Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

11 มีนาคม 2553

..แก่นธรรม..


แก่นธรรม ...โดย หลวงปู่ทอง


แก่นธรรมคืออะไร ในธรรมะปริเฉทที่ ๒ ท่านก็ได้กล่าวถึงสาระธรรม หรือธรรมขันธ์ ๕ อย่าง คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ มีญาณที่รู้ถึงวิมุตติธรรม

๑. ศีลขันธ์ คือ ศีลสาระ ศีลที่เรารักษา
๒. สมาธิขันธ์ คือ สมาธิสาระ คือสมาธิที่เราทำกัน
๓. ปัญญาขันธ์ คือ เจริญวิปัสสนาปัญญา
๔. วิมุตติขันธ์ คือ วิมุตติสาระ คือการหลุดพ้น
๕. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ วิมุตติญาณทัสสนะสาระ คือ ญาณที่เราเห็นเป็นขั้นตอนไป


เมื่อเราจับสติปัฏฐาน ๔ แล้วญาณนั้นจะเกิดขึ้นมา และจะเข้าถึงมรรคญาณ

ศีล มี ๒ อย่าง คือ ศีลโลกีย์ ศีลโลกุตระ ศีลโลกีย์คือ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่เรารักษากันอยู่นี้   เมื่อเราปฏิบัติเป็นศีลในองค์มรรคแล้ว เมื่อเข้าถึงมรรคจิตจะเป็นศีลในโลกุตระ

สมาธิ  เมื่อเราปฏิบัติเป็นสมาธิในองค์มรรคแล้ว เมื่อเข้าถึงมรรคจิตจะเป็นสมาธิในโลกุตระ

ปัญญาวิปัสสนา ปัญญาที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้คิดเป็นโลกีย์ปัญญาเมื่อเราจับสติปัฏฐาน ๔ ญาณต่างๆก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณไปจนถึง สังขารุเปกญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นเมื่อใดนั่นแหละญาณทัสสนวิมุตติ มันหลุดพ้นเป็นขั้นตอนตัดสัญโญชน์ ๓ ตัวแรกหมดได้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สกิทาคามีตัด ๓ ตัว และราคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อนาคามีตัดได้อีก ๒ ตัวคือ กามราคะ ปฏิฆะ ต่อไปเป็นอรหันต์ตัดได้อีก ๕ ตัว รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ก็หลุดไป เป็นวิมุตติญาณทัสสนะสาระ คือเราจะเห็นความหลุดพ้นแห่งจิต.

พระพุทธคุณ

เราตื่นขึ้นมาเราต้องนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนที่จะนึกถึงเรื่องอื่น ให้คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่มีแก่เราแก่โลก พระธรรมคือคำสอนของพระองค์ พระสงฆ์เป็นผู้แนะนำหนทางที่ถูกต้องแก่เรา



พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ อย่าง

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ รู้หมดเลยพระองค์ทรงใช้ พระสัพพัญญุตญาณ สิ่งที่ไม่รู้ไม่มีในโลก เพราะท่านสร้างบารมีมากท่านสามารถสอนคนอื่นทำตามท่านได้


๒. ปัจเจกสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสามารถตรัสรู้เองได้ แต่ไม่สามารถสอนคนอื่นให้รู้ธรรมตามท่านได้


๓. อนุพุทธะ คือ ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ได้ คือ หมู่พวกเราที่เป็นภิกษุ



การข้องอยู่ในอารมณ์ ๕ อย่าง

การที่จะหลุดพ้นได้จงอย่าไปข้องในอารมณ์ คืออารมณ์นั้นมีอยู่ ๕ อย่าง

๑. กามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ให้สักแต่ว่าเท่านั้นให้มีสติ เวลาได้เห็น เห็นหนอ เวลาได้ยิน ได้ยินหนอ เวลาได้กลิ่น กลิ่นหนอ เวลาสัมผัส ก็ถูกหนอ เวลาคิดก็คิดหนอ ถ้ากำหนดอย่างนี้จิตจะไม่ติดอยู่ในกามารมณ์ เหมือนกับใบบัวกับน้ำนั้นจะไม่ติดในใบบัวฉันใด เราอยู่กับโลกนี้ ถ้าเรามีสติแล้วเราก็จะไม่ติดในโลก


๒. อย่าติดในรูป จะเป็นลักษณะใดก็ตามอย่าไปยินดียินร้าย ให้รู้ว่าเป็นรูปเท่านั้นเอง


๓. อย่าติดในกาย ก็อยู่ในรูปนั่นเองมันเป็นลักษณะหนึ่ง อย่าติดในกายของตน อย่าติดในกายของสัตว์ทั้งหลาย


๔. อย่าติดอยู่ในการนอน การนอนนั้นต้องมีสติอยู่ด้วยอย่าติดข้องในการนอน

๕. อย่าติดในเมถุน คืออย่าติดอยู่ในการอยากอยู่ในเทพชั้นนั้นชั้นนี้ พรหมชั้นนั้นชั้นนี้ จิตของเราถ้าติดอยู่ที่ใดก็จะไปเกิดที่นั้นเลย อย่างนางปฏิปูชิตานี้บูชาผัวตัวเอง นางนี้ได้ไปเก็บดอกในสวน นันทวรรณ กับสามีตัวเองที่เป็นเทพบุตร พอดีนางหมดบุญก็จุติมาเป็นมนุษย์ ก็ได้แต่งงานมีลูก ๔ คน แต่นางได้มีญาณรู้ว่าตัวเองมาจากเทวโลก นางก็ได้นึกถึงสามีตัวเองที่เป็นเทพบุตรอยู่เสมอ พอนางตายจิตของนางข้องอยู่ที่สวน นันทวรรณ กับสามีผู้เป็นเทพบุตร นางก็ไปเกิดในสวนนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ทูลถามพระพุทธองค์ว่า การที่จิตไปเกี่ยวนี้ เป็นอันตรายมากต่อการหลุดพ้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ก็เป็นความจริงภิกษุทั้งหลาย จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงยกตัวอย่าง นางปฏิปูชิตา ฉะนั้นอย่าให้ไปข้องในอารมณ์ให้สักแต่ว่า ให้มีสติ ต้องมีสติกำหนดตลอดให้เอาสติไปตั้งที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม แล้วจิตนี่ก็จะไม่ติดข้องกับสิ่งใดทั้งหมดในโลกนี้ แล้วก็จะหลุดพ้นไปได้ง่าย



"ฉะนั้นเรื่องสำคัญ เมื่อมีอารมณ์อันใดเกิดขึ้นมาแล้วก็ให้มีสติสัมปชัญญะ จะทำให้จิตบริสุทธิ์ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ และจะหลุดพ้นอย่างง่ายดาย"



คุณค่าของการบวช

พระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ ได้เกิดมาเป็นลูกกษัตริย์พบความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง แทนที่จะติดอยู่ในความสุขกลับมานึกถึงความทุกข์ของหมู่สัตว์โลก "พระองค์ทรงเสียสละทิ้งราชบัลลังก์ แล้วก็ได้มาทรงผนวช ด้วยอำนาจแห่งมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่จะให้เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย" ฉะนั้นเราจงสำนึกในมหากรุณาธิคุณนี้ และสมาทานอยู่ในไตรสรณคมน์ ไตรสรณคมน์ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตั้งอยู่ในศีลพยายามให้ศีลบริสุทธิ์ การบวชที่สมบูรณ์ก็ คือ มีศีล ๘ ครบ


การบวชในพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเสริมสร้างพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและเจริญ พระพุทธองค์ไม่ได้ฝากศาสนาไว้กับใคร ท่านฝากไว้กับพุทธบริษัทนี้แหละได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ภิกษุณีหมดไปแล้วก็มีแต่แม่ชีมาแทน แม้ผู้หญิงถ้าได้ปฏิบัติก็สามารถหลุดพ้นได้ "สมัยพุทธกาลพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ฝากปัญหาให้พระอานนท์ไปทูลพระพุทธองค์ว่า ผู้หญิงนี้สามารถบรรลุธรรมได้ไหม พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าได้" พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ขอบวช พระนางมหาปชาบดีโคตมีมีคุณค่าแก่ภิกษุณีทั้งหลายมาก เพราะถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ขอบวชก็จะไม่มีภิกษุณีในพระพุทธศาสนา.




สิ่งที่ประเสริฐ ๓ อย่าง

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสิ่งที่ประเสริฐในโลกนี้มี ๓ อย่าง สิ่งที่ประเสริฐ ๓ อย่างที่นักปฏิบัติควรทราบไว้ คือ


ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันประเสริฐได้แก่เราได้เห็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าด้วยตา แต่เห็นด้วยพระธรรม เราศึกษาในพระธรรม ในพระวินัยก็ได้ชื่อว่าเราเห็น แม้จะเป็นการเห็นในส่วนปริยัติก็ถือว่าเป็นการเห็นอันประเสริฐ "แต่การเห็นอันประเสริฐยิ่ง การเห็นอันยิ่ง ไม่มีการเห็นอันใดจะเสมอเหมือน คือ การปฏิบัติอย่างประเสริฐ คือ เราปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้วญาณต่างๆก็เกิดขึ้น เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นแล้วสัญโญชน์ ๓ ตัวหายไป เป็นการเห็นธรรมอันประเสริฐ" การเห็นก็มี การพบเห็น การคิดเห็น รู้เห็น การพบเห็นก็คือ เราเกิดมาได้พบ พระธรรม พระวินัย การคิดเห็นก็คือ การที่เราคิด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การที่เราได้รู้เห็นคือการที่เราได้ปฏิบัติ การปฏิบัติเราให้เราได้รู้ถึงญาณต่างๆ เช่น นามรูปปริเฉทญาณ , ปัจจยปริคคหญาณ , สัมมสนญาณ อุทยัพยญาณ , ภังคญาณ , ภยญาณ อาทีนวญาณ , นิพพิทาญาณ , มุญจิตุกัมมยตาญาณ , ปฏิสังขารญาณ , สังขารุเปกขาญาณเรียกว่าเห็นโดยรู้เห็น ไม่ใช้การคิดเห็น เวลาปฏิบัติเราจะรู้เห็นว่า สภาวะธรรมเกิดขึ้นแล้ว นี่เรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ


ปฏิปทานุตตริยะ คือ การปฏิบัติอย่างประเสริฐ เราจะปฏิบัติอย่างไร ก็คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นการปฏิบัติอันถูกต้อง เราเอาสติไปตั้งที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เมื่อเราตั้งในสัมมาสติแล้ว สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นมา เวลาปฏิบัติเราต้องการขณิกสมาธิอย่างเดียวไม่ต้อง ถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ


วิมุตติ คือ การปฏิบัติอย่างประเสริฐ มี วิกขัมภนวิมุตติ คือเราเห็นอารมณ์อันงาม ถ้าเราเพ่งอสุภ ตัวกามราคะก็จะหายไป ถ้าเรามีโทสะเราเจริญเมตตาตัวโทสะก็จะหายไป ตทังควิมุตติ คือ การกำหนดด้วยอำนาจแห่งญาณ เมื่อกำหนดแล้วอารมณ์นั้นๆก็หายไป และก็จะเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ




วิมุตตานุตตริยะ คือ การหลุดพ้นอันประเสริฐ เวลานี้ตัวราคะ โทสะ โมหะของเรามีมากหรือมีน้อย เราจะพ้นได้ด้วย วิกขัมภนวิมุตติ ตทังควิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ ตัวราคะ โทสะ โมหะจะค่อยๆลดลง การที่ภิกษุสามเณรอยู่ได้เพราะราคะ โทสะ โมหะสงบ นี้วิมุตติ แต่ไม่ถึงกับบรรลุธรรม แต่ต่อไปเมื่อปฏิบัติไป ปฏิบัติไปตัดสัญโญชน์ ๓ ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และยังโลภะ โทสะ โมหะให้เบาลง และยังกิเลสตัวอื่นให้เบาลง




การที่เราปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น เป็นการปฏิบัติอันประเสริฐแล้วขอให้เรารู้จักคุณค่า อะไรๆก็ปฏิบัติ การปฏิบัติมันดีอย่างไร "การปฏิบัติเป็นของประเสริฐ เมื่อปฏิบัติอะไรในโลกนี้ที่ยิ่งไปกว่าการปฏิบัติธรรมไม่มี" ผู้ใดไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้นั้นแหละเป็นผู้ประเสริฐ จริงอยู่ทุกคนทุกองค์ยังมีกิเลส แต่ถ้าปฏิบัติเอาสติไปตั้งในกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วกำหนดพอมีสติไปกำหนดกิเลสก็ไม่เกิด นี่แหละคือผู้ประเสริฐ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า.




ปัจจเวกขณะ

ปัจจเวกขณะมีอยู่ ๒ อย่างคือ "มหาปัจจเวกขณะ อนุปัจจเวกขณะ" คำว่าปัจจเวกขณะ คือ พิจารณา การที่พระพุทธองค์ให้เราพิจารณาเกี่ยวกับ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นั้นเพราะเหตุใด เพราะกลัวจิตของภิกษุไปติดที่ไม่ควรติด ไปติดนี้เองเราจะหลุดพ้นไม่ได้ เช่นมันจะติดที่อยู่อาศัยอยู่ทุกวันนี้ ติดเสนาสนะก็จะไปเกิดเป็นงู เป็นจิ้งจก จิตติดจีวรก็ไปเกิดเป็นตัวไร มันจะไม่หลุดไม่พ้นไปได้ ของที่เราใช้สอยอยู่ทุกวันนี้ อย่าไปมองข้ามอย่ามองข้าม ที่สำคัญที่สุด คือ มันจะติดของใช้ การจะอยู่หรือใช้อะไร จิตให้สักแต่ว่าห่ม สักแต่ว่ากิน สักแต่ว่าอยู่ สักแต่ว่าบำบัดโรคต่างๆ เพื่อปฏิบัติธรรมให้หลุดพ้นไปเป็นปัจจเวกขณะ


มหาปัจจเวกขณะ คือ ไม่ว่าเกิดอะไรให้มีสติเป็น มหาปัจจเวกขณะ ทั้งนี้เพราะว่าให้จิตของเราหมู่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่ให้ติดในอามิสให้สักแต่ว่าเท่านั้น เราต้องอาศัยอามิสอยู่ แต่เราต้องมีสติ จะได้ไม่ติดในอามิส




"ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายบริโภคปัจจัย ๔ เราต้องมีสติ จิตจะได้ไม่ติดไม่ข้องเวลาตายจิตจะได้หลุดพ้น ผู้ใดมีสติผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ"



ภัยวัฏฏสงสาร
สิ่งที่เรากลัวที่สุด คือ ภัยวัฏฏสงสาร ถ้าหากเราวนเวียนอยู่อย่างนี้ยังไม่ถึงนิพพานจะต้องรับกรรมหลายอย่าง กรรมใดได้ทำไว้แล้วจะต้องได้รับผลกรรมนั้นๆ ฉะนั้นเราต้องเชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีอยู่คนที่ทราม และคนที่ประณีต เพราะกรรมจำแนกให้ ฉะนั้นเราได้รับความทุกข์ คนอื่นได้รับทุกข์ก็ดี ขออย่าให้หนีจากการพิจารณาว่า อ๋อกรรม เขาทำอะไรจึงเป็นอย่างนั้น เพราะกรรม



วัฏฏะ แปลว่า วน กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฎฎ์ วิบากวัฏฏ์ เพราะว่าเรามี ราคะ โทสะ โมหะ มีทิฏฐิ มีมานะ มีอวิชชาอยู่ ฉะนั้นเราต้องถ่ายถอนกิเลสออกจากจิตใจด้วยวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐาน ๔ นี้ และวัฏฏะของเราก็จะสั้นลง คำๆหนึ่งที่"พระพุทธเจ้าตรัสแก่นางปฏาจารา ซึ่งพัดพรากจากผัวรักและลูกทั้งสองว่า น้ำตาของนางมันมากกว่าน้ำมหาสมุทรนางจงมีสติเถิด นี่เป็นภัยในวัฏฏสงสารซึ่งเราต้องถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง แม้พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ยังไม่ปรินิพพานยังมีพระชนม์นั้น ก็ยังไม่พ้นกรรม" ถูกโจรทำร้าย ฆ่าอย่างที่ท่านพระโมคคัลลานะเคยฆ่าแม่เมื่อชาติก่อน กรรมจะติดตามไปแม้ว่าตัวจะมีฤทธิ์อภิญญาอย่างไรก็ตาม ดินแดนที่จะพ้นจากกรรมนั้นไม่มี จะอยู่ในอากาศ ในช่องเขา ในทะเล หรือที่ไหน ที่ๆคนพ้นจากกรรมนั้นไม่มี ถ้าทำกรรมอะไรก็จะได้รับกรรมอันนั้น


กรรม ได้แก่การกระทำ แต่วิบากคือผลของกรรมมันดลบันดาลจะเป็นกรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ฉะนั้นเราจะอยู่เหนือกรรมได้ก็ต้องเอาสติอยู่เหนือกรรม เราต้องมีการกำหนด “ อุฏฐานาปะมาเทนะ สัญญะเมนะ ทะเมนะ จะ ทีปัง กะยิราถะ เมธาวี ยัง โอฆะนาภิกีราติ ” น้ำที่จะท่วม ไม่ได้ซึ่งบุคคลที่มีที่พึ่งด้วยคุณธรรม ๔ อย่าง
"อุฏฐานาปะมาเทนะ มีความขยันด้วยความไม่ประมาท สัญญะเมนะ ด้วยศีล
ทะเมนะ จะ ด้วย การปฏิบัติ" ยัง โอฆะนาภิกีราติ โอฆะทั้งหลายย่อยไม่ท่วม กามโอฆะ โอฆะคือกาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา


ถ้าหากเรามีความขยันมีสติและสำรวมในศีล และปฏิบัติวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐาน ๔ นับว่าเราอยู่บนเกาะ นับว่าเราได้ที่พึ่งแล้ว คือศาสนานี้ ฉะนั้นขอให้รู้จักคุณค่าและปฏิบัติจะได้อยู่เหนือกรรม.



คติธรรม

มีคติธรรมอันหนึ่งที่พวกเราควรใส่ใจและมนสิการให้กันคือ เห็น จงเห็นยาวยิ่งกว่าสั้น และเห็นสั้นยิ่งกว่ายาว จงรักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ นี่มันเป็นคติที่สำคัญ


จงเห็นยาวยิ่งกว่าสั้น คือ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่มีเวร กรรมเวรจะระงับด้วยการมีเวรไม่ได้ จะระงับได้ ด้วยการไม่มีเวร เพราะมีกรรม มีเวร มันยาวในสังสารวัฏนี้ มันตอบแทนกันไม่มีที่สิ้นสุด นี่ให้เห็นว่าการจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด คือ เห็นยาวยิ่งกว่าสั้น


จงเห็นสั้นยิ่งกว่ายาวคือ อะไรจะมาทำลายมิตรของเรา ให้เราจงรักษามิตรภาพซึ่งกันและกันต่อไป หมายความว่าเรามีมิตรอย่าให้มันสั้น ให้รักษามิตรนี่ไว้ไม่ให้แตกหักไปเสีย การแตกมิตรเป็นการตัด มันต้องต่ออย่าไปเห็นสั้น คิดสั้น ต้องรักษาไมตรีต่อกันตลอดไปให้มันยาว คำพวกนี้เป็นคำปรัชญา


รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ ถ้าเราต้องการมิตรภาพเราจะต้องมีมิตรภาพซึ่งกันและกัน แต่พระพุทธเจ้าค้นหาเหตุว่าทำไมเราอยู่หมู่เดียวกัน พวกเดียวกัน ทำไมมันแตกกัน ทำไมไม่ลงรอยกันซึ่งกันและกัน และความสามัคคีจะเกิดได้อย่างไร คำสอนของพระพุทธองค์ว่า สีลสามัญญตา ประพฤติเสมอกัน ทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นเสมอกัน ปฏิบัติธรรมเสมอกัน อย่าไปทำคนละอย่างเราเจริญวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐาน ๔ อย่าไปทำอย่างอื่น จงปฏิบัติธรรมในแนวสติปัฏฐาน ๔ ธรรมจะเกิดขึ้นมากมายแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติเอง รวมทั้งศีล และความเห็นชอบที่ถูกต้อง ฉะนั้นขอให้รู้จักคุณค่าแห่งการปฏิบัติด้วย.



ทำไมถึงบวช ?

การบวชพระพุทธเจ้าทรงเน้นเกี่ยวกับเนกขัมมะ พระพุทธองค์ทรงแสดงใน อนุปุพพิกถา ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานิสังสกถา พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงว่า ทานนี้ทำเพื่อตัดความโลภ ตัวกิเลสสำคัญของมนุษย์ที่ทำให้เกิดแล้วเกิดอีกคือตัวโลภะ เราทำบุญให้ทานนี้เพื่อให้ตัดตัวโลภะออกไป ผู้ใดทำบุญให้ทานอันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมอันหนึ่ง

ทานนี้ถ้ายังไม่พ้นทุกข์ยังมีการเกิดก็จะเป็นเสบียง เมื่อเป็นเสบียงในโลกนี้พอตายไปก็เป็นบันไดไปสู่สวรรค์ และความมุ่งหมายที่แท้จริงการทำบุญก็ คือ ตัดโลภะ ตัดไปเรื่อยๆมันจะหมดไม่หมดมันยังไม่รู้กับโลภะ “ กามาทีนวกถา นัตถิ ตัณหาสมา นที ” แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี ตัวตัณหาไม่เหือดแห้ง แม่น้ำปิงแห้งได้ ห้วยกลางแห้งได้แต่ตัวตัณหาแห้งไม่มี พระพุทธองค์ให้ทานนี้ฟอกใจเป็นเบื้องต้น ต่อไป สัคคกถา คือ สวรรค์ เมื่อฟอกแล้วยังไม่หมดมันก็ไปสวรรค์ เนกขัมมานิสังสกถา ให้เห็นโทษของกามคุณ กามคุณพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเหมือนหมากัดกระดูก กินแต่น้ำลายตัวเองเนื้อหนังไม่ได้กิน ฉะนั้นการบวชเหมือนเรือข้ามฝั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างปลอดภัยจากสัตว์น้ำต่างๆทำอะไรเราไม่ได้ เราอยู่ผ้าเหลืองกำจัดบาปได้หลายอย่าง.



คุณธรรม

ธรรมะอยู่ที่ไหน? อยู่ในตัวเรา และนอกตัวของเรา ที่อยู่ในตัวของเรานี้คือมีอันใด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เราพบธรรมะแต่ไม่เห็นธรรมะ ที่มีอยู่นอกนั้นคืออันใด เช่น "พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่างชาวนามีเนื้อนามีที่ดินจะทำนา นาดอนมีน้ำทำตลอดปี ชาวนาจะทำให้ดินดีชาวนาจะไถ ไถแล้วกลบและทำให้ดินเท่ากัน แล้วเอากล้าข้าวลงนา แล้วเอาน้ำใส่ แล้วเอาน้ำออก และก็จะออกผลมาฉันใด ก็ดีร่างกายของคนเรานี้เหมือนที่ดิน" บางคนร่างกายดีไม่ยอมสร้างคุณธรรมอันใดให้เกิดขึ้นมาเลย ร่างกายนี้เหมือนที่ดิน รูปกับนามเหมือนที่ดิน และเราเอาข้าวปลูกลงไปมันก็งอกขึ้นมา คุณธรรมเปรียบเหมือนข้าวปลูกลงไปในรูปนามนี้ ให้คุณธรรมมันงอกงามในร่างกาย ในรูปนาม คุณธรรมจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะเราปฏิบัติธรรม.



ความเพียร

คนจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความเพียรในที่นี้ก็คือเราจะต้องสำรวมระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ปหานปธานเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรอบรมกุศลส่วนดีให้เกิดขึ้นใน ขันธสันดาน อนุรักขนาปธาน เราจะต้องรักษาความดี ของเราไว้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม จะไปที่ใดจะต้องรักษาความดีของตนไว้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีความเพียร


อุปกรณ์ที่จะทำความเพียร คือ . ศรัทธา อย่าถอยอย่าให้เหือดแห้ง ๒. ในเวลาไม่มีโรคอันใดแก่เราต้องถือโอกาสกระทำความเพียร ๓. เราไม่โอ้อวด เราจะมีอะไรดีเราไม่อวดแก่บุคคล ๔. เราจะปรารภความเพียรคือ ทำกุศลให้เกิดขึ้น ยังอกุศลให้หมดไป ๕. มีวิปัสสนาปัญญาคือ เห็นทั้งภายใน และภายนอกให้เป็นของไม่แน่นอน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ยอดแห่งชีวิต คือ เห็นภายในภายนอกเป็นความไม่แน่นอนเป็นทุกข์ เป็นของไม่ใช่ของเรา เราจะต้องทิ้ง


"ขอให้นักปฏิบัติทุกคนปฏิบัติโดยมีความเพียรทำให้มันต่อเนื่อง แล้วยอดแห่งชีวิตก็จะเกิดแก่ท่านทั้งหลายเอง"




ความสวัสดีด้วยคุณธรรม ๔ ประการ

อันว่าสัตว์ทั้งหลายจะถึงซึ่งความสวัสดีด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ปัญญา ความเพียร ความระวัง เสียสละ ในภาคปฏิบัติตัวปัญญาได้แก่ การฟัง การคิด ภาวนา วิปัสสนามีอนุภาพเป็นคุณธรรมปกป้องเรา ความเพียรพยายามทำความดีละบาปไม่ให้เกิดในสันดานของเรา ละบาปที่เกิดขึ้นและอบรมอยู่เสมอ รักษาความดีของเราให้อยู่ตลอดไป ให้มีความเพียรอย่าท้ออย่าถอยพยายามไป แม้มีอุปสรรคจะต้องสู้ ความระวังคือ ความไม่ประมาทในสิ่งทั้งหลาย เช่น ในการเห็น การฟัง การได้กลิ่น ได้สัมผัส ได้คิด ให้มีสติกำหนดพยายามสังวรสำรวม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ระวังในทุกๆอย่าง ความเสียสละพยายามให้มีในใจของตัวเอง สละอะไร สละกิเลสอย่าไปเอามา ความจริงปุถุชนก็มีเป็นธรรมดาก็พยายามอย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้เสียสละ ความเสียสละอันนี้ก็จะส่งผลให้ถึงความสวัสดีมงคลแก่ชีวิตของเรา และจะถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์นี้เอง.



ปัจจุบัน

“ อะตีตานัง นานะวาคะเมยยะ นัปปฏิกังเข อะนาคะตัง ” เป็นพุทธภาษิตแปลว่า อดีต อนาคตอย่าไปคิดถึงอย่าเพิ่งพูด โยคีบุคคลบางคนเวลานั่งสมาธิมักฟุ้งซ่าน เพราะว่ามานึกถึงความชั่วของตัวเอง จงอบรมจิตใจของตนเอง ว่าตัวเอง ที่มันล่วงไปแล้วให้แล้วไป อนาคตก็ไม่ต้องคาดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ให้เอาอารมณ์ปัจจุบัน เมื่ออารมณ์ปัจจุบันดี อารมณ์อดีตก็จะดี อนาคตก็จะดี
  
 เวลานั่งสมาธิอย่าไปคิดถึงเรื่องเก่า นักปฏิบัติจะฟุ้งซ่านเพราะนึกถึงอารมณ์เก่า ตัวเองมีความรังเกียจ ความชั่วที่ตัวเองหาขึ้นมา ว่าให้ตัวเองเกิดฟุ้งขึ้นมาโดยมากจะเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจงอบรมจิตของตัวเองว่าตัวเองนี้ ที่ทำมาแล้วก็แล้วไปอย่าคิดถึง จงฟังคำของพระพุทธเจ้าว่า จงนึกถึงปัจจุบันธรรมข้อนี้ พระองค์ได้ไปโปรดคนเลวที่สุด และก็เป็นคนดีที่สุดมาแล้ว ตามพระบาลีที่พระพุทธองค์ตรัสแก่องคุลิมาล องคุลิมาลโจรฆ่าคนถึง ๙๙๙ ฆ่าได้ก็เอานิ้วมาห้อยคอ ขาดอีกนิ้วเดียวจะครบ ๑,๐๐๐ ตามที่อาจารย์สอน พอเห็นแม่ตัวเองก็จะไปฆ่าแม่ให้ได้นิ้วครบ ๑,๐๐๐ พระพุทธองค์ทรงทราบโดยข่ายพระญาณของพระองค์ พระองค์ไปสกัดหน้าองคุลิมาล องคุลิมาลก็ได้ไล่ฆ่าพระพุทธเจ้าแต่ตามพระพุทธเจ้าเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน องคุลิมาล เลยพูดว่า “ สมณะทำไมไม่หยุด ” พระพุทธองค์ตอบว่า “ เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากยังไม่หยุด

หมายความว่าเราหยุดภายในแล้ว ท่านยังไม่หยุดภายใน คำว่าไม่หยุดนี้ มือที่เปื้อนเลือดนี้ก็ปล่อยดาบเลย พอวางดาบก็เข้ามากราบพระพุทธองค์แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาบาลีว่า “ โย จะ ปุพเพ ปะมัชชิตะวา ปัจฉา โส นัปปะมัชชะติ ” แปลว่า เมื่อก่อนผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน ภายหลังไม่ประมาทชื่อว่ายังโลกให้สว่างได้
เหมือนพระจันทร์ได้ออกจากเมฆฉันนั้น ฉะนั้นเราต้องนึกคำสอนของพระองค์ เวลาเดินจงกรมให้ได้ปัจจุบัน อย่าไปก่อน ไปหลัง ให้กำหนดให้ได้พร้อมกับเท้า เท้ายกก็ยกหนอ เท้าลงก็ลงหนอให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน เวลานั่งสมาธิอย่าให้ฟุ้งซ่าน เอาปัจจุบันอย่างเดียวกำหนดให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน แล้วสมาธิก็จะมีกำลังขึ้นมา.




การฝังทรัพย์อันประเสริฐ

นักบวชที่มาบวชในพระพุทธศาสนา อุบาสก อุบาสิกาได้มาจำอุโบสถ ได้ถือว่าเป็นการฝังทรัพย์อันประเสริฐไว้ในขันธสันดาน ในนิธิกันสูตรท่านได้กล่าวถึงขุมทรัพย์มี ๒ อย่างคือ ขุมทรัพย์ทางโลกีย์ ขุมทรัพย์ทางธรรม ขุนทรัพย์ทางโลกมีการฝังดินในครั้งพุทธกาลมี "อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมากมาย ก็เอาไปฝังในดิน ต่อมาได้ถูกน้ำซัดไปหมด เศรษฐีก็จนเลย เทวดาที่เฝ้าบ้านก็มาบอกเศรษฐีว่าไม่ต้องทำบุญแล้ว เศรษฐีก็ไล่เทวดา มาบอกเราว่าไม่ให้เราทำบุญ เราจะไล่ท่านไม่ให้ท่านอยู่ในบ้านเรา เทวดาก็ไม่อยากไป ก็เลยไปหาทรัพย์ของเศรษฐีที่หายไปเอามาให้เพื่อที่เทวดาจะได้อยู่บ้านเศรษฐีต่อ"


พระพุทธองค์ก็เอาเรื่องนี้เทศนาแก่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายว่า “ สัญญะเมนะ ทะเมนะ จะ ” แปลว่า ขุมทรัพย์ภายนอกนั้นไม่แน่นอน ภัยเกิดจากน้ำ ภัยเกิดจากไฟ ภัยจากโจร แต่ทรัพย์ภายในนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ ทาเนนะ สีเลนะ สัญญะเมนะ จะ ทะเมนะ จะ ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ทาน ศีล ความข่มใจ เป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐ ศีลก็คือว่า ได้เอาทรัพย์ไว้ในขุม ขุม คือในใจ ฝากไว้ในธนาคาร ในใจของเรา ในขันธสันดาน น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ โจรจะขโมย ก็เอาไปไม่ได้ เรามีความอุ่นใจ เวลาตาย เราไปอย่างสบายใจ เพราะเราได้ฝังทรัพย์ไว้ในใจ เราได้บูชาแล้วซึ่งพระพุทธศาสนา


“ สัญญะเมนะ จะ ” คือการสำรวม สำรวมได้แก่สำรวมในอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ ถูกหนอ คิดหนอ ไม่ให้ยินดียินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหลายนั้น ให้เราวางเฉยในอารมณ์เหล่านั้น ถึงเราอยู่กับมันก็ไม่ติดอยู่กับมัน ให้เพียรมีความสำรวม การสำรวมนี้ก็เสมือนรักษาศีลไปในตัวเป็นศีลในองค์มรรค ก็คือการกำหนดในสติปัฏฐานทั้ง ๔


“ ทะเมนะ จะ ” คือ การฝึกหัดอบรมปฏิบัติ เช่นเดินจงกรมนั่งสมาธิต่อสู้กับอารมณ์ เช่น เวทนา จะเจ็บจะปวดจะเมื่อยก็กำหนดไป จิตของเราจะรับอารมณ์อดีต และอนาคต มันจะปรากฏขึ้นมา ให้กำหนดคิดหนอๆ ธรรมมันจะเป็นนิวรณ์ ๕ เป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา ให้เรากำหนดเมื่อมันเกิดขึ้น


ทั้งหมดนี้ ถ้าใครมีไว้ในใจแล้ว ก็นับว่าได้ฝังขุมทรัพย์อันประเสริฐไว้ใน ขันธสันดาน ฉะนั้นก็ขอให้เห็นความสำคัญในการมาบวช การมารักษาศีลได้มาทำทานได้มาปฏิบัติธรรม.




เป้าหมายของนักบวช

เป้าหมายของนักบวช คือนิพพาน คือความพ้นทุกข์ถ้าหากว่าเรายังไม่ถึงนิพพานเราก็จะวนเวียนในวัฏฏะ อะไรทำให้เราวน พระพุทธองค์ทรงเอาทางโลกมาเปรียบเทียบ พระพุทธองค์ทรงเอาเนื้อนา กับพืชข้าวกล้า และเชื้อในข้าว เชื้อข้าวนั้นมียาง หากว่ามีนา มีข้าวกล้า และในข้าวกล้านั้นมีเชื้อมียาง นานั้นก็จะมีข้าวเกิดขึ้นมา และทำให้ข้าวกล้าเกิดขึ้นมา ข้าวกล้านั้นเจริญขึ้นได้อย่างไร เพราะข้าวกล้ามีเชื้อมียางอยู่ "ถ้าให้จะมันหยุดหรือจบลงก็โดยทำข้าวกล้าไม่ให้มีเชื้อ" แม้จะมีนามีข้าวกล้า ให้ขัดเกลาในข้าวกล้าไม่ให้มันมีเชื้อมียาง พยายามทำให้เชื้อมันหมดไป ก็นาก็เป็นนาเฉยๆ ข้าวเชื้อก็เป็นข้าวเชื้อเฉยๆแต่ไม่มีเชื้อ คนเกิดขึ้นมาแล้ว เชื้อมันหมด เหมือนข้าวฉันใด วิญญาณ คือ จิตของคนนี้ ต้องปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสให้เบาบางไป หมดไป สงบไป เมื่อไม่มีเชื้อ วัฏฏะถึงจะมีที่สิ้นสุดนี้ก็เป็นเป้าหมายของนักบวช


วิญญาณที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องประกอบไปด้วยสติ คือ เอาสติไปตั้งไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม วิญญาณหรือจิตอันนี้ ก็จะบริสุทธิ์ไป จะเป็นขณิกสมาธิ เมื่อมีขณิกสมาธิแล้ว ก็จะรู้ตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจะต้องเอาตัวสติตัวนี้มาตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม และจะรู้ตามความเป็นจริงเรียกว่า ยถาภูตญาณ.

การพิจารณา รูปนาม

อยากให้รู้จักความเกิดดับของรูปนาม เราอาศัยหลักของพระไตรปิฏกเล่น ๒๕ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงแก่นางปฏาจาราในพระเชตวัน นางปฏาจารานั้นได้เห็นความเกิดดับของรูปนาม เมื่อนางเอาเท้าไปล้างน้ำนั้นก็ไหลไปและก็หยุด แล้วนางก็ว่าเมื่อวัยเบื้องต้นก็ตาย วัยท่ามกลางก็ตาย ในวัยที่สุดก็ตาย สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาก็ตาย เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วพระพุทธองค์ทรงสาธุการ แผ่รัศมีมาหานางทรงอนุโมทนา คาถาที่พระพุทธองค์ทรงโมทนานั้นว่า


“ โย จะ วัสสะสะตัง ชีเว อะปัสสัง อุทยัพพะยัง
เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย ปัสสะโต อุทยัพพะยัง ”


"โยคีบุคคลใดเห็นความเกิดดับของรูปนาม แม้จะอยู่วันเดียวก็ยังประเสริฐกว่าบุคคลที่ไม่เห็นความเกิดดับที่มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี"


เวลาปฏิบัตินั้นนักปฏิบัติจะมีอาการสัปหงก นี่คือความเกิดดับของรูปนามนั่นเอง มันเกิดขึ้นแล้วดับไป ขอให้นักปฏิบัติรู้จักคุณค่าของการสัปหงก สิ่งใดไม่รู้จักคุณค่า ฉันทะย่อมไม่เกิดขึ้น ศรัทธาย่อมไม่เกิดขึ้น.




การสั่งสอนคน

การสั่งสอนคน สั่งสอนด้วยการกระทำก็มี เช่น พระอัสสชิ พระสารีบุตรเห็นท่านพระอัสสชิมีมารยาทอันงาม ในการที่ท่านได้เดินบิณฑบาต การเดินไปข้างหน้า การถอย การเหลียวซ้ายแลขวาท่านก็มีมารยาทอันงาม เมื่อท่านสารีบุตรเห็นพระอัสสชิก็มีความเลื่อมใส แล้วก็ได้ถามว่าใครเป็นศาสดาของท่านอย่างนี้ "ฉะนั้นการที่เราสอนคนใช่ว่าสอนด้วยคำพูดอย่างเดียว แต่สอนด้วยการกระทำ" เขาเห็นแล้วเขาก็มีความเลื่อมใส ฉะนั้นการสอนมี ๒ อย่างคือ สอนโดยการพูด และสอนอย่างไม่พูด ส่วนสอนแบบไม่พูดนั้นท่านไม่ได้พูดอะไร แต่ผู้มีศรัทธาได้เห็นมารยาทของท่านก็เลื่อมใส ฉะนั้นเราปฏิบัตินั้นควรทำตัวเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนร่วมโลก ผู้มีอุปนิสัยก็จะเกิดความเลื่อมใสและลงมือปฏิบัติเอง


การปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นเจริญ ก่อนที่จะได้ปฏิบัตินั้นจะต้องพบปะ เมื่อพบปะแล้วต้องฟัง เมื่อฟังแล้วต้องเก็บไว้ในใจทั้งทฤษฎี ทัศนคติ และลงมือปฏิบัติแล้วจะถึงซึ่งความเจริญในธรรม ฉะนั้นเมื่อเราได้พบครูบาอาจารย์ และได้ฟังคำสอน แล้วเก็บไว้ในใจ แล้วลงมือปฏิบัติ อันนี้ก็จะถึงความงอกงามในธรรม.




อาวุธสำหรับทำความเพียร

เราจะไปไหนให้เอาอาวุธไปด้วย อาวุธนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่ามี ๓ อย่าง


๑. สุตาวุธ อาวุธคือ การฟัง
๒. วิเวกาวุธ อาวุธคือ วิเวก
๓. ปัญญาวุธ อาวุธคือ ปัญญา


อาวุธนั้นจะต้องต่อสู้รักษาตัวไม่ให้เกิดอันตราย เรามีอาวุธเพื่อต่อสู้กับโลกีย์ภายนอก สำหรับภายในนั้นคือ การฟัง การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา และสามารถเขาถึงวิปัสสนาปัญญาด้วย ผู้ตัดกิเลสด้วย สุตาวุธ นี้ก็คือ ท่านพระสารีบุตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ทีฆนขปริพพาชก ตอนนั้น พระสารีบุตรถวายงานพัดข้างพระพุทธองค์อยู่ พระพุทธองค์ก็ตรัสเทศนาให้แก่ ทีฆนขปริพพาชก และท่านพระสารีบุตรก็ฟังตามคำสั่งสอน จิตตัดสลัดซึ่งโลกทั้งปวง ๓๑ ภูมิ กิเลสทั้งหลายคายไปเลย


วิเวกาวุธ คือ อาวุธที่หาความสงบนี้ เหมือนเราจะดูปลาในน้ำ น้ำนั้นจะต้องใส ถ้าน้ำมันขุ่นเราต้องทำน้ำให้มันใส และจะเห็นตัวปลา เมื่อจิตคนใดบริสุทธิ์นั้นก็จะเห็นกิเลส ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง และสามารถยิงปลานั้นคือ กำหนดอยู่ในวิเวกนั้น การที่เราเดินจงกรม และนั่งสมาธิ และหลีกเร้นไม่คลุกคลีกับหมู่คณะที่จะทำจิตของเราให้วุ่นวาย ต้องหลีกเร้นไปอยู่ผู้เดียววิเวกนั้นก็จะเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะตัดกิเลส วิเวก คือ สงัด สงบ หลีกเร้น


ปัญญาวุธ สุตา จินตะ เป็นพื้นฐานแห่งภาวนามะยะปัญญา ภาวนามะยะปัญญาก็คือ เราต้องมีการปฏิบัติ มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิตัวภาวนามะยะปัญญาจึงจะเกิดขึ้น ความจริงเราได้ฟังมา ได้คิดมา และทำไมไม่บรรลุธรรมก็เพราะว่าเป็นสุตตะ และจินตะเท่านั้นเอง ไม่ส่งไปถึงภาวนามะยะปัญญา ภาวนามะยะปัญญามันจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนาไม่ใช่การว่าฟัง และคิดเอาเอง มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราปฏิบัติ ตัวภาวนามะยะปัญญานี้จะตัดซึ่งกิเลสได้


ขอให้มีอาวุธอยู่กับทุกคนและทุกองค์ ขอให้มีไว้ในตัวเรานี้โดยเฉพาะวิปัสสนาปัญญา ขอให้มีแนบกับตัวอยู่เสมอ จะไปที่ไหนยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด อริยมรรค อริยผล ก็จะเกิดกับเราอย่างแน่นอน เราต้องฝึกให้มีกับตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีข้าศึกมาเรายิงทันที กำจัดทันทีอย่าให้มาลบล้างความดีที่เราสะสมมา ทั้งอดีตชาติและปัจจุบัน ความไม่ดีของคนอื่นก็ดีก็เป็นข้าศึกแก่เรา เราอย่าเอามาเป็นอารมณ์เลยพยายามต่อสู้ และฆ่ากิเลสเหล่านั้น เราอย่ามาเป็นบาปเพราะคนอื่น เขาทำอะไรไปก็ได้ผลอย่างอันนั้น ในโลกนี้เต็มไปด้วยกิเลสเรามาในพระพุทธศาสนานี้ก็เพื่อจะเอากิเลสออกด้วยวิปัสสนาปัญญา ปัญญาวุธ.




ธรรมะที่จำเป็น

ธรรมที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตมี ๒ อย่าง สติ และขันติ ชีวิตนั้นเป็นชีวิตของคนหนุ่ม ชีวิตของคนแก่ สตินี้ย่อมมีความจำเป็นเปรียบเหมือนเรือที่มีหางเสือ ย่อมไปในแนวทางที่ถูกต้อง ย่อมไปถึงเป้าหมายของชีวิต


ขันติความอดทน ความอดทนนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมภิกษุทั้งหลาย ๑,๒๕๐ องค์ ข้อแรกที่พระพุทธองค์กล่าวถึงคือ ขันติความอดทน เราจะอดทนทุกอย่าง อดทนตัวการงานและอดทนต่อความเจ็บใจ เมื่อความเจ็บใจเกิดแก่เราพยายามใช้ความอดทน และเอาอีกสิ่งหนึ่งมาตัดใจคือ กรรม กรรมของเรามันปรากฏขึ้นแก่ตัวเราเอง บางอย่างพ่อแม่ไม่ได้ลงโทษ ครูบาอาจารย์ไม่ได้ลงโทษ แต่กรรมของเราลงโทษตัวเราเอง ฉะนั้นเราต้องรู้แจ้งในโลกนี้มันเป็นไป เปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ และมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา สิ่ง ๓ อย่างจะเกิดขึ้นเพราะเราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน.




จะไปทางไหน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้บอกอันจะไปสู่ทุคติ และสุคติที่บาลีว่า “ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา ” คนใดเรียนถึงนักธรรมชั้นเอกก็จะเห็นบาลีอันนี้


บุคคลใดมีจิตเศร้าหมองบุคคลนั้นก็จะไปสู่ทุคติ ทุคติคือ คติอันชั่วมี นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน บุคคลที่มีจิตผ่องใสย่อมมีสุคติเป็นทางไป สุคติคืออะไร คือ อารมณ์อันเลิศอารมณ์อันดี เรียกว่าสวรรค์ สวรรค์มี ๖ ชั้น จาตุมมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี


ถ้าหากว่าคตินั้นมี ๗ หนทาง ทางที่ ๑ ไปนรก ทางที่ ๒ ไปเป็นเปรต ทางที่ ๓ ไปอสูรกาย ทางที่ ๔ ไปเดรัจฉาน ทางที่ ๕ มนุษย์ ทางที่ ๖ ไปสวรรค์ ทางที่ ๗ ไปพรหม เราต้องรู้ทางที่จะไปนั้นมีอะไรพาเราไป กิเลสพาไป ธรรมอันใดพาไป นรกนี้โทสะพาไป เปรตอสูรกายนี้ตัวโลภพาไป คนใดมาลักกินของสงฆ์ เอาเงินของพระไปพวกนี้ไปเป็นเปรตทั้งนั้น ที่เราเห็นผีหลอกที่นั่นที่นี่ นั่นแหละเปรต อสูรกายนั้นก็เป็นเปรตนี้เอง แต่อสูรกายนี้ตัวใหญ่ ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นหมู เป็นหมา เป็นแมวไปด้วยโมหะ ไปเป็นมนุษย์นี้ตัวศีล ๕ คนใดมีมนุษยธรรมก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ ไปสวรรค์ไปด้วยทาน ศีล ภาวนา มหากุศล ๘ กุศลกรรมบท ๑๐ ไปพรหมไปด้วยการทำสมถะ ๔๐ ได้ฌาน
ใครทำสมถะก็ได้เป็นพรหมเป็นทีเป็นนาน แต่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ก็ไม่แน่ถ้าพลาดทีก็ไปอบายภูมิได้ เช่น หมูน้อย ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตกับพระอานนท์ พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ยิ้มก็สงสัยว่าพระพุทธองค์ทรงยิ้มด้วยเหตุใด พอถึงพระเชตวันพระอานนท์ก็วางบาต แล้วเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าทรงยิ้มด้วยเหตุใด พระพุทธองค์ก็บอกว่าอานนท์ภัยแห่งวัฏฏะสงสารน่ากลัวเหลือเกิน ขนาดเป็นพรหมแล้วเขายังเกิดเป็นหมูน้อย นี้เพราะอกุศลหนหลัง ถ้าไม่มีวิปัสสนา ไม่มีมรรคจิตตัดแล้วก็วางใจไม่ได้ก็อาจจะไปอบายภูมิ ๔ ได้ ทางที่จะไปพระนิพพานทางเส้นนี้คือ


“ เยเนว ยันติ นิพพานัง พุทธา เตสังจะ สาวะกา
เอกายะเนนะ มัคเคนะ สติปัฏฐานะสัญญินา ”


พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วสู่นิพพานด้วยเส้นทางสายใด เส้นทางสายนั้นคือ สติปัฏฐานทั้ง ๔




สมบัติที่มีค่าที่สุด

พระอริยะเจ้าเป็นผู้ไกลจากกิเลส เราก็ควรจะทำให้ใจห่างไกลจากกิเลส เหมือนพระอริยะเจ้าทั้งหลายเหมือนกัน คนที่ไกลจากกิเลส หรือธรรมที่ไกลจากนิวรณ์ที่เรียกว่า อริยะธรรม ถ้าผู้มีอริยธรรมกับตัวแล้วก็จะรู้จักคุณค่าของพระพุทธศาสนา


คุณค่าของพระพุทธศาสนามีคุณค่าอย่างไร คือจะเอาสมบัติในโลก บนเทวโลก บนพรหมโลกมารวมกันคุณค่าของพระพุทธศาสนายังมียิ่งกว่านั้น พูดถึงส่วนมาแบ่งเป็นส่วนๆ และนำพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๑๖ ส่วนแล้วนำหนึ่งส่วนมาเปรียบกับสมบัติในโลก บนเทวโลก บนพรหมโลก สมบัติเหล่านี้ยังไม่เท่าหนึ่งส่วนของพระพุทธศาสนา “ ปะฐัพยา เอกะรัชเชนะ สัคคัสสะ คะมะเนนะ วา สัพพะโลกาธิปัจเจนะ โสตาปัตติผะลัง วะรัง ” สมบัติทั้ง ๓ โลกนี้ยังไม่มีอะไรเปรียบกับผู้ที่เห็นธรรม (พระโสดาบัน) ได้เลย


เราจะนับคุณค่าของพระพุทธศาสนา เรานับไม่ได้จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้เลย ฉะนั้นเราอยู่ในพุทธศาสนาเราต้องรู้จักคุณค่าของพระพุทธศาสนา โดยมากผู้ที่อยู่ในพุทธศาสนานี้ไม่ค่อยรู้จักคุณค่า เพราะเหตุฉะนั้นเราก็ต้องนึกถึงบรรพบุรุษของเรา นึกถึงแรงของท่านให้ระลึกถึงบุคคลแต่ครั้งก่อนที่อุตสาห์นำพระธรรมเข้ามาให้พวกเราได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติธรรมกันไว้.



คุณธรรม ๗ ประการ
บุคคลในโลกนี้ถือว่าควรที่เคารพบูชา ถ้าหากว่ามาถึงสำนักเราหรือเราจะไปสู่สำนักอื่นถือว่าเป็นผู้มีเกียรติอันสูง บุคคลที่ควรเคารพบูชานั้นก็ คือ มีคุณธรรมอยู่มีเขียนไว้ในพระไตรปิฏกเล่น ๔๓ หน้า ๑๙ ว่า “ สัตเตหิ ธัมเมหิ สะมันนาคะโต ภิกขุ อาหุเนยโย ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร บุคคลใดได้ประกอบด้วยคุณธรรม ๗ ประการ บุคคลนั้นจะมาหรือจะไปที่ใด ถือว่าเป็นแขกที่มีเกียรติอันสูง และเป็นบุคคลที่ควรเคารพบูชา เป็นอาหุไนยบุคคลอย่างแท้จริง ในธรรมวินัยนี้มีคุณธรรม ๗ ประการนี้คืออันใด ความจริงเราได้เรียนแล้วในนักธรรม แต่ว่าไม่รู้จักคุณค่าของธรรมทั้ง ๗ อย่างนี้ เพราะเราไม่ซึ้ง และไม่ได้ค้นคว้ามา ค้นคว้าภายหลังรู้สึกทราบซึ้งมาก เป็นพุทธวจนะของพระพุทธเจ้าอยู่ในหมวด ๗ ในนวโกวาท




๑. ธัมมัญญุตา ผู้รู้จักธรรมะ ผู้เรียนธรรมะ เรียนนักธรรมตรี โท เอก ได้เปรียญ เขารู้ตัวเองว่าในธรรมะจึงมีคนนับถือ ท่านเรียนบาลี เรียนนักธรรมมีธรรมะ

๒. อัตถัญญุตา รู้จักความหมายของธรรมะ รู้จักอธิบายความหมายของธรรมะ


๓. อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน คือ เขารู้สึกว่าจักตัวเอง


๔. มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ เขารู้จักประมาณทำอะไรก็ให้เหมาะสมไม่ยิ่งไปไม่หย่อนไป


๕. กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักเวลา เช่น ตื่นตอนเช้ามาทำวัตร แค่ได้ยินเสียงระฆังก็ตื่นเป็นอาชาไนยบุคคล เวลาไปที่ไหนก็ตรงเวลา รู้จักกาลเวลาหน้าเคารพนับถือ คือว่าเป็นเกียรติแก่ผู้เชิญ


๖. ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักหมู่คณะ คือ เรารู้บริษัทนั้นเป็นอย่างไร เราควรไปหรือไม่ควรไป


๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา คือ รู้จักบุคคล อ่านบุคคลออก รู้จักว่าคนใดควรคบคนใดไม่ควรคบ


"อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าสืบทอดมาหลายพันปีมาแล้ว ให้เรารู้จักธรรม ๗ ประการนี้ แล้วพิจารณาว่ามันมีอยู่ในตัวเราหรือไม่ ขอให้พิจารณา"




ธัมมะจารีบุคคลเป็นอย่างไร

การให้ความสุขแก่ตัวเราเองคือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าหากว่าได้เจริญทุกวันเป็นการให้ความสุขแก่ตัวเราเอง เพราะเราได้เหตุผล และเป็นเครื่องรับรองแก่เราดังพระพุทธวจนะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ ธัมมะจารี สุขัง เสติ อสะมิง โลเก ปชานาติ ” ผู้ใดมีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทุกวันๆ จะให้ความสุขกับตนในชาตินี้ เมื่อลาจากโลกนี้ไปจะได้มีความสุขในโลกหน้าด้วย ฉะนั้นการปฏิบัติจึงมีความสำคัญ คำว่า ธัมมะจารี แปลว่า การประพฤติปฏิบัติธรรม ในพุทธวจนะกล่าวถึงบุคคลที่เป็นธัมมะจารีว่า คนไหนที่เป็นธัมมะจารี คนไหนปฏิบัติธรรม


ปริยัติพะหุโล ผู้เรียนมาก แต่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ชื่อว่า เป็นธัมมะจารีบุคคล


สามัติพะหุโล คือ เป็นผู้เทศน์ดี พูดดี แต่งนิราศ แต่งกลอนดี และก็มีความคิดดีทุกอย่าง แต่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็ไม่ได้ชื่อว่า เป็นธัมมะจารีบุคคล


พะหุสุตพะหุโล บุคคลที่ท่องจำมาก แต่ไม่ได้ปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงบอกว่า เป็นผู้ใบลานเปล่าไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นธัมมะจารีบุคคล


ธัมมะจารีบุคคลเป็นอย่างไร คือ คนที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔ คำว่าวิปัสสนานั้นคือความเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดสติปัฏฐานทั้ง ๔ และตัววิปัสสนาญาณนี้ก็จะบังเกิดขึ้นมา ในสติปัฏฐานทั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือเป็นทางเส้นเอก ทางเส้นเอกมีความหมายอยู่ว่า
๑. เป็นทางเส้นเดียวไม่เป็นทาง ๒ แพร่ง
๒. ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง
๓. พระพุทธเจ้าเป็นองค์เดียวที่คิดค้นขึ้นมาได้ และแสดงสติปัฏฐาน
๔. มีในศาสนาพุทธแห่งเดียว ศาสนาอื่นไม่มี
๕. จุดหมายคือ นิพพานเป็นแห่งเดียวเป็นที่สุด.




สิ่งที่กำหนดไม่ได้

จงอย่าประมาทในชีวิตของตัวเอง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เราจงปลงยังชีวิตของตัวเอง จงวัดชีวิตของตัวเอง จงพิจารณาในชีวิตของตัวของตัวเอง พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า อย่าประมาทสิ่งที่พิจารณานั้น คือ ชีวิตของตัวเองอย่างหนึ่ง พยาธิในตัวเองอย่างหนึ่ง กาลเวลาของตัวเองที่จะตาย ป่าช้าที่ร่างของเราจะทอดทิ้งอยู่ คติ คือ การไปของเรา คือ เราจากโลกนี้ไปอย่างหนึ่ง ๕ ประการนี้ไม่มีนิมิตบอก กำหนดไม่ได้ สิ่งที่ไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายนั้นพระพุทธองค์ทรงได้เทศนาไว้อยู่ ๕ ประการให้หมู่พวกเราปลงอยู่เสมอ


๑. ชีวิต ชีวิตของเรา ชีวิตินทรีย์ ชีวิตัง แปลว่า ความเป็นอยู่ อินทรีย์เป็นเจตสิกอันหนึ่งที่รักษาชีวิต อินทรีย์ คือ รักษาจิตไว้ อินทรีย์เป็นสิ่งที่รักษาเหมือนกับ ดอกบัวกับเลน ดอกบัวต้องอาศัยเลน ดอกบัวจึงจะอยู่ได้ จิตของเราต้องอาศัยอินทรีย์ อินทรีย์จะรักษาจิตชั่วครั้งชั่วคราวเท่าอายุของตนจะอยู่ได้ ชีวิตของทุกคนนี้ห้ามประมาทเราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ชีวิตของเราหมิ่นเหม่มาก อุปมาเปรียบเหมือนไข่ตั้งอยู่บนปลายเข็ม ถ้าหากว่าผิดพลาดนิดเดียวชีวิตของเราต้องแตกดับไปเลย ฉะนั้นจงอย่าประมาท ในวัย ในอายุ ในความไม่มีโรค ความประมาทนี้ คือ การละเลยเพิกเฉยไม่เห็นความสำคัญในชีวิต คือ ไม่มีสตินั้นเอง จงอย่านึกว่าชีวิตของเราจะอยู่ไปได้เป็นร้อยปี แต่จงนึกว่าชีวิตของเราน้อยนัก ทำไมเขาถึงให้เรานึกว่าชีวิตของเรานี้น้อยนัก เพราะว่าเขากลัวว่าเราจะมัวเมาไม่มีสติ ไม่นึกถึงทาน ไม่นึกถึงศีล ไม่นึกถึงภาวนา เขากลัวเราประมาท


๒. พยาธิ ร่างกายของเราเป็นรังของโรค ต้องมีโรคอย่าใดอย่างหนึ่งในร่างกายของเรานี้ และไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไรเกิดขึ้นมา เช่น บางคนนึกว่าตัวเองเป็นมะเร็ง มันก็เป็นขึ้นมาได้หลายอย่าง หลายประการที่จะเกิดขึ้นมา ฉะนั้นอย่าไปประมาท ถ้ามันเป็นขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร ทานก็ยังไม่ทำ ศีลก็ยังไม่ได้รักษา ภาวนาก็ยังไม่ได้ทำ ถ้าเราเป็นอัมพาตขึ้นมามันหมดหนทางทุกสิ่งทุกอย่าง และเราจงพิจารณาถ้าเราเป็นอัมพาตเราจะทำอย่างไร ตอนนี้เรามาวัด มารักษาศีล มาปฏิบัติธรรมเป็นบุญของเรา


๓. กาลเวลา เราไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไร ตอนเช้า ตอนค่ำ ตอนบ่าย ทุกคนอย่าประมาทในกาลเวลานี้


๔. ป่าช้าของเรา ร่างกายของเราจะทิ้งที่ใด เราจะตายที่ไหน ในน้ำ ข้างถนน ในบ้าน กลางอากาศ บางคนในน้ำ บางคนตายในอากาศ ตายข้างถนนเราไม่รู้ พระพุทธเจ้าให้เรานึกอยู่เสมอ และอย่าประมาท


๕. คติ คติแปลว่าการไป เราจะต้องลาจากโลกนี้ไป และไปได้ ๒ ทาง คือ ทุคติกับสุคติ เราไม่รู้ว่าจะไปทุคติหรือสุคติเรากำหนดไม่ได้ ส่วนมากเป็นปุถุชนทั่วไปไม่มีอภิญญาว่า เราจะจุติเมื่อใด เราตายไปแล้วจะไปที่ไหน ปุถุชนทั่วไปถ้าไม่มีอภิญญาคือ จตูปปาตญาณ ก็จะไม่รู้ แต่ถ้าบำเพ็ญมามีอภิญญาจตูปปาตญาณ ก็จะรู้ได้ แต่ที่นี้ผู้เจริญวิปัสสนาได้ ขณิกสมาธิ ไม่มีอภิญญา แม้ไม่มีอภิญญาก็ไปนิพพานได้ และจงรู้ว่ามี ๒ ทางที่จะไป ถ้าไปทุคติ คือ อบายภูมิ ๔ คนอย่าไรที่จะไปสู่ทุคติ คือ คนที่มีจิตเศร้าหมอง ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรขัดเกลาจิตใจ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีภาวนาไว้ในใจ อีกทางหนึ่งสุคติ ให้เรามีสติไปตั้งที่กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ กายนั้นเราเอาลมหายใจของเรา พองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากเรามีเวทนาก็ให้กำหนด เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ ถ้าเราคิดก็กำหนด คิดหนอๆ ถ้าเป็นธรรมให้เรากำหนดนิวรณ์ ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย เมื่อกำหนดแล้วใจของเราบริสุทธิ์พอจุติ จิตก็ไปสวรรค์ทันที


ทั้งนี้เพราะเราเชื้อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา ” แปลว่า คนใดมีจิตเศร้าหมองไปนรก ผู้ใดมีจิตผ่องใสก็ไปสวรรค์ การที่เราจะไปสวรรค์ หัวเลี้ยวหัวต่อนั้นต้องนึกถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ถ้าจับพองหนอ ยุบหนอก็เอาเลย หรือกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจุติก็ไปสวรรค์เลย เพราะอกุศลบาปบาปไม่มีในจิตใจ นี้คือ กรรมวิธีกำจัดบาปออกจากใจ คือ สติมาตั้งไว้ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมนี้ แล้วจิตของเราจะบริสุทธิ์ ฉะนั้นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตทุกคนจะต้องตาย เวลาตายเราต้องมีวิธี เราจะไปสวรรค์เราต้องไปด้วยวิธีนี้ ก็คือ เอาวิปัสสนากรรมฐานมาสัมผัสกับจิตของเรา พอจุติก็ไปสวรรค์เลย บางทีก็ได้ มรรค ผล นิพพานตอนตายก็มี


การเดินจงกรมนั่งสมาธินี่เพื่อทำ อาจิณณกรรม อย่าไปทำตอนที่จะตายต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่เสมอๆ ถึงจะอยู่บ้านก็ให้ทำอย่าประมาท ถ้าไม่สบายก็นอนทำ ทำได้ทุกอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน การบรรลุธรรมมี ๔ อย่างที่จะบรรลุธรรม ๑. เอาโลกเป็นอารมณ์ ๒. เอาเวทนาเป็นอารมณ์ ๓. เอาอริยาบถเป็นอารมณ์ ๔. เอาชีวิตเป็นเดิมพัน บางทีก็ได้เห็นธรรมตอนจะตาย ฉะนั้นอย่าประมาทให้มีความชำนาญ ให้ภาวนาไว้อย่างสม่ำเสมอ.




คุณธรรมที่สนับสนุนสัมมาทิฏฐิ

การที่เราปฏิบัติให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ความมุ่งหมายเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง คือ วิมุตติความหลุดพ้นนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จุดที่ทำให้ไปสู่ความหลุดพ้น ค่ำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทุกบาททุกบทก็เพื่อจะสนับสนุน สัมมาทิฏฐิ เพื่อให้ถึงวิมุติธรรมการหลุดพ้น เหมือนมหาสมุทรแม้จะมีมากเท่าไรแต่ก็มีรสเค็มรสเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายเพื่อให้เรามีความเห็นชอบ ทำความเห็นให้ถูกต้อง และนำไปสู่วิมุตติธรรม คุณธรรมที่สนับสนุนสัมมาทิฏฐิให้ถึงวิมุติธรรมนั้นมี ๕ ประการ


๑. ศีล คือ เราต้องมีศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีลอย่างที่โยมมาทำกันนี้


๒. สุตะ คือ การฟัง การฟังธรรมการฟังโอวาทคำสั่งสอน เพราะเหตุใดจึงมีการฟังธรรม คือ จะทำให้เรามีความเห็นที่ถูกต้องเพื่อให้ถึงวิมุติธรรม


๓. ธัมมัจ กถา คือ มีการถาม มีการถามตัวเอง ถามผู้มีความรู้ ถามตัวเองว่าตัว ตัวเองคือใคร รู้จักตัวเองหรือยัง ตัวเรานี้คือรูปกับนามเท่านั้นเอง เขาเรียกชื่อเราเป็นอย่างไร ก็เป็นตามสมมุติเท่านั้นให้ถามตัวเอง และบอกตัวเอง ถ้ามีปัญหาที่เราไม่รู้ควรไต่ถามผู้รู้ธรรม


๔. สมถกรรมฐาน คือ กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ผู้ที่ทำมาแล้วทำให้จิตใจของเราสงบขึ้น แล้วถ้าคนใดได้สมาธิจากสมถะ และได้เจริญวิปัสสนาต่อก็เป็นเจโตวิมุตติหลุดพ้นทั้งสมถะ และวิปัสสนาทั้งมีฌานและวิปัสสนา ยกองค์ฌานนี้ขึ้นสู่วิปัสสนาเข้าสู่พระไตรลักษณ์ก็เข้าถึง มรรค ผล นิพพานได้


๕. วิปัสสนากรรมฐาน คนใดถ้าได้ทำสมถะมาก่อนก็ยิ่งไปไว ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาก็เป็นเจโตวิมุตติ หลุดพ้นทั้งอำนาจของฌาน และอำนาจของวิปัสสนา ถ้าคนไม่ได้บำเพ็ญฌานมาก่อน บำเพ็ญวิปัสสนามาอย่างเดียวเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ


การหลุดพ้นนี้มี ๒ อย่าง"เจโตวิมุตติ กับ ปัญญาวิมุตติ" เจโตวิมุตติ คือ ได้ทำสมถะมาก่อนภายหลังมาเจริญวิปัสสนาต่อ ถ้าหากว่าบุคคลใดได้หลุดพ้นทั้งสมถะ และวิปัสสนาก็เป็นแบบเจโตวิมุตติ ถ้าทำวิปัสสนาอย่างเดียวเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตัว พระไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นมาเป็นอารมณ์ วิปัสสนาตัวพระไตรลักษณ์ คือ เห็นความไม่แน่นอน เห็นความทุกข์ เห็นความไม่อยู่ในอำนาจของเรา บางครั้งกำหนดหาย บางครั้งกำหนดไม่หายนี้เรียกอนัตตา อันนี้ก็จะขึ้นไปสู่ญาณเบื้องสูง สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ เราก็จะได้เข้าถึงมรรค โดยวิปัสสนาญาณ


คุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ มีความสำคัญต่อนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายขอให้จดจำไว้ เราต้องวางแผนการที่จะไปถึงความหลุดพ้นคือต้องมีศีล แล้วเราต้องมีการรับฟังธรรมที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราต้องถามตัวเองและบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเราได้สมถะแล้วเราจงอย่าหยุดอยู่แค่สมถะต้องเจริญวิปัสสนาต่อไป และจะถึงจุดหมายปลายทางคือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายทั้งมวล.




อานิสงส์ของการนั่งสมาธิ

ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการนั่งสมาธินั้นมี ๔ อย่าง


๑. จะได้รับความสุขในปัจจุบัน
๒. เพื่อความเป็นไปของญาณทัสนะ
๓. เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ
๔. เพื่อให้สิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส


อันนี้เป็นประโยชน์ของการนั่งสมาธิ อันที่ว่ามีความสุขในปัจจุบันนั้น คือ สมาธินี้เป็นอาหารอันหนึ่งเรียกว่า อาหารใจ ถ้าหากว่าร่างกายของเราไม่ได้รับอาหารแล้วเราจะรู้สึกเพลีย แต่เมื่อจิตไม่ได้รับอาหารมันจะเป็นอย่างไร มันก็หมดพลังกำลังไม่มี เมื่อกำลังจิตมีเสียอย่างหนึ่งเราจะมีเสียทุกอย่าง และทำให้เรามีความสุขในปัจจุบันนี้ด้วย


ประการที่ ๒ ญาณทัสนะ ญาณ คือความรู้ ทัสสนะ คือความเห็นในญาณ เราจะคิดอันใด ทำอันใดถ้าไม่มีสมาธิแล้ว ความคิดอันนั้นงานนั้นจะไม่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง และไม่สำเร็จ ถ้าหากว่างานของเราถ้าทำมันจะทำอย่าไร เมื่อจะทำอย่างไรแล้ว ถ้าจิตเราธรรมดาแล้วมันไม่รู้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าหากเรานั่งสมาธิแล้วทั้งโลกีย์ และโลกุตระ ทางที่เราจะเดินไปแห่งชีวิตจะเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง และงานนั้นๆ จะมีประสิทธิภาพเพราะมันรู้ตามความเป็นจริงแห่งชีวิตแล้ว


ประการที่ ๓ เพื่อให้ได้มาแห่งสติสัมปชัญญะ สติ เราระลึกได้ไม่หลงไม่ลืม สัมปชัญญะ เรารู้สึกตัวอยู่เสมอ


ประการที่ ๔ เพื่อให้สิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส กิเลสของเรามันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเราก็จะลดน้อยถอยลง


"ฉะนั้นให้เห็นความสำคัญของการนั่งสมาธิ อย่านั่งไปโดยไม่มีเหตุผล และอย่างมงาย"




ยาววา หนาคืบ

ธรรมะอยู่ที่ไหน ธรรมะก็อยู่ที่ ยาววา หนาคืบ นี้เอง พระอรหันต์ทั้งหลายเขาหนีไปจากทุกข์ เพราะได้ธรรมะจากตัวเอง อย่างเช่นว่าเราพบธรรมะ แต่ไม่เห็นธรรมะ เราพบกับธรรมะ เรารู้ทุกวัน อย่างเช่นว่า


อิริยาบถ ๔ นี้ เราเอาเวทนาในตัวเรานี้ มันเจ็บ มันปวด มันเมื่อย มันสบาย ไม่สบาย เฉย เป็นเวทนา ก็มันอยู่ในตัวและจิต และก็อริยาบถ ก็เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอนทุกวัน เราอย่าประมาทให้ใช้สติกำหนด นอกจากนั้นคือชีวิต คือจิตของเรานี้ จะไปสวรรค์ก็เพราะจิต จะไปมรรค ผล นิพพานก็เพราะจิต ถ้าจะไปสวรรค์ก็ให้ปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จุติขณะมีสติกำหนดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมก็ดี จะไปสวรรค์ เพราะเหตุใด เพราะว่าเมื่อสัมผัสกับสติปัฏฐานทั้ง ๔ จิตก็เป็นกุศล จิตบริสุทธิ์ ฉะนั้นให้เรายึดในการปฏิบัตินี้ ให้เป็นอาจิณณกรรม เวลาเมื่อตายไม่มีอะไรแล้วที่จะเป็นที่พึ่งแก่เรา นอกจากจิตของเราที่สัมผัสกับสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้จะได้ทั้งขึ้น ทั้งล่อง ทั้งขึ้นก็จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ทั้งล่องนี้คือ สวรรค์คือแน่นอน ถ้าจิตเราบริสุทธิ์ หรือว่าอินทรีย์แก่กล้าก็เข้านิพพานเลย.


ธรรมจริยา

ธรรมจริยา คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเรามีการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ แล้วเราจะถึงซึ่งความหลุดพ้นจากกิเลส ครั้งแรกเราต้องหลุดพ้นด้วยการข่มเสียก่อน ทุกวันนี้เราก็พ้นอย่าไปว่าวิมุตติไม่มี เราข่มไว้ชั่วคราว เราสะกดไว้ด้วยกรรมฐาน ปกติเราก็ข่มไว้ อย่าไปโกรธให้ใคร เราไม่พอใจกับใครก็จงมีสติข่ม เราต้องทำสมาธิสะกดไว้นี้ก็เป็นการหลุดพ้น ละพ้นจากกิเลส และต่อไปมันจะตัดกิเลสได้เด็ดขาดในสักวันหนึ่ง

เมื่อตัดได้เด็ดขาดแล้วเรายังมีชีวิตอยู่ ก็หมายความว่าเรามีแต่ขันธ์ไม่มีกิเลส มีแต่ขันธ์ชีวิตไม่มีกิเลส หน้าตายังเหมือนเดิม แต่ภายในไม่มีกิเลส การหลุดพ้นอย่างยอดก็คือ ตายไปเลยดับกิเลสไปเลย เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ให้เราข่ม และสะกดไว้ แล้วมันจะเด็ดขาดในสักวันหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีขันธ์อยู่ก็เป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ ถ้าถึงจุดหมายปลายทาง จะดับทั้งขันธ์กับทั้งกิเลส การที่จะหลุดพ้นอย่างนี้ ก็จะต้องยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้นมา ให้ปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เพราะกรรมฐานนี้คล้ายครอบจักรวาล และปฏิบัติทุกวันๆ กิเลสจะหายๆ จนกระทั้งโลกหายหมดเลย คือ กิเลสทั้งหลายหมดไป เพราะอำนาจแห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้แหละ การจะถึงซึ่งวิมุตติธรรมนี้ เราจะต้องมีกรรมวิธีคือ เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ และจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ และถึงวิมุตติธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกวันชีวิตที่เกิดขึ้นมาในโลก.


การติด ๔ ประการ

นักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน ๔ เพื่อประโยชน์อันใด ก็เพื่อความหลุดพ้น เพื่อ นิพพิทา เพื่อความดับไปแห่งกิเลส ทำไมจึงต้องพ้นไป เพราะมันมีความทุกข์ เราจะพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยวิธีใด ก็ด้วยที่เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔ การปฏิบัติก็เพื่อเป็นโยชน์อันใด ก็เพื่อจะให้หลุดจากวัฏฏสงสาร เพราะเหตุใดสัตว์ทั้งหลายจึงไม่หลุดพ้น พระพุทธองค์คิดด้วยพระองค์เองด้วยพระดำริว่า มีมูลเหตุ ๔ ประการ

๑. ติดในกาม
๒. ติดอยู่ในความสุข
๓. ติดอยู่ในความเที่ยง
๔. ติดอยู่ในตัวตน


ติดอยู่ในความงามนั้น ให้เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แก้กามคุณในโลกนี้ ในรูปภพ ในอรูปภพ และติดอยู่ในความสุข มันติดอยู่ก็ไม่พ้นจากทุกข์อย่างนี้แหละ การทิ้งความสุขได้ต้องเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา นี่แก้ความเที่ยง สัตว์ทั้งหลายไม่อยากให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลง อย่างไรเป็นอย่างนั้น อุปาทานถือความไม่เปลี่ยนแปลงไม่โยกย้าย และติดในตัวตน เช่น ตัวเรา ตัวเขาเป็นต้น ดูตามเป็นจริงมีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ให้เจริญธัมมานุปัสสนาแก้นิวรณ์ ๕ แก้ตัวตน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ใส่ชื่อ เราก็ติดอุปาทานอยู่ว่าเรา ว่าเขา ว่าตัว ว่าตน ธรรมนี้ ก็มาแก้เรื่องอัตตา เรื่องตัวตน


ฉะนั้นเราบำเพ็ญกายานุปัสสนาแก้กาม เราบำเพ็ญเวทนานุปัสสนาแก้ความสุข จิตตานุปัสสนาแก้ความเที่ยง ธัมมานุปัสสนาแก้ความมีตัวตน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงให้เราเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี่ก็เพื่ออย่างนี้เอง ฉะนั้นเราหลุดพ้นจากความกามได้ จากความสุข จากความเที่ยง จากความมีตัวตนได้ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ .




ความพร้อม

ท่านทั้งหลายถึงพร้อมแล้วหรือยัง การที่เราถึงพอเรียกว่า สัมปะทา สัมปะทาแปลว่า ถึงพร้อม หรือพร้อมแล้ว การถึงพร้อม ถึงพร้อมด้วยอะไร คือถึงพร้อมด้วยศรัทธาถือว่าเราเสื่อมใสศรัทธาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้มีคนมาจ้างให้ฆ่าสัตว์เราก็ไม่ทำ ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวเรียกว่า อาจลศรัทธา อันนี้ถึงพร้อมแล้ว คือถึงพร้อมด้วยศรัทธา และศีล และมีความเสียสละ และมีวิปัสสนาปัญญานี้เรียกว่า การถึงพร้อม ฉะนั้นขอให้พวกเราพร้อมทุกอย่างที่ได้กล่าวมา แล้วก็จะได้ทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นในขันธสันดาน โดยเฉพาะการถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เรียกได้ว่าเราได้ที่พึ่งแล้วในพระธรรมวินัยนี้


ฉะนั้นเราอย่าเกียจคร้านเบื่อหน่าย และตั้งจิตให้เป็นมหากุศลอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นกองแห่งกุศลล้วนๆ เป็นมหากุศล เป็นบ่อเกิดแห่งบุญล้วนๆ ฉะนั้นขอให้เราถึงพร้อมด้วยวิปัสสนาปัญญา.




กำจัดความหลง

วิจิกิจฉาองค์ธรรมได้แก่ โมหะ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ยา มิจฉาทิฏฐินี้ ก็สิงในขันธสันดานต่อไปไม่มีวันที่จะสิ้นสุดได้ เหมือนเรามีโรคในตัวของเรา คือว่า มีความโลภ ความโกรธ ความหลงในตัวของเรา เมื่อมีอยู่ตราบใดตัววิจิกิจฉานี้ ก็จะอยู่ไปตราบนั้น เมื่อมีวิจิกิจฉานี้เอง จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายวนเวียนอยู่ในวัฏฏะนี้เป็นเวลานาน


ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนา เพื่อเอาตัววิจิกิจฉานี้ออกจากจิตใจ เหมือนเรามีโรค ถ้ากินยาลงไปแล้วมันก็จะไปทำลายโรคให้หมดไป สิ้นไป ข้อนี้ฉันใดปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราต้องตั้งสติปัฏฐานไว้ในตน ตัววิจิกิจฉาความสงสัยจะลดไปหมดไป ตัววิจิกิจฉานี้เป็นนิวรณ์ธรรมที่สำคัญ ที่กั้นเราไม่ให้บรรลุความดี ฉะนั้นให้รู้ไว้เสีย การรู้นี้ทำให้เกิดคุณธรรม ฉะนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ต่อไป.



ขณะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสว่า “ ขะโณ โว มา อุปัจจะคา ” ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเลย ขณะ คือ กาลเวลา วัน เดือน ปี ที่เป็นขณะ ขณะในพระไตรปิฏกแบ่งเป็น ๔ อย่างคือ
๑. เราได้มาพบพระพุทธศาสนา
๒. เราได้เกิดครบ ๓๒ ประการ
๓. เราได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นบุญเห็นบาป
๔. อินทรีย์ทั้ง ๖ สมบูรณ์ อินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่นี่เราเอาขณะนี้ ตักตวงช่วงชีวิตของเราที่เกิดมา เราต้องตักตวงช่วงชีวิตนี้ ให้เป็นแก่นสาร เป็นสาระ เป็นประโยชน์


พระพุทธศาสนาของเรานี้ กว่าจะมีได้เป็นการยาก เพราะกว่าที่พระพุทธเจ้าจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มมันใช้เวลานานมาก พระองค์คิดไว้ในใจว่าเป็นพระพุทธเจ้า ๗ อสงไขย ออกปาก ๙ อสงไขย อสงไขยนั้นแปลว่านับไม่ได้ คำนวณไม่ได้ เปรียบเอาภูเขาหินมีความกว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ หนา ๑ โยชน์ ทุกหนึ่งร้อยปีมีเทวดานำผ้ามาบางๆปัดจนภูเขาราบเรียบถึงจะเท่ากับ ๑ อสงไขย นี้ ๗ อสงไขย และ ๙ อสงไขย มันจะนานสักแค่ไหน การสร้างบารมีให้เต็มไม่ใช่วันสองวัน และจะเกิดพระพุทธศาสนาได้มันต้องมี บุคคลเหตุ มี “ พุทโธ โลเก อุปปันโน ” พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก ก่อนที่ศาสนาจะอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านไว้ศาสนา พระพุทธเจ้าบางพระองค์ ท่านไม่ไว้ศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าบางพระองค์มีอายุยืน ๑๐,๐๐๐ ปีบ้าง ๒๐,๐๐๐ ปีบ้าง ในระยะหมื่นถึงสองหมื่นปีนี้ พระองค์นำสัตว์โลกเข้าสู่พระนิพพานเหมือนกัน แต่พระองค์ไม่ไว้ศาสนา พระพุทธเจ้าโคตมะของเรานี้ไว้ศาสนาเป็นบุญของเรา ถ้าพระองค์ไม่ไว้แล้วพวกเรามืดหมด ขณะนี้แหละที่เราได้พบธรรม และวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ แม้เราไม่พบพระองค์แต่เราพบธรรม การปฏิบัติธรรม วินัยคือ เราตั้งอยู่ในศีล ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เราเจอพระพุทธเจ้าทุกวัน ถ้าเราอยู่ในศีล ในการปฏิบัติธรรมอันนี้เป็นขณะหนึ่ง


ขณะที่ ๒ มนุษย์ที่จะเป็นคนขึ้นมาได้ตั้งแต่ กลละ พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นก้อนเลือด ก้อนชิ้น กว่าจะมาเป็นคนนั้นเป็นได้ยากดังนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขนโคกับเขาโค อย่างไหนมีมากกว่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เขาโคน้อยกว่าขนโค คือ เมื่อเกิดเป็นคนแล้วอย่าเสียเวลาเปล่า รีบเร่งทำความเพียรปฏิบัติธรรม อย่ามัวแต่หลับนอน มิเช่นนั้นจะเสียเวลาเปล่า.


ขณะที่ ๓ ผู้มีสัมมาทิฏฐิบุคคลนั้นหาได้ยาก มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เห็นว่าตายแล้วไม่เกิด เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่าทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป คนพวกนี้แทบไม่มีทางที่จะหลุดจากนรก ไฟเผากัปป์ก็จะไปอยู่ขอบจักรวาล ไม่ได้เกิดเทวโลก ไม่ได้เกิดพรหมโลก ฉะนั้นพวกเราเห็นบุญเป็นบุญ เห็นบาปเป็นบาป ได้เจริญวิปัสสนา เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล


ขณะที่ ๔ เป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ อินทรีย์แปลว่าความเป็นใหญ่ เป็นใหญ่อย่างไร คือ รูปทั้งหมดในโลกขึ้นอยู่ที่ตา เสียงทั้งหมดในโลกขึ้นอยู่ที่หู กลิ่นทั้งหมดในโลกขึ้นอยู่ที่จมูก รสทั้งหมดในโลกขึ้นอยู่ที่ลิ้น การสัมผัสทั้งหมดในโลกขึ้นอยู่ที่กาย ความคิดดีไม่ดีอยู่ที่ใจ ทำตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ให้เป็นประโยชน์ คนที่ตาดี หูดี จมูกดี ลิ้นดี กายดี ใจดีเป็นโอกาสที่จะกอบโกยโลกีย์สมบัติกับโลกุตระสมบัติ จะเอาโลกีย์สมบัติก็ได้ โลกุตระสมบัติก็ได้ เป็นมรดกที่พ่อแม่ให้เราอย่างล้ำค่า อย่าไปเข้าใจผิดที่พ่อแม่เราไม่ได้ให้อะไรอย่าไปเข้าใจอย่างนั้น พ่อแม่ให้เราแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้เป็นประโยชน์ ทั้งโลกีย์ โลกุตระ โลกีย์เราได้ใช้ไปหาเงินหาทองพอสมควรแล้ว โลกุตระนี้เราจะเข้าสู่มรรค ผล นิพพานอันนี้เป็นทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้นขอให้ตักตวงเอาประโยชน์ในการที่เรามาวัดนี้.



ธรรมะอยู่ที่ไหน

เอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ขันธ์ ๕ มีอะไร คือ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในการทำวัตร “ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ” เราทำวัตรเราต้องสนใจในบทสวด อันนี้เป็นปริยัติ ที่เราสวดที่เราทำวัตรนั้นเป็นพุทธวจนะเพื่อเตือนเรา นี้เป็นปริยัติสัทธรรม และปฏิปัตติธรรมเราเอาปริยัติมาปฏิบัติ อย่างทำวัตร “ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขาทุกขา แปลว่า ทุกข์ทั้งหลาย สังขิตเตนะ แปลว่า โดยสรุปแล้วก็มีขันธ์ ๕ ทุกข์มีอยู่ที่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีอะไร คือ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นรากแห่งธรรมะ ขันธ์ ๕ นี้เวลาเรากำหนดพองหนอยุบหนอ มันได้ขันธ์ ๕ ที่ตรงไหน ขันธ์ ๕ ก็อยู่ที่พองหนอยุบหนอนี่ ขันธ์ ๕ ก็อยู่ที่ตรงนี้ เพราะขันธ์ ๕ ย่อลงมาให้สั้นที่สุดคือ รูปกับนาม รูปคือสิ่งที่ไม่รู้อารมณ์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นนามธรรม

ตัวพองนี้เป็นรูป ตัวยุบก็เป็นรูป ตัวที่เข้าไปรู้นี้คือนาม คือใจ ให้เราเอารูปนามนี้เป็นอารมณ์ ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง คือมันปวด มันเจ็บ อนัตตา คือกำหนด บางทีก็หาย บางทีก็ไม่หาย เห็น ๓ อย่างนี้เรียกว่า อารมณ์วิปัสสนาได้เกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย รูปกับนามนี้ พระพุทธเจ้าได้เอาสติมาเป็นเครื่องมือ เป็นอารมณ์มาคู่กับจิต สติกับจิตนี้เป็นคู่กัน จิตนี้เป็นวิญญาณ สตินี้เป็นเจตสิก จิตนี้ต้องอาศัยสติด้วย เมื่ออาศัยสติเราก็เอาสติตัวนี้กับจิตเอาไปรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม เหมือนกับนายพรานจะยิงลิง จะฆ่าลิง ลิงตัวนี้ก็ขึ้นไปอยู่บนต้นตาลเรียงกัน ๔ ต้น ลิงนี้มันก็ไปต้นที่ ๑ จากต้นที่ ๑ ไปต้นที่ ๒ จากต้นที่ ๒ ไปต้นที่ ๓ จากต้นที่ ๓ ไปต้นที่ ๔ จากต้นที่ ๔ ไปต้นที่ ๓ กลับไปกลับมา ลิงคือจิต นายพรานจะต้องยิงลิงนั้นคือโยคี จะต้องมีสติไปกำหนดที่กาย พองหนอ ยุบหนอ ถ้ามีเวทนาไปกำหนดที่เวทนา ถ้ามันคิดไปเราก็กำหนดคิด นิวรณ์ ๕ เกิดขึ้นให้กำหนดนิวรณ์ ไปๆมาๆอย่างนี้ แล้วจะเข้าถึงธรรมะกิเลสก็จะตาย ฉะนั้นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้จึงมีความสำคัญในการเจริญวิปัสสนา การเอาสติไปตั้งที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมนี้ แล้วพอขณิกสมาธิเกิดขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิ เมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้นญาณทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น และสำคัญที่สุดห้ามประมาทในอริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน

ให้มีสติกำหนดด้วยตลอดเวลา ยืนก็อย่ายืนเฉยๆให้กำหนดยืนหนอๆ เดินก็อย่าเดินเฉยๆให้กำหนดเดินหนอๆ นั่งก็อย่านั่งเฉยๆให้กำหนดนั่งหนอๆ นอนก็อย่านอนเฉยๆให้กำหนดนอนๆ อินทรีย์ ๖ เมื่อเราเห็นก็ให้กำหนดเห็นหนอๆ เมื่อเราได้ยินเสียงก็ให้กำหนดเสียงหนอๆเมื่อเราได้กลิ่นก็ให้กำหนดกลิ่นหนอๆ เมื่อเราได้รสก็ให้กำหนดรสหนอๆ เมื่อเราได้สัมผัสก็ให้กำหนดถูกหนอๆ เมื่อเราคิดก็ให้กำหนดคิดหนอๆ นี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า มันได้อยู่ในคัมภีร์ใบลาน มันอยู่ที่ตัวของเรา อยู่ในตัวของเรา

"ท่านทั้งหลายทุกคน ตาเป็นธรรมะ หูเป็นธรรมะ จมูกเป็นธรรมะ ลิ้นเป็นธรรมะ กายเป็นธรรมะ ใจเป็นธรรมะ กายเป็นธรรมะ เวทนาเป็นธรรมะ จิตเป็นธรรมะ นิวรณ์เป็นธรรมะ อิริยาบถ ยืนเป็นธรรมะ เดินเป็นธรรมะ นั่งเป็นธรรมะ นอนเป็นธรรมะ" ธรรมะอยู่ตรงนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ในคัมภีร์อยู่ในตัวเรา.


.......................................................................




2 ความคิดเห็น:

  1. jenie18.4.53

    สาธุ ๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ26.5.53

    โมทนาสาธุกับพี่ๆที่นำธรรมดีๆ มาให้อ่านค่ะ
    นุ๋แดง เพิ่งเคยเห็นภาพหลวงปู่ทอง พอดีมีแม่บุญธรรมท่านนึงอยู่ที่บ้านเวียงหนองล่อง ลำพูนค่ะ ซึ่งนั่งรถไปไม่นาน ก็จะถึง อ.จอมทอง ท่านเป็นศิษย์หลวงปุ่ทอง ด้วยค่ะ หลายปีก่อน นุ๋แดงได้มีโอกาสพาเพื่อนๆ ไปเวียนเทียนถวายในหลวงที่วัด นี้ด้วยค่ะ ^^

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม