Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

9 พฤศจิกายน 2564

สถานที่ปฏิบัติธรรม วัดอัมพวัน

 วัดอัมพวัน อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี

โทรศัพท์ ๐-๓๖๕๙-๙๓๘๑

โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์
(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

หลวงพ่อจรัญจะลงรับแขกวันละ ๒ ครั้ง คือ๑๐ โมงเช้า และ บ่าย ๒ โมงพระธรรมสิงหบุราจารย์
(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
ท่านจะเทศน์ทุกวันพระ เวลาบ่าย ๒ โมง ที่ศาลา ร.๕




การลงทะเบียนและระยะเวลาเข้าปฏิบัติธรรม

แบบบุคคลทั่วไปการเข้าปฏิบัติธรรมที่วัด จะมีแบบ ๓ วัน และแบบ ๗ วัน ซึ่งหากเป็นผู้เข้าฝึกปฏิบัติธรรมใหม่ ขอแนะนำให้เข้ากรรมฐานแบบ ๗ วัน เพื่อที่จะได้รับผลดีที่สุดสำหรับการเข้าปฏิบัติธรรมแบบ ๓ วัน สามารถไปลงทะเบียนได้ที่วัด ทุกวันศุกร์ ก่อน ๔ โมงเย็น และจะลาศีล (กลับบ้าน) ก่อนบ่ายของวันอาทิตย์ครับ (อาจจะเป็นเสาร์ช่วงเย็น อาทิตย์ช่วงเช้า แล้วแต่เจ้าหน้าที่จะดูความเหมาะสมครับ)


สำหรับการเข้าปฏิบัติธรรมแบบ ๗ วัน ก็จะสามารถไปลงทะเบียนได้ที่วัด ทุกวันโกนก่อน ๔ โมงเย็นเช่นกันครับ และลาศีลในวันโกนถัดไป (วันโกนคือวัน ก่อนวันพระ ๑ วัน)ในปัจจุบันนี้การนับวันบางท่านจะนับวันรวมวันที่ไปลงทะเบียนเป็นวันแรก แล้วนับต่อไปจนครบ ๗ วัน แบบนี้ก็ไม่ผิดระเบียบแต่อย่างใดครับ แต่หากกระทำได้ก็ควรเข้าวันโกนออกวันโกนนะครับ


การลงทะเบียนเข้าปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นต้องจองหรือโทรไปแจ้งล่วงหน้าครับ ไปให้ตรงกับวันเวลาที่กำหนดเพียงเท่านั้นครับ




เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ก็ให้นำสัมภาระเข้าไปเก็บยังที่พักที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ได้เลยครับ จากนั้นอาบน้ำ เปลี่ยนเป็นชุดปฏิบัติธรรมแล้วมารอที่อาคารภาวนา ๑ ชั้นบน ในเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ครับ ท่านพระครูจะลงมาสอนกรรมฐานเบื้องต้นให้ครับดังนั้นหากท่านไปไม่ตรงกับวันที่ทางวัดกำหนด จะไม่มีการสอนกรรมฐานเบื้องต้นให้ แต่จะมีวีดีโอให้ดูครับ


สำหรับการพาบุตรหลานไปปฏิบัติธรรมด้วยนั้น สามารถกระทำได้ แต่ที่วัดจะไม่มีการแยกการสอน ไม่มีการการฝึกหรือที่พักเป็นพิเศษ จำเป็นจะต้องปฏิบัติรวมกับบุคคลทั่วไปครับสำหรับเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องนำหนังสืออนุญาตจากผู้ปกครองนำติดไปด้วยครับ สามารถใช้วิธีเขียนก็ได้ โดยระบุชื่อผู้ปกครอง อนุญาตให้มากี่วัน เบอร์โทรศัพท์ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนครับ


การเข้าปฏิบัติธรรมสำหรับชาวต่างชาติ (ภาคภาษาอังกฤษ)

การสอนกรรมฐานและสอบอารมณ์ในภาคภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาตินั้น สามารถให้เดินทางไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดของแก่นได้ทุกวันครับ ที่เบอร์โทรศัพท์ ๐๔๓-๒๓๗-๗๘๖, ๐๘๗-๔๕๕-๘๑๖๕ แฟกซ์ ๐๔๓-๒๓๗-๓๙๐ ได้ทุกวันครับ




แบบหน่วยงาน องค์กรหรือหมู่คณะ

ทางวัดมีการจัดปฏิบัติธรรมเป็นหมู่คณะให้กับหน่วยงานหรือองกรณ์ต่างๆ ได้เข้าปฏิบัติธรรม ๓-๗ วันแล้วแต่นโยบายของหน่วยงานนั้นๆ โดยจะฝึกปฏิบัติแยกกับผู้ปฏิบัติทั่วๆ ไป และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติจะได้รับประกาศนีย์บัตรจากทางวัดมอบให้ด้วย ในการจองนั้น จะต้องไปจองด้วยตนเองที่สำนักเลขาฯ ของวัด เพื่อที่จะไปตรวจดูว่า วันและระยะเวลาที่ต้องการมาฝึกปฏิบัตินั้น มีผู้อื่นจองอยู่หรือไม่ และจะสามารถจองได้ในวันไหน ซึ่งหากเป็นไปได้วันที่จะขอเข้ารับการฝึกปฏิบัตินั้นเลือกให้ตรงกัับวันโกนก็จะดีครับ แต่พยายามหลีกเลี่ยงวันหยุดสำคัญต่างๆ จะดีมากครับ จากนั้นก็จะต้องทำจดหมายยืนยัน โดยนำรายชื่อของผู้ที่จะไปทั้งหมด ระบุเพศ อายุ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองของหน่วยงานนั้นๆ แล้วไปติดต่อที่ สำนักเลขาฯ ตรงข้ามกับร้านหนังสือข้างกุฏิหลวงพ่อได้ทุกวันครับสำนักงานเลขานุการวัดอัมพวัน


วัดอัมพวัน อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี
โทรศัพท์ ๐-๓๖๕๙-๙๓๘๑




แบบไม่ตรงวันที่ทางวัดกำหนด

การไปไม่ตรงวันหรือไปในวันอื่น ที่นอกเหนือจากที่มีในกฎระเบียบปฏิบัติของทางวัดนั้น อยากให้ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกปฏิบัติ พึงพิจารณาในผลเสียต่างๆ เสียก่อน ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่


 ๑. ผิดกฎระเบียบของทางวัดที่วางไว้


 ๒. การเรียนเรียนปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น จะต้องเรียนจากวีดีโอ ซึ่งหากเข้าปฏิบัติตามระเบียบของทางวัดจะมีพระครูเป็นผู้สอนครับ จะสามารถสอบถามได้หากติดขัด หรือเวลาไม่เข้าใจครับ ท่านก็จะสามารถปฏิบัติให้ดูซ้ำอีกครั้งได้


 ๓. ตามปกติหากเข้าวันโกน ในวันพระหลวงพ่อท่านจะมาให้กรรมฐาน และเทศน์สอนด้วยตัวท่านเอง


การรับกรรมฐานและได้รับการเทศน์สอนจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้น เป็นประโยชน์กับตัวผู้ปฏิบัติเองมากๆ เป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติอย่างยิ่ง ที่ได้เรียนจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อโดยตรง ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติไปไม่ตรงวันแล้ว ก็จะไม่ได้เข้าพิธีที่ว่านี้ หรือหากได้เข้า ก็จะเป็นวันที่ท่านใกล้จะกลับแล้ว ฉะนั้นช่วงก่อนหน้านั้นท่านจะได้รับประโยชน์น้อยกว่า


 ๔. พิธีลาศีลจะไม่ตรงกับคนอื่น หรือบางทีก็อาจจะต้องลาศีลเอง หากเราไปไม่ตรงวันนั้น เมื่อเราเริ่มเข้าปฏิบัติ ผู้ที่มาเข้าปฏิบัติก่อนหน้าเรา เขาก็จะเริ่มเข้าพิธีลาศีลกันแล้ว แต่เรายังไม่ได้รับกรรมฐานเลย ซึ่งเมื่อเห็นผู้อื่นเริ่มทะยอยกันกลับท่านก็จะจิตใจวุ่นวาย อยากกลับบ้าน คิดถึงบ้านบ้าง เลยทำให้การปฏิบัติไม่ค่อยได้ผล มีแต่จิตใจที่อยากจะกลับบ้าน ซึ่งถ้าท่านฝืนใจไม่ได้แล้วกลับบ้านไป ก็จะเสียสัจจะที่ให้ไว้เสียอีกครับ


 ๕. ในการดูแลผู้ปฏิบัติ เจ้าหน้าที่และแม่ครูจะต้องดูแลเราแยกออกจากกลุ่มคนที่เข้าในวันโกน กับวันศุกร์ เป็นการเพิ่มงานให้กับผู้ดูแลด้วยครับ


หากพิจารณาดูแล้ว ยังจำเป็นจะต้องการไปปฏิบัตินอกเหนือจากระเบียบที่วางไว้จริงๆ ก็สามารถกระทำได้ โดยการแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ในวันที่เราไปที่วัด ในตอนรับสมัครครับการไปเข้าปฏิบัติธรรมแบบไม่ตรงวันนั้นขอให้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า จำเป็นจริงๆ ต้องจำเป็นจริงๆ พยายามอย่างยิ่งยวด สุดกำลังสติปัญญา้ กระทำทุกทางอย่างสุดความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถไปให้ตรงกับวันที่ทางวัดกำหนดไว้ได้แล้ว ก็ค่อยไปไม่ตรงวันครับเหตุที่เราก็ควรพยายามกระทำตามระเบียบให้มากที่สุด เพราะผลเสียทั้งหลายจะตกอยู่กับเราเอง เราไปไม่ตรงวัน ไม่อยู่ตามวันที่กำหนด เกินบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่เราสะดวกนั้น จะทำให้เราเคยชินกับการหาเหตุผลที่คิดว่าถูกต้องมาตามใจตนเอง เริ่มต้นก็ตามใจตนเองแล้ว และเวลาปฏิบัติซึ่งเป็นการฝืนใจตนเองทั้งสิ้นนั้น ท่านจะทำได้หรือไม่โปรดพิจารณาครับ

อย่างไรเสีย พระเดชพระคุณหลวงพ่อ แม่ครู และผู้ดูแลทุกท่านก็ให้ความเมตตารับท่านเข้าฝึกเบื้องต้นในสำนักคฤหัสถ์อย่างแน่นอนครับ ยกเว้นเป็นเหตุปัจจัยที่ดูแล้วท่านไม่สามารถปฏิบัติได้จริงๆ ผิดข้อห้ามที่สำคัญ อันมีผลต่อตัวท่านต่อการปฏิบัติจริงๆ เจ้าหน้าที่จึงไม่อนุญาตให้เข้าปฏิบัติครับหากเราพยายามอย่างที่สุดแล้วสามารถกระทำได้ ก็จะทำให้จิตใจท่านเข้มแข็ง เวลาปฏิบัติก็จะมีแต่ความมั่นอกมั่นใจว่า้ถูกต้องตามระเบียบตั้งแต่เริ่ม ท่านก็จะประสบผลดีครับ


การเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรม

สัมภาระต่างๆ เราก็ไม่ควรติดตัวอะไรไปมากมายครับ โดยเฉพาะทรัพย์สินหรือของมีค่ามิต้องนำไปด้วย เพราะในการเข้าปฏิบัติธรรม จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหาร หลวงพ่อท่านให้ครับ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเดียว ดังนั้นสัมภาระต่างๆ ก็เอาเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้นครับ




· ชุดปฏิบัติธรรมสีขาว ในกรณีที่ท่านไม่สามารถหาชุดขาวได้ ทางวัดมีให้ยืม ครบทุกอย่าง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทางวัดจะให้ยืม ๒ ชุดครับ

o ชาย กางเกงขายาวสีขาว เสื้อแขนสั้นสีขาว
o หญิง เสื้อแขนยาว ผ้าถุงสีขาว สไบสีขาว


การแต่งกายของผู้เข้าปฏิบัติธรรมไม่ควรใช้เครื่องแต่งกายอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติของทางวัด เช่น ผู้หญิงจำเป็นจะต้องนุ่งผ้าถุงสีขาว ไม่ควรสวมกางเกง เราต้องหัดฝืนใจตนเพราะการฝึกปฏิบัตินั้น จะเป็นการฝืนใจตนเองทั้งสิ้นครับ หากตามใจตน ตามความเคยชิน ความถนัดของตนเองตั้งแต่ชุดปฏิบัติธรรมแล้ว ท่านจะปฏิบัติให้ได้ผลได้อย่างไรครับ


 บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่แสดงตนเฉพาะบุคคล

ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว ชุดนอนควรใส่ชุดปฏิบัติธรรมนอนนะครับ หากใส่ชุดนอนแบบอื่น ควรเป็นสีขาวไม่มีลาย รองเท้าสีใดก็ได้แต่ควรเรียบร้อยเหมาะกับสถานที่ ควรงดเว้นการสวมใส่เครื่องประดับ การใช้เครื่องปะทินผิวทุกอย่าง เช่น แป้ง ครีม เพราะเป็นข้อห้ามในการรักษาศีล ๘ ชุดชั้นในควรเป็นสีใกล้เคียงกับชุดปฏิบัติธรรมครับ ผู้เข้าปฏิบัติธรรมสามารถซักชุดปฏิบัติธรรมได้ มีสถานที่พร้อมครับ หากยืมจากทางวัดก็สามารถให้ทางวัดซักได้



 ที่พัก จะมีอยู่ 2 แบบ คือ ห้องรวมกับห้องโถงใหญ่ ห้องรวมจะพักกันประมาณ ๓ - ๕ คน ส่วนห้องโถงจะพักกันตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป


การเข้าปฏิบัติธรรม และการพักในที่พักนั้น จะแยกกันระหว่างหญิงและชาย หากอยู่อาคารเดียวกัน หญิงชายจะพักคนละชั้น ซึ่งไม่สามารถเลือกสถานที่พักเองได้ เจ้าหน้าที่ท่านจะดู ตามความเหมาะสมครับ ในห้องจะมีเสื่อ หมอน ผ้าห่ม และมีพัดลมเพดานเตรียมไว้ให้ มิต้องนำไปเองครับ ห้องน้ำในวัดเป็นห้องน้ำรวม สามารถไปอาบน้ำและเข้าห้องน้ำได้ทุกที่ มิได้แยกหญิงชาย แต่หากชั้นใดผู้หญิงพัก ผู้ชายก็จะไม่ไปใช้ในอาคารนั้น หรือชั้นนั้นครับ

· อาหาร ที่วัดมีอาหาร "เจ" ให้นะครับ มิต้องกังวลแต่อย่างใด
· ศึกษาวิธีการปฏิบัติเบื้องต้น


o อ่านได้จากเว็บไซต์ในหัวข้อ "กรรมฐานเบื้องต้น"o ดูวีโอสอนการปฏิบัติเบื้องต้นได้ที่นี่ครับ




ข้อที่ควรปฏิบัติระหว่างมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม

· ระลึกถึงคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อบทนี้อย่าได้ขาด


"ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมโดย กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มากแล้ว ไม่สนใจใครทั้งหมด ตัดปลิโพธิกังวลให้หมด (พะว้าพะวัง ห่วงโน้น ห่วงนี่ ห่วงนั่น)ท่านจะไม่ขาดทุน"


· ศึกษา "ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์" ให้หมดเสียก่อน


· ไม่พูดคุยกัน ไม่คะนองวาจา ไม่โทรศัพท์ และไม่อ่านหนังสือ ตลอดเวลาที่อยู่ปฏิบัติธรรมในวัด


· ไม่ทำเสียงดัง เดินต้องสำรวม กำหนดสติตลอดเวลา


· เข้าฝึกตรงตามตารางไม่เกียจคร้าน


· สำรวมตนอยู่ในเขตภาวนา อย่าไปเดินซื้อของ อย่าเดินสำรวจรอบ ๆ บริเวณวัด


· ใช้หลักสติปัฏฐานสี่ในการฝึกปฏิบัติธรรม ตามที่หลวงพ่อสอนเท่านั้น


พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านสอนมาตลอดชีวิตของท่าน โดยมุ่งเน้นให้พวกเรา "สร้างบุญ" โดยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นบุญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นในช่วงระหว่างที่ท่านปฏิบัติธรรม ขอให้ท่านกระทำกิจนี้ให้สมบูรณ์ก่อน อย่าพะวงกับการ "ทำบุญ" ในระหว่างที่ปฏิบัติธรรม เช่น การตักบาตร การสมทบทุนช่วยทางวัดในด้านต่างๆ เพราะเมื่อท่านพะวงอยู่กับสิ่งนี้แล้ว ก็เท่ากับการ "สร้างบุญ" ของท่านไม่ต่อเนื่อง ไม่ตัดปลิโพธิกังวลทั้งหลายตามที่หลวงพ่อสอนขอให้ท่าน "ทำบุญ" เมื่อได้ "สร้างบุญ" จากการปฏิบัติวิปัสสนาเสร็จสิ้นตามจำนวนวันแล้ว เมื่อทำการเปลี่ยนชุดเรียบร้อยแล้วจึงค่อยมา "ทำบุญ" ในลำดับต่อไปครับบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่อาจไม่ถูกใจเรา แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า เรามาที่นี่เพื่อพัฒนาตนเอง หรือฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็ง มีความอดทน และมีสติสมาธิที่แน่วแน่เพื่อให้สามารถ ลด ละ เลิกในสิ่งที่เป็นอกุศล ควรกำหนดสติตลอดเวลาครับ




ข้อที่ควรปฏิบัติในวันกลับบ้าน

เมื่อท่านลาศีลแล้วหากยังอยู่ไม่ครบตามวันที่กำหนด ไม่ควรกลับก่อนนะครับ การลาศีลมิใช่การอนุญาตให้กลับได้ เพียงแต่เป็นพิธีการเท่านั้น ท่านควรถือศีล ๘ ตลอดระยะเวลาที่ยังใส่ชุดปฏิบัติธรรมและอยู่ให้ครบตามจำนวนวันที่่ตั้งสัจจะไว้ครับเมื่อครบกำหนดตามที่ได้ตั้งสัจจะไว้ ควรปฏิบัติในรอบ ๘ โมงเช้าเสียก่อน เมื่อออกจากกรรมฐานประมาณ ๑๑ โมง ทานอาหารเรียบร้อยแล้ว จากนั้นค่อยกลับที่พัก ทำความสะอาดบริเวณที่พัก ทำความสะอาดวัด ห้องน้ำ แล้วจึงค่อยอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เก็บของ และมารอกราบพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่กุฏิ ตอนบ่ายสองโมงก่อนกลับบ้านนะครับ




ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์

ผู้ที่สมัครเข้ามาปฏิบัติธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ ควรทำความเข้าใจ ในระเบียบปฏิบัติดังนี้


๑. ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องแจ้งความจำนงต่ออาจารย์ผู้ปกครอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวก และรับลงทะเบียนโดยจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสับเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่จัดที่พัก แนะนำขั้นตอนแก่ผู้มาใหม่


๒. ต้องแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร ซึ่งทางสำนักจัดเตรียมไว้ให้ ต้องมีบัตรประชาชน หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี เพื่อแสดงแก่อาจารย์ ผู้ปกครองของสำนักจนเป็นที่พอใจ


๓. จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า จะอยู่ปฏิบัติกี่วัน ดังนี้


· ผู้เข้าปฏิบัติธรรม ๗ วัน ทางสำนักจะรับสมัครในวันโกน (ก่อนวันพระ ๑ วัน) โดยต้องอยู่ปฏิบติธรรมต่อเนื่อง ๗ วัน


· ผู้เข้าปฏิบัติธรรม ๓ วัน ทางสำนักจะรับสมัครทุกวันศุกร์ ต้องอยู่ปฏิบัติธรรม วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์


· ส่วนผู้ที่มีความประสงค์อยู่ต่อ หลังจากปฏิบัติครบ ๗ วันแล้ว ให้ขออยู่ต่อเป็นกรณี ๆ ไป


๔. ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ซึ่งไม่มีผู้ปกครองมาด้วย (ยกเว้นได้รับอนุญาต) ผู้ป่วยโรคจิต โรคติดต่อ โรคที่สังคมรังเกียจ หรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ และผู้ที่บวชเพื่อแก้บน ทางสำนักไม่สามารถรับไว้ปฏิบัติธรรมได้


๕. หากนักปฏิบัติยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับอนุญาตจากมารดา บิดา สามี หรือผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร


๖. สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน ในช่วงเช้าหรือก่อน ๑๖.๐๐ น. ควรเข้าที่พักเพื่อพักผ่อน หรือทำกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อถึงเวลาห้าโมงเย็น จึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดปฏิบัติธรรมสีขาวแบบสุภาพเรียบร้อย ไม่มีลวดลายหรือเครื่องประดับ และไม่สวมลูกประคำ เมื่อท่านแต่งชุดขาวแล้ว ห้ามออกไปนอกเขตภาวนา และห้ามไปรับประทานอาหาร

๗. ให้ผู้ปฏิบัติมาพร้อมกัน ณ ศาลาคามวาสี (ศาลาหลวงพ่อเทพนิมิต) อยู่ตรงข้ามศาลาลงทะเบียน เวลา ๑๘.๐๐ น. หรือที่นัดหมาย ที่เจ้าหน้าที่จัดตามความเหมาะสม เพื่อทำพิธีขอศีลแปด จากพระภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียม ดอกไม้ธูปเทียนไว้ให้ผู้ปฏิบัติใช้ในพิธี


๘. ปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ช่วงในแต่ละวันดังนี้

ช่วงแรก    ๐๔.๐๐ น. - ๐๖.๓๐ น.
ช่วงที่สอง ๐๘.๐๐ น. - ๑๑.๐๐ น.
ช่วงที่สาม ๑๓.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น.
ช่วงที่สี่    ๑๘.๓๐ น. - ๒๑.๐๐ น.


๙. ผู้ปฏิบัติต้องมาพร้อมกันที่ศาลาปฏิบัติของสำนัก ตามเวลาที่กำหนดโดยฟังจากสัญญาณระฆัง ใช้ศาลาเป็นที่นั่งกรรมฐาน และบริเวณรอบนอกศาลาเป็นที่เดินจงกรม


๑๐. ขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมาพร้อมกันตามเวลาในการปฏิบัติช่วงแรก ณ สถานที่ปฏิบัติแล้ว หัวหน้าจุดเทียนธูปบูชา พระรัตนตรัย นำสวดมนต์ กราบพระประธานแล้ว จึงเริ่มปฏิบัติธรรม โดยการเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบถ เข้ามานั่งกรรมฐาน ๓๐ นาที สลับกันไปจนครบเวลาปฏิบัติที่กำหนด ส่วนเวลาในการปฏิบัติ ๓๐ นาที ที่กำหนดนี้ ผู้ปฏิบัติอาจปรับ ให้มากหรือน้อยกว่า ๓๐ นาที ตามความเหมาะสมของสภาวะอารมณ์


๑๑. ก่อนถึงเวลาพักทุกช่วง ผู้ปฏิบัติธรรมควรอยู่ในอิริยาบถ ของการนั่งกรรมฐาน ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติในแต่ละช่วง จะได้แผ่เมตตาต่อไปได้ โดยไม่เสียสมาธิจิต

...................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม