือ ศีลที่ตั้งอยู่บริบูรณ์ในศีล ๘ และศีลอุโบสถ มีเมตตาภาวนา และมีการเจริญวิปัสสนาศีลขั้นนี้เรียกว่าศีลในองค์ มรรค ศีลใกล้พระนิพพาน.



ยา




ยานั้นมีไว้ปราบโรคผู้ที่จะกินยานั้น มีวิธีกินหลายอย่าง คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะเข้าไปอยู่ในดวงใจ ก็มีหลายวิธี เหมือนยาที่จะเข้าไปปราบโรคในร่างกายก็มีหลายวิธี อาจจะโดยการฉีด หรือกินยาเม็ด หรือกินยาน้ำ หรือยาทาภายนอกทั้งหมด เพื่อให้หายโรค และยานั้นก็มี รสหวาน รสเปรี้ยว รสขม แต่ในบรรดารสทั้งหลายนั้น รสขม ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่ชอบกิน แต่หมอก็มีวิธี คือ เอาน้ำตาลนั้นพอกเข้าไป แล้วให้กินยานั้น แล้วยานั้นก็ลงไปกำจัดโรค

อันนี้มีข้อคิดอันหนึ่งว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น นักปราชญ์ทั้งหลายได้มีการบรรยาย โดยวิธีหลายอย่าง คือ ให้โอวาทโดยปทัฏฐกถา โดยอ่านหนังสือใบลาน อันนี้ก็เป็นวิธีที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาอันหนึ่ง เหมือนยาที่พอกด้วยน้ำตาลฉันใดความมุ่งหมายก็  ให้รู้จริยาวัตรและธรรมเป็นสำคัญ เป็นความมุ่งหมายที่จะกำจัดกิเลสทั้งหลาย.




สางความวุ่นวาย




องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่ นครสาวัตถี วัดเชตวัน เที่ยงคืนวันหนึ่งมีเทวดามาถามปัญหาพระพุทธเจ้าว่า ข้าแด่พระสมณโคดมทำไมโลกนี้จึงวุ่นวาย จะเอาอะไรหนอมาสางความวุ่นวายในโลกนี้ได้ แล้วพระองค์ตรัสเทศนาเป็นพระบาลีว่า

สีเล  ปะติฏฐายะ  นะโร  สะปัญโญ      จิตตัง  ปัญญัญจะภาวะยัง
  อาตาปี  นิปะโก  ภิกขุ                 โส  อิมัง  วิชะฏะเย  ชฏัง ”

แปลว่า ดูก่อนภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ถ้าหากจะสางความยุ่ง ความวุ่นวาย นรชนใดก็ต้องมีศีล  แล้วให้ตั้งอยู่ในสมาธิ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และผู้นั้นจะเป็นติกะเหตุกะบุคคล บุคคลที่ไม่มีเหตุ ๓ คือ บุคคลที่ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง และมีปัญญารักษาตน บุคคลเช่นนี้ จะสางความยุ่ง ความวุ่นวายของโลกได้

ฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้ไม่ยุ่ง คือ ดูตัวเองก่อนว่ามีศีลหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องตั้งตัวเองอยู่ในศีล และดูความโลภ ความโกรธ ความหลงว่ามีหรือไม่ ถึงมีควรละเสียโดยปัญญา จะได้รักษาตนไม่ให้วุ่นวาย เพื่อโลกนี้ สังคมนี้ จะได้สงบร่มเย็น อันนี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ยังละ โลภ โกรธ  หลง ยังไม่ได้ก็ควรข่มไว้ด้วยธรรม คือ สติอยู่เสมอจนกว่าจะเจริญวิปัสสนารู้แจ้งละ โลภ โกรธ หลงได้ โลกของเราหมู่คณะของเราจะได้สงบร่มเย็น.


ทรัพย์ภายใน




การที่อุบาสกอุบาสิกาเข้ามาในวัด การที่พระเข้ามาบวชปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนา ก็เพื่อที่จะแสวงหาทรัพย์ภายใน คือความสุขใจ ทรัพย์ภายในที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน ปัญจกะนิบาต     อังคุตตรนิกาย  มี ๕ อย่าง คือ  ศรัทธา  ศีล  สุตตะ  จาคะ  ปัญญา

๑. ศรัทธา คือ ความเลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณศีล คุณธรรม นี่เป็นทรัพย์อันประเสริฐ ทำให้ไม่เสื่อมถอยจากศาสนาพุทธ

๒. ศีล คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ ไม่มีใครสามารถมาแย่งชิงเอาไปได้ ถ้ารักษามาตลอดเวลา เราตายไปจะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ


๓. สุตต คือ การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับฟัง ได้เข้าใจธรรมะ เราเสียเวลาทำมาหากินของเรามาอยู่วัดเป็นทรัพย์ภายนอก แต่อยู่วัดเราได้ฟังธรรม ได้ทรัพย์ภายในเพิ่มขึ้น ทรัพย์อันประเสริฐได้เพิ่มขึ้น

๔. จาคะ คือ การเสียสละ การเสียสละทั้งภายนอก และภายใน เสียสละภายนอกคือ การให้ทั่วไป ให้น้ำใส่บาตเป็นทาน การทำบุญทอดผ้าป่า นี้เป็นการเสียสละ  ทางภายในคือ ความไม่ตระหนี่ ความเสียสละภายในอีกอันหนึ่งคือ การให้อภัยทาน การไม่อาฆาต ให้เมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย ทรัพย์ภายในต่างๆที่เรานี้ จะมีอยู่ไม่หายไปไหน มีอยู่กับเราทุกภพ ทุกชาติ จนกว่าจะเข้าพระนิพพาน

๕.   ปัญญา มี ๓ ขั้น สุตะมะยะปัญญา  จินตามะยะปัญญา  ภาวนามะยะปัญญา  

สุตะมะยะปัญญา คือ การที่เราได้ปัญญาโดยการฟังธรรม โดยมีอุปกรณ์ในการปฏิบัติ คือ ศรัทธา  โรคน้อย  ความเพียร  ความเสมอต้นเสมอปลาย  ไม่แข่งดีแข่งเด่นกับใคร

จินตามะยะปัญญา คือ การรู้ตนเอาเองว่าเป็นยังไง  คือ มีแต่รูปกับนาม ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในรูปในนาม

ภาวนามะยะปัญญา คือ เราจับสติปัฏฐานทั้ง ๔ เอาสติไปตั้งไว้ ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เราเอาสติไปทำลายเสียซึ่งกิเลส ทั้งหลายที่อยู่ในตัวเรา กิเลสทั้งนั้นก็มี ราคะ โทสะ โมหะ ที่มีในใจของเรา มันจะได้ลดน้อยลง ตัวภาวนามะยะปัญญา คือ ตัวตัด เรียกว่าตัวปัญญาที่แท้จริง คือตัดอะไร ตัดโลภะ ตัดโทสะ  ตัดโมหะ

ขอให้ท่านทุกคนจำไว้ว่า ทรัพย์ภายในที่ท่านมีนี้ นอกจากท่านจะขึ้นสวรรค์ในภพหน้าแล้ว จะติดตัวท่านไปทุกภพทุกชาติ จนกระทั้งเข้าสู่พระนิพพาน.



สติ 




คนใดมีสติคนนั้นไม่มีบาป  คนใดไม่มีสติคนนั้นมีบาป  เหมือนดวงประทีปที่ส่องแสงตลอดเวลาเพื่อความมืด  คือ  โมหะ โลภะ โทสะ จะได้หายไป  ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงมีสติ  สติ  วะระนัง  เสฏฐัง  สติเป็นเครื่องห้ามอันประเสริฐ  สติ  โลกัสะมิง  ชาคโร  สติเป็นเครื่องตื่นในโลก  ดังนั้นขอท่านมีสติตลอดเวลา.


..............................................

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27.5.55

    lol

    ตอบลบ
  2. สาธุขออนุโมทนาครับขอให้ผู้จัดทำจงมีแต่ความสุขเทอญ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม