Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

10 พฤศจิกายน 2564

ประวัติ..ท่านพระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)




ท่านพระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

ฆราวาสสมัย


     ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ผู้คนในถิ่นนั้น จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับเรือนแพหลังหนึ่งซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าของเรือนแพหลังนี้ คือ สามี-ภรรยา ผู้ใจบุญ นามว่า "นายบัวขาว-นางมณี เพ็งอาทิตย์" ผู้ให้กำเนิด เด็กชายสุรศักดิ์ หรือ "พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรสี " ประทีปธรรมนำจิตใจ ของคณะศิษย์ สุปฏิปันโน ในปัจจุบัน

     เมื่อเด็กชายสุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับการศึกษา ทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนครหลวงวิทยาคาร โรงเรียนนครหลวงพิบูลย์ประเสริฐวิทย์ และโรงเรียนอุดมรัชวิทยา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเด็กชายสุรศักดิ์เป็นนักเรียนที่เอาใจใส่การเล่าเรียนเป็นอย่างดี มักได้รับคำชมเชยจากครูที่ทำการสอนอยู่เสมอ แต่จะด้วยวิบากกรรม หรือมหากุศลบันดาลให้เป็นไป ก็สุดจะคาดเดาได้ จึงทำให้เด็กชายสุรศักดิ์ เกิดประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรงถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง






วิชชุมมาลา ฉันท์ ๘


ลำดับต่อไป   เป็นวัยเล่าเรียน
มานะพากเพียร   ถึงมอสอสอง



เกิดอุบัติเหตุ   เภทภัยเข้าครอง
เจ็บข้อเท้าต้อง   ผ่าตัดเยียวยา



รักษาสังขาร   เนิ่นนานผ่านไป
จะเรียนต่อไซร้   ไม่สมอุรา



ประกอบอาชีพ   ช่วยท่านบิดา
เดินเรือต่อมา   ประมาณเจ็ดปี



เบื่อหน่ายเต็มทน   ต้นหนเดินเรือ
อันตรายมากเหลือ   เสี่ยงภัยมากมี



สายน้ำคลื่นลม   ขื่นขมฤดี
อันอาชีพนี้   เลิกไปขายเรือ



เมื่อเป็นต้นหน   ฝึกฝนเรียนไป
ศึกษาผู้ใหญ่   ท่านไม่รู้เบื่อ



จบมอสอสาม   งดงามอะเคื้อ
ประโยชน์จุนเจือ   เรียนต่อช่างยนต์



ช่างเชื่อมโลหะ   ไม่ละเลยไป
เล่าเรียนสมใจ   กระทั่งช่างกล



ย่างยี่สิบสี่   เบื่อหนี้ต้นหน
บิดาของตน   ขอให้บวชเรียน



มารดาบิดา   เลี้ยงมาเหนื่อยยาก
เมื่อท่านออกปาก   จึงได้พากเพียร



ทดแทนพระคุณ   เกื้อหนุนจำเนียร
จึงได้บวชเรียน   ด้วยจิตศรัทธา




สู่ร่มกาสาวพัสตร์





     เมื่อได้ตัดสินใจเข้าสู่ ร่มกาสาวพัสตร์ แล้ว โยมบิดา-โยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ณ วัดพร้าวโสภณาราม ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ท่านพระครูอดุลธรรมประกาศเป็นพระอุปัชฌาจารย์ พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสำเริง เป็นพระอนุสาวณาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมรสี (ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น)


      ต่อมาท่านได้ลองไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายโยมบิดา ทำให้ท่านได้ประจักษ์ถึงพุทธดำรัส ที่ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง




     ในช่วงเวลานั้นท่านได้พบกับความสงบร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็นตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

      กาลต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ท่านรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระครู รูปนี้ยิ่งนัก






ศึกษาพระอภิธรรมนำชีวิต

     ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร ได้เมตตารับพระภิกษุสุรศักดิ์ไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดเพลงวิปัสสนา จนมีศรัทธาแรงกล้าใคร่ที่จะศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราช-รังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเรียนที่ระเบียงวิหารคต และ ณ ที่นี้เอง พระภิกษุสุรศักดิ์ ก็ได้ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สามารถสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอน และนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย


      สำหรับครูที่ถ่ายทอดวิชาพระอภิธรรม ที่พระภิกษุสุรศักดิ์ มีความประทับใจในวิธีการสอนเป็นอันมากก็คือ ท่านพระครูธรรมสุมนต์นนฺทิโก เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระภิกษุสุรศักดิ์ได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา


     พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติในพระธรรมกรรมฐานอยู่เสมอเป็นนิจ และนั่นคือการสั่งสมปัญญาบารมีไว้เป็นปัจจัย ในการเผยแพร่พระพุทธธรรม เป็นผลให้กาลต่อมาได้บังเกิดพระสุปฏิปันโน ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่ง อีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งฉายานามว่า "เขมรสี ภิกขุ"






เขมรํสี ประทีปธรรมนำจิตใจ





     ณ ที่นี้ คือจุดเริ่มต้นของ สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาบริเวณของวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยาได้ทรงสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๑ ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้างตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา (ทุ่งทหารกล้า) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ได้มีสภาพเสื่อมโทรม ลงเป็นอันมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีไว้ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ และเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าอีกแห่งหนึ่ง




     ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ ที่มุ่งหวังจะมีส่วนช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผสมผสานกับแรงศรัทธาของญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย จึงทำให้บริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดมเหยงคณ์ ที่เคยเป็นป่าเปลี่ยว รกร้างมานาน ได้กลับกลายเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่สงบร่มรื่นในระยะเวลาไม่กี่ปี




     ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบำเพ็ญทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมเดิม ที่สร้างด้วย ไม้ไผ่หลังคามุงจาก คับแคบลงไปมาก จำเป็นต้องสร้างศาลาหลังใหม่ที่ถาวรและ กว้างขวางเพื่อรองรับญาติโยม ศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหม่นี้ก็คือ"ศาลา เขมรังสี"




     ด้วยปฏิปทาอันดีงามของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ จึงทำให้พระอาจารย์ของท่านคือท่านพระครูสังวรสมาธิวัตรได้มีบัญชา ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการเป็นผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ นับเป็นภาระรับผิดชอบที่หนักไม่น้อย




     แต่ด้วยผลงานที่ปรากฏชัดจึงทำให้ท่านพระอาจารย์ได้รับเกียรติคุณยิ่งนานัปการ คือ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดประทาน ปสาทนียบัตร สาขาผู้มีศรัทธาบำเพ็ญประโยชน์ ส่งเสริม การปฏิบัติธรรมแก่เยาวชน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช ๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ ท่านพระอาจารย์ ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท โดยได้รับพระราชทินนามว่า" พระครูเกษมธรรมทัต " และในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก








"ร่ายสุภาพ"


พระครูเกษมธรรมทัต      กิจวัตรอบรมธรรม
กรรมฐานภาวนา      แก่พุทธศาสนิกชน
เพื่อหลุดพ้นวัฏฏะ      ชำระจิตแจ่มใส
ไร้ตัณหาอุปาทาน      พระอาจารย์เมตตา
น้อมนำพาปฏิบัติ      ข้อวัตรเนกขัมม์
จริยธรรมอบรม      บ่มนิสัยเยาวชน
จนเป็นที่ศรัทธา      หลายสถาบันมาเข้าค่าย
จำต้องขยายอาคาร      ให้พอแก่การพำนัก
เป็นที่พักอาศัย      ทั้งใช้ประโยชน์นานา
จึงทอดผ้าป่าสามัคคี      ท่านผู้มีใจกุศล
หวังผลทานยิ่งใหญ่      บริจาคทรัพย์ให้เหลือคณา
นำปัจจัยมาก่อสร้าง      อาคารกว้างแลตระการ
มีสำนักงานบุญนิธิ      ชื่อสุปฏิปันโน
ค่าอักโขห้องสมุด      พิเศษสุดห้องรับรอง
ของพระสงฆ์อาคันตุกะ      ทั้งห้องปฏิสันถาร
เป็นอาคารเอนกประสงค์      เจาะจงใช้เป็นที่พัก
ให้แก่นักปฏิบัติ      แจ้งชัดอุบาสก
เลิศดิลกนักเรียนชาย      ผู้หมายรับการอบรม
สมเป็นกุลบุตร      อาคารสุดงดงาม
คงซึ่งความเป็นไท      แลวิไลหยดย้อย
ช่อฟ้าช้อยเสียดฟ้า      ใบระกาหางหงส์
ผจงไว้นาคสะดุ้ง      หวังผดุงศิลปะไทย
เฉิดไฉไลก่อสร้าง งามสง่าอย่ารู้ร้าง คู่ฟ้าคงดินอยู่นา






     ในปัจจุบันแม้จะมีศาลาปฏิบัติธรรม เขมรสี ที่ใหญ่โต กว้างขวางและแข็งแรงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับรองญาติโยมสาธุชน ที่หลั่งไหลเข้ามาปฏิบัติธรรมในโอกาสอันสำคัญต่างๆ เพราะบางพื้นที่ในศาลาเขมรสีนั้น ยังต้องจัดเป็นส่วนของ สำนักงานบุญนิธิ สุปฏิปันโน ห้องสมุด และที่พักรับรองแด่พระอาคันตุกะ จึงสมควรที่จะขยับขยายส่วนเหล่านี้ไปไว้ในที่เหมาะสม ท่าน พระอาจารย์จึงมีดำริให้จัดสร้างอาคารใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้บริเวณศาลามุงจากเดิม เป็นสถานที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารหลังใหม่นี้


      ในที่สุด ด้วยพลังแห่งความมานะพากเพียรที่เปี่ยมล้น ด้วยความศรัทธาจาก สาธุชน จึงทำให้อาคารดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์งดงาม และกอปรประโยชน์ยิ่ง อาคารหลังใหม่นี้คือ " อาคารเกษมธรรมทัต"



อาศิรวาท

     กัมมัฏฐานท่านย้ำ วิปัสสนานำปฏิบัติ ให้รู้ชัดรูปนาม รู้ทันตามเป็นจริง นี่คือสิ่งท่านถนัด จัดบวชเนกขัมมะ ปฏิบัติภาวนา ทุกวาระสำคัญ อันเนื่องชาติศาสน์กษัตริย์ วัฒนธรรมประเพณี มีสงกรานต์เป็นต้น ล้นด้วยกตัญญู ชักชวนหมู่มวลศิษย์ ทำบุญอุทิศบรรพชน ซึ่งผจญศึกศัตรู กอบกู้ปกป้องรัฐ และวัดวาอาราม ก็ด้วยความสามัคคี ยอมพลีชีพท่านไว้ เป็นเยี่ยงเป็นอย่างให้ เร่งรู้ พระคุณพระครูเกษมธรรมทัต จัดถมดินปลูกไม้ เป็นป่าถาวรไซร้ร่มไม้ดูงาม ยามฝึกกัมมัฏฐาน จักเบิกบานหมู่ไม้ เป็นร่มรุกขมูลไซร้ ก่อให้สงบเร็วนา



ความสำเร็จอยู่ที่ใจไม่ต้องเอื้อม

     ดิฉันได้ฟังธรรมครั้งแรกจากท่านอาจารย์ ราวพุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่ สำนักปฏิบัติกรรมฐาน "วัดมเหยงคณ์" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปฏิบัติเห็นจริงตามที่ท่านสอนว่า..



     เมื่อหมั่นเจริญสติ จนเห็น ลักษณะ อาการของจิต ได้ชัดเจน จะแจ่มแจ้งในการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมต่างๆ



    ทำให้ดิฉันมีความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่อง บัญญัติ-ปรมัตถ์ ตลอดจน สภาวจิต และอารมณ์ ช่วยให้ การเจริญสติ 'ดูจิต' ในชีวิตประจำวัน มีพัฒนาการดีขึ้น สิ่งที่ดิฉัน 'ประทับใจที่สุด' คือ... เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์ เมตตาให้การอบรม แก่กลุ่มย่อย ๔๐ คน ที่ ยุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติรังสิต ระหว่างวันที่ ๓-๑๑ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้เข้ารับการอบรม มีอายุตั้งแต่ ๒๑-๘๐ ปี มีความแตกต่างกันทั้งอายุ พื้นฐานความรู้ ตลอดจน 'รูปแบบ' และ 'ประสบการณ์ในการปฏิบัติ'


     แต่ท่านอาจารย์ก็ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกประทับใจ เพราะท่านมิได้ตำหนิ ติเตียนรูปแบบใด ท่านให้กำลังใจทุกคน ว่า...รูปแบบ ก็เสมือน บัญญัติ ที่มี อยู่หลากหลาย แต่สุดท้าย เมื่อเข้าถึงปรมัตถ์ ก็คือ สิ่งเดียวกัน


     ท่านอาจารย์ คือประทีปธรรม ชี้นำเส้นทางอันถูกต้องตรงธรรม ท่านตรากตรำ อุทิศตนเพื่อบวรพุทธศาสนา ท่านคือความอบอุ่นของผู้ใส่ใจปฏิบัติธรรม คำสอนง่ายๆ แต่กระจ่างชัดของท่าน ย้ำเสมอว่า...


     ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งหลาย หากดูจิตเป็น กำหนดจิตได้ การปล่อยวางจะง่าย เมื่อใดที่สามารถ หยุดใจไร้อยาก เมื่อนั้น ความสำเร็จย่อมอยู่ที่ใจ


"ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม ...ยังไกล, ความสำเร็จ อยู่ที่ใจ ...ไม่ต้องเอื้อม"




 

"น้อมจิตคารวะด้วยใจ ผู้แทนคณะศิษย์ ยุวพุทธิกสมาคมฯ รังสิต"

(เยาวลักษณ์ ไกรสรสวัสดิ์)




     สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : (035) 242892,244335
โทรสาร/ฝากข้อความ : (035) 245112




     วัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร
กม.5 ถนนปทุมธานี-อ.ลาดหลุมแก้ว
ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว
จ.ปุทมธานี 12140
โทรศัพท์ 5816482,5812668

...............................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม