Blog นี้สร้างมาเพื่อ เป็นสื่อกลางให้ผู้สนใจในการปฏิบัติ ได้มาศึษาหาความรู้ และ แนะนำสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้สนใจ และ ช่วยนักปฏิบัติผู้กำลังหลงทาง ให้เจอทางออก และ เข้าถึงซึ่งความเป็นจริงของสภาวะ

9 กุมภาพันธ์ 2553

สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดหนองเชียงทูน

สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดหนองเชียงทูน ตำบลบ้านหนองเชียงทูน อำเภอ ปรางค์กู่
จังหวัดศรีสะเกษ 33170 โทร. 080-150-0019, 045-697144
เพจ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดหนองเชียงทูน
โดย พระครูศาสนกิจพิมล ( หนูพันธ์ ขาวสะอาด )




 

สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดหนองเชียงทูน
โดย พระครูศาสนกิจพิมล ( หนูพันธ์ ขาวสะอาด )

สถานที่ปฏิบัติธรรมที่นี่ สงบ วิเวก เเละเรียบง่าย เหมาะเเก่ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีกุฏิที่พัก ทั้งห้องรวม เเละห้องเดี่ยว ผู้ที่มาปฏิบัติ ใส่ชุดขาว ที่สุภาพเรียบร้อย จะต้องสำรวมระวังกาย วาจา ใจ เเละควบคุม จัดเวลาการปฏิบัติของตัวเอง



ไม่มีพิธีการอะไรมาก สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่จะสอน การเดิน การนัั่ง การกำหนดรู้ ตามดูสภาวะธรรมต่างๆ เเละให้ผู้ปฏิบัติประกอบความเพียรในการ ตามดู ตามรู้ได้ตรงสภาวะธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เเละจะมีการสอบอารมณ์วันละครั้ง



หลวงปู่ท่านเป็นพระที่มีจริยวัตรงดงามมาก รักสันโดษ เรียบง่าย เป็นตัวอย่างให้เเก่พระภิกษุ สามเณร ผู้ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ



แนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน การเดินจงกรม จิตต้องอยู่กับเท้าที่ก้าวเดิน


หากท่านเป็นผู้ฝึกใหม่ให้ตั้งใจเดินจงกรมระยะที่หนึ่งให้ถูกต้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตต้องอยู่กับเท้าที่ก้าวเดินเสมอ ให้รู้ตั้งแต่การยกเท้า การก้าวดันเท้าไปข้างหน้า และการเหยียบ ขณะเดียวกันจิตกำหนดคำบริกรรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ให้ตรงกับสภาวะของเท้าพอดี ไม่ก่อนและไม่หลัง


การเดินจงกรมไม่ถูกต้องโดยจิตไม่อยู่กับเท้าที่เคลื่อนไหว คำบริกรรมไม่ตรงกับการเคลื่อนไหวของเท้า จะทำให้ท่านไม่สามารถเพื่มพูนสติและสมาธิ สภาวธรรมใด ๆ จะไม่เกิด และไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติแม้แต่ญาณที่ ๑ ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้


หากท่านมีข้อสงสัยไม่แน่ใจในการเดินจงกรม อย่าถามผู้ปฏิบัติท่านอื่นเพราะจะทำให้สภาวะของเขาตก ให้ถามพระหรือฆราวาสที่ผ่านการปฏิบัติแล้วและมาอยู่วัดช่วยงานหลวงปู่ หรือคนท่ีหลวงปู่มอบหมายให้มาดูแล


การปฏิบัติเบื้องต้นแก่ท่าน อาจมีผู้สงสัยว่าทำไมจึงเอาลมหายใจในส่วนกายานุปัสสนามาเป็นหลัก ก็เพราะลมหายใจเข้าออกนี้มีมาตั้งแต่เราเกิด อยู่กับเรามาตลอดเวลา หลวงปู่ท่านบอกว่า “ถ้าไม่มี เขาก็เอาไปทิ้งแล้ว เขาว่าคนนี้มันตายแล้ว เราจึงเอาลมหายใจนี้มาเป็นอารมณ์ ลมหายใจเข้าออกนี้นักปราชญ์อาจารย์ต่าง ๆ ก็ทำกันอยู่


แต่มันเป็นการยาวนาน ยากที่จะเข้าใจ มันเป็นของละเอียด เมื่อละเอียดมาก ๆเข้าก็จะไม่รู้สึก แล้วก็ไม่เข้าใจ กำหนดไม่ได้ ดังนั้นจึงมาเอาความเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นหลัก” คือไม่ได้ดูในส่วนของลมแต่ดูที่กายคือท้องที่ขยับขึ้นลงตามลมหายใจเข้าออก


เมื่อมุ่งมั่นพยายามกำหนดทั้งการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิ จิตที่แนบกับอาการก้าวเดินและอาการพองอาการยุบทำให้เกิด “ศีลวิสุทธิ” คือจิตละจากทุจริตกรรมชั่ว และเกิด “จิตวิสุทธิ” คือความผ่องใสของจิตในขณะปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเกิด “ภาวนามยปัญญา” ตามมา คือเห็นตามความเป็นจริงเป็นส่วน ๆ เป็นการรู้รูปและนาม


ความรู้นี้เป็นความรู้ทางจิตท่ีเกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติเองก็จะไม่เข้าใจว่าตนเองรู้อะไร ธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือ รูปกับนาม นั่นคือ กายกับใจ



ขณะท่ีเราก้าวเดินคือ “รูป” เป็นอาการทางกาย การรู้ว่าเรากำลังก้าวเดินคือ “นาม” เป็นอาการทางจิต อาการพองเป็นรูป การรู้ว่าท้องพองเป็นนาม แม้คนท่ีอ่านทฤษฎีมาแล้วก็ถือเป็นความรู้ทางปริยัติ ไม่ใช่ปฏิบัติ

ในทางปฏิบัตินั้นความรู้ทางจิตหรือ ”ญาณ” เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะไม่รู้ว่าเขาเกิดขึ้นตอนไหนอย่างไร และหลวงปู่ท่านก็จะไม่บอกว่าใครถึงญาณไหนอย่างไรด้วย เพราะเมื่อรู้แล้วเกิดความยินดีจิตจะหลงไปกับความยินดี อารมณ์ต่าง ๆ ท่ีเกิดขึ้นล้วนเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติทั้งสิ้น

“อยากได้ก็ให้กำหนดเอา” คำของหลวงปู่นี้ขอให้ศิษย์ทุกท่านถือเป็นประกาศิตแห่งความสำเร็จ ดังนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือ “กำหนด” เดินจงกรม นั้งสมาธิ และกำหนดอริยาบถย่อย ให้ได้ต่อเนื่องมากที่สุด ความก้าวหน้าก็จะเดินมาหาท่านเองตามลำดับขั้น



ผู้ปฏิบัติใหม่ เมื่อนั่งสมาธิและอยู่ในการกำหนดได้ไม่นาน จะรู้อาการเจ็บปวดมึนชา ทำให้ใจไปจดจ่อกับอาการเจ็บปวด ยิ่งไปอยากให้มันหายมันยิ่งปวด เหมือนกับทนไม่ได้ ถึงกับขยับแข้งขับขา บางคนถึงกับหยุดปฏิบัติ


หลวงปู่ท่านอธิบายเรื่องเวทนานุปัสสนานี้ว่า “การรู้อาการเจ็บปวดมึนชาที่เกิดขึ้นตามสภาวะอาการต่าง ๆ ที่เราเป็น ท่ีเราเห็น ไม่ใช่เพราะเรานั่งมาก เป็นเพราะการปฏิบัติ เมื่อเราทำแล้วสภาวธรรมนี้จะเกิดขึ้นมาก ๆ แก่ตัวเรา เวทนาท่ีเกิดขึ้นนี้ หากเกิดเพราะโรคภัยไข้เจ็บ เวทนานี้จะเจ็บปวดและกำเริบขึ้น เวลาออกจากสมาธิแล้วก็ไม่หาย แต่เวทนาท่ีเกิดขึ้นเพราะสภาวธรรม ขณะนั่งอยู่มันจะเจ็บจะปวดมาก แต่พอเลิกจากการนั่งสมาธิเขาก็หายสบาย ไม่มีการเจ็บปวดมึนชาอะไร”


วิธีปฏิบัติ ย้ายจิตที่ดูพองยุบมาดูจุดที่เจ็บปวด กำหนด “ปวดหนอ” 1-2 ครั้ง แล้วย้ายจิตกลับไปดูอาการพองยุบต่อ กำหนดเสียงท่ีได้ยิน หรืออาการอื่น ๆ ตามปกติ จริงอยู่ระยะนี้กำหนดเวทนาแล้วไม่หาย สักพักค่อยกลับไปกำหนดอาการที่ปวด ทำสลับกันไป จิตก็จะไม่จดจ่อกับอาการเจ็บปวด ทำให้ท่านนั่งสมาธิอยู่ได้จนครบเวลา

ดูอาการพอง อาการยุบ ที่เป็นธรรมชาติของตัวเรา สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ การดูท้องพอง ท้องยุบ อาจเป็นเรื่องอึดอัดขัดข้อง ถ้าเราตั้งใจดูมากจะมองไม่เห็นเพราะเกิดอาการเกร็งที่ท้อง หรือพยายามตั้งใจสูดลมหายใจเข้าออกเพื่อจะให้เห็นชัด ไม่นานจะรู้สึกเหนื่อยและหายใจไม่ออก

เรื่องนี้หลวงปู่ท่านสอนว่า “ให้ดูมัน อย่าไปทำมัน” เมื่อเราหลับตาลง กำหนดอาการทางกายทางจิตเรียบร้อยแล้ว ใช้สติดูว่าร่างกายท่ีนั่งสงบนิ่งนี้มีการเคลื่อนไหวที่ไหน เราจะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของลมหายใจท่ีเป็นธรรมชาติตามปกติของตัวเรา ให้ดูจุดต่ำกว่าสะดือ 2 นิ้ว เมื่อจับอาการเคลื่อนไหวได้สักระยะหนึ่งจนรู้อาการชัดเจนแล้วจึงเริ่มใช้คำบริกรรมท้องพอง(พองหนอ) ท้องยุบ(ยุบหนอ)






จากคำสอน หลวงปู่ศาสนกิจพิมล วัดหนองเชียงทูน จ.ศรีสะเกษ


==============================

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ19.12.53

    หลวงปู่ท่านเป็นมากกว่าพระ เมตตาท่านไม่มีที่สิ้นสุด .......
    อนุโมทนาค่ะ
    อภิญญาณี มีสวยสกุลวงศ์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ31.3.56

    สาธุ)))

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ24.8.56

    หลวงปู่บอกว่าถ้าเราจบป.เอก กิเลสมันก็จบป.เอก มันฉลาดกว่าเราเพราะมันเรียนไม่เสียค่าหน่วยกิจ ฉะนั้นอย่าประมาทกิเลส

    ตอบลบ
  4. พอจะทราบรถตู้ ไปส่งที่ วัดหนองเชียงทูน รึปล่าวครับ

    ตอบลบ
  5. ผมไม่ทราบทางไปจริงๆครับ ขอโทษ ด้วย น่ะครับ... แต่ ผมเชื่อว่า ถ้าคุณ ตั้งใจ..ย่อมพบหนทางไป แน่นอน ครับ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม