Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

10 พฤศจิกายน 2564

ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ

ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่



ดอยจอมทองในสมัยพุทธกาล


ดอยจอมทองตั้งอยู่ทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา*( เป็นเมืองที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินเดียตอนเหนือ) ห่างจากเมืองกุสินาราประมาณ ๒๗ โยชน์* (อาจจะเป็น ๒๗๐ โยชน์ ซึ่งเท่ากับ ๔,๓๒๐ กิโลเมตร ซึ่งตรงกับศัพท์บาลีว่าบางแห่งว่า ลตฺตวีสติทสโสยชนิกะ แปลว่า ๒๗๐ โยชน์) อยู่ท้ายสุดทางทิศตะวันออกของเมืองกุสาวดีราชธานี อันเป็นที่อยู่ของพระยามหาสุทัสสนะราชา มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อ ระมิงคะนที* (ปัจจุบันคือ แม่น้ำปิง) ไหลมาจากทางทิศเหนือผ่านเชิงดอยจอมทอง




ทางทิศตะวันออก ห่างจากเชิงดอยประมาณ ๖๕ วา ไหลไปสู่มหาสมุทรทางทิศใต้และมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งชื่อ สักการะนที* (ปัจจุบันคือ แม่น้ำแม่กลาง) ไหลมาจากดอยลูกหนึ่ง ชื่ออังคะสักการะ* (ปัจจุบันคือ ดอยอินทนนท์) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอังครัฏฐะไหลผ่านดอยจอมทองมาทางทิศตะวันตก ห่างจากเชิงดอยประมาณ ๓๐๐ วา แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำระมิงคนทีที่ทางทิศใต้ของดอยจอมทองห่างประมาณ ๒,๐๐๐ วา



ดอยจอมทองนี้ตั้งอยู่ราวป่า มีลักษณะสัณฐานคล้ายดั่งหลังเต่าทอง มีเนินดินที่งดงามยิ่ง ส่วนบนราบเรียบดั่งศิลาอาสน์แห่งองค์อินทร์ ดอยจอมทองมีความสูงกว่าพื้นบ้านพื้นนาประมาณ ๕ วา ตามตำนานนี้กล่าวว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จมาประทับโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลาย และเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์



ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะด้วยกาย วาจา ใจ แด่องค์พระบรมธาตุทักขิณโมลี พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ประเสริฐล้ำเลิศกว่าใครในโลกทั้ง ๓* ( มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ) พระทักขิณโมลีธาตุได้ประดิษฐานอยู่เหนือดอยจอมทองแห่งนี้ ด้วยแรงอธิษฐานแห่งพระพุทธองค์อันมีกิติศัพท์เลื่องลือมาเป็นเวลาช้านานและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธายินดีปิติปราโมทย์ของหมู่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายในโลกทั้ง ๓ ล้วนแต่มีจิตน้อมเคารพสักการะด้วยอามิสบูชา*( การบูชาด้วยสิ่งของ ) และปฏิบัติบูชาในกาลทุกเมื่อตลอดมา




ดูก่อนสัปปุรุษ*( ฆราวาสผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสน า) ทั้งหลาย เรานี้มีชื่อว่า ติสสมหาเถระ อันเป็นศิษย์ของมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระก็เป็นศิษย์ที่สืบต่อกันตั้งแต่พระมหากัสสปเถระเป็นต้นมา เราจักกล่าวถึงอาจารย์ทิศฐานะ สัณฐานและประเทศแห่งดอยจอมทองโดยสังเขป หากจะกล่าวถึงเรื่องราวแห่งพระพุทธศาสนาโดยละเอียด เริ่มตั้งแต่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยามหาสุทัสสนะ ในเมืองกุสาวดีราชธานี จนกระทั่งพระพุทธศาสนาได้ปรากฎจนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนใส่ใบตาล ใบลานแล้ว ย่อมมีมากมายเสมอดั่งคัมภีร์สามันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยทีเดียว


"พระมหาโมคคัลลานะ สาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สู่ดอยจอมทอง"




เมืองอังครัฏฐะนั้นมีเจ้าผู้ครองนามว่า พระยาอังครัฏฐะ ทรงเสวยราชสมบัติปกครองบ้านเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข อาณาเขตของเมืองนี้กว้างขวางยิ่งนัก มีไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำระมิงคะนที และแม่น้ำสักการะนทีเป็นจำนวนมาก ถึง ๘ หมื่นตระกูลตั้งแแต่นี้ต่อไป




จะได้กล่าวถึงพระยาอังครัฏฐะ กษัตริย์แห่งเมืองอังครัฏฐะผู้บริบูรณ์ด้วยบุญญาบารมี ได้ตั้งจิตคอยสดับข่าวสารการอุบัติบังเกิดขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพ่อค้าที่ผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา


ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ได้รับข่าวสารจากพวกพ่อค้าทั้งหลายที่เดินทางมาจากกรุงราชคฤห์* ( เมืองหลวงของแคว้นมคธ ในประเทศอินเดียตอนเหนือ ) ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติบังเกิดขึ้นแล้วในโลก และพระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับอยู่ ณเวฬุวนาราม*(อารามแห่งแรกในพระพุทธศสาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา) กรุงราชคฤห์ ท้าวเธอก็มีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานเสื้อผ้า เครื่องประดับทั้งหลายแก่พ่อค้าเป็นจำนวนมาก




พระองค์จึงอธิษฐานจิต สมาทานศีล ๕ แล้วประนมกรขึ้นเหนือเศียร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือกล่าวคำอาราธนาว่า "ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ ข้าพระองค์มีความปรารถนาจะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ขอพระพุทธองค์โปรดเสด็จมาสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ได้บำเพ็ญทานบารมีอันเป็นปัจจัยแก่สัพพัญญุตญาณ แห่งข้าพระองค์ด้วยเถิด"เมื่อพระองค์ได้กล่าวคำอาราธนาแล้ว ในคืนวันนั้นเวลาจวนจะใกล้รุ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าสมาบัติตามปกติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วก็ทรงแผ่พระญาณตรวจดูเวไนยสัตว์ทั้งหลายด้วยพุทธจักขุ ทรงทราบว่าพระยาอังครัฏฐะผู้มีความศรัทธาปรารถนาจะถวายทานแก่พระภิกษุทั้งหลาย




ดังนั้นในเวลารุ่งเช้าอันเป็นเวลาที่เหมาะสมในการบิณฑบาตร พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะกับพระอรหันต์บริวาร อีก ๔ องค์ รวมเป็น ๕ องค์ ให้ไปสงเคราะห์แก่พระยาอังครัฏฐะ ผู้ปรารถนาจะถวายทานในคืนวันเดียวกันนั้นเวลาใกล้รุ่ง พระยาอังครัฏฐะก็ทรงพระสุบินว่า



มีพญาหงส์ทอง ๕ ตัว บินมาทางอากาศแล้วร่อนลงยังท้องพระลานหลวงของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงสะดุ้งตื่น ก็มีพระทัยยินดีเป็นอย่างยิ่ง คิดคำนึงว่าในวันพรุ่งนี้พระพุทธองค์คงจะเสด็จมาโปรดเป็นแน่แท้ครั้นรุ่งเช้าพระยาอังครัฏฐะจึงมีพระบัญชาให้ป่าวประกาศแก่ชาวเมืองทั้งหลายให้รีบจัดเตรียมโภชนาอาหารอันประณีตไว้เพื่อถวายบิณฑบาตรแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า





ส่วนพระองค์ก็ทรงชำระพระวรกายประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งมวล ประทับนั่งคอยอยู่ ณ ศาลามุกขโรงหลวง หันพระพักตร์เฉพาะทางที่พระพุทธองค์จะทรงเสด็จมาในขณะนั้นพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นประธาน ห่มจีวรถือบาตร เหาะมาทางอากาศ แล้วก็ลงมายังท้องพระลานหลวง เมื่อพระยาอังครัฏฐะได้ทรงทอดพระเนตรดังนั้น ก็สำคัญว่าเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จมา โปรดพระองค์ จึงรีบเสด็จไปต้อนรับด้วยความยินดีพระทัย แล้วก้มลงกราบแทบบาทแห่งพระมหาโมคคัลลานะพร้อมทั้งกล่าวว่า






"ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นที่สักการะบูชาอย่างสูง การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาสงเคราะห์ข้าพระองค์ในวันนี้นับเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งนัก" พระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวตอบไปว่า "ดูก่อนมหาราชเจ้า เรานั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า" พระยาอังครัฏฐะทรงตรัสถามไปว่า "หากพระคุณเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนั้นพระคุณเจ้ามีนามว่ากระไร" พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบว่า "ดูก่อนมหาราชเจ้า เรานี้เป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นามเราชื่อว่า มหาโมคคัลลานะ




วันนี้พระพุทธองค์ทรงให้เราทั้งหลายมาสงเคราะห์มหาราชก่อน"เมื่อพระยาอังครัฏฐะได้ยินนั้นก็มีความปลาบปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงอาราธนานิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายขึ้นสู่ศาลาหลวง ถวายภัตตาหารอันปราณีต แล้วพระองค์ก็ทรงสมาทานศีล ๘ และขอสดับรับฟังธรรม



เมื่อพระมหาโมคคัลลานะและพระอรหันต์ทั้ง ๔ องค์ ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวคำอนุโมทนาหลังจากนั้นพระมหาโมคคัลลานะก็แสดงพระธรรมเทศนา ให้พระยาอังครัฏฐะตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ*(ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน จนเกิดความชื่นชม ยินดี


ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่น ดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม ๑๐" นี้ ปรากฏอยู่ในพระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ดังนี้


" ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ." ขุ.ชา.28/240/86


พร้อมทั้งถวายพระพรแก่พระองค์ว่า "ขอมหาราชจงมีความสุขเทอญ" แล้วก็อำลาไปสู่ดอยอังคะสักการะ (ดอยอินทนนท์) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอังครัฎฐะ เพราะเหตุว่าดอยลูกนี้เป็นสถานที่ที่พระยาอังครัฏฐะได้กระทำการสักการะบูชาเฉพาะทิศตะวันตกของเมืองอังครัฏฐะอยู่เสมอ พระมหาโมคคัลลานะได้พิจารณาดูประเทศเขตบ้านเมืองของพระยาอังครัฏฐะแล้วจึงปรารภกับพระอรหันต์ทั้ง ๔ ว่า



"ดูก่อนท่านผู้อาวุโส บ้านเมืองนี้เป็นที่เกษมสำราญยิ่งนัก คนผู้ใดมีบาปหยาบช้าได้มาอยู่ในประเทศนี้ คนผู้นั้นย่อมไม่เจริญ เขาย่อมฉิบหายด้วยบาปกรรมของเขาตามที่เคยปรากฎแก่หมู่มนุษย์และเหล่าเทวดาทั้งหลายตามผลกรรมที่สร้างมา สิ่งนี้เป็นจารึกแห่งเมืองอังครัฏฐะมาแต่ดั้งเดิม ต่อไปในภายภาคหน้าประชาราษฎร์ในเมืองนี้ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารไม่ขาดสาย อีกประการหนึ่งเมืองนี้ก็จะรุ่งเรืองด้วยสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา และจะมีผู้อุปถัมภ์ในเรื่องจตุปัจจัยอย่างเพียบพร้อม"



พระมหาโมคคัลลานะกล่าวเท่านั้นแล้วก็พาพระอรหันต์ทั้ง ๔ องค์ คืนสู้เมืองราชคฤห์ ไปถึงเวฬุวนารามเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และกราบทูลถึงการที่ได้ไปสงเคราะห์พระยาอังครัฏฐะทุกประการ






พระทักขิณโมลีธาตุเสด็จมาสู่ดอยศรีจอมทอง



ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว และการที่พระบรมธาตุเจ้าเสด็จมาประดิษฐานอยู่ ณ ดอยศรีจอมทองแห่งนี้


ดูก่อนสัปปุรุษทั้งหลาย ในกาลครั้งนั้นเมื่อพระยาอังครัฏฐะอาราธนานิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมารับข้าวบิณฑบาตรและรับการสักการะบูชาอันวิเศษหลายประการ ก็ทรงบังเกิดความปิติยินดียิ่งนัก จึงมีพระบัญชาให้สร้างเจดีย์ทองคำขึ้นองค์หนึ่ง ตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ บนยอดดอยศรีจอมทองและให้สร้างโกศแก้วอินทนิลดวงหนึ่ง มีค่าเป็นทองคำนับแสน(ประมาณค่ามิได้) อยู่ภายในยอดเจดีย์ทองคำองค์นั้น พระยาอังครัฏฐะได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า



"เมื่อใดที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ขอให้พระทักขิณโมลีธาตุ พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของพระพุทธองค์โปรดเสด็จมาประดิษฐานอยู่ในโกศแก้วอินทนิลที่งตั้งไว้ในเจดีย์ทองคำนี้เถิด"



     แล้วทำการสักการะพระเจดีย์องค์นี้ด้วยเครื่องสักการะบูชาต่างๆ นอกจากนี้พระองค์ยังบัญชาให้สร้างศาลาหลวงขึ้นหลังหนึ่งทางทิศตะวันออกของเจดีย์นั้น พร้อมกับตั้งพ่อครัวทั้ง ๕๐ ตระกูล ให้ดูแลรักษาเจดีย์ทองคำองค์นี้ โดยทำการสักการะบูชาด้วยประทีป ดอกไม้ ให้ดูแลรักษาเจดีย์ทองคำองค์นี้ โดยทำการสักการะบูชาด้วยประทีป ดอกไม้ และเครื่องหอมทุกวัน เมื่อใดที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังสถานที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงปรุงแต่งโภชนาอาหารอันปราณีตต่างๆ ถวายแด่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอย่าได้ขาด หลังจากนั้นพระยาอังครัฏฐะก็เสด็จสู่เมืองของพระองค์พร้อมด้วยบริวารทั้งหลาย พระองค์ทรงครองราชสมบัติด้วยทศพิธราชธรรมจนตราบสิ้นพระชนมายุของพระองค์ แล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลก





หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมธาตุของพระพุทธองค์ออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่กษัตริย์จากเมืองต่างๆ นำไปสักการะบูชายังบ้านเมืองของตน เฉพาะพระบรมทักขิณโมลีได้ตกอยู่ในส่วนของเมืองกุสินารา ในครั้งนั้นพระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธานในที่นั้นได้บอกกล่าวกับกษัตริย์และชาวเมืองกุสินาราว่า



"ดูก่อน ท่านทั้งหลาย พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตกอยู่ในส่วนแบ่งของท่านทั้งหลายนี้ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จไปรับข้าวบิณฑบาตรจากพระยาอังครัฏฐะ ณ ดอยศรีจอมทอง แขวงเมืองอังครัฏฐะ วันนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "อันดอยศรีจอมทองนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่บังเกิดมาในโลกนี้ทุกพระองค์ รวมทั้งพระทักขิณโมลีธาตุแห่งพระตถาคต ก็จะมาประดิษฐานอยู่ที่ดอยนี้เช่นเดียวกัน


" พระพุทธองค์ตรัสดังนั้นแล้วก็เสด็จเวฬุวนารามในวันนั้น เมื่อพระยาอังครัฏฐะทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงมีความยินดียิ่งนัก จึงบัญชาให้สร้างพระเจดีย์ทองคำองค์หนึ่ง สูง ๑๘ ศอก ไว้ ณ ดอยศรีจอมทองแล้ว ด้วยเหตุนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงนำพระทักขิณโมลีธาตุของพระพุทธองค์มาให้เราเถิด"




เมื่อท้าวพระยาและชาวเมืองกุสินาราได้ทราบดังนั้น ก็ยินยอมพร้อมใจกันอาราธนาพระทักขิณโมลีธาตุ มาให้แก่ท้าวมหากัสสปเถระด้วยความเต็มใจ เมื่อพระมหากัสสปเถระได้รับพระทักขิณโมลีธาตุของพระพุทธองค์มาแล้ว ก็อาราธนาพระบรมธาตุไว้บนฝ่ามือ แล้วหันหน้าไปทางเมืองอังครัฏฐะ พร้อมกับกล่าวคำอาราธนาว่า




"ขอพระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐล้ำเลิศองค์นี้ จงเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ทองคำบนยอดดอยศรีจอมทอง ซึ่งอยู่ในเมืองอังครัฏฐะ ด้วยแรงอธิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จขึ้นสู่อากาศด้วยอานุภาพแห่งแรงอธิษฐานของพระพุทธองค์ พระบรมธาตุนั้นเปล่งรัศมีแวววาว ขาวบริสุทธิ์ดั่งแสงพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญที่เปล่งแสงอันงดงาม ไปทั่วพื้นนภากาศทุกทิศทุกทาง พระบรมธาตุเสด็จมาทางอากาศด้วยปฏิหาริย์สู่โกศแก้วอินทนิลที่อยู่ภายในยอดเจดีย์ทองคำ ณ ดอยศรีจอมทอง เมืองอังครัฏฐะในวันนั้น



ขณะนั้นก็บังเกิดแผ่นดินไหวไปทั่ว ดอกไม้ที่โปรยปรายดั่งสายฝนลงมาบูชาพระบรมธาตุเจ้า เสียงดนตรีอันไพเราะบรรเลงมาในอากาศ หมอกเมฆบังเกิดมีแล้วก็ตกลงมามากนัก สายลมอันอ่อนๆพัดเอากลิ่นคันธรสขจรขจายไปทั่ว สายฟ้าแปลบปลาบเรืองรอง เหล่าเทพยาดาทั้งหลายต่างพร้อมใจกันสาธุการพระบรมธาตุเจ้าของพระพุทธองค์ซึ่งมีรัศมีแวววาวขาวบริสุทธิ์ดุจรัศมีของพระจันทร์ที่ปรากฎในอากาศทั่วทุกทิศทั้งมวลในวันนั้น





พระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชาเสด็จสู่ดอยศรีจอมทอง



ดูก่อนสัปปุรุษทั้งหลาย หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี ขณะนั้นพระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชาผู้ทรงเดชานุภาพ สามารถปราบปรามไปทั่วชมพูทวีป ได้เสด็จมา สู่ดอยศรีจอมทอง ด้วยอานุภาพแห่งพระอินทร์ เทพยาดา และด้วยอานุภาพแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย


ในวันนั้น พระอินทร์ วิษณุกรรมเทวบุตร พญานาค พระอรหันต์ทั้งหลาย และท้าวพระยาทั้งหลายต่างก็พร้อมใจกันสร้างคูหาไว้ใต้พื้นดอยศรีจอมทอง สถานที่อันเป็นที่ประทับ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ที่บังเกิดมาในโลกนี้ อุโมงค์นี้ทำด้วยทองคำทั้งมวล มีความลึกและความกว้างประมาณพระคันธกุฎี ของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ในเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถีในสมัยพุทธกาล


แล้วให้วิษณุกรรมเทวบุตรสร้างสถูปทองคำองค์หนึ่ง มีรูปทรงสัณฐานดั่งเขาสิเนรุ สูง ๖ ศอก ตั้งไว้กลางอุโมงค์นั้นส่วนท้าวพระยาและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นหลายองค์ ทำด้วยเงิน ทองคำ และโลหะหลายประการตามความศรัทธา แล้ว ตั้งไว้ ล้อมรอบสถูปทองคำนั้น และยังสร้างพระพุทธรูปยืนด้วยทองทิพย์หนัก ๑ แสน ๒ องค์ ไว้ทางทิศเหนือของสถูป หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือองค์หนึ่ง






อีกองค์หนึ่ง ตั้งไว้ทางทิศใต้ของสถูปหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ สร้างพระพุทธรูปนั่ง ๒ องค์ ด้วยทองคำหนักองค์ละ ๑ แสน องค์หนึ่งตั้งไว้ทางทิศตะวันออกของ สถูป หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก


อีกองค์หนึ่งตั้งไว้ทางทิศตะวันตกของสถูป หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกส่วนบรรดาพญานาคทั้งหลาย ต่างก็พร้อมใจ กัน สร้างเครื่องดุริยะดนตรี เป็นต้นว่า ฆ้อง กลอง พาทย์ พิณ แตร สังข์ บัณเฑาะว์ ทุกอย่างทำด้วยทองคำแล้วแต่งเครื่องประดับประดาอันควร แก่สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เป็นต้นว่า อาสนะ หมอน ฉัตร พัด จามร ช่อน้อย ธงไชย ล้วนทำด้วยทองคำเช่นกัน ตั้งไว้ทั้ง ๔ ด้านแห่งสถูปทองคำ พร้อมกันนั้นพญา นาคะราชาก็ให้หล่อรูปของตน รูปดุริยะดนตรี รูปนาคขับนาคฟ้อน และรูปคนผู้รักษาสิ่งของ ทุกอย่างหล่อด้วยเงิน ทองเหลือง ทองแดงประดับประดาไว้รอบๆสถูป ทองคำนั้น และให้หล่อรูปยักษ์ ๘ ตน ยืนเฝ้าที่หน้ามุขของสถูปทั้ง ๔ ด้านๆละ ๑ ตน และยืนเฝ้าประตูแห่งอุโมงค์ทั้ง ๔ ด้านๆ ละ ๑ ตน แล้วพระเจ้าศรีธรรมอโศก ธรรมราชา จึงเอาดกศแก้ววชิระ*(แก้ว ๗ สี มณี ๗ แสง) หนัก ๑ พันน้ำ*(เป็นมาตราชั่งชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฎในหนังสือโบราณของชาวพายัพทั่วไป ไม่ทราบว่าจะ เทียบ มาตราชั่งในปัจจุบันนี้มีจำนวนเท่าไร) มาตั้งไว้เหนืออาสนะทองคำครั้นได้เวลานักขัตฤกษ์มงคล


พระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชาพร้อมด้วยท้าวพระยา ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เหล่าเทพยดา พญานาค ครุฑ ต่างพร้อมใจกันจัดพิธีฉลองสมโภชบูชาพระบรมธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด ๗ วัน หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระทักขิณโมลีธาตุเสด็จสู่ดกศแก้ววชิระนั้น พร้อมทั้งพระบรมธาตุส่วนพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) อันมีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ พระองค์ รวมเป็นพระบรมธาตุ ๗ พระองค์ มาประดิษฐานอยู่ในโกศแก้ววชิระ แล้วเชิญโกศแก้ววชิระให้ประดิษฐานอยู่ในพระสถูปทองคำ ภายในอุโมงค์ทองคำนั้นครั้นแล้วพระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชา พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาอำมาตย์ เทพยดา พญานาค พระอรหันต์ทั้งหลาย และสมณพราหมณ์ ก็พร้อมใจกันอธิษฐานว่า


"ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ ในกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้ และตรัสทำนายไว้แก่พระยาอังครัฏฐะว่า พระทักขิณโมลีธาตุของพระพุทธองค์จะมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ และบัดนี้พระบรมธาตุเจ้าก็ได้เสด็จมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ สมดังพุทธทำนายแล้ว ในกาลต่อไปภายหน้า แม้ว่าคน เทวดา พญานาค ครุฑ ผู้หนึ่งผู้ใดจะนำเอาพระบรมธาตุเจ้าไปในสถานที่ใดก็ดี ขอพระบรมธาตุเจ้า อย่าได้เสด็จ ไปเลย แม้ว่าได้เสด็จไปแล้วก็ขอให้ได้โปรดเสด็จกลับคืนมาประดิษฐาน ณ สถานที่นี้ตราบเท่ากาลแห่งพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี เพื่อจักได้เป็น ที่สักการะบูชาแก่เทพยาดาและมนุษย์ ทั้งหลายชั่วกาลนาน"







ส่วนพระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชาก็ทรงอธิษฐานว่า "ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า ในอนาคตกาลข้างหน้า หากมีพระราชาหรือเสนาอำมาตย์ผู้ใดได้มาสักการะบูชาพระบรมธาตุเจ้า ณ ดอยศรีจอมทองนี้ ขอให้พระราชาผู้นั้นมีเดชานุภาพเสมอ ดั่งข้าพระองค์ พระเจ้าศรีธรรม อโศกธรรมราชาเทอญ”



“ ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า เมื่อใดที่พระราชา เสนาอำมาตย์ ผู้ปกครองบ้านเมืองที่นี้มีบุญบารมีเสมอ ดั่งข้า พระองค์ก็ดี มีสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนาก็ดี ข้าพระองค์ทั้งหลายขออาราธนานิมนต์พระบรมธาตุเจ้า โปรดเสด็จออกมา จากพระสถูปทองคำ แสดงอานุภาพให้ปรากฎแก่คน เทพยดา และสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เป็นที่อัศจรรย์ เพื่อให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง ต่อไปตลอด ๕,๐๐๐ ปี"



"ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า ในกาลข้างหน้า หากพระราชาและเสนาอำมาตย์ผู้ใดได้เสวยราชสมบัติปกครองบ้านเมืองนี้ ไม่ศรัทธาใน พระพุทธศาสนา กระทำแต่บาปอกุศลกรรมอันหยาบช้าทารุณ ข้าพองค์ทั้งหลายขอพระบรมธาตุเจ้าจงเสด็จประทับอยู่ในพระสถูปทองคำแห่งข้าพระองค์ ขออย่าได้เสด็จออกมาปรากฎแก่ผู้ใดเลย"


"ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ ปีบริบูรณ์พระบรมธาตุทั้งหลาย ของสมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ก็ขอให้พระสถูปทองคำ คูหาทองคำ พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชาทั้งหลาย จงอย่าได้สูญหายเป็นอันตรายไปเลย ขอจงตั้งอยู่ตราบเท่าถึงศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรย ผู้จะมาบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในภายหน้า และขอให้พระศรีอริยะเมตไตรย ผู้จะมาบังเกิดเป็น พระพุทธเจ้า ในภายหน้า และขอให้พระศรีอริยะเมตไตรยพระองค์นั้น จงนำพระสถูปทองคำ ของข้าพระองค์ ทั้งหลายออกมาแสดงแก่เทพยดาและคนทั้งหลาย เพื่อทำการสักการะบูชานานประมาณ ๗ วัน เสมอดั่งที่พระพุทธองค์ยกเอาพระเจดีย์ทองคำ ของพระพุทธ เจ้านามว่าพระกัสสปะออกแสดงแก่คนและเทพยาดาทั้งหลายให้ กระทำการสักการะบูชานานประมาณ ๗ วัน มาแล้วเทอญ แม้ว่าคนเทวดา ท้าวพระยา พญานาค ครุฑ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ วิทยากร ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาทำลายล้าง ขอจงอย่าให้กระทำการใดๆได้สักประการเดียวเทอญ

"เมื่ออธิษฐานดังนี้แล้ว เทพยาดา พญานาค ครุฑ และพระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็พากันไปเอาหินจากป่าหินพานต์ ในแม่น้ำ ในมหาสมุทร เอามาก่อแวดล้อมพระสถูปทองคำ ๗ ชั้น เพื่อรักษาไว้ไม่ให้สัตว์ทั้งหลายมาเบียดเบียนกระทำร้ายได้ แล้วให้เทวดา ๒ ตน และพญานาค ๒ ตนที่เคยขออนุญาตพระพุทธองค์ดูแลรักษาดอย ศรีจอมทองนั้น ให้ดูแลพระสถูปทองคำด้านทิศตะวันออก เลือกเทวบุตร ๓ ตน ซึ่งมีฤทธิ์ธานุภาพ และมีบริวารมากมายให้มาดูแลรักษาพระสถูปทองคำ เทวบุตรที่ชื่อ สุลักขิโต รักษาทางทิศใต้ ชื่อกามปาโล รักษาทางทิศตะวันตก ชื่อไชยภุมโม รักษาทางทิศเหนือของพระสถูปทองคำนั้น แล้วก็ให้โอวาทว่า






"ท่านทั้งหลายจงมีความสามัคคีกัน เพื่อพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุเจ้าตราบจนถึง ๕,๐๐๐ ปี อย่าได้มีความประมาท ในอนาคตกาลข้างหน้า ท่านทั้งหลาย จงพิจารณาดู บุคคลอันควรไม่ควร หากท้าวพระยาเสนาอำมาตย์ สมณพราหมณ์ ผู้ปกครองบ้านเมืองนี้มีบุญสมภารประกอบด้วยกุศลกรรมอันดี เลื่อมใสศรัทธา ในพระรัตนตรัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงบันดาลใจให้รู้ว่าพระบรมธาตุเจ้าประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ หากประกอบด้วยอกุศลกรรมไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายอย่าได้แสดงพระบรมธาตุเจ้าให้ปรากฎแก่ผู้ใด"



ตั้งแต่นั้นไป เมื่อเทพยดาและพญานาคผู้รักษาพระบรมธาตุเจ้าเห็นว่าท้าวพระยา เสนาอำมาตย์ สมณพราหมณ์ และชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายประกอบด้วยอกุศลกรรมเมื่อใด ก็อาราธนานิมนต์พระบรมธาตุเจ้า ๗ พระองค์ ประดิษฐานอยู่ในพระสถูปทองคำ อันตั้งอยู่กลางคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทอง ไม่ให้ปรากฎออกมาภายนอกนานประมาณ ๗ วันก็มี ๘ วันก็มี บางที ๓ เดือน ก็มี ๑ ปีก็มี ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปี ก็มี



เมื่อใดที่บุคคลทั้งหลายประพฤติปฏิบัติแก่กุศลกรรมอันดีงามในพระพุทธศาสนา เทพยาดาและพญานาคผู้รักษาพระบรมธาตุเจ้า จึงอาราธนานิมนต ์พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาจากพระสถูปทองคำ ประดิษฐานไว้ภายนอกให้คนและเทวดาทั้งหลายกระทำการสักการะบูชาหลังจากนั้นท้าวพระยาทั้งหลาย มีพระเจ้าศรีธรรมอโศกธรรมราชาเป็นประธาน ต่างก็ฝังทองคำไว้ในสถานที่นี้ เป็นมหานิธิทรัพย์สมบัติไว้ทั่วทั้ง ๘ ทิศ แวดล้อมดอยศรีจอมทองแล้วจึงเอาส่วนเล็กส่วนน้อยออกอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา ณ ดอยศรีจอมทองนี้




เมื่อกล่าวดังนั้นแล้ว ก็กระทำการสักการะบูชาตามความศรัทธาของตน พร้อมทั้งต่างก็ให้บ่าวไพร่มากมายอยู่อุปฐากรักษาพระบรมธาตุเจ้า หลังจากนั้นต่างก็กลับคืนสู่บ้านเมืองแห่งตน พระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็กลับสู่ที่อยู่ของตน เทพยดา พญานาค มีพระอินทร์เป็นประธาน ก็กลับสู่เทวโลกอันเป็นที่อยู่แห่งตนในวันนั้น



ผู้เริ่มสร้างวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเป็นครั้งแรก


เ มื่อพระบรมธาตุเจ้าได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำกลางคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทองในครั้งนั้นแล้ว กาบเวลาก็ผ่านไปโดยลำดับจนถึงจุลศักราช ๘๑๓ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๔) ยังมีชายผู้หนึ่งชื่อว่านายสร้อย ภรรยาชื่อว่านางเม็ง ทั้งสองมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแห่งตน ปรารถนาหนทางไปสู่มรรคผลนิพพาน ผัวเมียคู่นี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ดอยศรีจอมทอง




อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนกันยายน ปีมะเมีย นายสร้อยอาบน้ำชำระร่างกายแล้วสมาทานศีล ๘ อยู่ ณ ดอยศรีจอมทองนั้น ได้พิจารณาดูดอยศรีจอมทอง ก็เห็นเป็นสถานที่อันงดงามยิ่งนัก จึงคิดคำนึงในใจว่า สถานที่นี้มีลักษณะสัณฐานที่ดีงาม มีเนินดินสูงขึ้นไปเป็นลำดับดั่งมหาเจดีย์ ประกอบด้วยหมู่ไม้ต่างๆหลายประการ สถานที่นี้สมควรเป็นที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง



นายสร้อยจึงปรึกษากับนางเม็งผู้เป็นภรรยาว่า "เราทั้งสองจะสร้างวัดบนดอยศรีจอมทองนี้ให้เป็นสถานที่แห่งพระรัตนตรัย ท่านจะเห็นเป็นประการใด" ฝ่ายนางเม็งภรรยาก็เห็นดีด้วย และตกลงกันว่าจะสร้างวัดที่ด้านบนของถ้ำคูหา ตรงบริเวณยอดดอยศรีจอมทองนั้น ผัวเมียทั้งสองจึงลงมือแผ้วถางสถานที่นั้นจนเสร็จเรียบร้อย





เมื่อได้เวลาอันเป็นมงคล จุลศักราชได้ ๘๑๔ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๕) เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ(เดือน ๙ เหนือ) วันจันทร์เวลาเช้า นายสร้อย นางเม็งจึงปลูกสร้างศาลาและก่อเจดีย์ไว้ ณ ยอดดอยจอมทอง ด้านบนของถ้ำคูหานั้น พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปไว้ ๒ องค์ หลังจากนั้นคนทั้งหลายก็ล่ำลือกันว่า บัดนี้นายสร้อย นางเม็งได้สร้างวัดขึ้นบนดอยศรีจอมทองแล้ว จึงพร้อมใจกันเรียกวัดนั้นว่า วัดศรีจอมทอง *( ปัจจุบันได้ชื่อว่า "วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ )



อยู่มาวันหนึ่งนายสร้อยได้จุดประทีป*( ตามที่คนในภาคเหนือนิยมใช้เป็นภาชนะเล็กๆ ทำด้วยดินเผาสำหรับใส่น้ำมันตามบูชา ) ขึ้น ๒ ดวง บูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า "ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงตั้งใจที่จะสร้างวัดไว้ ณ ที่นี้ให้เป็นสถานที่อยู่แห่งพระรัตนตรัย ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้งสองจะประสบความสำเร็จ ก็ขอให้ประทีปทั้ง ๒ ดวง จงตั้งอยู่ตรงนี้ อย่าได้คลาดเคลื่อนไปจากที่เดิมเลย"




ในขณะนั้นเทวดาผู้ดูแลรักษาดอยศรีจอมทองอยู่ ณ ที่นั้น ก็รู้ว่านายสร้อยไม่สามารถสร้างวัดให้สำเร็จได้ เพราะเหตุว่าอายุของนายสร้อยจะสิ้นไปเสียก่อน เทวดาจึงย้ายประทีปดวงหนึ่งไปวางไว้ทางทิศเหนือของที่เดิม ครั้นรุ่งเช้านายสร้อยนำข้าวน้ำมาบูชาพระพุทธรูป ก็เห็นประทีปดวงหนึ่งย้ายจากที่เดิม จึงคิดในใจว่าตนเองจะสร้างวัดไม่สำเร็จแน่


ในคืนนั้นเทวดาจึงมาบอกแก่นายสร้อยโดยนิมิตฝันว่า "ดูก่อนนายสร้อย ท่านอย่าได้น้อยใจ อย่าได้ประมาท เรานี้มีนามว่า กุรุปิตโรเทวบุตรและกุรุมาตาเทวธิดา เราทั้งสองมีบริวารมากมายเฝ้าพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุเจ้า ณ สถานที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว พระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำคูหานี้ ๗ พระองค์ สถานที่นี้จะเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ชุมนุมแห่งคนและเทวดาทั้งหลายมากมาย และเป็นที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัยไปจนตลอด ๕,๐๐๐ ปี ท่านจงบอกแก่คนทั้งหลายอย่าได้ลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่นี้เป็นอันขาด" เทวดากล่าวเท่านั้นแล้วก็หายไป





นายสร้อยได้ทราบเช่นนั้นก็มีใจปิติยินดียิ่งนัก จึงบอกกล่าวแก่คนทั้งหลาย และให้บันทึกเป็นตำนานเก็บไว้เป็นหลักฐานต่อไปในภายหน้า นายสร้อยและนางเม็งอยู่อุปฐากรักษา กระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัยมิได้ขาด จนกระทั่งอีก ๒ ปีต่อมา นายสร้อย นางเม็งก็ถึงแก่กรรมไป


นับตั้งแต่นั้นมาได้ ๑๕ ปี จุลศักราช ๘๒๘ (พ.ศ. ๒๐๐๙) ปีระกา ยังมีชาย ๒ คน ชื่อ สิบเงินและสิบถัว ทั้งสองสหายได้ชักชวนกันสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งที่วักศรีจอมทองนั้น โดยหลังคาของวิหารมุงด้วยหญ้าคาไว้ แล้วอาราธนาพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สารีปุตตเถระมาเป็นเจ้าอาวาส พระภิกษุรูปนี้มาอยู่ดูแลรักษาวัดได้ ๕ พรรษาก็มรณภาพไป







ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๘๓๒ (พ.ศ. ๒๐๑๓) ปีฉลู นายหากสิบเกวียนจึงอาราธนาพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระเทพกุลเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส พระภิษุรูปนี้ก็ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารนั้น โดยให้ใส่ไม้ระแนงและมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไว้ ถัดมาถึงปีจุลศักราช ๘๓๗ อีก ๕ ปีต่อมา นักบุญทั้งหลายจึงอาราธนาพระธมฺมปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสอุปฐากรักษาวัดศรีจอมทอง


จนถึงจุลศักราชได้ ๘๔๐ นักบุญทั้งหลายมีพระธมฺมปญฺโญ เป็นประธาน จึงพากันไปรื้อถอนวิหารและอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่*(สันนิษฐานว่าเป็นหลวงพ่อเพชร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร) ปั้นด้วยดินก่อ หล่อด้วยโลหะสำริด มาจากวัดท่าแย้ม ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้าง อยู่ข้างแม่น้ำกาละ*(เข้าใจว่าเป็นแม่น้ำแม่กลาง) มาเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีจอมทอง แล้วพร้อมใจกันต่อเติมวิหารที่มีอยู่ โดยสร้างระเบียงทั้งมุขหน้าและมุขหลัง ก่อปราสาทเฟื้องสูง ๒ วา ๓ ศอก กว้าง ๑ วา ๒ ศอก สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นภายในวิหาร แล้วก่อกำแพงล้อมรอบพระวิหารทั้ง ๔ ด้าน ยาว ๑๐ วา ๓ ศอก พร้อมทั้งสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่ง ยาว ๕ วา ๒ ศอก กว้าง ๒ วา สูง ๓ วา ๓ ศอก ไว้สำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ นอกจากนี้ยังสร้างหอกลองขึ้นอีก ๑ หลัง ก่อด้วยดินและอิฐ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าวัดศรีจอมทอง มีความเหมาะสมที่จะเป็นวัดอย่างสมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่พระธมฺมปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๒๒



พระทักขิณโมลีธาตุเสด็จออกจากคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทอง





ในขณะที่พระธมฺมปญฺโญเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจอมทองนั้น ยังมีนักบุญนุ่งขาวห่มขาวผู้หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัด เป็นศรัทธาผู้อุปฐากวัดมาโดยตลอด อยู่มาในคืนวันหนึ่งเทวดาได้มาบอกแก่นักบุญผู้นั้นโดยทางนิมิตฝันว่า



"ดูก่อน นักบุญผ้าขาว พระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำคูหาแห่งดอยจอมทองนี้ นับเป็นมหามงคลยิ่งนัก พระบรมธาตุเจ้าจะเสด็จออกมาภายนอกให้เป็นที่สักการะบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย ขอให้ท่านอย่าได้ประมาท จงอยู่อุปฐากรักษายังสถานที่นี้ต่อไปเถิด"




เมื่อนักบุญตื่นขึ้นก็มีความยินดียิ่งนัก พอรุ่งเช้าจึงนำความมาบอกแก่พระธมฺมปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดศรีจอมทองในขณะนั้นว่า เมื่อคืนนี้เทวดามาบอกว่า พระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทองนี้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งนัก และพระบรมธาตุเจ้าจะเสด็จออกมาภายนอก เพื่อให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายหน้า



เมื่อพระธมฺมปญฺโญทราบดังนี้ ก็มีความปลาบปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่งจึงอธิษฐานว่า "ขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาในขณะที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เถิด เพื่อให้ข้าพเจ้าได้เห็นและสักการะบูชาพระบรมธาตุนั้น ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็นพระบรมธาตุเจ้า ก็ขออย่าให้ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไปก่อนเลย" เมื่ออธิษฐานแล้ว ก็อยู่อุปฐากรักษาวัดศรีจอมทองต่อไป






จนถึงปีจุลศักราช ๘๖๑ (พ.ศ. ๒๐๔๒) เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ (เดือน ๖ เหนือ) เวลากลางคืน พระทักขิณโมลีธาตุองค์ประเสริฐก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำ อันตั้งอยู่ในคูหาทองคำใต้พื้นดอยศรีจอมทอง ในคืนนั้นก็เกิดมีปาฏิหาริย์ ความมหัศจรรย์ต่างๆนานา ปรากฎขึ้นแก่คนทั้งหลายและในพระวิหารวัดศรีจอมทอง มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ * ( หมายถึง หลวงพ่อเพชร ) ประดิษฐานอยู่ในปราสาทเฟื้องภายในพระวิหารนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ มีพระโมลีถอดออกได้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกจากพระสถูปทองคำ มาประดิษฐานอยู่ในพระโมลีของพระพพุทธรูปองค์นั้น โดยอยู่ในห่อผ้าทิพย์อันละเอียดอ่อน




ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นักบุญทั้งหลายได้นำข้าวน้ำมาบูชาพระพุทธรูป เห็นประตูปราสาทปิดอยู่ จึงไปบอกแก่พระธมฺมปญฺโญ เจ้าอาวาส เมื่อพระธมฺมปญฺโญไปตรวจดู ก็เห็นพระโมลีวางอยู่ข้างล่างที่ตักของพระพุทธรูปนั้น จึงขึ้นไปดูที่ด้านบนของพระเศียรพระพุทธรูป ก็เห็นห่อผ้าเล็กๆ อยู่ ณ ที่นั้น พระธมฺมปญฺโญจึงผ่าไม้แล้วคีบห่อผ้าออกมาแก้ดู ก็เห็นพระบรมธาตุเจ้าองค์หนึ่งทำให้เกิดความปิติยินดีมากนัก ได้กระทำการสักการะบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้เครื่องหอมทั้งหลาย แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าประดิษฐานในโกศงาอันหนึ่ง เก็บไว้ภายในช่องว่างของพระโมลีพระพุทธรูปตามเดิม โดยที่พระธมฺมปญฺโญ ไม่ได้บอกกล่าวเรื่องนี้แก่ผู้ใด




เพราะเหตุที่เทวดาได้มาบอกแก่นักบุญว่าพระบรมธาตุเจ้าเสด็จไป ณ ที่ใด ที่นั้นย่อมเป็นมงคลยิ่งนัก พระธมฺมปญฺโญและนักบุญผู้นั้นจึงแต่งเครื่องสักการะบูชา อันมีข้าวตอกดอกไม้เครื่องหอม มาอัญเชิญพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมา เพื่อกระทำการสักการะบูชาและอาบองค์สรงน้ำพระบรมธาตุเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วก็เก็บรักษาไว้ตามเดิม พระธมฺมปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดศรีจอมทองในขณะนั้น เป็นผู้อุปฐากรักษาวัดมาจนถึง ๒๘ พรรษา ก็มรณภาพไป

พระทักขิณโมลีธาตุได้เสด็จกลับคืนมาหลังจากสูญหายไปเป็นเวลา ๙ ปี





เอวัณณา ตุโชตะกะปาปะนาคะมิสัพพะทา ปีขาล จุลศักราช ๑๑๓๒ ตัว (พ.ศ. ๒๓๑๓) เดือนห้า (เดือนเจ็ดเหนือ) แรม ๑๑ ค่ำ วันจันทร์ พระมหาชินธาตุเจ้าองค์ประเสริฐก็ได้อันตรธานสูญหายไปนับตั้งแต่นั้นมาถึงปีกาบ (ปีมะเมีย) จุลศักราช ๑๑๓๖ ตัว (พ.ศ. ๒๓๑๗) เดือนสาม(เดือนห้าเหนือ) ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเสาร์ยามเที่ยงคืน มหากษัตริย์เมืองอยุธยาได้ยกพลโยธาขึ้นมารบกับพม่าที่นครเชียงใหม่ ได้รับชัยชนะแล้วไปสู่เมืองหริภุญชัย(ลำพูน) แล้วจึงได้อภิเษก(แต่งตั้ง) ให้พระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชร(พระยาวิเชียรปราการ) เวนบ้านเวนเมืองให้เป็นเจ้าเมืองนพบุรีศรีมหานครพิงค์ชัยเชียงใหม่ ในที่ต่อหน้าพระมหาชินธาตุเจ้าลำพูน




ลำดับต่อมาถึงปีเปิกเส็ด(ปีจอ) จุลศักราช ๑๑๔๐ ตัว (พ.ศ. ๒๓๒๑) พระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชร เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้มีความเลื่อใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาคำนึงถึงพระมหาชินธาตุเจ้าองค์ประเสริฐว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสทำนายไว้ว่า "ตราบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา ธาตุของเราจักมาประดิษฐาน ณ ที่นี้" แต่ในปีสุภมัสดุกฎยี พระบรมธาตุเจ้าได้อันตรธานหายไปนานได้ ๙ ปีแล้วท่านจึงให้ช่างสร้างโกศทองคำขึ้นเพื่อให้เป็นที่สำราญแก่พระมหาชินธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ แล้วบัวระมวลจึงให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายหมายมีพระมหาพิเศษ พระมหาพิชัยหาญม้างเมฆ และพระสงฆ์ ๑๒ รูป มีท่านพุทธิมาวังโสผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจอมทองเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันอัญเชิญยังองค์พระมหาชินธาตุเจ้าให้เสด็จมาประดิษฐาน ณ โกศทองคำตามโบราณประเพณีเป็นครั้งแรก พระบรมธาตุเจ้าก็ยังไม่เสด็จกลับคืนมา




ลำดับต่อมาถึงปีกัดไก๊(ปีกุน) จุลศักราช ๑๔๑๑ ตัว (พ.ศ. ๒๓๒๒) เดือนห้า (เดือนเจ็ดเหนือ) แรม ๑๓ ค่ำ วันพฤหัส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชร พร้อมทั้งเสนาอำมาตย์ประชาราษฎร์และพระสงฆ์ ได้นำเอาโกศเงินและโกศทองคำมาอาราธนาสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งมวลเป็นครั้งที่สอง พระมหาชินธาตุเจ้าก็ยังไม่เสด็จคืนมา




ลำดับต่อนั้นมาถึงเดือนหก (เดือนแปดเหนือ) แรม ๑ ค่ำ วันเสาร์ ยามตุดค่ำ (เวลาเย็น) สาธุเจ้าพุทธิมาวังโสเจ้าอาวาสได้ทำพิธีสัตยาธิษฐานว่า "พระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชรเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ปราถนาสัพพัญญุตญาณ ถ้าความปรารถนานั้นจักสมดังมโนรถแล้ว ขออัญเชิญพระมหาชินธาตุเจ้าเสด็จกลับคืนมาให้ปรากฎอยู่ในคูหาปราสาททองเหมือนดังเก่าด้วยเทอญ" อัญเชิญเป็นครั้งที่สาม เมื่ออธิษฐานแล้ว ถึงวันแรม ๔ ค่ำ วันอังคารเวลารุ่งเช้า พระบรมธาตุเจ้าได้เสด็จกลับคืนมาปรากฎอยู่ในคูหาปราสาทตามคำอธิษฐานของพระเถระเจ้ารูปนั้นแล สาธุเจ้าอาวาสจึงมีสมณสาสน์ไปถวายพรบอกกล่าวแก่พระยาหลวงวชิรปราการกำแพงเพชรให้ได้รับทราบ ตามที่ตนได้ตั้งสัตยาธิษฐานนั้นทุกประการ




ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เมื่อได้ทราบดังนั้นก็มีความปิติยินดีไปทั่วสรีรร่าง จึงได้ตกแต่งวัตถุไทยทานพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราชบริพารชาวบ้านชาวเมืองพระสงฆ์องค์เจ้าเป็นอันมาก ได้พร้อมกันนำวัตถุไทยทานไปถวายในวันแรม ๙ ค่ำ เดือนหก (เดือนแปดเหนือ) เวลาเย็น ได้อาราธนานิมนต์พระสงฆ์ทำพิธีมหามงคลพุทธาภิเษกอดิเรกสวดเบิกฉลองตามประเพณีเพื่อให้อยู่รักษาพระบรมธาตุเจ้าตามโบราณประเพณีที่พระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) ได้กระทำไว้แต่หนหลัง และได้อาราธนาพระบรมธาตุเจ้า เข้าไปสู่ในเมืองเชียงใหม่ ประกาศให้ชาวบ้านชาวเมืองมาสักการะบูชาและสรงน้ำ พระบรมธาตุเจ้า จัดงานฉลองสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าเสด็จคืนสู่ที่เก่าในคูหาปราสาทวัดศรีจอมทองก็มีในวันนั้นแล





เดือน ๘ (เดือน ๑๐ เหนือ) ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๑ ตัว (พ.ศ. ๒๓๒๒) ได้แต้ม(เขียน) ศิลาจารึกแผ่นนี้


..........................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม