Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

27 พฤษภาคม 2565

วัดกำแพงบางจาก

 ประวัติวัดกำแพงบางจาก






วัดกำแพงตั้งอยู่เลขที่ ๒๙๙ ซอยเพชรเกษม ๒๐ ถนนเพชรเกษม แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร วัดกำแพง(คลองบางจาก) เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ในเขตธนบุรี โดยพื้นที่แถบเดิมเรียกว่า เมืองบางกอก หรือ เมืองธนบุรี เป็นวัดขนาดเล็กที่มีการวางผังได้อย่างลงตัว





ความเป็นมาของวัดไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตามคำบอกเล่าสืบทอดกันมา และคงได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง แม้แต่ชื่อวัดก็ไม่ทราบชื่อเดิม ชื่อที่ใช้ในปัจจุบันก็เป็นชื่อเรียกกันในหมู่ชาวบ้านและเรียกกันมาเรื่อยๆ






แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เจดีย์บรรจุอัฐิทรงกลมทางทิศใต้ของพระอุโบสถ ที่ส่วนฐานมีแผ่นศิลาจำหลักข้อความซึ่งสรุปได้ว่า เจดีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและใช้บรรจุอัฐิของ “พระพิศาลผลพานิช”

ภายหลังจากที่ได้จัดการฌาปนกิจศพที่วัดจักรวรรดิราชาวาส และเมื่อได้ไปค้นคว้าในเอกสารสารบาญชี ส่วนที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (สารบาญชีส่วนที่ ๑ คือ ตำแหน่งราชการ)

ทำให้ทราบว่า พระพิศาลผลพานิช เดิมชื่อ จีนสือ เป็นขุนนางเชื้อสายจีนซึ่งรับราชการตำแหน่งสำคัญในกรมท่าซ้าย และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันตก(ฝั่งธนบุรี) หรือบริเวณศาลเจ้าโรงฟอกหนังปัจจุบัน

จากตำแหน่งที่ตั้งของเจดีย์องค์นี้ พอจะสันนิษฐานได้ว่าพระพิศาลผลพานิชน่าจะมีความสำคัญต่อวัดกำแพงนี้เป็นอย่างมาก เป็นไปได้ว่าอาจเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ในการซ่อมแซมวัด





ประกอบกับข้อมูลจากท่านเจ้าอาวาสพบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินต้นเป็นการส่วนพระองค์ที่วัดนี้ และได้พระราชทานแจกันกังไสไว้ ๑ คู่โดยลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้เคยเก็บรักษาไว้ แต่ถูกขโมยไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว พระอุโบสถ






เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูงเป็นฐานสิงห์ หลังคาทรงจั่วลด ๒ ชั้น ๓ ตับ มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสีส้ม มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า มีประตูทางเข้าออก ๒ ด้านๆ ละ ๒ บาน มีหน้าต่างด้านข้างด้านละ ๕ บาน






ลักษณะด้านหน้าพระอุโบสถเป็นแบบหน้าจั่วเปิดชนิดมีสาหร่ายรวงผึ้งซึ่งเป็นงานประดับอันวิจิตรมีที่มาจากแผงกันแดดของอาคารซึ่งทำกันมานานในสมัยอยุธยา

ตรงบริเวณมุขจะมีเสาหานรับหลังคามุข เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดับหัวเสาด้วยบัวแวงประดับกระจกสีเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย

หน้าบันทำด้วยแผงไม้กระดานจำหลักลวดลายพันธุ์พฤกษาและประดับกระจกสี ใต้กระจังประด้วยรวงผึ้ง ข้างเสาหานประดับด้วยลายสาหร่ายรวงผึ้งจำหลักลวดลายที่มีปลายเป็นรูปกนกนาค








ซุ้มประตูและหน้าต่างภายในอาคาร ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรอบอลูมิเนียมตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายพันธุ์พฤกษาที่มีความงดงามแต่ก็เสียหายไปมากแล้ว จากลักษณะโดยรวมพระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่วัสดุที่ได้ประดับส่วนต่างๆ เช่น ระเบียง หน้าบัน ลวดลายปูนปั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีนเป็นแนวพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระประธานในพระอุโบสถ





หลวงพ่อบุษราคัม พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบทอดศิลปะจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานชุกชีมีลักษณะใกล้เคียงกับวัดสุวรรณาราม จากข้อสังเกตที่พระพาหาและนิ้วพระหัตถ์ดูใหญ่ผิดส่วนอาจเป็นไปได้ว่าเคยได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้ว

พระครูศรีปริยติยานุรักษ์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2558 ตนอาพาธต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล คืนหนึ่งฝันเห็นพระพุทธรูปมาบอกว่า เราอึดอัด โดยความฝันดังกล่าวเหมือนความจริงมาก




เมื่อกลับมาพักฟื้นที่วัด จึงให้ลองเปิดวิหารเก่าที่ถูกปิดตายมาหลายสิบปี พบว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งมีไม้ปิดไว้สูงจนถึงเพดาน เมื่องัดออก จึงพบพระพุทธรูปโบราณจำนวนเป็นจำนวนมาก ทั้งทำจากสัมฤทธิ์ และไม้ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร และพระพุทธรูปปางมารวิชัย บางส่วนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปที่พบเกือบทั้งหมดกว่า 20 องค์ เป็น “ปางห้ามสมุทร” ส่วนที่มีการนำไม้มาปิดไว้น่าจะกลัวความสูญหาย จึงเจตนาทำเช่นนั้น สันนิษฐานว่ามีการปิดไว้มากกว่า 80 ปี





พระพุทธรูปบางองค์ถูกตัดเศียรออก มีร่องรอยการใช้ของมีคนเฉาะบริเวณด้านข้างของพระพักตร์ ซึ่งมีการโบกปูนทับถึง 2 ครั้ง คาดว่าผู้กระทำการดังกล่าวอาจคิดว่าเนื้อวัสดุด้านในหล่อด้วยทองคำ เมื่อพบว่าเป็นพระปูนปั้นธรรมดา จึงทิ้งไว้ ต่อมาตอนหลังทางกรมศิลป์มาต่อพระเศียรและบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมด

รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จ





ในสมัยรัชกาลที่๕ ท่านทรงเสด็จมา ทอดกฐินที่วัดคูหาสวรรค์ แต่เรื่องนั้นเริ่มจากสมัยขุนดำนั้น ท่านได้วาดรูปพระพุทธฉายไว้หน้าพระอุโบสถเพื่อให้รัชกาลที่๕ ได้ทอดพระเนตร แล้วเมื่อรัชกาลที่๕ ได้เสด็จมาทางชลมาศ (ทางเรือ) ท่านได้เห็นว่าพระพุทธฉายที่อยู่บนผนังด้านหน้าพระอุโบสถนั้นสวยงามมาก






รัชกาลที่๕ จึงทรงต่อเรือแล้วขึ้นฝั่งมาหน้าวัดกำแพงบางจาก เพื่อมาไหว้พระพุทธฉายที่อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ และเข้าไปกราบพระประธานในพระอุโบสถด้วย

ซึ่งรัชกาลที่ ๕ นั้นเคยพระราชทานแจกันไว้ให้ที่วัดกำแพงบางจากมา ๑ คู่ (ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้สูญหายไปแล้ว) อายุแจกันราวๆ ๑๐๐ กว่าปี ตามที่คนเก่าแก่ที่เค้าเคยตามพ่อหรือแม่มารับเสด็จรัชกาลที่ ๕ นั้นเล่าให้ฟังต่อๆ กันมา





ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธฉาย จะมีองค์จตุคามรามเทพ 2 องค์ ดูงดงามมากๆคร้าบ สามารถกราบขอพรกันได้
ด้านหน้าพระอุโบสถ จะมีวิหารน้อยทั้งสองด้านเขตพุทธาวาส มีการจัดวางแผนผังได้อย่างงดงาม โดยมีอุโบสถเป็นประธานของวัด อันเป็นแบบแผนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีวิหารน้อย ๒ หลัง ขนาบอยู่บริเวณมุมด้านหน้าทางซ้ายและขวาของกำแพงแก้ว วิหารน้อยด้านซ้าย


ประดิษฐานองค์หลวงพ่อบ้านแหลมจำลอง และรูปหล่อหลวงพ่อพูน หรือ ท่านพระครูธรรมรักขิต อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพงบางจาก "หลวงพ่อพูน" ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานชาวบ้านให้ความศรัทธาเคารพนับถือ วิหารน้อยด้านขวา








ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระพุทธรูปปางห้ามญาติและปางห้ามสมุทรเก่าแก่ บางองค์โดนคนร้ายตัดพระเศียร ทางกรมศิลป์จึงมาซ่อมแซมและบูรณะต่อพระเศียร เป็นที่งดงามให้ได้กราบสักการะคร้าบ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ






ลักษณะของสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสเมื่อแยกเปรียบเทียบแต่ละสิ่งกับวัดใกล้เคียงหรือวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกัน เช่น วัดสุวรรณาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ฯลฯ มีความใกล้เคียงกันมากจนสามารถสรุปได้ว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพิจารณาประกอบกับงานตกแต่งด้านอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลอย่างศิลปะจีนปะปนอยู่อย่างมากซึ่งเป็นแนวพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกเหนือจากนี้ งานด้านจิตรกรรมฝาผนังที่มีการใช้คู่สีเขียว แดง หรือ การใช้โทนสีสดกว่าเดิม เทคนิคการเขียนในแบบสมัยใหม่อย่างตะวันตกซึ่งมีระยะใกล้ไกล ทัศนียภาพอย่างเหมือนจริง และการสอดแทรกภาพตลกขบขัน หรือวิถีชีวิตอย่างสามัญชนเพิ่มเข้ามามากขึ้น ล้วนบ่งบอกว่าเป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการที่อาจชวนให้คิดว่ามีการซ่อมแซมหรือบูรณะขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ภาพนิบาตชาดกเรื่อง จุลปทุมชาดกซึ่งเป็นที่นิยมเขียนในสมัยของพระองค์ และมีปรากฏอยู่ในวัดอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน ตลอดจนเทคนิคการเขียนบางอย่างที่คล้ายกับงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบางขุนเทียนในซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน
ภายในพระอุโบสถ จะมีภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร



ภาพทศชาติชาดกหรือพระเจ้าสิบชาติ ฝีมือขรัวอินโข่ง เป็นชาดกที่สำคัญ กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระเตมีย์ใบ้ พระมหาชนก สุวรรณสาม พระเนมิราช มโหสถบัณฑิต ภูริทัตนาคราช จันทรกุมาร นารถพรหม วิฑุรบัณฑิต พระเวสสันดร )


ชาดกทั้ง 10 เรื่อง เพื่อให้จำง่าย มักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว ซึ่งเรียกว่า คาถาหัวใจทศชาติ หรือ คาถาหัวใจพระเจ้าสิบชาติ การเดินทาง หากขับรถมาเอง มาทางถนนเพชรเกษม เลี้ยวเข้าซอยเพชรเกษม 20 ตามป้าย ขับจนสุดซอย ทางจะค่อนข้างแคบหน่อย แต่ก็มีทางให้หลบรถที่สวนมาได้ เข้าไปจอดรถภายในวัดได้เลยคร้าบ มีลานจอดรถบริเวณหน้าวัด และมีตลาดน้ำคลองบางหลวงให้เดินเที่ยวชม ทางเรือก็สามารถเหมาเรือจากท่าช้างมายังคลองบางหลวงได้ นั่งเรือชมวิวเก็บบรรยากาศ ทั้งสองฝั่งไปด้วย


_____________________________________________________________

12 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29.5.65

    สาธุคร้าบ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    วัดนี้น่าสนใจมากค่ะ อยากไปมากยังไม่เคยไปเลย ต้องหาโอกาสไปแน่นอนค่ะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    ขอขอบคุณสำหรับข้อมูล ได้ความรุ้มากค่ะ วัดสวยและดูเข้มขลังมาก

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    วัดงดงามมากๆค่ะ ต้องไปกราบชมค่ะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    สาธุค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    สาธุค่ะ 🙏🙏

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    🙏🙏🙏🙏

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ3.6.65

    สาธุครับ

    ตอบลบ
  9. สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

    ตอบลบ
  10. ขอบคุณที่ทำธรรมะดีๆ เผยแพร่นะคะ

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ4.6.65

    สาธุคร้าบ

    ตอบลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ6.6.65

    อนุโมทนาบุญค่ะ ได้ให้ความรู้และแนะนำ
    รู้จักวัดที่สำคัญ และสวยงามค่ะ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม