Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

9 พฤศจิกายน 2564

พิทักษ์พระพุทธศาสนา

 โดย พระอาจารย์บุญมี เมธางกูร





พระพุทธเจ้าให้อะไรแก่เวไนยสัตว์ ? คำตอบ คือ ให้ความหลุดพ้น คือ พ้นจากทุกข์ และทุกข์อยู่ที่ไหน อยู่ที่ชีวิต


เพราะมีเกิดมามีทุกข์ทั้งสิ้นไม่มีใครไม่มีทุกข์เลย และทำไมถึงต้องเกิดมา ก็เพราะความเห็นผิด ถ้าเผื่อเห็นถูกก็ไม่ต้องเกิดแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธปรินิพพานไปหมดแล้ว


แต่ที่ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด มั่งมี ศรีสุข ยากจนข้นแค้น ก็ความเห็นผิด จะรวยก็เพราะความเห็นผิด จะจนก็เพราะความเห็นผิดจะดีก็เพราะความเห็นผิด จะไม่มีก็เพราะความเห็นผิด



ฉะนั้น “ทิฏฐิ” คำเดียวเท่านั้นเอง ใช้แทนคำว่า เห็นผิด ประกอบไปด้วยความเห็นผิด แต่ถ้าเป็นคำว่า “สัมมาทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็นถูก


ความรู้ทั่วๆ ไป เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานี้ จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้สืบทอดโดยประเพณีหรือสำมะโนครัวพุทธศาสนา มี ๒ ศัพท์ คือ พุทธ + ศาสนา



พุทธ แปลว่า ผู้รู้แจ้ง ในที่นี้ หมายถึง พระพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นพระสยัมภู ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ


ศาสนา หมายถึง คำสอน ในที่นี้ คือ พระธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการอบรมสอนมนุษย์ อบรมสอนเทวดา อบรมสอนพรหม


พระพุทธศาสนา จึงหมายถึง คำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนเหล่ามนุษย์เทวดา พรหมทั้งหลาย


ความหมายของพระพุทธศาสนาละ ถ้าเผื่อพูดถึงเท่านี้ก็เท่ากับให้ความหมายไม่ชัดเจนเพื่อความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และมีความชัดเจนมากขึ้น


เราต้องรู้ว่าพระพุทธศาสนา คืออะไร เราจึงต้องทดลองตอบคำถามนี้ให้ได้ว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน



พุทธศาสนา อยู่ที่วัดวาอารามหรือ? ก็ไม่ใช่ อยู่ในพระไตรปิฏกหรือ? ก็ไม่ใช่, หรืออยู่ที่ภิกษุ – สามเณร ต้องหาให้เจอ และต้องตั้งคำถามต่อไปว่า



พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรือง อะไรเจริญ? วัดวาอารามมีมากหรือ? มีโบสถ์วิหารการเปรียญที่สวยงามมากนักหรือ สร้างพระไตรปิฏกได้เป็นพันๆ ชุด หรือ? หรือแต่งหน้าธรรมกันมากๆ หรือมีภิกษุสามเณรกันมากๆ มีการแสดงธรรมมากทางวิทยุ โทรทัศน์ ทางInternet หรือมีการประชุมมีการปฏิบัติธรรมเป็นแสนๆ ต้องหาคำตอบให้ได้


และ การที่เราจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เราจะต้องบำรุงอะไร ? วัดวาอาราม โบสถ์วิหารศาลาการเปรียญหรือ? หรือให้กุฏิ หรือให้การอุปสมบทพระภิกษุสามเณร เราต้องเข้าใจอีก



ถ้าไม่เข้าใจแล้ว จะไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน อะไรเจริญ บำรุงอย่างไร นี่แหละเป็นจุดเสื่อมเลย การศึกษาและการเล่าเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะตีวงของชีวิตให้แคบลงมา




การพิทักษ์พระพุทธศาสนา จะพิทักษ์อย่างไรจึงจะถูกต้อง ทุกวันนี้พุทธศาสนาเสื่อมหรืออะไรเสื่อม การทำลายล้างพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร พระพุทธ




ศาสนาเป็นข้าศึกกับอะไร พระพุทธศาสนาเป็นข้าศึกกับกิเลส ไม่ได้เป็นข้าศึกกับศาสนาอื่นเลย แล้วใครล่ะ เป็นผู้ละกิเลส


ว่าโดยความหมาย “พระพุทธศาสนา” หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ ปัญญา ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วเห็นจริง ในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หรือปัญญาที่แจ้งในนิพพานนั่นเอง


ว่าโดยหลักฐาน ได้แก่ พระไตรปิฏก คือ พระวินัยปิฏก พระอภิธรรมปิฏก พระสุตันตปิฏก


ว่าโดยธุระ พระพุทธศาสนามี ๒ ธุระ คือ คันทธุระ และวิปัสสนาธุระ คือ การเรียน และ การปฏิบัติ



ว่าโดยการเข้าถึงพระพุทธศาสนา เข้าถึงได้ด้วยปัญญา 3 ได้แก่


รู้ได้ด้วยการศึกษาพระไตรปิฏกจนเข้าใจ ไม่ใช่ฟังจบจนเข้าใจ เรียกว่า ปริยัติศาสนา


รู้ได้ด้วยการปฏิบัติ ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา หมายถึง ปฏิบัติศาสนา


รู้แจ้งแทงตลอด มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า ปฏิเวธศาสนา




 พระพุทธเจ้าได้สอนการปรากฏการณ์ธรรมชาติน้อยใหญ่มากมายหลายชนิด พระองค์ทรงค้นพบความจริงจากธรรมชาติเหล่านั้นว่า



สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลาย(ไม่เที่ยง)


สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์


สพเพฺ ธมฺมา อนฺตตา ธรรมชาติทั้งหลายเป็นอนัตตา

ทุกอย่างนี้มีแต่ความไม่เที่ยง แม้กระทั่งชีวิตเรา และสิ่งรอบๆ ทุกอย่างในโลกนี้มีความไม่เที่ยงอยู่




ทุกอย่างในโลกนี้ เป็นสภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกขัง


และธรรมชาติทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้


เช่น มะม่วง เราอาจใช้สารเคมีบังคับให้มันออกผลนอกฤดูกาล แต่ไม่สามารถบังคับช่อมะม่วงให้มันติดทุกกิ่งได้ ไปเร่งฮอร์โมนให้มัน ให้มันผลิตลูกออกมาได้ แต่บังคับมันให้เป็นลูกหวานลูกเปรี้ยวไม่ได้ ตามใจเรา ลูกอ้วน ลูกโต ให้ปริมาณเท่ากันไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงเรียกธรรมชาตินี้ว่า ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเรา



 แต่ถ้ามีสารเคมีอย่างนี้ แต่อุตุไม่พร้อม ซึ่งต้องมีแสงแดดอ่อนๆ ก็ต้องมีมุ้งครอบให้แสงอ่อนๆ เท่านี้ และต้องตัดกิ่ง และกรรมวิธีต่างๆ ที่ทำให้มะม่วงออกลูกนอกฤดูกาล มันทำไม่ได้ง่ายๆ ฉะนั้น ธรรมชาติที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนี้ เรียกว่า สังขตธรรม



        พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน อุปาฑสูตร อังคุตรนิกายนิบาตว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุ คือ ความตั้งอยู่เป็นธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีใครสักหนึ่ง สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุเหล่านั้นว่า สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง




     ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะอุบัติขึ้นก็ตามไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่เป็นธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงยังเป็นความธรรมดาอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคต ตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์


     ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะอุบัติขึ้นก็ตามไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่เป็นธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงยังเป็นความธรรมดาอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา



      รู้แล้วจึงบอกแสดงบัญญัติแต่งตั้ง แล้วเปิดเผย จำแนกแจกจ่ายให้เกิดความเข้าใจง่ายในธรรมทั้งปวงที่เป็นอนัตตา ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าเรา จึงได้มาจากการตรัสรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงนั่นเอง มิใช่ได้มาด้วยการคิดนึก คาดคะเน เดาเอา


ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าองค์ใดบัญชา และก็ไม่มีพระพรหมองค์ใดประกาศิตได้ทั้งสิ้น ธรรมชาติทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย เราตถาคตผู้รู้แล้วจึงบัญญัติขึ้น



     พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากล เพราะมนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษาจะสามารถเรียนรู้และพิสูจน์คำสอนอันเป็นสัจธรรมนี้ได้พระพุทธเจ้าไม่ได้หวงห้าม ไม่บังคับให้ผู้ใดนับถือ



     เช่น พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ธาตุดิน มีลักษณะ แข็ง – อ่อน พิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าจะโปรดได้ พระองค์จะต้องโปรดเสมอ พระองค์ไม่ได้โปรดเพื่อเห็นแก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่อย่างไร พระองค์ทรงหมดจดจากกิเลสอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว วิสุทธิแล้ว


     คำสอนของพระองค์มีรสชาติเดียว คือ “วิมุติรส” เป็นกิจที่ให้สัตว์นั้นหมดจดจากกิเลสกิจเดียว ฉะนั้น พุทธบริษัท ที่ประพฤติ ปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้าเข้าถึงความบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลส ตามพระองค์ได้แน่นอน เพราะมีรสเดียว คือ วิมุติรส



     พระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นด้วย พระปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่กล่าวพรรณามาทั้งหมดนี้ ส่วนเหตุไกลที่ทำให้พุทธศาสนาเกิดขึ้น เพราะว่า กิเลสเป็นเหตุให้ศาสนาเกิดขึ้น อวิชชา และตัณหา เป็นประการสำคัญ



     กิเลสนั้น ก็คือ อวิชชา และตัณหา เงื่อนเก่า กับเงื่อนใหม่ เพราะอำนาจของอวิชชา คือ ความไม่รู้ ในความเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ จำต้องเกิดเจ็บตายอยู่ซ้ำๆ ซากๆ


     ทำไมถึงต้องเกิด? พระองค์ต้องสร้างสมบารมี เพื่อหาว่า ทำไมต้องเกิดอีก ถึง ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ ดังปฐมพุทธพจน์ ที่พระองค์อุทาน


     “เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน คือ อัตภาพอยู่ เมื่อไม่พบก็ได้แต่ท่องเที่ยวไปแล้วจนสิ้นสงสาร (๓๑ ภูมิ) นับชาติน้อยใหญ่ ไม่ถ้วน ด้วยการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูกร นายช่างผู้ทำเรือน คือ อัตภาพนี้
     ท่านจะทำเรือนคืออัตภาพของเราไม่ได้อีกต่อไป โครงบ้านทั้งหลายทั้งปวงของท่านเราได้รื้อแล้ว ยอดเรือนคืออวิชชา เรารื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพานแล้ว ประกอบกับเราได้บรรลุอรหันต์แล้ว อันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว  ตัวยึดและประกอบไว้จึงถูกทำลายสิ้น ฉะนั้น ตะปู ตัวยึดเหนี่ยว ตัวน็อต พวกนี้ที่ยึดชาติ ยึดภพน้อยใหญ่ ตัณหานุสัย ทิฏฐานุสัย ตัวยึดร้อยนี้ เราทำลายแล้ว"




     ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่อง เป็นหน้าที่ของเราโดยตรงที่จะศึกษาเล่าเรียน


     การอุปมาว่า การที่สติแม้เกิดขึ้นครั้งเดียวก็เหมือนกับเศษสตางค์ การอุปมาเช่นนี้ เป็นปริศนาธรรมอย่างไร




     สติแม้เกิดขึ้นขณะเดียว ก็มีคุณค่าเหมือนกับเศษสตางค์ เช่น เมื่อเราเก็บเศษสตางค์ไว้ มากๆ ในกระปุกออมสิน มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน จึงเหมือนกระปุกออมสิน



 
     จิตใจของเราเหมือนกัน ก็เหมือนกระปุกออมสิน ค่อยๆ ใส่ ท่านบอกว่า สติแม้มีขณะเดียวก็มีคุณค่ามากเหมือนเศษสตางค์ ที่อุปมาเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อเก็บสตางค์เอาไว้มากๆ ก็เป็นเงินก้อนขึ้นมาได้ แต่เพราะว่าคนเรามักจะใจร้อน อยากจะบรรลุในชาตินี้และเดี๋ยวนี้ อยากนิพพานในชาตินี้ อยากมีดวงตาเห็นธรรม ฟังแล้วอยากจะเข้าใจเลย แต่สภาพที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้แล้ว ความรู้สึกอยากบรรลุในชาตินี้ อยากนิพพานในชาตินี้ อยากมีดวงตาเห็นธรรม แต่สภาพจิตใจในขณะนั้นไม่ได้เข้าใจอะไรเลย



      เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัญญาเริ่มเกิดขึ้นในขณะนี้ คือขณะที่กำลังฟังอยู่นี้เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญญาจะเจริญได้อย่างไร เวลาเราดูโทรทัศน์ ก็เป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน พบปะผู้คนในชีวิตที่เราเจอเช้าสายบ่ายเย็น ประจำวัน แล้วลองมาคิดดูว่า ที่เรารู้จักสนิทสนมกันนี้ ก็จากทีละนิดทีละนิดสะสมเข้าไป


     ฉะนั้น ให้เรามีความระลึกรู้สึกอยู่เสมอว่า พิสูจน์ด้วยใจของเราว่า พิจารณาสภาพธรรมขณะนั้น คือ ขณะที่เราเห็น ขณะที่เรารู้สึกตัว ขณะที่เรากระทำงานนี้อยู่นี่ แม้จะมีสติระลึกรู้สึกตัว แต่ในขณะเดียวมันก็เป็นการรู้ลักษณะที่แตกต่างออกไป


     เรารู้จักคนมากมาย เราทักคน ๕ คน ในที่ทำงาน เราก็รู้ว่า ๕ คน มีลักษณะไม่เหมือนกัน ฉะนั้น แม้สติเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว รู้ในลักษณะของอาการนั่ง ของอาการเดิน รู้อาการนั่งก็ไม่ใช่อาการเดิน ก็เหมือนกับการได้ความรู้จริงออกมาแล้วอย่างหนึ่ง



      สะสมไปทีละน้อย มันก็เก็บไปทั่ว ฉะนั้น กว่าเราจะรู้จักคนทั้งบริษัทฯ เมื่อเริ่มเข้าไปทำงานใหม่นี้ ก็ต้องถามชื่อ คุณชื่ออะไร บางทีก็ลืม ด้วยการสัมผัส ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น ก็พิสูจน์ได้ด้วยกายสัมผัส หรือจิตใจ เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เช่น รู้เห็น รู้ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้ถูกต้อง รู้นึกคิด


ความโลภ คือ ความยินดีติดใจในอารมณ์
ความโกรธ คือความไม่พอใจในอารมณ์ หรือเรียกว่า การประทุษร้ายอารมณ์
ความเมตตา คือ ความปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข
ความกรุณา คือ ความช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นทุกข์


     ด้วยเหตุนี้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงสอนให้รู้จักลักษณะความจริงของธรรมชาติ ที่ใครๆ ก็สามารถพิสูจน์ได้ จึงเป็นคำสอนที่เป็นสาธารณะแก่มนุษยชาติทุกเพศ ทุกภาษา ทุกวัย ไม่เฉพาะแต่เป็นคำสอนของมนุษย์เท่านั้น เทวดา มาร พรหม ผู้มีปัญญาก็ศึกษาได้


     พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ได้สมญานามว่า “สตถา เทวา มนสฺสานํ ภควา” ทั้งนั้น เป็นพระบรมศาสดาเอกของโลก คือ ของมนุษย์ เทวดา พรหม ที่มีปัญญา เรียกว่า หมื่นโลกธาตุ ได้รับคำยกย่องหมด


พระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นในโลกได้ด้วยอะไร






     พระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นในโลกได้ ด้วยพระพุทธคุณ ๓ ประการ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ



     ๑. พระปัญญาธิคุณ คือ สัพพัญญุตาญาณ ก็คือ ธรรมที่รู้ทั่วถึงทั้งปวง ไม่มีอะไรมาปกปิดพระองค์ได้


     พระปัญญาธิคุณ เกิดขึ้นมาได้ เพราะอะไรอีก? พระปัญญาธิคุณ เกิดขึ้นมาได้ เพราะอาสายานุสญาณ คือ ปัญญาที่รู้อนุสัยกิเลส รู้ อัชฌาสัยอันอ่อนแก่หย่อนตึง ของไวไนยสัตว์ที่เคยอบรมมาแต่อดีตว่า คนนี้ คนนั้นได้เคยอบรมมาอย่างไร จึงได้เข้าไปสอนในลีลาต่างๆ เรียกลีลาชีวิต


     พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ได้เพราะอะไรอีก? พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพราะอินทริยโตปริยัติญาณ คือ ปัญญาที่พระองค์ทรงเจริญภาวนา รู้การเจริญภาวนาของเวไนยสัตว์ว่า สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของตน แล้วทำความเจริญมาต่างๆ กันอ่อน – แก่, หย่อน – ตึง ต่างกันอย่างไร


     ๒. พระมหากรุณาธิคุณ เป็นความกรุณาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่เหมือน พ่อ – แม่ กรุณาต่อลูก ต่อญาติมิตร คนใกล้ชิดและที่ชอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่จำกัดบุคคล ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ถ้าจะโปรดให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้แล้วเป็นต้องไปโปรด แม้จะลำบากยากเข็ญอย่างไรก็ตาม


     เริ่มตั้งแต่แรกที่พระองค์ตรัสรู้อนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณ ทรงโปรดปัญจวัคคีย์ด้วย ธัมมจักฺถปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา “สพฺพปากสอาการนํ” เป็นต้น แสดงประกาศศาสนาตลอดกาล ๔๕ พระพรรษา แม้ใกล้เวลาจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็อุตสาหะเสด็จไปประทานเทศนาโปรดแก่ สุภัทปริพาชก ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นองค์สุดท้าย นี่จัดเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะมุ่งจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากวัฏฏภัย





     ทำไมพระองค์จึงมีพุทธประสงค์เช่นนั้น? ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า สัตว์โลกทั้งหลาย ต่างถูกกักขังอยู่ในสังสารวัฏมาเป็นเวลานานจนหาเบื้องต้นไม่ได้ กับคนที่ถูกเข้าคุก โดยมิรู้ว่าเราถูกเข้าคุกมาตั้งแต่อยู่ในท้อง แม่อยู่ในคุก เราก็อยู่ในคุกมาด้วย ฉะนั้น แม่เราติดคุกมาก่อน เวลาเราปฏิสนธิ เราก็ติดอยู่ในคุก ๒ ชั้น เลย แล้วเกิดในคุก แล้วยังไม่มีโอกาสรู้ว่าจะออกจากคุกเมื่อไร โถ! ลูกคนคุกทั้งหลาย



     เมื่อจิตของพระองค์หยั่งรู้อย่างนี้ จึงสุดประมาณที่จะไม่กรุณาไม่ได้ แล้วแม่เราล่ะก็ยาก อยู่ในคุก ยายเราล่ะ ก็อยู่ในคุก ฉะนั้น เดนมนุษย์ที่อยู่ในคุกทั้งหลาย พวกที่เหลือเดนมนุษย์ พวกไม่เดนมนุษย์ เทวดา พรหม พระพุทธเจ้ารื้อหมด


     ๓. พระบริสุทธิคุณ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลกนี้ก็เพราะพระปัญญาธิคุณ ถ้าขาดพระปัญญาธิคุณพระพุทธศาสนาไม่เกิด พระองค์ทรงประกาศศาสนาโดยมิหวังอามิสบูชา ทรงโปรดสัตว์ไม่เลือกวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นคนมีหรือคนจน จะมีอำนาจวาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ คุณชื่ออะไร กว่าจะทักได้ทั้งบริษัทฯ ใช้เวลาเท่าไหร่


     ฉะนั้น ในอิริยาบถน้อย อิริยาบถใหม่ ในอารมณ์น้อยอารมณ์ใหญ่ คือ เวทนา จิต และ ธรรม กว่าจะรู้จักตัวจริงถ้วนทั่ว ต้องอาศัยเวลาเหมือนการสะสมสติ และหยอดสตางค์นั่นเอง


     อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ เวลาเราได้ยิน “คำต่างๆ” ก็เป็นขณะที่เข้าใจความหมายของคำ แต่ละคำ “เธอ” แปลว่า ไม่ใช่ฉันเธอ ขณะนี้แปลว่า คนหมู่มาก “เธอลูกพ่อ ฉันก็ลูกพ่อ" ปฏิเสธคนอื่นแล้ว มันก็มีความหมายเป็นคำๆ ไป


     ต่างกับขณะที่รู้เพียงเสียง ความจริงการศึกษาแล้วการศึกษาอีก คือ เริ่มต้นใหม่ๆ จนกระทั่งรู้ชัด ขณะที่เรามีสติระลึกอยู่ ครั้งแรกก็เลือนลาง เข้าไปฝึกบ่อยๆ จนกระทั่งรู้ชัด เหมือนกัน ที่ห่างห้องปฏิบัติมา เวลาเข้าปฏิบัติจะประคองจิตยาก




     เพราะสติถ้าเผื่อไม่ได้ฝึกมันบังคับยากแต่ก็เข้าปฏิบัติทุกปีแหละ แต่ที่นี้มันไม่ได้คุ้นกับระยะเวลาที่ยืดยาว เช่น วันนี้ใส่สลึงหนึ่ง อีกเดือนมาใส่อีกสลึงหนึ่ง มันจะถึงบาทเร็วไหม .. แม้เพียงขณะเดียวก็เหมือนเศษสตางค์ แต่ขณะเดียวที่ต่อๆ กันนี้ ๔ ขณะก็เป็น ๑ บาท ๔ บาท ๑ ตำลึง ๒๐ ตำลึงเป็น ๑ ชั่ง


     ฉะนั้น อารมณ์ที่เราได้มันก็จะเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อบรมให้เจริญเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าปล่อยโอกาสการศึกษาให้ผ่านไปบ่อยๆ เพียงไรไม่เอาเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยเรียนๆ ครูตาย หรือไม่เราก็ตาย การอ่านต่างกับการรู้




     “การอ่านหนังสือ” กับ “การฟัง” ต่างกัน เวลาเราอ่านมักจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว และก็คิดมากด้วย จินตนาการไปตามเรื่องด้วย แม้ในขณะที่เห็นซึ่งรู้ที่ประสาทตาด้วย นี่คือชีวิตประจำวัน



     เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวัน เราเห็น เราก็คิดตามไปด้วย ฟังแล้วก็คิดตามไปด้วย มันไม่ได้รู้อยู่ว่าอะไรเกิดขึ้น แสงหรือเสียง เราไม่ได้รู้แค่เสียง เราไม่ได้รู้แค่แสง เรารู้ไปในสมมติเลย เสียง แสง สมมุติ ฉะนั้น จึงไม่ได้รับสภาพความเป็นจริง


     เราจะเห็นได้ว่า เราทุกคนจะต้องเดินทางไปอีกไกลแสนไกลกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมต่างๆ เพราะจะต้องสะสมความถี่ของสติ ความถี่ของปัญญา ความถี่ละเอียดนี้ เช่น ๑๐๕ AM กับ FM ความถี่ย่อมต่างกัน ฉะนั้น ความถี่ที่สูงย่อมรับคลื่นได้ดีกว่า คือ ทำบ่อยๆ ทำถี่ๆ ความชัดมันจะเกิดขึ้น เหมือนกับคลื่นเสียง คลื่นแสง



     ฉะนั้น ที่ท่านอุปมาเหมือนเศษสตางค์นี้ก็คือ ใส่บ่อยๆ แก๊งค์หนึ่งๆๆ เดี๋ยวก็เต็ม พอเต็มแล้วมันก็เป็นปริมาณมากขึ้น คำว่า มากมาจากน้อย คำว่าน้อยมาจากมาก ฉันใดฉันนั้น



     ทั้งที่รู้อยู่ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ มิใช่จะจีรังยั่งยืน และเกิดด้วยเหตุปัจจัย แต่ก็รู้สึกเสียใจทุกครั้งในเมื่อไม่มียศ ไม่ได้ตำแหน่ง ซึ่งรู้ว่าไม่สมควร ฉะนั้น ควรวางใจอย่างไรที่จะทำให้ความทะยานอยากนี้น้อยลง



     อย่างพวกเราที่เรียนอยู่ก็รู้ว่า สิ่งต่างๆ อันตัณหาเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย อันตัณหาเป็นตัวก่อให้เกิดการยั่วยวนก่อให้เกิดสารพัดต่างๆ เป็นตัวทุกข์นั่นเอง เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่เราก็รู้ว่า มีลาภ ก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็เสื่อม มีสุขก็มีทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นโลกียธรรม ๘ ระการ



     ผู้ถาม ถามทั้งๆ ที่รู้ แต่ก็เกิดโทมนัสจิตทุกครั้งที่ถาม และก็รู้ด้วยว่าการรู้สึกอย่างนี้ มันไม่สมควร ควรจะวางใจอย่างไร ให้มีความทะยานอยากน้อยลง

     เราจะทะยานอยากน้อยลง เราต้องรู้ว่า เราทะยานอยากเพราะอะไร ทำไมความทะยานอยากจึงมี เพราะเราถือว่าเราสำคัญ สำคัญตนผิด ไม่ได้ตำแหน่งเกิดเสียใจทุกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าตำแหน่งนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ได้ยศเสียใจทุกครั้ง



     ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่เที่ยง ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ควรทำ แต่ทำไมความทะยานอยากมันเกิดขึ้นอีกล่ะ เพราะความสำคัญตนผิด เราทะยานอยากเพราะเราถือว่าเราสำคัญ เรายึดมั่นถือมั่นว่า เมื่อไม่สมความปรารถนา เราจะไม่มีความสุข เราไม่ยึดเอาไว้ ขณะที่เราบากบั่นทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ขณะนั้น เราก็มีความยึดมั่น ที่เราทำงาน เราบอกว่าเราทุ่มเทเพื่อเด็กนักเรียน ไม่จริงหรอก เราทุ่มเทเพื่อตัวเอง เพราะพอเด็กได้ดี ก็กระทรวงคะ ดิฉันขอเอาซีมาเลื่อนขั้นเด็กคนนี้แทน ไม่ให้เด็กคนนี้สอบตก ไม่ให้เด็กคนนี้เสียค่าเทอม มีครูคนไหนไม่เอาซี แต่ขอลิขสิทธิ์ให้เด็กเรียนฟรีมีไหม? ไม่มี เอาซีทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ต้องซี้


     อ้าว! ๒ ขั้น ขั้น ๑ ขั้น และก็ ๒ ขีด ทำหนังสือถึงกระทรวงเลย ว่าข้าพเจ้ามีความเพียงพอไม่ทะเยอทะยาน ไม่อยากได้ในตำแหน่งและซีต่างๆ แต่เมื่อได้มาแล้วขอตั้งเจตนาเป็นกุศล เพื่อหมดความทะยานอยาก เอาซีต่างๆ และขั้นต่างๆ เป็นค่าใช้จ่าย ในการให้เด็กนักเรียน โรงเรียนนี้ ชื่อนั้นๆ ระบุลงไป เรียนฟรี แทนซีฉัน ไม่เห็นมีใครทำ



    ฉะนั้น เพราะอะไร เพราะว่าเรามีความยึดมั่นถือมั่นเหมือนกันหมด เมื่อเราได้สิ่งที่เราต้องการมา ทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องให้ดีเลิศ ดีที่สุดเท่าที่เรามีความสามารถ มีทำอะไรแล้วอยากเลวกว่าคนอื่นไหม อยากมีความรู้เลวกว่าคนอื่นไหม อยากมีความรู้ไม่ทัดเทียมผู้อื่นไหม ไม่อยาก


   
     อ้าว! อยากเป็นลูกจ้างหรือเป็นเจ้านายเขา ถ้าเผื่อให้เลือกไม่มีใครอยากเป็นลูกจ้าง ต้องขึ้นรถเมล์กับขึ้นรถเก๋ง จะขึ้นอะไร? ขึ้นรถเก๋ง ความยึดมั่นเป็นสาเหตุของความคับข้องใจ มันเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันจบ


    
     เราต้องการให้ตัวตนสำคัญขึ้น แต่แล้วยิ่งอยากก็ยิ่งถอนตัวตนไม่ออก ถ้าเรานึกถึงผู้อื่นมากขึ้น ตัวตนก็สำคัญน้อยลง แต่ถ้าเผื่อเรานึกถึงตัวเราเอง เราก็ยิ่งถอนตัวเราเองไม่ขึ้นมันไม่ค่อยนึกถึงคนอื่น



  
     เราอาจเคยคิดเรื่องความไม่แน่นอนของสภาพธรรมต่างๆ ได้ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ – ปัจจัย เช่น รู้ด้วยว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุ – ปัจจัยไม่แน่นอน เราอาจจะคิดได้เรื่องความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย และก็คิดได้ว่านี่คือ สิ่งอันน่าร่าเริงใจ แต่ถ้าไม่ได้เจริญปัญญาแล้ว โดยระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่ปรากฏ เพียงรู้แบบเรียนมา เป็นสัญญารู้ ไม่ได้รู้ตามสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาไม่คมกล้าพอที่จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้าเวลาประสพอย่างนั้นจิตก็หายนะ


     ฉะนั้นทำไม Fail บ่อยๆ ทำไมทำไม่ได้ ทั้งที่เราน่าจะทำได้เหมือนไม่ยาก เพราะอะไร “เพราะไม่มีใครทำให้เราตกต่ำได้ เพราะเรายินดีตกต่ำ คือไม่ยอมเดินสูง”


     ทางพระพุทธเจ้านั้นทางสูงแต่เราไม่เดิน เราเรียนเท่านั้นเองว่ามีทางสูง แต่เราเดินทางต่ำ ฉะนั้น รู้แบบสัญญารู้ ความคมของปัญญาไม่พอจะแก้ ความยึดมั่นถือมั่นได้


     เราไม่ควรเจริญปัญญาในขณะที่เราผิดหวังหรือเป็นทุกข์เท่านั้น แต่เราควรเจริญปัญญาเดี๋ยวนี้ ถ้าเราไม่เริ่มเดี๋ยวนี้ เราจะคลายความยึดมั่นถือมั่น คลายจากความเป็นตัวตนไม่ได้ เรายึดมั่นร่างกายของเรามากมายเหลือเกิน เรายึดมั่นร่างกายโครงสร้างเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เรียนแล้ว ศึกษาแล้วว่าเป็นเพียงธาตุ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพที่แข็งปรากฏขึ้น


     ถ้าสติเกิดระลึกรู้ ก็จะรู้เป็นเพียงแข็งเท่านั้น ไม่ใช่ร่างกายเป็นของเรา นั่งปุ๊บ โอ๊ะ? แข็ง แต่ถ้าเป็นร่างกายของเรา เราเจ็บ สภาพแข็ง “ความแข็ง” เป็นเพียงสภาพแข็ง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแข็ง หรือไม่แข็ง เป็นสภาพที่เราเรียกว่า ร่างกาย หรือเรียกว่าแข็งภายนอก แต่เมื่อมีสติเกิดขึ้นระลึกความปรากฏแข็ง หรือแข็งปรากฏขึ้น ก็จะเริ่มรู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นเรานั่ง แต่เรียนก็เป็นเรารู้ว่าธาตุมันแข็ง แต่เรายังไม่เจอธาตุ ยังเป็นเราอยู่ แต่ถ้าเมื่อไร ธาตุปรากฏขึ้นมาเมื่อไร จะรู้เฉพาะคำว่า “ธาตุ” อาการลักษณะนั้น แข็ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นต้น




     เมื่อเข้าใจนามธรรม และรูปธรรมเจริญขึ้น ถูกฝึกปรือขึ้น ก็จะรู้สภาพธรรมทั้งหลายเช่น ยศ และ สรรเสริญ ก็เป็นเพียงแต่ธาตุอีกแล้วไม่ใช่ของใครเลย เป็นนามธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ


     ฉะนั้น จำต้องมีศรัทธาในธรรมะอย่างมั่นคง เราก็จะเห็นได้ว่า “พระธรรมมีคุณค่ายิ่งเกียรติยศ หรือ คำว่า “สรรเสริญ” เพราะพระธรรมนำสุข สรรเสริญเยินยอตำแหน่งนำทุกข์เพราะต้องทำมาก เราอาจจะหลงใหลในลาภ สักการะ ชื่อเสียงได้ง่าย สิ่งเหล่านี้ หลอกลวง เพราะดูเหมือนเป็นที่น่าปรารถนา แต่ก็นำไปสู่ความทุกข์


     ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค บทที่เรียกว่า ลาภ สักการะ สังติยุต มีพระสูตรอยู่ทั้งหมด ๔๓ สูตร หรือ ๔๓ ข้อ ทั้ง ๔๓ ข้อนี้ ชี้ให้เห็นอันตรายของลาภ ลาภเป็นทุกข์เพราะอะไร สักการะและชื่อเสียงก็เป็นอันตราย



     "ลาภ"อุปมาเสมือนเบ็ดตกปลาของชาวประมง เสมือนลูกศรของนายพราน (อาบยาพิษ) แทงคนให้มีบาดแผล, เหมือนลมเวลัมพาชัด หมายถึงว่า เวลาที่นกบินอยู่ในอากาศนี้ คนที่ไม่พูดเท็จก็จงใจพูดเท็จ เพราะถูกความปรารถนา เพราะต้องการชื่อเสียงครอบงำ ดังมีข้อความในพระสูตรว่า





     ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ ชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่ผู้บรรลุธรรมอันเกษม ไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อออกจากลาภ สักการะ อันเป็นความทารุณและเผ็ดร้อนทั้งสิ้น



     ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นคนบางคนในโลกนี้ อินสักการะครอบงำ ย่ำยีจิตใจแล้ว เมื่อตายไม่ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราเห็นคนบางคนในโลกนี้ ครอบงำย่ำยีบีทาจิตใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราเห็นคนบางคนในโลกนี้ อันสักการะและความเสื่อมสักการะทั้ง ๒ ครอบงำ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ครอบงำ ย่ำยีบีทาจิตใจแล้ว ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก



     ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ เราทั้งหลายจะละลาภ สักการะ และชื่อเสียงที่เกิดขึ้นเสียแล้ว และลาภ สักการะชื่อเสียงที่ไม่บังเกิดขึ้นแล้ว จะครอบงำจิตใจเราทั้งหลายอยู่ไม่ได้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล



     สมาธิของผู้ใดที่เขาสักการะอยู่ด้วยพลสมาธิหาประมาณมิได้ ไม่ได้หวั่นไหวด้วยลาภ สักการะ และชื่อเสียง สักการะของผู้ไม่เพ่งนั้น ทำความเพียรติดต่อกันไป เห็นแจ้งด้วยทิฏฐิแล้ว ก็จะเห็นความอสาระ คือ ไม่เป็นสาระ คือ ไม่เป็นสาระ ในลาภสักการะเหล่านั้นๆ ยังจะทำให้พระนิพพาน เป็นที่สิ้นอุปทาน เรียกว่า บุคคลนั้นเป็นสัปปบุรุษ


     ฉะนั้น “ความทะยานอยาก” ที่ทำไมเรียนแล้ว ก็ยังไม่พอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เช่น ตรวจล๊อตเตอรี่ใกล้เคียง ไม่ถูก ก็รู้อยู่แล้วว่าจะถูกล็อตเตอรี่ก็ทำทานมา จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะทานทั้งสิ้นเลย ไม่ใช่สำนักงานสลากกินแบ่งให้ แต่ทานย่อมเป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งปวง เวลาตรวจล็อตเตอรี่ ไม่ถูก เสียใจจัง ทำไมเสียใจล่ะ เพราะความรู้ของเรามันเป็นความรู้แค่ปัญญาอ่อน เป็นแบบสัญญารู้ ไม่คมพอที่จะไปตัดนิสัยมักมากได้ อยากอย่างเดียวไม่ต้องการเสีย “อยากไม่ต้องการเสีย เป็นสมบัติอย่างเดียวของสัตว์ทั้งหลาย แต่รู้ถึงความได้และความเสียเป็นสมบัติของอริยะ”


     ฉะนั้น เราไม่ควรเจริญวิปัสสนา หรือปัญญา ก็ต่อเมื่อผิดหวัง หรือเป็นทุกข์ เช่น พอทุกข์ ไม่เอาแล้วเข้าห้องปฏิบัติ ตอนนี้กลุ้มใจมากๆ ไม่เอาแล้วหนีเข้าห้องปฏิบัติ พอมีสุขแล้วไม่เอาแล้ว ไม่ปฏิบัติ หนีไม่ได้ต้องเพียรทุกวัน ให้เกิดความสม่ำเสมอ และก็อย่าเผลอไปจากนามรูป




     ฉะนั้น จึงจะเห็นภัยในอารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นอารมณ์ทั้งสิ้นไม่เห็นมีอะไรเลย จะควรวางใจอย่างไร ก็ควรวางใจให้เป็นโยนิโสมนสิการเท่านั้นเอง คือวางใจให้แยบคาย


     การวางใจให้แยบคายนี้ เราจึงจะต้องรู้ว่า ความทะยานอยากที่มีกันมากนั้นมีเพราะอะไร จะลดความทะยานอยากเพราะอยากอยู่ติดตัวเรามาก ยังเป็นถือตัวถือตนอยู่ ทำไมยังถือตัวถือตนล่ะ เพราะยังไม่ฝึกฝนวิปัสสนา



     สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานแนวทางเพื่อก่อให้จิตใจเป็นสมาธิไว้ ๔ ประการ เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน สมถภาวนา ๔๐ ประการ หรือ สมถสมาธินั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ประทานไว้ให้สัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็ได้ทรงวางทางอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการสิ้นสุดจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือสิ้นสุดทุกข์ หรือเรียกว่า สิ้นสุดจากกรรม ด้วยวิธีการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นจากสมาธิธรรม สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ๔ ประการ คือ ทางนี้เป็นทางจริง สติล้ำค้ำจุนเจือ เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ๔


๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน



     มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ คือ หลักใหญ่ที่ทรงประทานไว้ หลักใหญ่ๆ เลยที่พระองค์ทรงประทานไว้ให้เวไนยสัตว์นั้นลุล่วงจากกรรมได้


     ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การคอยสังเกตการเคลื่อนไหวต่างๆ ของกาย นับตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า มีการเคลื่อนไหวอย่างไร ทรงอยู่อย่างไร การกำหนดรู้ซึ่งความเคลื่อนไหวและความทรงอยู่เหล่านั้น เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน



     การเคลื่อนไหวทางกายนับตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าในที่นี้หมายว่า ตั้งแต่ศีรษะตรง เอน ให้เรามีสติคอยกำหนดตามมิให้ขาดสาย หากจะต้องกำหนดโดยตรง ก็คือ ต้องมีความกำหนดรู้ว่าอาการที่ปรากฏอยู่ทางกายนี้ เป็นรูป อะไร นั่งกายนี้นั่ง สติก็ต้องรู้ว่าเป็นรูปนั่ง นอนก็ต้องรู้เป็นรูปนอน คู้ก็ต้องรู้ว่ารูปคู้


     ฉะนั้น จะต้องมีสติรู้ในกาย คือ เป็นรูปอะไรให้ชัดเจน และการจะชัดเจนได้ก็คือ คอยสังเกต เหมือนเศษสตางค์ การมีสติหนึ่งครั้ง ก็มีค่าเหมือนเศษสตางค์ มีเยอะแล้วผสมกันมันก็เป็นบาทเอง


     ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระองค์ทรงจำแนกได้ ๒ ประการ คือ เวทนาอันเกิดขึ้นจากจิต ๑ เวทนาอันเกิดขึ้นทางกาย ๑


     ในโลกนี้มีอะไรที่เราจะตัดสินได้บ้างว่า มันดีหมด หรือไม่ดี ไม่ได้เลย ไม่น่าเชื่อถือ “สัจจะ” เท่านั้นเอง คือ ความจริงที่น่าเชื่อถือ ก็คือ “พระปรมัตถธรรม”


     เมื่อพบเข้า จิตใจก็ไม่สบายในสิ่งที่ไม่อยากพบ เช่น มูลสุนัข หรือสิ่งอะไรต่างๆ ก็เป็นเวทนาอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ทุกขเวทนา หรือ เราไปพบกับบุคคลเดิมที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เราก็ไม่มีความรู้สึกสุขสดชื่นยินดี ต้องวางตัว ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ นั่งอยู่เกิดอึดอัด โสกปริเทวะ ความเศร้าโทมนัสกับคนที่เราได้พบ หรือ กับคนที่เราไม่รู้จักเลย ก็มีขึ้นได้ หรือไม่ก็เฉยๆ คือ การวางเฉย นี่ก็เป็นเวทนาอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อุเบกขาเวทนา เพราะไม่รู้จักก็เลยไม่เลยไปรู้สึกยินดี ไม่รู้สึกไม่ยินดี ทั้งหมดนี้เรียกว่า เวทนาเกิดขึ้นทางจิต


     เมื่อได้รับทราบเวทนาทางจิตแล้ว เรามาดูเวทนาทางกาย ขณะท่านทั้งหลายที่กำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ ก็มีการปวดขา ปวดปัสสาวะ ปวดคอ ปวดเอว บางคนก็คัน สิ่งเหล่านี้แหละเมื่อเราพิจารณาให้ดี ก็จะรู้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง ความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย กิริยาทางใจก็ดี ทางกายก็ดี ซึ่งได้เกิดขึ้นมา ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว



     หากเราได้พยายามใช้สติกำหนดในกิริยาอาการทางใจก็ดี ทางกายก็ดีทั้งหลายแล้วโดยไม่ให้ขาดสาย การกำหนดเช่นนี้เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


     ฉะนั้น เวทนามีการเกิดขึ้นทางกาย ทางใจ แล้วทำความเข้าใจ เหมือนกับรูปนั่งไม่ใช่รูปนอน ทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางกาย สุขทางใจ สุขทางกาย สุขอันเกิดขึ้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุ ต้องหาเหตุ



     ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะที่เรากระทำสิ่งใดก็แล้วแต่ จิตใจของเราย่อมมีอารมณ์เข้ามาแทรกเราอยู่เสมอ หากเรามีความโกรธขึ้นมา หรือนึกปุ๊บโกรธขึ้นมา หรือมีอารมณ์วิบากเก่าๆ ผลของกรรม เราเกิดมาเพราะกรรม อาศัยผลกรรม และต้องจากไปเพราะกรรม


     ฉะนั้น อาศัยผลของกรรมที่มากระทบเรา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาให้ผล ถ้าเข้ามาปุ๊บ มีความโกรธขึ้นมา เช่น เห็นอะไรไม่ดี หรือฟังอะไรไม่ดี จิตใจก็รู้สึกโกรธขึ้นมา หรือว่า เราได้อารมณ์ที่ชอบใจขึ้นมา เกิดขึ้นในใจ ปลื้มใจ สุขใจ ปีติใจ ก็รู้สึกชอบขึ้นมา หรือจิตของเราแลบไหลไปในอารมณ์ต่างๆ ก็คือ ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตนิ่งอยู่ไม่ได้ คือฟุ้งซ่านไป เราก็รู้อาการของจิตนั้น


อาการทั้งหลายที่จิตเกิดขึ้นต่างๆ โดยเป็นสภาพของเหตุปัจจัย คือ วิบากต่างๆ นั่นเอง เจ้าวิบากต่างๆ มาให้เรารู้สึก เราก็รู้สึกไปโดยไม่ขาดสาย เราอาจจะสามารถกำหนดติดต่อกันได้โดยไม่ให้ขาดระยะ การกำหนดลักษณะนี้เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน



     ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องความกว้างใหญ่ไพศาล ท่านบอกว่า พุทธศาสนิกชนจะเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งทั่วถึงได้ยากมาก เพราะฉะนั้น ในที่นี้ พระองค์จึงประมวลธรรมโดยย่อไว้ พอให้เกิดความเข้าใจกันต่อไป


     วิธีง่ายๆ คือ ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ปรารถนาพ้นทุกข์ไม่มีใครอยากได้ทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องพยายามเจริญวิปัสสนาไม่มีใครอยากจะมีทุกข์ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนต้องเจริญวิปัสสนา


     เมื่อไปเจริญวิปัสสนาแล้ว ก็ต้องอาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นบาท เมื่อสติปัฏฐาน ๔ เป็นบาทแล้ว ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะที่กำหนดอยู่นี้จิตตามสันดานที่เกิดขึ้น (จิตเดิมไม่มี) มันย่อมจะแลบไปเสพอารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่กำหนดอยู่ เมื่อจิตแลบไปเสพอารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่ตนกำหนดอยู่แล้วนี้ ให้กำหนดรู้ว่า เมื่อทำเช่นนี้ได้บ่อยๆ ครั้งแล้วก็จะสงบ สงบอยู่กับอารมณ์ที่กำหนด


     เช่น เรากำหนดอยู่ทางกาย เวทนา จิต ที่นี้ทางกายก็แว๊บไป คิดไปแล้ว พอกำหนดเวทนา ก็เป็นเรื่องเป็นราวไปแล้ว พอเรื่องจิตก็คิดเป็นเนื้อเรื่องไป เรารู้ทันทีจิตมีราคะ จิตมีโทสะต่างๆ เป็นธรรมะ ธรรมชาติต่างๆ


     ปัญหาใหญ่ๆ ก็คือ เมื่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทราบถึงความทุกข์ยากลำบากทั้งหลายว่า เช่น การควบคุมจิต หรือการประคองจิตนั้น ความยากที่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายที่มันดูยาก กายที่ดูยาก เวทนาที่ดูยาก จิตดูที่ยาก เพราะเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา





     ฉะนั้น ก็เป็นธรรมตัวหนึ่งที่ปรากฏเด่นขึ้นมา ธรรมชาตินั้นปรากฏขึ้นมาเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมชาติที่บังคับบัญชาไม่ได้ นี่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ใช้คำจำกัดความว่า “ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน”


     เช่น รัก เกลียด ชอบ ชัง ฟุ้ง ห้ามไม่ได้ ไม่ให้นึก ไม่ให้ต่อ ไม่ให้ฟุ้ง ห้ามไม่ได้ ธรรมชาติที่ห้ามไม่ได้ทั้งหลายนี้ เป็นธรรมชาติที่เป็นสังขตธรรม เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่งจาก อวิชชา และตัณหา ฉะนั้น นี่คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน



     มีพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า การที่พระพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงจะรอดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะต้องได้อาจารย์ที่เป็นปราการสำคัญ และการที่จะได้อาจารย์ดีนี่เป็นสิ่งที่มิได้หาได้ง่ายๆ



     เพราะในสมัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังทรงพระชนมายุอยู่ ยังไม่ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามพระบรมศาสดาว่า ถ้าหากว่ามีอาจารย์ดี ได้ปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว มรรคผลนิพพานที่ปรารถนานั้นย่อมสำเร็จได้ครึ่งหนึ่งใช่ไหม พระพุทธเจ้าค่ะ


     สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า ดูกร อานนท์ การที่เธอได้อาจารย์ดีนั้นไม่ใช่เธอจะสำเร็จเพียงครึ่งเดียว เธอย่อมสำเร็จหมดทุกอย่าง ขอยืนยันปัญหานี้ ขอยืนยันคำพูดนี้ เช่น สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเมื่อพบตถาคตแล้ว การได้พบตถาคตนี้แหละจึงได้มรรคผลนิพพาน สำเร็จหมดทุกอย่าง ครบครัน


     ดังนั้น อานนท์เอ๋ย แล้วการได้พบตถาคตนี้ จงอย่าถือว่าถ้ามีครูดีแล้วจะสำเร็จเพียงครึ่งเดียวนะ ที่แท้เป็นการมีครูดีย่อมสำเร็จทุกอย่าง ย่อมเป็นกำไรของชีวิตอย่างหาที่เปรียบไม่ได้



     และพระฏีกาจารย์ท่านได้อธิบายเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ว่า แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้อาจารย์ดีแล้วนี้ ท่านทั้งหลายก็อย่าได้หลงภูมิใจว่า ฉันได้อาจารย์ดีแล้วย่อมจะได้ มรรคผลนิพพานเองอย่าได้เข้าใจอย่างนั้น ถ้าเผื่อเข้าใจอย่างนั้น ถึงไม่ได้ทำกัน ขอพบพระศรีอาริยเมตตาไตรย พบแล้วพ้นไง แล้วจะไปพบได้ต้องเพียรไป ต้องทำทางไปถึง อย่าได้เข้าใจอย่างนั้นเด็ดขาด



     เพราะเมื่อพบอาจารย์ดีแล้ว จงเข้าไปหาท่าน พร้อมกับสมาทานอุโบสถศีล พยายามรักษาอุโบสถศีลนั้นให้มั่นคงเสมือนตนได้นุ่งห่มอาภรณ์ ไม่เป็นคนอุดจาด และพยายามรักษาอุโบสถศีลนั้นให้เสมือนอาภรณ์ที่พันกายแล้ว นุ่งห่มแล้ว จงพยายามปราบปรามจิตที่เคยไหลไปฟุ้งซ่านไปทั่วสารทิศให้มาอยู่ในทิศอันเดียว ซึ่งเรียกว่าสมาธิต่อไป


     ฉะนั้น การที่ชักชวนผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย ในจิตมั่นคงเป็นสมาธินี้เนื่องว่าจิตนั้น อุปมาเหมือนลูกโค ธรรมคติของลูกโคนั้น ย่อมจะไม่มีการอยู่นิ่ง จะวิ่งไปจะวิ่งมา ทำลายสิ่งโน้นสิ่งนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ฉันใด จิตของเรามันก็เตลิดเปิดเปิงไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้ว มันก็เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้น จะกลับมายังแหล่งเดิมได้ยาก


     เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามรักษาจิตที่เปรียบเสมือนลูกโคนี้ ให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวที่เรียกว่า สมาธิ


   
      เมื่อเราทุกคนได้ทราบถึงธรรมชาติของลูกโคว่า ย่อมปรารถนาจะหนีเตลิดเปิดเปิงไปแล้วไซร้ ต้องพยายามจับลูกโคตัวนั้นมาผูกไว้กับเสา มิให้มันไปสร้างความเดือดร้อนหรือทำลายสิ่งทั้งหลายได้ฉันใด จิตของเราซึ่งสอดแทรกเตลิดเปิดออกไปเพลินในอารมณ์ต่างๆ นาๆ เราจำต้องพยายามดึงจิตนั้นมาผูกกับเสาเช่นกัน




     เสาที่นำจิตไปผูกนั้นคืออะไรเล่า ฉะนั้น เราต้องมาค้นหาเสาสำหรับผูกจิตให้เกิดขึ้นในกายของเรา เมื่อเราค้นหาแล้ว ค้นหาเจอไหม ท่านบอกให้ค้นหาก่อน ประการแรก เราก็จะพบเสาที่ง่ายที่สุดคือ ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน


     เราจะพบที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ซึ่งที่แรกจะผูกได้นั้นก็เนื่องมาจากว่า เราสูดลมหายใจเข้าไป ลมหายใจที่เราสูดเข้าไปนั้นย่อมจะกระทบกับปลายจมูก หรือเมื่อเราระบายลมหายใจออกมาจะผ่านไปกระทบกับริมฝีปากบน นี่แหละเป็นเสาที่ผูกมัดจิตไว้



     เมื่อเราได้รู้หลักสำหรับผูกจิตของเราแล้ว ขณะที่เรากำหนดจิตของเราอยู่นั้น ในเมื่อเราหายใจเข้าไป เราก็สูดเข้าไป เราย่อมจะกระทบกับปลายจมูกบน เวลาเรากำหนดเราก็รู้กระทบกับลมหายใจเข้านั้น เมื่อเราหายใจหรือระบายลมนั่นออก ลมก็กระทบกับริมฝีปากบนก็กำหนดรู้ โดยมิให้การกำหนดรู้ของเรานี้ขาดระยะ หรือจากกันต้องกำหนดไป ๗๐ - ๘๐ ครั้ง ให้ติดต่อสืบกันไปอย่างนี้





     กรรมวิธีแห่งการกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ นอกจากพิสูจน์ให้เห็นความจริงทีละเล็กทีละน้อยแล้ว ก็มิสามารถผูกมัดจิตให้แน่นิ่งได้ เพราะจิตนั้นเตลิดเปิดเปิง ไปไวกว่าที่เราจะจับมันได้ นี่เป็นข้อที่คณาจารย์ทั้งหลายได้ไปประสบมาในการปฏิบัติธรรม


     จากเหตุที่ได้พิสูจน์ความจริงนี้ ท่านบอกว่า ร้อยละ ๗๐ - ๘๐ คน ผู้ปฏิบัติสามารถกำหนดผูกจิตไว้ที่ปลายจมูกและริมฝีปากบนได้สร้างความลำบากให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างมาก


     เพราะฉะนั้น พระคุณเจ้ามหาสีสยาดอ โสภาเถระ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่วัด ศาสนาหิสา นครร่างกุ้ง พระอาจารย์ได้เลือกเฟ้นเครื่องผูกมัดจิตให้ใหม่ โดยเลื่อนจากปลายจมูกและริมฝีปากบนมาที่ท้อง ที่กำหนดยุบหนอ พองหนอ ในขณะที่สูดลมหายใจเข้านั้นลมหายใจเบาเหลือเกิน จึงให้มารู้สึกที่ท้อง และก็กำหนดการเคลื่อนไหว “พอง” รู้สึกอาการพอง รู้สึกอาการยุบ



     แต่ที่พ่อศึกษาอยู่แล้วไม่มีคำว่า “หนอ” ให้จิตนั้นรู้สึกในอาการ หายใจเข้า ท้องพอง เหมือนพวกทำโยคะ หายใจออก ท้องแฟบ เพราะตรงนี้จะกำหนดได้ง่ายกว่า ฉะนั้น ขณะที่ระบายลมหายใจออก สร้างความสะดวกให้แก่สาธุชนผู้ปฏิบัติที่ปลายจมูกและริมฝีปากมากมาย เรียกว่า ได้อาศัยกรรมวิธีเช่นนี้มา จนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีอยู่ เมื่อจิตมีความมั่นคงแล้ว เรียกว่ามีเสาแล้ว ผูกไว้ได้แล้ว ก็ให้ตีวงล้อมด้วย ๔ เสา กั้นคอก ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทันที


     หรือ ถ้าเผื่อเสาปักดีแล้ว แต่เป็นเสาที่ยังไม่ได้ถูกพระพุทธเจ้าตรวจ หรือเสาที่ยังไม่หมดจากกิเลส ก็ให้พยายามดึงเสาเหล่านั้นมาพิสูจน์ทันที ก็คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข ตรงปฐมฌานอันเดียวที่สอนในเรื่องวสี ปัญจมฌานเท่านั้นเอง จากปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ให้ถึงปัญจมฌาน แล้วมีวสี ดูได้อันเดียว ท่านอธิบายได้แคล่วคล่องมาก




     การปฏิบัติตามวิธีการของท่านมหาสีสยาดอ โสภาเถระ ให้กำหนดที่ท้อง เมื่อกำหนดอย่างนี้แล้ว อาการอย่างนี้ก็ทำให้จิตมีที่ปักหลัก เริ่มมีหลักชัย หลักของชัยชนะที่จะดึงจิตกลับมาง่ายๆ เมื่อจิตนั้นคุ้นกับสภาพการเคยชิน คือ “อยู่คนเดียวคอยระวังความคิด อยู่กับหมู่มิตรระวังคำพูด” เป็นเนกขัมมะ หรือ เกิดสันโดษในจิต


     ก็พิจารณาดูไปตามสภาพจิตที่รู้อารมณ์ทางกาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้อารมณ์ทางใจ และทางกาย ก็สุขเวทนา กับทุกขเวทนา หรือ เฉยๆ ก็ดูสภาพเวทนานั้น ดูสภาพจิตนั้นให้เห็นว่า ธรรมชาติเหล่านั้นถูกปกคลุมไปด้วย เหตุและปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ย่อมมีผลเกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัย ผลก็ย่อมดับไปๆ เป็นของธรรมดา



     ฉะนั้น ในเรื่องนี้ ได้อธิบายวิปัสสนากัมมัฏฐาน และสมถะกัมมัฏฐานมาอย่างละเอียด คราวนี้มาต่อกันที่ ปริจเฉทที่ ๙



     ท่านอาจารย์ของพ่อท่านสอน “จงทำดี อย่าดีแต่ทำ จงพูดแต่ดี อย่าดีแต่พูด จงคิดแต่ดี อย่าดีแต่คิด” ให้จำไว้เลยเป็น ๓ หลัก


เพราะว่าความสวัสดีย่อมมีแก่ผู้ทำดี ความสวัสดีย่อมมีแก่ผู้พูดดี และความสวัสดีย่อมมีแก่ผู้คิดดีตลอดกาล “ทำใดไม่พินิจได้ความคิดเป็นกำนัล ไม่ทำเฝ้าแต่ฝันไม่มีวันจะได้งาน”


สติปัฏฐาน ๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม

     กาย คือ รูปขันธ์ องค์ธรรม คือ ตัณหา
     เวทนา คือ นามขันธ์ องค์ธรรม คือ ตัณหา
     จิต คือ นามขันธ์ องค์ธรรม คือ มนะ
     ธรรม มีทั้งรูปและนาม องค์ธรรม คือ ทิฏฐิ



     ต้องรู้ทั้งหมด และทำไมต้องเจริญ กาย เวทนา จิต และธรรม เพราะเรามีวิปลาส ๔ จึงต้องเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อทำลายวิปลาส ๔


     เพราะเรามีความเห็นผิด (โง่) หลงว่ากายนั้นเป็นสุภะ เป็นของดี แท้ที่จริงร่างกายของเรานั้นเป็นอสุภะ เรียกว่าทำลายสุภสัญญา เป็นนิมิตเกิดขึ้นจากพิจารณาอสุภสัญญา ปหานสุภสัญญา องค์ธรรมของสุภสัญญา คือ ตัณหา


     เวทนา คือ เวทนาขันธ์ เป็นนามขันธ์ เป็นทุกขสัญญา อารมณ์นี้เป็นทุกข์ แต่เรานึกว่าเป็นสุข เพราะตัณหาลวงล่อให้ก่อเกิด ฉะนั้น นึกว่าเป็นสุข แต่แท้ที่จริง เป็นทุกขัง


     จิต คือ วิญญาณขันธ์ เรานึกว่าจิตนั้นเที่ยง เป็นนิจจสัญญา เป็นวิปสลาสธรรม เหมือนไฟนี้ เรานึกว่าติดอยู่ แท้จริงไม่ได้ติดอยู่ นี่คือ ความหลงผิด แท้ที่จริงเป็นอนิจจสัญญา แท้ที่จริงความเห็นอันนี้ คือ มานะ ฉะนั้น เราเจริญเพื่อทำลายนิจจสัญญา ให้เป็นอนิจจสัญญาขึ้นมาแทน


ธรรมชาติ มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม ฉะนั้น เราหลงผิดว่าเป็นอัตตสัญญา แท้ที่จริงเป็น อนัตตาสัญญา ธรรม ๔ ประการ นี้ ยังแยกความวิปลาสออกได้เป็น ๓ สาขา คือ ทิฏฐิวิปลาส จิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส




          กาย    องค์ธรรม คือ ตัณหา
          เวทนา องค์ธรรม คือ ตัณหา
          จิต      องค์ธรรม  คือ มานะ
          ธรรม   องค์ธรรม  คือ ทิฏฐิ


     ทิฏฐิวิปลาส รวมเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการ ฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เป็นการรื้อสัญญาหมดเลย คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม-รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นปฏิจจสมุปบาท คือ เงื่อนเก่าและเงื่อนใหม่


     ทั้งเงื่อนเก่าและเงื่อนใหม่ ทำให้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิด “ลูกคนขี้คุก” นี่คือการเปรียบให้ฟัง ขอโทษนะ แม่เราที่ท้องเราอยู่นี้ แม่เราไม่ได้นิพพาน แม่เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารทุกข์ในตารางชีวิต เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้น ปฏิสนธิวิญญาณนั้นเกิดขึ้นในครรภ์มารดา มารดาอยู่ในวัฏฏะก็เหมือนมารดาติดคุก เราก็เป็นลูกคนขี้คุก แม่เราก็มีแม่ ยายเราก็คุก ทวดเราก็คุก



  ฉะนั้น ลูกหลาน เหลน โหลน เดนมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าเอาไปไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้านั้นเป็นสัตถาเทวมนุสสนัง ผู้ฝึกมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ทำไมฝึกมนุษย์ เทวดาแล้ว พวกเรายังเหลืออยู่อีกล่ะ “เดนมนุษย์” “เดนเทวดา” “เดนพรหม” จึงเอาไปไม่ได้



     วัฏฏะนี้จึงเป็นภัยอันน่ากลัวเหลือเกิน คือ การเกิด เกิดมาจากอวิชชาและตัณหา เป็นมูลใหญ่ เหตุเก่าและเหตุใหม่เมื่อเกิดแล้ว ทำให้เกิดกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ เป็นวงกลม ๓ เปลาะ ฉะนั้น ถามว่า เราจะต้องตัดอะไร ต้องตัดกิเลสอย่างเดียวไม่หมดกิเลส ไม่หมดเกิด เพราะฉะนั้นเมื่อมีพิธีการตัดกรรมจึงเกิด เพราะอะไร ..เพราะเมื่อไม่เรียนแล้วจึงพูดผิดๆ พอเรียนแล้วจึงรู้ว่า เราไม่โง่เลย ถ้ามีการตัดกรรมฉันก็ยังเกิด ถ้ามีพิธีตัดกิเลสได้ ฉันก็จะไม่ต้องเกิด แต่จะมีใครตัดกิเลสฉันได้ เพราะกิเลสเกิดขึ้นที่จิต เกิดขึ้นตามอารมณ์ตอนแรก กิเลสเกิดขึ้นตามอารมณ์



     ตอนหลังเมื่อปฏิบัติ กิเลสเกิดขึ้นที่จิต เรียนใหม่ๆ กิเลสเกิดขึ้นตามอารมณ์ อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นตัวรู้ ฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นที่จิตแล้วใครเป็นผู้ตัดกิเลส? “จิต” ต้องมีปัญญามา คม หอก คมดาบ นี้จะต้องมาปหาน



     จิตยังมีทิฏฐิวิปลาส ก็คือ เห็นผิด ท่านอาจารย์ผู้…ได้กล่าวว่า ไม่มีทำให้ท่านทุกข์ได้นอกจากความเห็นผิดของท่าน เมื่อท่านเห็นถูกท่านก็ไม่มีทุกข์ เมื่อท่านเห็นผิดท่านก็มีทุกข์ ท่านไม่ได้กล่าวตู่พระพุทธพจน์ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทุกข์เสมอด้วยขันธ์นั้นไม่มี”



     ขันธ์มีได้เพราะความเห็นผิด “ทิฏฐิวิปลาส” คิดว่าชีวิตนั้นเป็นของดี เป็นของสุข เป็นสิ่งที่เที่ยง มีสาระแก่นสาร ฉะนั้น ประเดิมด้วยความเห็นผิดก่อน จำต้องแก้ทิฏฐิก่อน



     เพราะถ้าเผื่อมีทิฏฐิอยู่ จิตที่มีอยู่ก็วิปลาสไปด้วย ที่จิตวิปลาสเพราะเห็นผิด จึงเข้าใจผิด เช่น มีใครมาบอกว่า เดี๋ยวนี้มีศัลยกรรมตกแต่งให้เปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ต่อขาให้สูงได้ ก็เชื่อ แท้ที่จริง “ไม่จริง”



     แต่ที่นี้พอฟังผิด ก็คิดผิด พอไปดูรูป เห็นผิด ไม่ฟังเขา แล้วก็ไปตีเทียบกับของเดิม ว่าใช่ซิ ไม่ใช่ ไม่จริง เพราะเราเห็นผิด พอเข้าไปดูก็เลยเข้าใจผิด พอเข้าใจผิดเพราะสัญญา เวลาที่เห็นกี่ครั้งๆ สัญญาก็เลยจำผิดไป มันผิดเพราะผิดแรก จำให้จิตผิด และก็ทำให้สัญญาผิดไปเลย ก็เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส จิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส



     คราวนี้ พอเป็นวิปสาสอย่างนี้แล้ว อะไรมาก่อน มันมาก่อนเพราะทิฏฐิจริง  แต่คราวนี้มันวนเวียนแล้ว หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไปเจอแล้ว ฉะนั้น พอเจอใหม่ปุ๊บ สัญญาที่ผิดก็เพราะมาจากทิฏฐิ และจิตก็มาปั๊บ เพราะจิตที่คิดผิดและสัญญาและทิฏฐิผิด มันเป็นอัญญมัญญปัจจัยกัน


     ฉะนั้น ไม่จริง อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา



     ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่ออะไร เรียนมามาก ปฏิบัติน้อย แต่ยาก เพราะการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการเปลี่ยนทิฏฐิเพราะ ทิฏฐิวิปลาสเป็นหัวหน้า แต่สัญญาวิปลาสจะต้องมาตีเทียบ คิดผิด จำผิด อวิชชามาตั้งแต่เมื่อใดไม่รู้ และจิตตวิปลาสอยู่ตรงกลาง จิตเลยผิด จิตก็ตก ตกต่ำ



     “ไม่มีใครทำให้เธอตกต่ำได้ถ้าเธอไม่ยินยอม ฉะนั้น ก็เพราะเธอยินยอม เธอยอมให้ทิฏฐิครอบงำ เธอให้สัญญามาตีเทียบ เธอจึงจิตตก ตกจากปรมัตถอารมณ์ (รูป – นาม) เพราะอะไร? เพราะมีตามีไว้เห็น... ธาตุรับ ธาตุกระทบ ธาตุรู้ มีอยู่ ๓ ธาตุ



     เช่น ตามีไว้ให้เห็นรูป หรือคลื่นแสง รูปปารมณ์ แต่เราไม่เคยเป็นแค่รูปารมณ์ (นามเห็น) เราเห็นเลยปรมัตถอารมณ์ไปเป็นบัญญัติอารมณ์ จิตจึงตกจากปรมัตถ์ ไปเป็นบัญญัติ


     หู มีไว้ได้ยิน คลื่นเสียง สูง กลาง ต่ำ แต่เราไม่เคยได้ยินเพียงแค่ สัททารมณ์ เราได้ยินเลยปรมัตถอารมณ์ไปเป็นบัญญัติอารมณ์ จิตจึงตกจากปรมัตถอารมณ์ (นาม – รูป) เป็นบัญญัติอารมณ์



     จิตตกจากปรมัตถ์อารมณ์ (ตกจากกระดาน) ตกจากกระดานหมากฮอสหมด เล่นนอกเวทีทั้งสิ้นเลย โรงละครขนาดโรงใหญ่อย่างนี้แล้ว เขาให้ดูในโรงเนี้ว่า ใช่ภาพธาตุรู้ หรือธาตุกระทบ ให้ดูว่าอะไรทำอะไร อะไรทำกับอะไร เหตุอยู่ที่ไหน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง



    อะไรทำอะไร ก็คือ การประชุมระหว่างเหตุ ๔ ใหญ่ ๆ ปัจจัยต่างหาก ก็คือ เหตุกับปัจจัยทำงานกัน เกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ พอเลยไปจากนี้ก็เป็นจริงสมมุติ จึงตกจากกระดานหมด เพราะทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส


     ทิฏฐิเป็นหัวหน้า สัญญามาก่อน เป็นศรให้กลับมาแทงจิตใจ ไม่ไปจากตารางเพราะจิตนั้นตกจากความจริง (ตกขอบแล้ว)


     ฉะนั้น ทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส รวม ๓ อย่าง ๓ x ๔ = ๑๒ ประการใหญ่ๆ ซึ่งมาจาก


     ๑. สุภวิปลาส ที่เห็นว่าสวยงาม โดยทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส = ๑ x ๓


     ๒. สุขวิปลาส ที่เห็นว่าสุข โดยทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส = ๑ x ๓


     ๓. นิจจวิปลาส ที่เห็นว่าเที่ยง โดยทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส = ๑ x ๓


     ๔. อัตตวิปลาส ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน โดยทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส = ๑ x ๓



      เมื่อเข้าใจแล้วว่ามาจากไหน ก็มาดูวิธีแก้ แล้วก็มาดูว่าวิปลาสคืออะไร


     วิปลาส คือ สิ่งที่โง่ หรือ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง


คนมีไหม? มีโดยสมมติขึ้น แท้ที่จริงไม่มีคน ไม่มีชีวิต แยกให้เห็น คนที่นั่งอยู่นี่ และสามารถมองเห็นได้ คือ อวินิพโภครูป ๘ สัททารูป ๑ วิการรูป ๓ เอกันตกัมมชรูป ๙ จิตตชรูป ๗ คือ รูป ๒๘


            ใครเป็นผู้เห็น – จิตเป็นผู้เห็น


     เห็นได้ด้วยอะไร – เห็นด้วยมีสัพพสาธารณเจตสิก ๗ ครบ ตัดสินปุ๊บเลยว่าเป็นหลวงพ่อเสือ อธิโมกข์เข้า เว้น วิจิกิจฉา (เมื่ออธิโมกข์มา วิจิกิจฉาต้องออกเพราะ เป็นธรรมที่ตรงกันข้าม )อธิโมกข์เป็นเจตสิก เกิดขึ้นที่จิต เกิดที่เดียวกับจิต ตั้งอยู่กับจิต และดับพร้อมกับจิต


     ฉะนั้น เช่นเดียวกัน วิปลาสก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับจิต สัญญาของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาอยู่กลาง สัญญาวิปลาส ที่ถูกทิฏฐิวิปลาส และจิตวิปลาส มันก็ทำงานวนเวียนอยู่เป็นลูกโซ่ที่หมุนตัวต่อเนื่องกันอยู่ในวัฏฏะภัยของเรา


     ภัยของเรานั้นจึงน่ากลัว ไม่รู้อะไร คืออะไรที่ใหญ่ที่สุด คำตอบ คือ กรรมใหญ่ที่สุด กรรมจำเพาะเจาะจงมุ่งส่งอุดหนุนเงื่อนไข เมื่อเธอทำอย่างนี้ต้องได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ต้องได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ต้องได้อย่างนี้ ทำชั่วย่อมต้องได้ชั่ว ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วน้อยย่อมได้ผลของชั่วน้อย ทำชั่วมากย่อมได้ผลของชั่วมาก เช่น อนันตริยกรรม ไม่มีใครลิขิตเลย สวรรค์ลิขิตหรือฟ้าบันดาล พรหมประทานไม่มี เราทำของเราเอง จึงต้องแก้ไขกรรมของเรา ด้วยการเริ่มต้น ทำลายทิฏฐิที่วิปลาสออกไป เพื่อจิตจะได้ไม่วิปลาส และสัญญาของเราจะได้สะอาด


     สะอาดธรรมดา – ศีล สะอาดบริสุทธิ์ – สมาธิ สะอาดหมดจด = ปัญญา ๓ ชั้น
     เรียกว่า ไตรสิกขา หรือ มัคคพรหมจรรย์ ฉะนั้น เมื่อเราต้องการอย่างนี้แล้ว เราต้องรักษาศีล ด้วยศีล ๕ ทำสมาธิ ทำปัญญา ๓ ตัวนี้ เมื่อทำงานอยู่ก็ทำงานอยู่ในที่เดียว เช่น ในอิริยาบถใหญ่มีเดิน ยืน นั่ง นอน เรียกว่า อิริยาบถ ๔


    ฉะนั้น หนึ่งเดียว คือ เมื่อเรานอนอยู่ก็รู้ว่านอน ๑ ใน ๔ ถ้าเผื่อเอารูปยืนขึ้นมา ยืนก็เป็น ๑ ใน ๔ ถ้าเอารูปนั่งขึ้นมา รูปนั่งก็เป็น ๑ ใน ๔ ถ้าเผื่อรูปเดินขึ้นมา รูปเดินก็เป็น ๑ ใน ๔ “กาเย กายานุปัสสี” อิริยาบถ ๑ ใน ๔


     เมื่อเข้าใจแล้วถ้าเป็นด้านอิริยาบถจะมี ๑ เดียวเท่านั้น ๑ ใน ๔ ก็เป็นสติปัฏฐาน คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


     เวทนาก็มีสุขเวทนาทางจิต ทุกขเวทนาทางจิต อุเบกขาเวทนา เพราะอารมณ์เป็นสุขทางกาย อารมณ์ที่เป็นทุกข์ทางกายก็มี ฉะนั้น เรียกว่า เวทนา


     อะไรก็แล้วแต่ เมื่อปรากฏขึ้นมาก็รู้ในเวทนานั้น เพียง ๑ เดียวอีกแหละ ถึงแม้จะมีหลายอย่าง แต่ทีละเวทนา ตรงดิ่งแห่งการมอง




     พระพุทธองค์ทรงเจาะจงว่าในหลักแห่งสติปัฏฐานนี้ ให้ไปกำหนดทุกข์ซึ่งเป็นหน้าที่ของเธอ แม้เวทนามีมาก อิริยาบถมีมาก แต่มีมาทีละอย่าง ถ้าเผื่อ ๑ ใน ๔ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


     เวทนาที่มีอยู่ ๕ อย่างก็เอามาหนึ่งเดียวเป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


     จิตรับรู้อารมณ์ ๖ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์ แต่รับทีละหนึ่งเดียว ก็รู้ในจิตที่รู้อารมณ์นั้น เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


     ฉะนั้น นามธรรมที่มีอยู่แต่มองไม่เห็น เช่น เบื่อ หงุดหงิด มีจริง แต่มองไม่เห็นเป็นนามธรรม


     ความรู้สึกพอใจ ความรู้สึกไม่พอใจ รัก เกลียด ชอบ ชัง ฟุ้ง เมื่อย ปวด เจ็บ ต่างๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางใจ หรือนามทางใจ หรือรูปทางใจ เช่น เราสามารภจำรูปต่างได้ ซึ่งในขณะนี้ไม่มีรูปให้เห็น แต่เราจำได้ เป็นนามทางใจ


     ธรรมชาติทั้งหลายเหล่านี้เป็นสังขตธรรม ธรรมชาติใดที่เป็นสังขตธรรม ธรรมชาตินั้นเป็น อนัตตา “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” บังคับบัญชาไม่ได้ จึงให้กำหนดรู้เฉยๆ กำหนดรู้ในธรรมชาตินั้นๆ มันเกิดขึ้นแล้วก็เพียรพยายามประคองจิตให้กลับเข้ามาที่ฐานเดิม เป็นผู้ที่มีปัญญาแก่กล้า


     ธรรมที่เป็นอนัตตานี้ยาก จึงจะต้องเป็นผู้ที่แก่เรียนและแก่ปฏิบัติมาก เช่น พระสมณโคดม สภาพแห่งอนัตตาธรรมจึงสามารถปรากฏขึ้นได้ เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน



     เมื่อเป็น สติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็จะรื้อสัญญาออกหมดเลย ให้เป็นสัมมาทิฏฐิทิ ตัวสังโยชน์ ก็คือฏฐิ หรืออวิชชาที่ร้อยรัด พอรื้อสัญญาได้ ทิฏฐิก็ไม่วิปลาส จิตก็ไม่วิปลาส สัญญาก็ไม่วิปลาส มันก็รื้อของมันเอง มีหน้าที่รื้อสัญญา เอาเสาออกไป หลังคาอยู่ได้ไหม ไม่ได้ บ้านโครม กำแพงฝา ล้มหมด


     ฉะนั้น วางใจให้ถูก ก็คือ โยนิโสมนสิการ ตรงเข้าใจว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรา เป็นที่กำหนด


     ตามีหน้าที่เห็น

     หูมีหน้าที่ได้ยิน

     จมูกมีหน้าที่ได้กลิ่น หอม เหม็น

     ลิ้นมีหน้าที่รู้รส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม

     ทางกายมีหน้าที่รู้สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

     ทางใจ (ธัมมารมณ์) มีหน้าที่ รู้รูป รู้นาม


       แก้นิดเดียวเอง ทางตา เราต้องแก้สัญญาที่โง่ รื้อสัญญาโง่ ละสังโยชน์เลย รื้อสัญญา ละสังโยชน์ จนความชำนาญของปัญญาผู้นั้นแก่กล้า เกิดนาม-รูปปริเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สมสนญาณ เรียกวิปัสนาญาณหนึ่งเป็นปัญญาที่จริงๆ แล้ว


     ญาณที่หนึ่งคือ นับตั้งแต่ สัมมสนญาณ นับไป วิปัสสนาญาณ ๑๐ รื้อสัญญา ละสังโยชน์ จนโอนโคตรปุถุชน


     โคตรภูญาณมีหน้าที่รื้อสัญญาละสังโยชน์ ทำให้ชิน ทำให้เหมือนเศษสตางค์ เมื่อมีทรัพย์มาก แล้วก็สามารถเปลี่ยนโคตรได้จากคนจนเป็นเศรษฐี จาก สติ ธรรมดา ทีละแก๊งๆ ทุกๆ วันก็เป็นมหาสติ


     มหาสติปัฏฐาน ที่มีความยิ่งใหญ่ ใหญ่กว่ามหากรรม เพราะไม่มีคำว่า มหากรรมเลย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า มหาสติเท่านั้นเอง จึงจะรื้อสัญญา โอนโคตรปุถุชนสู่อารยชน นับตั้งแต่พระโสดา สกิทาคา อนาคามี สู่พระอรหันต์

..........................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม